TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewArincare เฮลท์เทคไทย ให้คนเข้าถึงยาง่ายขึ้น ในราคาถูกลง

Arincare เฮลท์เทคไทย ให้คนเข้าถึงยาง่ายขึ้น ในราคาถูกลง

เมื่อโควิด-19 ย่างกายเข้ามาสู่ประเทศ การเข้าถึงบริการสาธารณสุขไทยเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ผู้คนต่างต้องการยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ระบบ Home isolation ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีญาติคอยดูแล ไม่สามารถออกไปซื้อยาเองได้ “ร้านขายยาชุมชน และเภสัชกรท้องถิ่น” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญกับช่วงสถานการณ์นี้อย่างเห็นได้ชัด

Arincare (อรินแคร์) ระบบบริหารจัดการร้านขายยาออนไลน์ ที่ต้องการเชื่อมโยงเภสัชกรกับผู้ผลิตยาให้เข้าถึงกันเพื่อให้ได้ยาราคาถูก เหมาะสำหรับร้านขายยาที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ โดยเปิดให้ใช้งานได้ฟรีโดยไม่มีข้อผูกมัด

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง ARINCARE เล่าให้ The Story Thailand ถึงจุดเริ่มต้น กว่าจะมาเป็น Arincare ว่า เขาเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จากนั้นบินไปทำงานด้านไอทีที่ประเทศแคนนาดา เป็น Software Engineer ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศประมาณ 11 ปี จึงบินกลับมาเมืองไทย เนื่องจากคุณแม่ป่วยหนักจึงอยากกลับมาดูแล

“ผมอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ High School จนเรียนจบปริญญาตรี 2 ใบคือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และบริหารธุรกิจ จากนั้นทำงานอีก 3 ปี จังหวะนั้นคุณแม่ที่อยู่บ้านในจังหวัดจันทบุรีป่วยหนัก จึงบินกลับมาดูแล และช่วยดูแลธุรกิจขายอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันยังเข้าทำงานในตำแหน่งคอนซัลท์ ให้กับบริษัท International consult อยู่ประมาณ 2 ปี รวมถึงรับงานเขียนคอลัมน์ พิธีกร อาจารยพิเศษที่มหาวิทยาลัยหอการค้าและมหาวิทยาลัยบูรพา” 

อยากเป็นสตาร์ตอัพที่สร้าง value และ impact

ช่วงที่อยู่แคนาดา หลังจากเรียนจบ เขาเข้าฝึกงาน และเริ่มงานครั้งแรกกับบริษัทสตาร์ตอัพ ที่ทำงานด้าน ด้าน Patient record ให้กับโรงพยาบาล มีโอกาสได้ทำงานจริง สัมผัสกับฟีลด์ที่เป็นหน้างาน Healthcare ตรง ๆ เจอหมอ คนไข้ เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ทดลองทำงานในหลาย ๆ ด้าน และค้นพบว่าตัวเองมีแพสชัน และอยากผันตัวเองไปเป็นสตาร์ตอัพ เหมือนที่เคยทำงานในบริษัทสตาร์ตอัพของต่างประเทศ

“เรานั่ง Reflect ตัวเองว่าประสบการณ์ไหนในสายไอทีที่เรามีความสุขสุด สนุกสุด และมีอิมแพกกับเรามากที่สุด กลายเป็นว่าเราชอบเทคโนโลยีคือ Software Engineer กับ Healthcare รู้สึกว่าทำแล้วเห็นคุณค่า (Value) ที่เกิดขึ้นชัดเจนมาก เพราะได้ช่วยคนไข้ ได้เห็นหมอใช้ เห็นคนไข้หายดี สุขภาพดี ประกอบกับคุณแม่เองไม่สบาย จึงมั่นใจว่าอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับ Healthcare”

ธีระบอกว่า ในช่วงแรกยังนึกไม่ออก จึงนำไอเดียจากที่เคยทำที่ต่างประเทศ มาลองใช้กับเมืองไทยดี ทำวิจัยตลาด ก็เริ่มเข้าใจว่าไม่สามารถนำโมเดลนั้นมาทำที่ไทยได้ เนื่องจากโครงสร้างสาธารณสุขในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงเริ่มมองหาเส้นทางใหม่ ที่สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมไทยได้บ้าง

“ผมเป็นคนต่างจังหวัด เห็นแล้วว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด ยังมีคนไทยอีกมากที่เข้าถึงถึงสาธารณสุขที่เป็นระบบโรงพยาบาลได้ยากอยู่ จึงอยากนำไอเดียตรงนี้มาต่อยอด ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของ Arincare”

เขาบอกว่าชื่อ Arin มาจากชื่อหลานสาว ที่เขามองว่าอยากทำอะไรให้ส่งต่อไปกับยุคต่อ ๆ แล้วส่งผลดีกับคนใช้งานในยุคนั้นด้วย ในขณะที่ co-founder เขาคิดเป็นสาย Health เลยคิดว่า จริงๆ ชื่อ  Arincare  มันก็ฟังดู ไม่ Tech มากนัก ไม่ได้เป็นสายคลีนิคเกินไป เลยหยิบมาใช้เป็นชื่อเวอร์ชันแรกก่อน แต่ว่าพอทำไปทำมาก็ยังไม่มีโอกาสไปเปลี่ยน หรือแก้ไขอะไร”

connect the dot อย่างไร?

เมื่อถามถึงการ Connect the dot จนมาเป็น Arincare ธีระบอกว่า ตอนแรกไม่รู้ตัวว่ามันเป็นการ Connect แต่เป็นเหมือนการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน เก็บเครื่องมือในกระเป๋าหลาย ๆ อย่าง มีเครื่องมือให้กับทุกสถานการณ์ นำสิ่งที่เคยทำมาใช้ เป็นการสะสมความสามารถที่มีอยู่ มาเพิ่มระดับความสามารถและทักษะนั้น  เมื่อถึงเวลาที่ต้องการใช้งาน จึงนำออกมาใช้ได้ทันที และสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เขายกตัวอย่างทักษะด้านไอทีที่เรียนมา ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้มาทำ Arincare ทักษะต่อไปคือการขาย ที่เคยช่วยธุรกิจที่บ้าน เห็นการดีลกับลูกค้า การทำบัญชี ภาษี การดีลกับธนาคาร การมองหาแหล่งเงินทุนที่จะมาทำธุรกิจ จึงทำให้รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับตัวเขา รวมถึงทักษะในการเรียบเรียงความคิดที่ได้จากการทำงานด้านคอนซัลท์ สุดท้าย การมีโอกาสได้เข้าไปเขียนคอลัมน์ให้กับหนังสือพิมพ์ หรือทำพิธีกรรายการ ส่งผลให้เวลานำเสนองานกับลูกค้า หรือนักลงทุน ช่วยให้เขาไม่ประหม่า ซึ่งทักษะทั้งหมดนี้นำมาใช้ด้วยกัน จนสร้างเป็นสตาร์ตอัพของตัวเองขึ้นมา

จบไอทีแต่ทำงานด้านพิธีกร งานเขียน?

ธีระบอกว่าเขาไม่เคยคิดเหมือนกันว่าจะทำงานเหล่านี้ได้ คนไอทีส่วนใหญ่เป็นพวก Introvert เขาเป็นคนขี้อายมาก แต่ที่สามารถทำได้เนื่องจากมีโอกาสเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือใครที่หยิบยื่นมาให้ ด้วยความที่เป็นคนชอบลอง เลยลองทำดู

“ไม่จำเป็นว่าเป็นคน introvert แล้วจะยืนพูด public speaking ไม่ได้ ผมคิดว่าคนเรา มันทำอะไรได้หมดเพียงแต่ถ้ามีโอกาสมา หากไม่ใช่เรื่องเสียหายก็น่าจะลองดู และเต็มที่กับสิ่งที่ทำ”

เขาทำรีเสิร์ชเยอะ อ่านหนังสือเยอะ พยายามติดตามอ่านบทความของคนอื่น ๆ ตอนทำพิธีกร หน้ากล้อง แทนที่จะดูทีวีทั่วไป ก็ศึกษาดูวิธีการพูดของคนอื่น ๆ ว่าเป็นอย่างไร แล้วฝึก พัฒนาตัวเอง ไม่เคยคิดว่าจะได้ใช้หรือไม่ คิดแค่ว่าโอกาสมาแล้ว น่าสนุก น่าลอง ก็ลงมือทำดู

ทำตามโอกาสที่เข้ามา ไม่ได้เป็นคนที่วิ่งออกไปหาโอกาส? 

“ทั้ง 2 อย่าง ตอนแรกเขียนคอลัมน์ แล้วบริษัทที่ให้งานเขาบอกอยากทำรายการ หาพิธีกร แล้วถามผมอยากทำดูไหม ในเมื่อผมเขียนคอนเทนต์ มีความรู้อยู่แล้ว ก็เลยลองดู ผมคิดว่าอยากทำอะไรแล้วโอกาสมาก็ทำ แต่คงไม่ได้อยู่ ๆ ไปสมัครเป็นพิธีกรเลย เป็นเพราะโอกาสเข้ามาพอดี”

Arincare ในวันนี้…

ต่างกับ Arincare ตอนเริ่มต้นเยอะ อาจเรียกว่ายังมีเค้าโครงเดิมอยู่ แต่โตมาเยอะมากแล้ว แม้แต่ธุรกิจเราก็ผ่านการ pivot มาหลายรอบ เค้าโครงเดิมคือ Target Audience, Target customer ยังเป็นกลุ่มเดิม ยังเสิร์ฟกลุ่มเดิม แต่โตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นทั้งในแง่ของ Startup และธุรกิจ 

วิสัยทัศน์ของ Arincare ตั้งแต่เริ่ม และทุกวันนี้ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ก็คือ Make Healthcare Affordable  คือทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขหรือยา ได้ง่ายขึ้น แล้วก็ถูกลง” ผมคิดถึงเช่นนั้นตั้งแต่ day 1 ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงง่ายขึ้น ซื้อได้มากขึ้น ซึ่งทางของผมในวันแรก เริ่มจากการที่เราเห็นว่าสิ่งที่เราอยากทำคือเทคโนโลยี เห็นแล้วว่าบุคลากรการแพทย์ โดยเฉพาะเภสัชกรชุมชน ร้านยาชุมชน ที่เข้าถึงกลุ่มคนไทยเยอะที่สุด

“จากที่ทำรีเสิร์ชมา ผมเองเป็นคนต่างจังหวัด เดินเข้าไปดูตามร้านขายยา จะเห็นว่าส่วนใหญ่ทำงานแบบ manual เกือบทั้งหมด ทำให้รู้สึกว่าในเวอร์ชันแรกของ Arincare สิ่งที่เราอยากจะส่งมอบ คือการมอบอำนาจ (Empower) ทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ช่วยคนได้เยอะขึ้น นี่คือแนวคิดของ Arincare”

ธีระมองว่า Arincare เวอร์ชันแรกคือเครื่องมือ เขาทำ Tool ขึ้นมาให้เภสัชกรชุมชนใช้บริหารคลังยา ประวัติคนไข้ หรือการบริหารธุรกิจร้านยาในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันก็ยังทำอยู่ ยังดำเนินการที่จะ grow user ตรงนี้อยู่ 

จากที่เริ่มต้นทำ จนถึงวันนี้ระหว่างทางมีการปรับเปลี่ยนโมเดลหลาย ๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่นเวอร์ชันแรกไม่ใช่ Free software แต่ตอนหลัง Pivot โมเดลออกมาให้เภสัชกรใช้ฟรี pivot ที่ 2 คือพอทำงานกับเภสัชกรมากขึ้น มีความเข้าใจเรื่องของห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) มากขึ้น เข้าใจแล้วว่าเภสัชกรไม่ได้ทำงานคนเดียว โดยเฉพาะเรื่องยา ยังมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการยากับเขาพอสมควร ที่เห็นได้ชัดเจนคือ บริษัทยา หรือซัพพลายเออร์ด้านยา

“เรา pivot ครั้งที่ 2 ปลายปี 2019 ตอนนั้นเรามองว่าสิ่งที่ทำให้เภสัชกร คุณค่าได้แล้ว เขาเข้ามาใช้กันเยอะมาก ประมาณหลักพัน user  เป็นร้านขายยา ทำให้เรามองเห็นอย่างหนึ่งว่ามี pain ในอุตสาหกรรมอยู่คือเรื่องของซัพพลายเชน”

เขามองว่า กว่ายาจากผู้ผลิตจะมาถึงเภสัชกร ถึงผู้บริโภค ยังเป็นห่วงโซ่อุปทานแบบดั้งเดิม (traditional supply chain) ค่อนข้างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้องมองหาวิธี pivot ว่าจะเพิ่มคุณค่าอะไรลงไปได้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของ “ทำอย่างไรให้เภสัชกร เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ในราคาถูกลง” ซึ่งเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ของบริษัท คือนอกจากตัวระบบที่ใช้ในร้านยาแล้ว เขายังจะทำ marketplace ขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงร้านขายยา ที่ใช้ระบบ Arincare สามารถสั่งซื้อยาจากผู้ผลิต หรือผู้ค่าส่งชั้นนำในประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งการ pivot ครั้งที่ 2 คือการทำ B2B marketplace เพื่อให้เภสัชกร บริษัทยา หรือผู้ค้าส่ง สามารถเจอกันได้ง่ายขึ้น

ล่าสุดการ pivot ครั้งที่ 3 เพิ่งจะเกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ Arincare ต้องปรับ ขยับ จากฝั่ง B2B มาเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเภสัชกรกับคนไข้ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา 

“ผมคิดว่าตอนนี้เหมือนเรา connect the dot ใช้สถานการณ์ connect the dot ได้ คือเราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเชื่อมต่อไปทางไหนอีก อย่างที่ผม pivot แต่ละครั้ง ไม่ได้เกิดจากการที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า  แต่เกิดจากการที่เราลงมือทำ โฟกัสกับสิ่งที่ทำ แล้วเห็นว่าแต่ละจุด สามารถทำอะไรต่อเพื่อเพิ่มคุณค่าได้ ซึ่งน่าจะเป็นไอเดียมากกว่า ถามว่า dot ครบหรือยัง ผมคิดว่าในอนาคตมีอีกหลายสิ่งที่ผมทำได้”

ทำไมต้องยา?

คำว่า Healthcare เป็นคำที่กว้างมาก แต่ละอัน แต่ละ sub set ก็ลึกลงไปอีก อาจไมได้เริ่มจากยา จะมี 2 ข้อคือ Data ที่เขาลงไปรีเสิร์ชก่อนเริ่มทำ Arincare เขาเห็นว่า ตลาดยาในเมืองไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย ประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าในเชิงประชากร เบอร์หนึ่ง คือ อินโดนีเซีย เบอร์สองไม่ใช่ไทย แต่ว่าตลาดยาของไทยใหญ่เป็นเบอร์ 2 ซึ่ง reflect กับแผนยุทธศาสตร์เมืองไทย ที่เป็น  medical hub เป็นศูนย์กลาง Healthcare เลยทำให้เขาเห็นโอกาสของตลาดยา

ธีระบอกว่า Arincare ไม่ได้เริ่มต้นจากยา แต่เริ่มจากเภสัชกรมากกว่า เพราะมองว่าเภสัชชุมชนเป็นอะไรที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด 

“คนไทยส่วนใหญ่เวลาป่วย ถ้าไม่ได้ป่วยหนัก เป็นโรคเรื้อรังห รืออุบัติเหตุ จะไม่ไปโรงพยาบาลทันที จะเดินเข้าร้านยาแถวบ้านก่อน เจอเภสัชก่อน ซื้อยากินเองก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นถึงไปโรงพยาบาล เลยมองว่าหากเราจะเพิ่มคุณค่าในส่วนที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด จึงเริ่มจากเภสัชซึ่งทำงานกับยาโดยตรง ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดอิมแพก ในวงกว้างได้ ตามวัตถุประสงค์ที่เราอยากทำ” 

นี่อาจไม่ใช่ทั้งหมดของวัตถุประสงค์ทั้งหมดของ Arincare เนื่องจาก เฮลท์แคร์ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะ แต่คิดว่านี่น่าจะเป็น pain point ที่ชัดมาก น่าจะสร้างการขับเคลื่อนที่ดีให้กับเฮลท์แคร์ในบ้านเราได้

เขามองว่าการที่ประเทศไทยมีตลาดยาที่ใหญ่ขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตลาดยาที่ว่ารวมไปถึงยาในโรงพยาบาล และนอกโรงพยาบาล เมือเทียบกับขนาด สามารถลงลึกไปได้อีก จะมีเรื่องของยาที่ไทยเป็นทั้งผู้นำเข้า และส่งออก ประเทศเพื่อนบ้านก็กระจายยาไปจากเมืองไทยเหมือนกัน ยาที่ขายในประเทศไทยก็ไม่ใช่ยาจากฝั่ตะวันตกอย่างเดียว มียาแผนโบราณด้วย ตลาดค่อนข้างโต ทำให้เห็นว่า นอกจากการจัดการนำเข้า และส่งออกยาแล้ว การหมุนเวียนของสินค้า ไทยเองก็เป็นผู้นำ เป็นนวัตกรด้านยา ชั้นนำของโลก ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ Healthcare

โอกาสยังมีอีกมาก

ธีระเล่าว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงโควิด จะเห็นเลยว่ามีหลายอย่างที่ Arincare สามารถเพิ่มคุณค่าลงไปในตัวเองได้อีก สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนต้องทำงานร่วมกัน ตั้งแต่แพทย์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จนไปถึงอสม. เฮลท์แคร์มีห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ชัดมาก ทุกคนมีส่วนประกอบเหมือนกันหมด แล้วในวันที่เขาอยากเริ่ม จึงอยากเริ่มจากเภสัชกรก่อน 

“ถามว่าสิ่งที่เรามี ต่อยอดอย่างไรได้บ้าง ผมมองว่าโอกาสของ Arincare ยังมีอีกเยอะมาก”

วันนี้สิ่งที่ธีระกำลังโฟกัสอยู่ และจะดำเนินการใน 2-3 ปีนี้คือการต่อยอด ปีที่ผ่านมาเขาเริ่มทำโครงการนำร่อง (Pilot Project) ซึ่งทำกับคนไข้ เพิ่งตัดสินใจว่าจะขยายต่อไปยังคนไข้ คือทำอย่างไรให้คนไข้สามารถเข้าถึงยาและร้านยาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเขามองคือ 1) ตลาดใหม่คือเรื่องของคนไข้ 2) ปัจจุบัน Arincare กำลังระดมทุนเพื่อขยายไปยังต่างประเทศ

“ปัจจุบันเรามีผู้ใช้งานอยู่ต่างประเทศด้วย เรามองว่าในสิ่งที่เรามีเป็น core value หรือ core asset ในแง่ของ B2C สามารถส่งต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ได้”

เชื่อมโยงคนไข้กับเภสัชกรช่วงล็อกดาวน์ด้วย Tele Pharmacy 

สำหรับ B2B marketplace ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือร้านขายยา เภสัชกรเจอผู้ผลิตยาที่เป็นซัพพลายเออร์ เกิดการซื้อขายกัน เมื่อถึงเวลาเชื่อมโยงมายังคนไข้ ซึ่งเป็น B2C แล้วจะเชื่อมต่อกันผ่าน Tele pharmacy 

เขาบอกว่าปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด Tele medicine ถูกนำมาพูดถึงกันเยอะมาก เรื่องของการแพทย์ทางไกล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกันคือเรื่องของ Tele pharmacy หรือเภสัชกรทางไกล ตรงนี้คือคอนเซ็ปต์หลัก 

ในส่วนของ publican โปรเจกต์นี้เริ่มขึ้นมาได้อย่างไร ธีระเล่าว่าช่วงปีใหม่ มีการระบาดของโควิด ตอนนั้นเรื่องของแพกุ้งที่ตลาดปลาแถวมหาชัยย มีการล็อกดาวน์ คนไทยไม่ออกจากบ้าน สิ่งที่เขาเจอคือร้านยาในเครือข่าย Arincare เดือดร้อน เพราะคนไม่ออกจากบ้าน ไม่เดินทาง เขาจะไม่เดินร้านขายยา ส่งผลให้หลาย ๆ ร้านปิดตัวลง หลายร้านขาดรายได้อย่างหนัก 

ขณะเดียวกัน Arincare เป็นผู้ให้บริการร้านขายยา ก็เจอว่ามีคนไข้หลายคนที่เป็น consumer ติดต่อเข้ามา เขาคิดว่า Arincare คือร้านขายยา โทรมาสอบถามว่า อยากได้ยาตัวนี้มาก แค่ช่วงโควิดโรงพยาบาลไม่ให้ไป นอกจากนี้ในพื้นที่ที่เขาอยู่ก็ออกไปไหนไม่ได้ ไม่สะดวก บางคนต้องกักตัว มีความเสี่ยงที่จะติดโควิด มีความต้องการยา

“ตอนนั้นเรามองว่า Arincare ทำงานเป็นกึ่ง ๆ CSR ช่วยแมทช์คนไข้ที่ต้องการยา กับร้านขายยาเข้าด้วยกัน”

เขาเล่าว่า เขาสอบถามอาการเบื้องต้นของคนไข้ ถามที่อยู่ จากนั้นไปดูว่าในพื้นที่ที่คนไข้อยู่ มีร้านขายยาที่อยู่ในระบบ Arincare ร้านไหนบ้าง ที่จะให้บริการเขาได้ใกล้ที่สุด จับ 2 ฝั่งมาเจอกัน คนไข้ได้รับยา ในขณะที่ช่วงล็อกดาวน์เภสัชก็ยังมีลูกค้าอยู่ ซึ่งมาจากช่องทางออนไลน์ทีมส่งเข้าไปให้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้น้อง ๆ ในทีม Arincare ปิ๊งไอเดีย 

หลังจากจบรอบแพกุ้ง การระบาดก็ยังดูไม่ลดลง ส่งผลให้เคสแบบที่กล่าวมาเกิดขึ้นเยอะมาก มีคนไข้ติดต่อ Arincare เข้ามาเยอะ ร้านยาในระบบก็เพิ่มขึ้น ทำให้ผมเริ่มคิดว่าจะทำโครงการนำร่อง แบบ Good wil ไม่ได้แล้ว ต้องทำจริงจัง เพราะเห็น pain point ในตลาด ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่คือ Tele Phamacy 

ปัจจุบันคนไข้กักตัว home isolation ที่ต้องการยามีเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่ Arincare ทำคือการส่งต่อคนไข้เหล่านั้นให้กับเภสัชกรในเครือข่ายที่อยู่ใกล้คนไข้มากที่สุดช่วยดูแล คนไข้เองก็จะได้รับความสะดวก เภสัชกรก็ไม่ขาดรายได้ จากเดิมที่โครงการนำร่องเป็นแมนนวลทั้งหมด ปัจจุบัน Arincare ให้บริการมากกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ 

“ร้านยาบางร้าน มีรายได้จากการที่ Arincare ส่งต่อคนไข้ไปให้ เดือนหนึ่งเป็นหมื่นบาท กลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำสามารถจะ grow ตัวนี้ ทั้งในเมืองไทย และต่างประเทศได้”

ขยายไปยังต่างประเทศ

ธีระเล่าว่าโมเดลของ Arincare สามารถขยายต่อไปยังต่างประเทศได้ จากการที่เขาทำรีเสิร์ช ทำให้เห็นว่ายังมีอีกหลายประเทศที่เจอปัญหาแบบเดียวกัน ซึ่งในสิ่งที่เขาทำ สามารถนำไปประยุกต์ เพื่อให้เข้ากับความต้องการของคนในพื้นที่ได้ แม้อาจไม่ใช่แบบ ก๊อปปี้แล้ววาง (copy and paste) เนื่องจากมีเรื่องของกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้น ๆ เรื่องของเฮลท์แครในต่างประเทศ โครงสร้างประชากร หลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่เขามองคือความต้องการ ในหลาย ๆ ประเทศยังมีดีมานต์แบบนี้อยู่พอสมควร

ภายในปี 2025 เขาวางแผนจะขยาย Arincare ไปใน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นประเทศไหน 

ซึ่งการที่ Arincare จะขยายออกไปยังต่างประเทศใน 2-3 ปีข้างหน้าได้ ธีระจำเป็นต้องระดมทุนประมาณ 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 150 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศที่จะไป และประเทศนั้นมีตลาดไหนที่เขาสามารถเข้าไปเพิ่มคุณค่าได้

“ผมมองว่าแรก ๆ ก็น่าจะประมาณนี้ เรามี short list อยู่ว่าสามารถไปที่ไหนได้ เมื่อไปแล้วต้องสร้างคุณค่าให้ได้เหมือนที่เราทำในเมืองไทย”

เส้นทางการระดมทุน 

ธีระบอกว่า Arincare ได้รับทุน Incubation เข้าร่วม dtac Accelerate vs. True Incube เป็น Accelerator program ได้ seed funding มาจำนวนหนึ่ง รวมถึงมี Angel investor ที่อยู่กับ Arincare มาตั้งแต่ day one มาด้วย ก็อยู่ด้วยกันมา จากนั้น seed round ได้รับทุน depa Digital Startup S3 (ประเภทอุตสาหกรรมดิจิทัล) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และล่าสุดเมื่อตุลาคม 2020 raise series A 

อยากเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณสุขของประเทศ 

เมื่อถามถึงเป้าหมายสูงสุดของ Arincare ธีระบอกว่า ทุกวันนี้บริษัทเดินตามมิชชันที่วางไว้คือ Healthcare Affordable ทำยังไงให้คนเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ในราคาถูกลง สำหรับอนาคต หากสิ่งที่เขาและทีมทำสามารถเพิ่มคุณค่าได้ ก็อยากให้ Arincare เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณสุขของประเทศ

“เราเห็นแล้วว่า ในประเทศไทย สาธารณสุขมีโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง แต่สิ่งที่เราทำนอกเหนือไปจากโรงพยาบาลกับคนไข้ คือเรื่องของเภสัชกร กับบริษัทยา และผู้ค้าส่งยา ผมมองว่าวันหนึ่ง ทุกคนที่อยู่ในระบบนิเวศนี้ จะสามารถต่อยอดจากสิ่งที่ Arincare มีได้เหมือนเราเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้เขา เขามารถ add value ขึ้นไปได้อีก คิดว่า Arincare สามารถทำได้แน่นอน” 

ปัจจุบัน Arincare มีร้านขายยาชุมชุน ทั่วประเทศไทยอยู่ในระบบกว่า 2,500 แห่ง ซึ่งในแต่ละเดือน มีทรานเซกชันประมาณ 900,000 ครั้ง ในการจ่ายยาให้คนไข้ ปี 2021 มีมูลค่าการใช้จ่ายยาผ่านระบบ Arincare ประมาณ 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,100 ล้านบาท 

ปี 2017 Arincare ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการ Asia Pacific ICT Alliances Awards หมวด Inclusion and Community, รางวัลชนะเลิศการประกวดโครงการ Thailand ICT Awards หมวด Inclusion and Community และล่าสุดกับ รางวัลดีเด่น โครงการประกวลรางวัลเจ้าฟ้าฯ ไอที โดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพฯ ครั้งที่ 12

ปัจจัยความสำเร็จ

ในมุมมองของผู้บริหารสตาร์ตอัพ เขามองว่าสิ่งที่ทำให้ Arincare สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากว่า 6 ปีคือเรื่องของ Founder ที่ลงตัว 

“สตาร์ตอัพกว่า 95% ต้องล้มเหลวใน 1-2 ปีแรก เพราะผู้ก่อตั้งแยกทางกัน”

สำหรับ Arincare เขากับผู้ก่อตั้งอีกคน ทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรก เป็นทำงานใกล้ชิดกันแบบพาร์ทเนอร์ชิปมาโดยตลอด เรื่องที่ 2 คือทีมงาน แม้จะเป็นสตาร์ตอัพ แต่อัตราการ Turnover หรือ หมุนเวียนของพนักงาน ค่อนข้างต่ำ มีทีมงานที่เป็น core หลัก 

“ผมโชคดีที่ทีมงานแต่ละคนที่เข้ามา เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของเรา เราเองก็พยายามเฟ้นหาคนที่ไม่ได้มองเรื่องผลงานเพียงอย่างเดียว ยิ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงโควิด หากไม่ได้ทีมงานที่ดีมาช่วยกัน คงอยู่ไม่ถึงวันนี้”

6 ปีกับการเป็นสตาร์ตอัพ

บทเรียนข้อแรกในฐานะผู้บริหารหรือ founder สิ่งสำคัญของการทำงานคือต้องรู้ว่าเวลาไหน ควรทำอะไร ‘Do the right thing at the right time’ เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

“เราเป็น founder ในช่วงแรก ทำทุกอย่าง พอมีบริษัท มีทีมเข้ามา ตัว founder ต้อง evolve ขึ้นมาเพื่อพัฒนาตัวเอง รวมถึงการพัฒนาด้าน EQ ด้วย ซึ่งสิ่งที่ทำสำคัญที่สุด อาจไม่ใช่เรื่องของทักษะ แต่เป็นเรื่องมองมุมมอง ว่าปัจจุบัน อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่เราต้องทำ ซึ่งนับเป็นบทเรียนราคาแพงที่ได้เรียนรู้ตลอด 6 ปีที่ทำสตาร์ตอัพมา

เขามองว่า บทเรียนต่าง ๆ ตลาดเส้นทางไม่ใช่เรื่องที่สอนได้ หรือใครมาบอกได้ หลาย ๆ อย่างต้องลงมือทำ หากผิดพลาด หรือมองว่าไม่ดีพอ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในเวลานั้น ก็ต้องเรียนรู้จะที่แก้ไข และปรับปรุง

ข้อที่ 2 ไม่ว่าจะในฐานะ ตำแหน่งใดก็ตาม หากเราเป็นผู้นำทีม สิ่งที่ต้องทำคือการส่งพลังบวกให้แก่คนรอบข้าง อาจเป็นอะไรที่ไม่ใช่ hard skill อาจไม่เกี่ยวกับทักษะอะไร แต่ช่วงที่ทำงาน จะมีหลายอารมณ์ ผู้นำทีมควรส่งพลังบวกไปยังทีม ซึ่งไม่ใช่แค่การพูดเรื่องที่ดี แต่ต้องรวมไปถึงการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากพอสมควร สำหรับคน Introvert แบบเขา

สุดท้าย เขาเรียนรู้ว่าเวลามอบหมายอะไรให้ใคร ต้องเชื่อใจให้สุด  “เวลาทำงานกับทีม Arincare เราสัมภาษณ์กันอย่างต่ำ ๆ 3 รอบ กว่าจะรับคนหนึ่งเข้ามา ทุกต่ำแหน่ง Junior ก็ต้อง 3 รอบ ผมยังสัมภาษณ์เองทุกคน ส่วรรอบที่ 2 และ 3 จะขึ้นอยู่กับสายงานที่ทำ ทั้งนี้ ผมและ co-founder ทั้ง 2 ท่าน ต้อง say yes เหมือนกัน หากมีคนหนึ่ง บอกว่าไม่แน่ใจ จบ คือเราไม่เอาเลย แต่ถ้า 2 คนบอกว่า โอเค ผมเชื่อนะ”

เคยพลาดบ้างไหม?

สิ่งหนึ่งที่ผมคิดไว้ หากย้อนเวลากลับไปจะแก้ไขใหม่ได้คือ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีความโปร่งใส (transparent) กับทีมงานมากพอ ยิ่งเป็นช่วงวิกฤติโควิด เรามีช่วงที่ลำบากมาก กว่าจะระดมทุนรอบ Series A ได้ เข้าขั้นวิกฤติ ผมมานั่งคิดว่า ที่ผ่านมาเราอยากเป็นคนเชียร์อัพพนักงาน พยายามจะแบ่งปันเรื่องราวเชิงบวก เสริมพลังให้กับเขา แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า ทุกคนมองเห็นด้านเดียวของบริษัท  ผมกลัวว่าวันหนึ่ง หากเราไปบอกพนักงานว่าเราเหลือเงินจ้างเขาอีก 3 เดือน เขาจะรีบลาออกไปก่อน แทนที่เขาจะได้กำลังใจ กลับทำให้เขาเสียขวัญแทน

“จากวิกฤตินั้น หากเราาไม่มีความโปร่งใสกับพนักงานในทุกด้านของบริษัท จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา”

นับจากวันนั้น ธีระและผู้ร่วมก่อตั้ง Arincare จึงเปลี่ยนทัศนคติ มีอะไรจะแบ่งปันทีมงานทุกเรื่อง ทั้งผลงาน การเงิน หรือขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ เขาบอกหากได้ทำเช่นนี้แล้ว สุดท้าย พอเขาจะนำข่าวร้ายไปให้พนักงานก็มีคนลาออก แต่แค่คนเดียว คนที่เหลือก็ยังอยู่ต่อสู้กับเราอยู่

“เราปรับการสื่อสารกันเยอะมาก เรามีความโปร่งใสและชัดเจนกับพนักงานมากขึ้น เราบอกเขาทั้งข่าวดี และข่าวร้าย แม้จะเป็นเรื่องร้าย แต่ก็สามารถสื่อสารเชิงบวกได้ อันนี้เป็น lesson learn หากทำก่อนหน้านี้สัก 6 เดือน ปีที่ผ่านมาคงดีกว่านี้ ไม่เหนื่อยขนาดนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สุดท้ายเราก็รอดมาได้”

หลักการทำงานในแบบของ ธีระ กนกกาญจนรัตน์ 

เขาบอกว่าหลักการทำงานข้อแรกคือวินัย และความมุ่งมั่น เวลามีการถกเถียงกันในทีม เวลามีการะประชุม ให้คุยกันออกมาในที่ประชุมเลย สรุปออกมาเลย ไม่มีนอกรอบ ซึ่งค่อนข้างโปร่งใส และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีหลัง นอกรอบอีก 

ข้อสองคือความยืดหยุ่น เวลาคุยกับน้องในทีม ทุกคนที่เข้ามามักจะขอ Job Description ที่ชัดเจน ผมก็จะบอกว่าคุณต้องชัดเจนในสิ่งที่ทำ แต่ต้องยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนได้เสมอ เพราะการที่องค์กร และงานที่เราทำไม่ได้อยู่นิ่งตลอด ต้องมีการปรับเปลี่ยน การที่คุณยึดติดมากไป ก็จะทำให้คนอื่นทำงานลำบากด้วย 

ดึง stakeholder มาร่วมมือกัน

จากวิกฤติโควิด ธีระบอกว่าเขาจะย้ำน้อง ๆ เสมอว่าต้อง engage กับผู้ใช้งานให้มากขึ้น  เขายกตัวอย่างช่วงครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติ  ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร แต่ครึ่งปีหลัง มีการปรับวิธีการทำงานใหม่ ส่งผลให้งานออกมาดีมาก ปี 2564 Arincare โตขึ้นประมาณ 3 เท่าจากปีก่อนหน้า 

หากถามถึงพันธกิจเร่งด่วนหลังจากนี้ คือการเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานในระบบ และลูกค้าของ Arincare ให้มากที่สุด ดูว่ามีอะไรที่จะช่วยเหลือเขาได้บ้าง ดูว่าพาร์ทเนอร์คนไหน สามารถทำอะไรเพิ่มกับเขาได้บ้างนี่คือส่วนของ Arincare

ในส่วนของตัวธีระเอง คือการดึงพาร์ทเนอร์ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเข้ามาทำงานร่วมกัน ให้ใกล้ชิดกันที่สุด อย่างในวันนี้ ช่วง 2 ปีนี้ ช่วงการระบาดของโควิด ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า Healthcare อีกแล้ว เขารู้สึกว่าการที่ได้ทำอะไรเพื่อสังคม และส่งต่ออกไปได้ เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Arincare กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศของ Healthcare ของร้านขายยา ยิ่งมีโควิดระลอกใหม่ ๆ ออกมา ยิ่งทำให้เขามีเป้าหมายชัดเจน 

ดึง partner กับ stakeholder ที่จำเป็น เข้ามาทำงานกัน ให้ใกล้ชิดที่สุด อย่างในวันนี้เนี่ย ช่วงสองปีนี้ ยิ่งช่วงการระบาด ผมคิดว่าคงไม่มีอะไรที่เป็น topic มากกว่า Healthcare  แล้ว  ผมรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำเพื่อสังคมหลายๆ อย่าง มัน deliver ออกไปได้ เพราะมีการทำงานร่วมกันระหว่างเรากับ stakeholder อื่นๆ  ในช่วงนี้ครับ ยิ่งระลอก wave 5 มาเนี่ยมันชัดเลย แล้วก็เราเองยังมีเป้าหมายชัดเจน คิดว่าสิ่งที่เป็นการเร่งด่วน คือดึงstakeholder ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ มาทำงานด้วยกัน 

ขาดคนที่มีทักษะด้าน Tech

เมื่อถามถึงมุมมองเกี่ยวกับสตาร์ตอัพในเมืองไทย ธีระมองว่าปัจจุบัน startup ไทย มีศักยภาพสูงมาก สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ มีแพสชันเยอะมาก และมีโอกาสรวม ๆ กันอยู่หลายอย่าง ที่จะทำให้ธุรกิจมันเกิดขึ้นและเติบโตได้ อีกมุมหนึ่ง คือเรื่องของบุคลากร คนอยากทำสตาร์ตอัพมีศักยภาพเยอะ แต่ขาดปัจจัยสนับสนุน อย่างแรกคือ ขาดแคลนคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี 

“สตาร์ตอัพหลาย ๆ คน มีไอเดีย มีศักยภาพ แต่ไม่สามารถ re-arise หรือทำให้เรื่องของ Tech เกิดขึ้นได้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพื้นฐานการศึกษาของบ้านเรา”

ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ธีระมีโอกาสได้ไปเที่ยวอเมริกา มีโอกาสได้คุยกับนักลงทุน สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้มาคือ founder ที่อเมริกาไม่ได้เก่งกว่าคนไทยเท่าไหร่นัก ทั้งทักษะ มุมมอง ความใจสู้ สตาร์ตอัพเขาไม่ได้อัจฉริยะทุกคน แต่การระบบนิเวศรอบตัวเขา เป็นตัวซัพพอร์ต ที่เห็นชัดคือเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของเครื่องมือต่าง ๆ ทักษะต่างๆ เขามีพร้อมกว่า ซึ่งเมื่อเทียบกับเมืองไทย ที่ค่อนข้างขาดพอสมควร

“ถ้าเทียบกับอัตราทักษะด้านเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย เราช้ากว่าเขาเยอะมาก ทำให้บ้านเราไม่มีสตาร์ตอัพที่โตในเมืองไทยได้ด้วยตัวเอง (home grown start up)”

อีกมุมหนึ่งเขามองว่า ประเทศไทยมีความ unique จะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ที่รับเข้ามาทำงาน หลาย ๆ อย่างที่ได้เห็นจากการทำสตาร์ตอัพในต่างประเทศ จากอเมริกา บางอย่างเราไม่สามารถทำตามเขาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อาจต้องอาศัยประสบการณ์ระดับหนึ่ง ที่จะรู่ว่าอะไรที่เราควรทำตามเขา อะไรที่ไม่เหมาะกับบ้านเมืองเรา ฉะนั้นสตาร์ตอัพในเมืองไทยอาจต้องทำงานกึ่ง SMEs คือมีความยืดหยุ่น 

สำหรับสตาร์ตอัพในเมืองไทย ธีระมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แต่ขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ยิ่งทักษะด้านเทคโนโลยี พอมีน้อย ขาดคนที่มีทักษะด้านนี้ จะส่งผลต่อเนื่อง ทำให้คนเก่ง ๆ ออกไปทำงานในต่างประเทศหมด อย่างสตาร์ตอัพในอเมริกาหรือเวียดนาม โปรแกรมเมอร์เยอะมาก แต่ขาด Entrepreneur ในขณะที่เมืองไทย Entrepreneur เยอะมาก แต่ขาดคนที่มีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี

และสุดท้าย ในการทำชาแนลต่าง ๆ ให้กับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ที่เขาจะรับสื่อพวกนี้ไป เขามองว่าอยากให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ มอง Startup ให้เป็นธุรกิจจริง ๆ มากกว่าทำให้เป็นแค่สตาร์ตอัพ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็น pain point ของสตาร์ตอัพในเมืองไทย

บทบาท Arincare ในการขับเคลื่อน startup 

ธีระบอกว่าอย่างแรกที่อยากทำให้เห็น คือการไปต่างประเทศ ซึ่งผิดแนวคิด (mist conception) อยู่ว่า สตาร์ตอัพไทยเก่งแค่ในบ้าน แต่ไม่มี international mindset แต่แรก ผมคิดว่า ตัวเขาเองก็อยากทำได้เหมือนรุ่นพี่ ที่ทำจนประสบความสำเร็จ ว่าจริงๆ แล้วศักยภาพที่ Arincare มี สามารถก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องของทรัพยากร (resource) ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ แต่หากเราทำได้ สตาร์ตอัพไทยจะก้าวไปสู่ต่างประเทศได้

อย่างที่ 2 ในช่วงปีที่ผ่านมาธีระบอกว่าเขาค่อนข้างทุ่มเทกับ Arimcare พอสมควร ถ้ามีโอกาส ก็อยากจะไปช่วยแนะนำน้อง ๆ สตาร์ตอัพรุ่นใหม่อยากแบ่งปันประสบการณ์ เขาอาจไม่ใช่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แต่เขามองว่าทุกคนมีโอกาสเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ที่ล้มเหลว เขาจึงอยากจะนำประสบการณ์ต่าง ๆตลอดเส้นทางของ Arincare ไปแบ่งปัน ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาจะตัดสินใจเอง

ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่

ธีระมองว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเยอะมาก สตาร์ตอัพไม่ได้คุยกันแค่เรื่อง EdTech, Health Tech เขาคุยกันเรื่อง Token Metaverse ในมุมของธีระเอง อยากบอกน้อง ๆ ว่าสิ่งเหล่านั้น เป็นเรื่องดี เรื่องใหม่ แต่เราต้องทำตามเทคโนโลยีหรือไม่ ให้คิดถึงเรื่องคุณค่า (Value) ที่สังคมไทยยังขาดอยู่ อย่าลืมว่าสิ่งที่่สตาร์ตอัพพยายามทำ คือต้องถามให้ได้ว่า สิ่งที่เราทำอยู่ มีคุณค่าอะไรกับสังคมได้บ้าง หากเราทำแล้ว สิ่งที่เราทำมีผลกระทบได้ ผมว่าสิ่งนั้นเป็นจุดตัดที่ดีที่สุด 

“เราต้องดูว่าเราจะแมทช์แพสชัน กับคุณค่าของธุรกิจได้อย่างไร”

มีสตาร์ตอัพหลายคนอยากทำบล็อกเชน ถ้าอยากทำจริง ๆ ลองดูบริบทของบ้านเราว่าสามารถสะท้อนอะไรได้บ้าง แก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร หลายคนมอง Metaverse เมืองไทยมีปัญหาเรื่องของการศึกษา ครู อาจารย์มีไม่เพียงพอ เราจะนำ Metaverse มาช่วยตอบโจทย์ และส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมได้อย่างไร สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ ต้องตอบโจทย์ข้อนี้ให้ได้

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ดรามา “แบงก์ค็อก”

การสื่อสารความถี่ต่ำ … งานวิจัยเพื่อภัยพิบัติ พันธกิจของนักวิจัยไทย “รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ