TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"พีระภัทร ศิริจันทโรภาส" กับ พันธกิจ ดัน “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ขึ้นผู้นำตลาดขายไฟให้รถ EV

“พีระภัทร ศิริจันทโรภาส” กับ พันธกิจ ดัน “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ขึ้นผู้นำตลาดขายไฟให้รถ EV

จังหวะชีวิตของ พีระภัทร ศิริจันทโรภาส วัย 30 ปี ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) บริษัทที่ทำธุรกิจในยุคสมัยใหม่ ที่มีพนักงาน 22 คน อายุเฉลี่ยพนักงานอยู่ที่ 26 ปี ธุรกิจผู้ให้บริการ EV Charging Solution ครบวงจร เริ่มต้นด้วยการทำงานที่ Invest Banking ชื่อ The Quant Group เป็นเวลา 4 ปี

ตอนนั้นเขาดูแลด้าน M&A แล้วได้พบลูกค้าคนไทยคนหนึ่งสนใจเทคโนโลยี EV ในยุโรป ให้บริษัทช่วยศึกษาแนวโน้มของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต หลังถูกมาตรการและกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เขามีความสนใจเรื่อง EV มากขึ้น 

จากนั้นเมื่อเขาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาอยู่ 8 ปี ในช่วง 2-3 ปีท้ายของการใช้ชีวิตที่นั่น เป็นช่วงจังหวะที่ Tesla เริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า เขาได้มีโอกาสสัมผัสและชอบรถ EV ประกอบกับเป็นช่วงที่ทุกประเทศทั่วโลกมีความตั้งใจจะลดคาร์บอน และมีการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ (Carbon Emission) ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก ดังนั้น หากจะมุ่งสู่สังคมไร้คาร์บอนฯ สิ่งที่แรกที่น่าจะเกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนยานพานะที่ใช้

ด้วยความชอบในรถ EV และเชื่อมั่นในอนาคตของ EV จึงตัดสินใจตั้งบริษัท บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ในปี 2019

พีระภัทร บอกกับ The Story Thailand ว่า เขาตั้ง “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ด้วยความตั้งใจอยากให้คนไทยมั่นใจในการใช้รถ EV ฉะนั้น ตั้งใจว่าจะตั้ง “จุดชาร์จ” (charger) ในสถานที่ที่คนต้องการชาร์จมากที่สุด เป็นที่มาของแผนธุรกิจในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ (Chaging Infrastructure) ตามที่พักอาศัย ทั้งบ้านและคอนโด ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน ออฟฟิศ

แผนธุรกิจในช่วงแรก คือ การบุกตลาดธุรกิจแบบ B2B2C เพื่อให้เกิดจุดชาร์จรถ EV ให้มากที่สุดเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันกับรถ EV ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะบุกเข้าไปที่ตลาด Fleet เป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติของตลาด เพราะ EV เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ economy of scale ยังไม่เกิด ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาช่วงแรก ๆ จะเป็นรถยนต์ที่มีะระดับราคาค่อนข้างสูง จึงเหมาะกับรถส่วนบุคคลมากกว่ารถที่ใช้ในงาน Fleet 

เริ่มต้นรุกตลาดจุดชาร์จ ด้วยแนวคิด Night, Day, On-the-Go 

ที่ผ่านมา “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ทำตลาดภายใต้แนวคิด Night, Day, On-the-Go คือ ชาร์จขณะนอนหลับ คือ จุดชาร์จที่บ้านและคอนโด Day คือ ชาร์จระว่างวัน คือ ชาร์จที่ทำงานกับที่ห้าง และ On-the-Go คือ ชาร์จระว่างทาง คือ การทำจุดชาร์จตามเส้นทางเดินทางในต่างจังหวัด

ซึ่งกลยุทธ์รุกตลาดจุดชาร์จด้วยแนวคิด Night, Day, On-the-Go นั้นสามารถนำไปปรับใช้กับกลุ่มลูกค้าสองกลุ่มหลักคือผู้ใช้ส่วนบุคคล (รวมถึงรถของบริษัท) และผู้ใช้ในระบบขนส่ง (Fleet) แต่ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) เลือกเริ่มจากตลาดผู้ใช้ส่วนบุคคลก่อน

แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานจุดชาร์จ เริ่มจาก “ที่บ้าน” ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ขยับออกมาสู่สถานที่ที่คนใช้ชีวิตประจำวัน คือ ออฟฟิศกับห้างสรรพสินค้า และขยายสู่ระหว่างทางการเดินทางในต่างจังหวัด และสุดท้ายจะเป็น End-Destination ตามต่างจังหวัด

“หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ จากคอนโดของแสนสิริ ไปห้างเซ็นทรัล และที่บางจากระหว่างทางไปต่างจังหวัด ไปโรงแรมสแตนดาร์ด หัวหิน” พีระภัทร กล่าว

ปัจจุบัน “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) มีจุดชาร์จรวม 300 สถานที่ รวม 500 หัวชาร์จ อยู่ในแผนอีก 2,000 หัวชาร์จ ทั้งหมดดำเนินการภายใต้กลยุทธ์แนวคิด Night, Day, On-the-Go โดยทำร่วมกับพันธมิตรที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อยู่ 11 แบรนด์ พันธมิตรด้านห้าง/ออฟฟิศ คือ Saim Future และ Central Retail และ สิงห์ เอสสเตจ 

พันธมิตรปั๊มน้ำมัน คือ บางจาก (หนึ่งในผู้ถือหุ้น) ช่วงแรกเน้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหลัก 4 แห่ง โดยแห่งแรกคือ ปั๊มบางจาก สุขุมวิท 62 

“ที่ ปั๊มบางจาก สุขุมวิท 62 มีจุดชาร์จของ 3 ผู้ให้บริการ คือ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE), MG และ กฟภ. แต่ขนาดกำลังการชาร์จของเราไวกว่า 3 เท่า คือ ของเราขนาดกำลังชาร์จที่ 120 กิโลวัตต์ ของอีกสองค่ายคือ 50 กิโลวัตต์ ที่ต้องทำให้แรงกว่า เพราะต้องการสร้างความแตกต่าง เรามีเงินลงทุนน้อยกว่า ดังนั้น จำนวนสาขาเราจะน้อยกว่า แต่ว่าแต่ละสาขาของเราต้องแรงกว่า” พีระภัทร กล่าว

ปี 2565 มีแผนจะเพิ่มพันธมิตรในส่วนที่เป็น residental developer อีก 2 ราย คือ Land and House และ AP Thailand 

ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) พัฒนาแอปพลิเคชัน SHARGE เพื่อเชื่อมข้อมูลทุกสถานีชาร์จ ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้แอปนี้ อาทิ จอง-ใช้-จ่าย ค่าชาร์จไฟผ่านแอป ปัจจุบันมี active user 1,500 คน จากยอดดาวน์โหลด 5,000 ดาวน์โหลด

“ธุรกิจนี้จำเป็นต้องมีแอป ไม่เช่นกันจะไม่ต่างอะไรจากธุรกิจค้าปลีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเราต้องมีเทคโนโลยี ที่จะต้องเชื่อมต่อกับผู้ใช้งานได้ ทำให้เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์สามารถดูการใช้งานไฟฟ้าของลูกค้าเขาได้ด้วย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อทำโปรโมชันต่าง ๆ ได้” พีระภัทร กล่าว

แผนปี 2565 หลังร่วมทุนกับกฟภ.

เป้าหมายปีนี้ ต้องการสร้างสถานที่ชาร์จไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดและมีกำลังการจ่ายไฟฟ้าที่เร็วที่สุด (Super-Fast Charge) ระยะทางประมาณ 100-200 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ หรือ End-Destination โดยจะทำคล้าย ๆ กับแนวคิดจุดพักรถ (rest-area) 

“สถานีชาร์จขนาดใหญ่ คือ สถานีชาร์จที่มีหัวชาร์จ 150 kW จำนวนอย่างน้อย 10 หัวชาร์จ จะเป็นขนาดที่เหมาะกับระยะเวลาการชาร์จของรถ passenger vehicle มากสุด” พีระภัทร กล่าว

โดยทำผ่านพันธมิตร คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จะมาตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ในการทำสายส่ง และโครงสร้างพื้นฐานในสถานที่ โดยมีแบรนด์พลังงานเป็นพันธมิตรที่จะร่วมสร้างจุดชาร์จ

“การรุกติดตั้งสถานีชาร์จทั่วประเทศ จะทำผ่านบริษัทร่วมทุนระหว่าง “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE)  กับกฟภ. และบริษัทร่วมทุนใหม่ที่เกิดจากการที่บริษัทร่วมมทุนนี้ไปร่วมทุนกับบริษทพลังงานอีกทีหนึ่ง” พีระภัทร กล่าว

ที่ต้องตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อให้บริษัทที่จะดำเนินธุรกิจใหม่นี้เข้าเกณฑ์กฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ วิธีการจ่ายไฟฟ้า วิธีการติดมิเตอร์ วิธีการตั้งสถานนีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ประโยชน์จากเรตราคาไฟฟ้าที่ถูกลง ซึ่งกฟภ.เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นคนตั้งกฎระเบียบเอง 

ตั้งเป้าติดตั้งสถานีชาร์จที่ใหญ่และเร็วสุด (Super-Fast Charge) ไว้ 4 แห่งทั่วประเทศไทย คือ ภาคละแห่ง โดยมีแนวคิดหลัก คือ จะต้องมีเครื่องชาร์จที่ต้องชาร์จรถยนต์ได้ภายใน 10-15 นาที ต้องมีไม่ต่ำกว่า 20 หัวชาร์จต่อแห่ง จะเปิดสถานีชาร์จขนาดใหญ่ Super-Fast Chrage แห่งแรกให้ผู้บริโภคใช้ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 

แม้ว่าจะมีการติดตั้งจุดชาร์จและหัวชาร์จ EV จำนวนมาก แต่พีระภัทร ตระหนักดีว่า การทำธุรกิจในรูปแบบนี้ก็ไม่ต่างจากธุรกิจซื้อมาขายไป ไม่มีรายได้ที่ชัดเจน ทำให้ต้องเพิ่มไลน์ธุรกิจ “ขายไฟฟ้า” ให้กับผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าชัดเจนมากขึ้น 

“ธุรกิจการติดตั้งสถานีชาร์จสำหรับรถไฟฟ้า เป็นเกมแบบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ แข่งขันกันที่ทำเล (location) มีความสำคัญ และคล้ายกับธุรกิจปั๊มน้ำมัน แต่ยิบย่อยมากขึ้น เพราะปั๊มน้ำมันไม่สามารถใช้ชีวิตกับคนได้เท่ากับสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำให้ธุรกิจสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มการแข่งขันเรื่องทำเลที่อยู่อาศัยและออฟฟิศได้” พีระภัทร กล่าว

เตรียมรุกตลาด ​Fleet เอกชน

ตลาด Fleet รถ EV เป็นอีกตลาดที่พีระภัทรหมายตา เพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เขาเตรียมรุกตลาดนี้ด้วยแนวคิดที่ตอบโจทย์ความต้องการ (คือต้องการเปลี่ยนรถใน fleet เป็นรถ EV) พร้อมช่วยแก้ปัญหา (Pain Point) เรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้า แนวคิดที่ว่า คือ การเสนอการลงทุนสร้างสถานีเติมไฟฟ้า (Charging Infrastructure) ให้ โดยขอเซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสำหรับเติมรถใน fleet ในระยะยาว ภายใต้ราคาและระยะเวลาที่ตกลงกัน 

“เขาตัดต้นทุนที่ต้องลงทุนสร้างสถานีชาร์จมาเป็นค่าไฟการชาร์จให้เรา ตลาดตรงนี้มีความน่าสนใจ เพราะเขาจะไปพลังงานสะอาดแต่หากเขาต้องลงทุนทั้งตัวรถและสร้างสถานีชาร์จก็จะเป็นต้นทุนที่อาจจะทำให้เขาตัดสินใจช้าหรือเป็นต้นทุนที่มากขึ้น ลูกค้าเป้ามายในกลุ่มนี้ไม่เฉพาะบริษัทขนส่ง แต่รวมถึงบริษัทเอกชนที่มีรถยนต์สำหรับผู้บริหารด้วย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย” พีระภัทร กล่าว

พลังงานไฟฟ้าที่ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) นำมาป้อนให้กับสถานีชาร์จ มาจากการเชื่อมต่อตรงเข้ากับ Grid การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยสร้างวงจรไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับวงจรไฟฟ้าเดิมของอาคารนั้น ๆ มีการติดตั้งมิเตอร์ใหม่ และรายงานข้อมูลกลับให้เห็นว่าการบริโภคไฟของรถ EV เป็นอย่างไร 

“ปัจจุบันสถานีชาร์จไฟฟ้ารถ EV ยังต้องพึ่งแหล่งไฟฟ้าเดิม หากจะใช้พลังงานสะอาดจะต้องใช้กำลังการผลิตจำนวนมาก อาทิ หากจะสร้าง solar roof เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จแบบแรงและเร็วจะต้องใช้ solar roof ในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อสร้างไฟฟ้าให้มากพอสำหรับเครื่องชาาร์จ 10 หัว ๆ ละ 150 กิโลวัตต์” พีระภัทร กล่าว

“เราช่วยให้กฟน. และ กฟภ. ขายไฟได้มากขึ้น และรู้ว่าไฟฟ้าจ่ายไฟที่ไหนในปริมาณเท่าใด เพื่อสามารถบริหารจัดการกำลังไฟไฟ้าหลังบ้านของเขาได้ โดยไม่สร้างผลกระทบเรื่องไฟดับให้กับผู้บริโภคทั่วไป” 

ซึ่งทั้ง กฟน. และ กฟภ. มี Power Development Plan มีการคาดการณ์และเตรียมปริมาณไฟฟ้าเพื่อรองรับปริมาณรถ EV ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 500,000 – 1,000,000 คันในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งปริมาณการใช้ไฟฟ้าของรถ EV 1 คัน เท่ากับ 25% ของขนาดการใช้ไฟฟ้าของบ้านขนาด 300 ตารางเมตร 1 หลัง (หรือทุก 4 EV = บ้าน 1 หลัง) 

โดยจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมเร็ว ๆ นี้ เซ็นกับ Fleet เอกชน ดีลเอกชนรายใหญ่ และคุยกับอีก 2 พันธมิตร คือ บริษัทแท็กซี่และบริษัทรถเช่า บริษัทเพื่อนำเสนอโมเดลการสร้างสถานีชาร์จไฟพร้อมการขายไฟในราคาและระยะเวลาที่ตกลงกัน 

“ลงทุนวงจรไฟฟ้ามาตรฐาน ลงทุนเครื่องชาร์จไฟที่สามารถเก็บข้อมูลว่าแต่ละหน่วยของไฟฟ้าจ่ายไปที่แบตเตอรี่ก้อนไหน และวางบิลเป็นรายเดือน” พีระภัทร กล่าว 

ปี 2565 นี้ ตั้งเป้าว่าจะสร้างอีก 400-600 สถานีชาร์จ (ที่ละประมาณ 2-4 หัวชาร์จ) เป็น 800 – 1,200 หัวชาร์จ โดยมีมูลค่าสัญญา (Contract Value) ที่ตั้งเป้าไว้ คือ 600 ล้านบาท 

ล่าสุด “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) เป็นพันธมิตรกับบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ดำเนินการติดตั้งสถานชาร์จไฟให้กับ “เรือด่วนเจ้าพระยาไฟฟ้า” ติดตั้งภายใต้โมเดล เซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า ภายใต้ราคาและระยะเวลาที่ตกลงกัน

ขนาดหัวจ่าย 360 kW อย่างน้อย 4 หัวจ่ายต่อสถานี ติดตั้งจุดชาร์จไว้ 3 ท่าเรือ สำหรับจ่ายไฟให้เรือด่วนเจ้าพระยาจำนวน 30 ลำ โดยคาดว่าเรือไฟฟ้าลำแรกของบริษัทด่วนเจ้าพระยาจะเริ่มวิ่งให้บริการได้ในไตรมาส 3 ของปี 2565 นี้

แผนการระดมทุน/ลงทุนเพิ่มในอนาคต 

ในช่วงแรกเขาและเพื่อนสนิท Co-Founder ควักกระเป๋าลงทุนร่วมกันก้อนแรก 10 ล้านบาท ตั้ง “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ทำธุรกิจขายเครื่องชาร์จ คือ ซื้อมา-ขายไป แล้วเก็บกำไรขึ้นมา หลังจากทำมาสักพักภาพตลาดเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น บริษัทต้องขยายการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจเพิ่ม อาทิ สร้างสถานีชาร์จตามจุด่าง ๆ ด้วยโมเดลต่าง ๆ จึงไประดมทุนเพิ่มมากพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์และเชื่อมั่นใน EV ร่วมกัน 

พันธมิตรกลุ่มแรก คือ บางกอกเคเบิล แสนสิริ และบางจาก (2020-2021) เข้ามาทำให้ขยายสถานีได้จำนวนหนึ่ง จากนั้นได้พันธมิตร คือ เอ็กซสปริงค์ เข้ามาลงทุนเพิ่มใน “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ทำให้มีเงินไปทำบริษัทร่วมทุนกับกฟภ. และสร้างสถานีชาร์จขนาดใหญ่ (Super-Fast Charge) ซึ่งรอบการระดมทุนสุดท้ายจบที่มูลค่า 400 ล้านบาท พอที่จะขยายธุรกิจของ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ในปี 2565 ทั้งปี 

ด้วยแผนธุรกิจที่วางไว้ พีระภัทร กล่าวว่า “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ไม่ต้องระดมมทุนเพิ่มแล้ว แต่จะมีความสามารถในการลงทุนด้วยตัวเอง ยกเว้นจะมีการระดมมทุนเพิ่มในกรณีที่จะมีการขยายสู่ธุรกิจใหม่ อาทิ การขยายสู่ธุรกิจโรงงานผลิต EV Charger และโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถ EV เป็นต้น 

Ultimate Goal 

ที่ผ่านมาแม้ตลาด EV ยังไม่ใหญ่มากในประเทศไทย แต่ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) เติบโตปีละ 40% ปัจจุบันตลาด EV ไทยพร้อมเดินหน้าเต็มกำลัง จากปัจจัยขับเคลื่อนจากทั้งฝั่งภาครัฐในการออกมาตรการภาษีและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ฝั่งเอกชนที่ตบเท้าคึกคักลงชิงตลาดรถ EV ทำให้พีระภัทร ตั้งเป้าเติบโตให้ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) ปีละ 100% จากนี้ไป 

“ถ้าเราเป็นผู้ขายไฟฟ้าที่ทำเครือข่ายที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ ตามโมเดลที่วางไว้ ทั้งจากตลาด Fleet และการลุยทำสถานีชาร์จขนาดใหญ่ น่าจะทำให้เราเป็นบริษัทที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ชัดเจน (มากกว่ารายได้จากการขายเครื่องชาร์จไฟ)​ จะเป็นเจ้าตลาดนี้ให้ได้ในอนาคต เราพร้อมเติบโตไปกับตลาด EV ในประเทศไทย” พีระภัทร กล่าว

“เรื่องของเครือข่าย เราอยากตั้งเป้าให้ service การจำหน่ายไฟฟ้าให้ถึง 30% ของรถยนต์ไฟฟ้า ในวันที่ รถ EV มีสัดส่วนตลาดที่สูง ใน 5 ปีข้างหน้าเราคิดไว้ว่าจะต้องมีรถ 300,000 คัน ที่พร้อมเปลี่ยนเป็นรถ EV  ซึ่ง 300,000 × 30% = 90,000 คัน โดยใช้ไฟวันละ 10kWh = 900,000 kWh ต่อวัน ถ้าคิดเป็นภาพใหญ่ ของบริษัท คือ การขยายเครือข่ายให้ตอบโจทย์การใช้รถ EV ที่เป็น passenger car มากที่สุด”  พีระภัทร กล่าว 

“ความมั่นใจที่จะเป็นเจ้าตลาดได้เพราะปัจจุบันเครื่องชาร์จของเราเข้าไปอยู่กับผู้ใช้ 10,000-20,000 คน ตามบ้าน คอนโด ที่ทำงาน หมายถึงว่าเราได้ยึดทำเลตรงนี้ไว้แล้ว” พีระภัทร กล่าว

ภาพรวมอุตสาหกรรมรถ EVในไทย 

ประเทศไทยไม่มีรถ EV แบรนด์ตัวเอง คนไทยใช้รถยุโรปและรถญี่ปุ่นเป็นหลัก ประเทศในยุโรปขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ต้องการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ทุกคนเปลี่ยนมาใช้ EV ค่ายรถยุโรปทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็น EV ค่ายรถยุโรปไปลงทุนสร้างโรงงานในจีนทำให้จีนมีความสามารถในการผลิตรถ EV จะเห็นแบรนด์จากจีนคือ MG และ GMW เข้ามาบุกตลาดรถ EV ในประเทศไทย 

Free Trade Agreement ทำให้รถ EV จากจีนไม่เสียภาษี ทำให้รถ EV จีนเข้ามาในไทยเป็นราคาที่จับต้องได้ ทำให้ค่ายรถ EV ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดรถหรู (Luxuray) ก็เข้ามาในไทย ภาพตลาดรถ EV เกิด ทำให้ “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) โต 40% ต่อปีมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 

ภาครัฐไทยออกมมาตรการสนับสนุนทำให้ราคารถ EV ถูกลง 10-12% ซึ่งเป็นราคาที่ถูกลงแบบค่อนข้างสูง ราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาทซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ตลาดรถญี่ปุ่นจะเริ่มเข้ามาเล่น ประกอบกับค่ายรถญี่ปุ่นมีมาตรการสนับสนุนทางการลงทุนจาก BOI เดิมในการผลิต ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้ตลาด EV เกิดขึ้นอย่างแน่นอนในประเทศไทย 

มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการชวนโรงงานต่าง ๆ เข้ามาผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย มีการให้มาตรการจูงใจกับผู้บริโภค ทำให้ตลาด EV เกิดขึ้นแน่นอน แต่ที่ยังเป็นข้อลบ คือ ระเบียบการจัดตั้งเครื่องชาร์จยังไม่ชัดเจน และเรตค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการใช้รถ EV ยังไม่ชัดเจน คือ ภาครับยังเก็บค่าไฟสำหรับชาร์จรถ EV ราคาเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ใช้ที่บ้านและโรงงาน 

หากจะสนับสนุนจริง ๆ อยากให้สนับสนุนผู้บริโภคทั้งตอนซื้อรถ และตอนที่เขาใช้ชีวิตประจำวันกับรถ คือ อยากให้ลดราคาค่าไฟสำหรับรถ EV เช่น กฟน. ไม่อนุญาตให้ติดมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถ EV บ้านหนึ่งหลังมีมิเตอร์ไฟฟ้าได้เพียง 1 มิเตอร์ ทำให้หากมีการใช้รถ EV จะทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นไปในขั้นที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติทำให้ค่าไฟต่อหน่วยแพงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ถูกลงที่รถ EV ควรจะเป็น 

“อยากให้มีแผนการพัฒนาวงจรไฟฟ้าในประเทศไทยสำหรับรถ EV และมีการกำกับที่ชัดเจน ตอนนี้มาตรการสนับสนุนให้ซื้อรถ EV แต่ยังไม่เห็นมาตรการสนับสนุนให้ใช้รถ EV จะมีก็แต่กฟภ.ที่อนุญาตให้บ้านหนึ่งหลังติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าได้ 2 มิเตอร์ โดยเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับรถ EV แต่เรตราคาเดียวกัน ซึ่งการทำวงจรไฟฟ้าแยกกันจะรองรับมาตรการการสนับสนุนการใช้รถ EV อาทิ ให้ส่วนลดสำหรับไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จรถ EV เป็นต้น ก็สามารถทำได้” พีระภัทร กล่าว

สำหรับหมู่บ้านที่สร้างไปแล้ว แต่ลูกบ้านมีความต้องการใช้รถ EV ต้องการสถานีชาร์จ แต่อาจจะไม่สะดวกติดตั้งหัวชาร์จในบ้าน “ชาร์จ แมเนจเม้นท์” (SHARGE) จะเข้าไปติดส่วนกลางให้และขายไฟให้ลูกบ้าน โดยจะมีกำลังการผลิต 4-5% คือ หมู่บ้านขนาด 100 หลังคาจะติด EV Charager 5 เครื่อง

“ตลาด EV ไทยตอนนี้พร้อมที่จะให้เราเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการขายไฟฟ้าได้แล้ว และควรจะเป็นปีแรก ๆ ที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่นี้ขึ้นมา และจะทำให้ธุรกิจมีรายได้สม่ำเสมอเข้ามาประจำมากกว่าแค่รายได้จากการขายเครื่องชาร์จ” พีระภัทร กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Vulcan Coalition สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยฝีมือคนพิการ

ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล และ ‘Skooldio’ บทบาท “เรือจ้าง” ในยุคดิจิทัล กับพันธกิจ Professional Education

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ