TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewความสำเร็จของลูกค้าและคู่ค้า คือ ความยั่งยืนของ "ไอบีเอ็ม ประเทศไทย"

ความสำเร็จของลูกค้าและคู่ค้า คือ ความยั่งยืนของ “ไอบีเอ็ม ประเทศไทย”

ไอบีเอ็ม คือ บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างชาติรายแรก ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย เป็นหนึ่งในหลายองค์กรใหญ่ที่มองไกลและทรานส์ฟอร์มตัวเองเสมอ การเติบโตอย่างยาวนานถึง 70 ปี การันตีในแง่ประสบการณ์การทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี ในวันนี้ที่ตลาดเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันสูง ผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย โมเดลธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งการดิสรัปของดิจิทัลส่งผลอย่างหนักหน่วงให้ตลาดนี้หมุนเร็วจนองค์กรใหญ่ต้องเร่งเปลี่ยนผ่านให้ทัน จึงน่าสนใจว่ายักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็มปรับตัวเหนือแรงหมุนอย่างไร

สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของไอบีเอ็มประเทศไทย (IBM) เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไอบีเอ็มก้าวผ่านมาได้ทุกครั้ง กับ The Story Thailand ว่า ตั้งแต่วันแรกที่ไอบีเอ็มเข้ามาในประเทศไทยจนถึงตอนนี้พันธกิจหลักยังคงเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านไอทีในทุกภาคส่วนของไทย โดยหลายคนอาจคิดว่า ไอบีเอ็มอยู่มานานถึง 70 ปี ธุรกิจมีความยั่งยืนเพียงพอแล้ว ซึ่งการทำงานที่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เป็นเวลา 32 ปี ทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของบริษัทถึง 2 ครั้ง  

โดยครั้งแรกเป็นช่วงที่เขาเริ่มเข้าทำงานในปี 2533 ซึ่งตอนนั้น ไอบีเอ็มทำธุรกิจเป็นบริษัทที่จำหน่ายฮาร์ดแวร์ร่วมกับบริการ มีการแบ่งหน่วยธุรกิจออกเป็นทีมตามบริการที่มี ต่อมาในปี 2537 บริษัทมีการปรับแผนธุรกิจซึ่งแยกส่วนงานบริการและฮาร์ดแวร์ออกจากกัน เพิ่มการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตในอนาคต ลดความสำคัญในผลิตภัณฑ์ที่เป็น commodity ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับไอบีเอ็ม และหลังจากนั้นมีการ Reskill เกิดขึ้นภายในบริษัท พร้อมเปิดรับพนักงานใหม่เข้ามา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งที่ 2 โดยเปลี่ยนเป็นบริษัทที่จำหน่ายซอฟต์แวร์เป็นหลัก ซึ่งในช่วงเวลานั้นไอบีเอ็มมีความแข็งแกร่งเรื่องซอฟต์แวร์มาก

เขาเล่าว่า สำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งที่ 3 นี้ ถือเป็น big change ของไอบีเอ็มอีกครั้ง ซึ่งมีการแบ่งหน่วยธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนหลักอย่างชัดเจน ได้แก่ หน่วยธุรกิจที่ดูแลเทคโนโลยี (IBM Technology) ประกอบด้วย ซอฟต์แวร์และอินฟราทรัคเจอร์ และอีกหน่วยธุรกิจคือ ไอบีเอ็มคอนซัลติ้ง (IBM Consulting) ซึ่งให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะบุคลากร เพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านให้กับองค์กรเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล   

ทั้งนี้เหตุผลใหญ่ที่ทำให้แผนธุรกิจเปลี่ยนไปจากเดิมคือ สภาพแวดล้อมของตลาดเปลี่ยนไปตั้งแต่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวเร่ง ซึ่งเป็นการสร้างความท้าทายอย่างมากให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี การปรับตัวให้ Lean จะทำให้เดินหน้าช่วยลูกค้าได้รวดเร็วตามความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งไอบีเอ็มมองเห็นโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น มองว่าทุกภาคส่วนของธุรกิจต้องเปลี่ยนผ่านและรับมือสิ่งใหม่ที่เข้ามา  

โดยครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ external challenge ที่ภายในองค์กรต้องตอบสนองกับความท้าทายที่เกิดขึ้น รวมถึงผู้เล่นในตลาดนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะฉะนั้นคำว่า ความยั่งยืนที่เป็นมาในรูปแบบเดิมในอดีตอาจต้องเปลี่ยนการทำความเข้าใจใหม่ในการสร้างความยั่งยืน โดยต้องพิจารณาจาก New S Curve ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการสร้างธุรกิจที่สอดรับกันเป็นความยั่งยืน 

The New Era of IBM: Sustainable Business 

เขาเล่าว่า ที่ผ่านมาไอบีเอ็มนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาให้บริการในไทยอย่างต่อเนื่อง จากเดิมบริษัทเริ่มจากให้บริการในส่วนของฮาร์ดแวร์เมนเฟรมและเปลี่ยนมาเป็นเอไอแพลตฟอร์ม ไฮบริดคลาวด์ ซึ่งตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังคงทำเรื่องการวิจัยค้นคว้าเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่มาโดยตลอด ซึ่งมองว่าสิ่งที่ไอบีเอ็มต้องการทำต่อไปคือการช่วยวางรากฐานด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย ด้วยการสร้างความยั่งยืนจากภายในบริษัทและส่งต่อออกไปสู่ภายนอกไปยังคู่ค้าและลูกค้า 

ไอบีเอ็มประเทศไทยได้แบ่งการสร้างความยั่งยืนออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับคู่ค้า (Sustainable partnership) โดยพนักงานต้องเข้าใจในแนวคิดเดียวกันว่า การสร้างความสำเร็จให้กับคู่ค้าและลูกค้า คือ การสร้างความสำเร็จให้กับบริษัทเช่นกัน ส่วนที่ 2 คือ Technology for Sustainable business การนำเทคโนโลยีใหม่ที่สอดรับกับตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการให้บริการ AI for Business, Open Hybrid Cloud Platform และ Commitment to Sci & Innovation  

และส่วนที่ 3 Talent for Sustainable Growth  เป็นการสร้างคนทำงานในอุตสาหกรรม โดยบริษัทได้จัดให้มีการพัฒนาทักษะความรู้ใหม่ด้านไอที คือโปรแกรม IBM Academic Initiative ซึ่งจะร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  และโปรแกรม P-TECH ที่เริ่มแรกเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาโดยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะด้านไอที พร้อมเมนเทอร์จากไอบีเอ็มและพันธมิตร และการฝึกงาน เพื่อให้กลุ่มที่ผ่านการอบรมแล้วสามารถทำงานได้ทันที เช่น กลุ่มอาชีวะ เป็นต้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะใน 2 กลุ่มนี้ภายใน 3 ปี (2565-2568)  

เขามองว่า บทบาทของไอบีเอ็มต่อจากนี้คือ การเป็นตัวเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีระหว่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่จะทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่กลายเป็นอีกระบบเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจธนาคาร จากเดิมลูกค้าจะเดินไปที่สาขาธนาคารเพื่อทำธุรกรรม แต่ปัจจุบันลูกค้าทำธุรกรรมได้ทุกที่ผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นที่บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ ในอดีตธนาคารจะเชื่อมต่อกับบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ค่อนข้างทำได้ยาก แต่ปัจจุบันการทำธุรกรรมเป็นแบบ Open API ซึ่งไอบีเอ็มนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้ธนาคารเชื่อมโยงบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ได้ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันฐานลูกค้าของไอบีเอ็มขยายกว้างขึ้น นอกเหนือจากลูกค้าหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรม โดยการปรับเปลี่ยนครั้งนี้นอกจากจะใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแล้ว บริษัทเน้นเรื่องของการพัฒนาทักษะคนทำงานรวมถึงการเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงคู่ค้าและลูกค้า  

“บริษัทจะอยู่ได้ในยุคนี้ คือต้องพร้อมรับมือให้ทันกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงเร็ว มองว่ากำลังคนมีความสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้พนักงานเกิดความภูมิใจในองค์กรที่ทำงานอยู่และต้องการอยู่กับองค์กรได้นานเพื่อให้บริษัทสามารถเพิ่มทักษะใหม่ได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โดยจะต้องเริ่มต้นจากระดับผู้นำขององค์กรก่อนและส่งต่อลงมา” 

ความสำเร็จของลูกค้าและคู่ค้าคือความยั่งยืนของไอบีเอ็ม

เขาเล่าว่า เป้าหมายสูงสุดของไอบีเอ็ม ประเทศไทย คือ การทำให้ไอบีเอ็มยังเป็นบริษัทที่สร้างคุณค่าทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้กับไทย โดยมองว่าไอบีเอ็มจะต้องสร้างกำลังคนด้านไอทีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาประเทศไทย  

โดยไอบีเอ็มมีจุดแข็งเรื่องกลยุทธ์การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้พัฒนาธุรกิจและประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานในเมืองไทย ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ บริษัทใช้จุดเด่นด้านเทคโนโลยี AI และ Hybrid cloud เข้ามาเสริมทัพให้กับคู่ค้าและลูกค้าประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของคู่ค้าคือความสำเร็จที่ยั่งยืนของไอบีเอ็ม 

“ผมมั่นใจเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี มั่นใจในกลยุทธ์การลงทุนของไอบีเอ็ม เพราะเราเห็นโอกาสที่มีอยู่ในตลาดนี้และเราพร้อมจะเดินต่อไป แม้ว่าตลาดในไทยมีผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นมาก อาจจะเป็นช่วงที่ยากลำบากในการบริหาร แต่เชื่อว่าถ้าตั้งใจทำก็สามารถทำได้” 

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ 

“พีระภัทร ศิริจันทโรภาส” กับ พันธกิจ ดัน “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ขึ้นผู้นำตลาดขายไฟให้รถ EV

Arincare เฮลท์เทคไทย ให้คนเข้าถึงยาง่ายขึ้น ในราคาถูกลง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ