TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล และ ‘Skooldio’ บทบาท "เรือจ้าง" ในยุคดิจิทัล กับพันธกิจ Professional Education

ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล และ ‘Skooldio’ บทบาท “เรือจ้าง” ในยุคดิจิทัล กับพันธกิจ Professional Education

ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล หรือ ดร.ต้า หนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่ได้ทุนอานันทมหิดลแล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ใช้ประสบการณ์ทำงานในต่างแดนมาสร้างกลไกขับเคลื่อนทักษะด้านเทคโนโลยีให้เกิดภาพจริงในภาคธุรกิจไทย ด้วยการร่วมก่อตั้ง ‘สคูลดิโอ’ Skooldio คอร์สเพิ่มทักษะแบบ Professional Education

ดร.ต้า จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทุนอนันทมหิดล เรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ในสาขา Operation Research ที่ใช้คณิตศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ หลังจากเรียนจบก็ได้เข้าทำงานที่ Facebook สำนักงานใหญ่ทันที

หากมองย้อนกลับไป 6 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจกลับไทยด้วยเป้าหมายใหม่ในชีวิตของคนหนุ่มวัย 30 ปีนั้น เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจไม่น้อย โดยเขาเล่าให้ The Story Thailand ว่า ทุนอานันทมหิดล เป็นทุนให้เปล่าที่เป็นสัญญาใจต่อกันในส่วนตัวของเขาแล้ว คิดว่าสักวันเมื่อถึงเวลาจะกลับมาเหมือนกัน ซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจนั้นเกิดขึ้น

“ตอนนั้นทำงานที่ Facebook สำนักงานใหญ่เป็น Data Scientist ทำงานได้ 3 ปี ถ้าเป็นคนในวงการ Tech จะรู้ว่า พนักงานจะได้หุ้นก้อนแรกเมื่อครบอายุงาน 4 ปี แต่ช่วงปีใหม่ที่ได้หยุดยาวมีโอกาสกลับมาเมืองไทย และได้ไป Deep Talk ที่คณะวิศวกรรมของจุฬาฯ คิดว่ามีคนสนใจฟังไม่มาก แต่กลับมีคนเข้าฟัง 400-500 คน ตอนนั้นมีน้อยคนจะมีความรู้และประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ทำให้ผมเห็นช่องว่างของ Job In Demand ที่คนไทยต้องการ แต่ยังไม่มีคนสอน จึงเกิดคำถามว่าทำอย่างไร ให้สามารถกลับมาช่วย Upskill และช่วยองค์กรสร้าง workforce of the future”

“ผมใช้เวลาเกือบปีครับกว่าผมจะแจ้งที่บริษัทว่าลาออก เพราะว่าทำงานที่ Facebook หนึ่งคือชีวิตดีอย่างที่ทุกคนรู้กัน อย่างที่สองต้องยอมรับว่าเป็นงานที่สร้าง impact มาก ส่งผลต่อคนพันล้าน เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไร มันค่อนข้างมี ownership มีความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองในระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายก็คิดว่ากลับมาดีกว่า ผมชอบพูดกับทุกคนคือ อยู่ที่ Facebook เราเป็นเหมือน 1 ในหมื่นคน เขาไม่ได้เดือดร้อน เขาประกาศหาคนใหม่ได้ ในขณะที่กลับมาเมืองไทย ผมเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รู้เรื่องพวกนี้ แล้วทุกคนอยากได้ความรู้ ซึ่งการกลับมาตอบโจทย์กว่า”

โดยเขามองว่าตอนที่ไปเรียนตอนแรกตั้งใจอยากแก้ปัญหาระบบขนส่งในประเทศ ซึ่งปี 2550 ไทยมีปัญหาเรื่องระบบขนส่ง ซึ่งประสบการณ์ช่วงหนึ่งที่ได้ฝึกงานกับ FedEX บริษัทโลจิสติกส์ระดับโลกทำให้เขาได้เข้าถึงการใช้ data ในสร้าง value ให้กับบริษัท

“ตอนนั้นได้ฝึกงานที่ FedEx สำนักงานใหญ่ เขาให้โจทย์ใหญ่ว่า อยากให้ optimize revenue แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมทำ แล้วคนในบริษัทเห็นว่าเป็น value คือทำ tool ขึ้นมาช่วย visualize ข้อมูล เช่น แพคเกจส่งจากกรุงเทพไปอเมริกาทั้งหมดตอนนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ส่งผ่าน route ไหน ต้นทุนเท่าไหร่ ซึ่งเขามองว่าจุดเริ่มต้นเป็นประโยชน์กับเขามากกว่า ทำให้เขาได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่แล้วไปตั้งคำถามต่อยอดได้ ผมจึงสนใจเรื่อง data จากการไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างเรียนที่นั่น”

สิ่งหนึ่งที่เขาทำมาตลอด คือ การพัฒนาตัวเองด้วยโอกาสและทักษะใหม่ ๆ ที่ได้รับจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อตามเทรนด์โลกให้ทัน

“ต้องบอกว่าจริง ๆ เป็นคนที่เปลี่ยนตามเทรนด์โลกอยู่เรื่อย ๆ คอมพิวเตอร์มา ก็สนใจคอมพิวเตอร์ แต่ว่าเอามาประยุกต์ใช้ทางธุรกิจ ตอนนี้คนเริ่มสนใจเยอะขึ้น ผมก็บิดมาเรื่อย ๆ จนมาเป็น big data, data science แต่คิดว่าสิ่งที่ผมทำมาตลอดคือ ผมต้องการสร้าง technical knowledge ของตัวเองและความรู้ในเชิงเทคนิค”

Skooldio: Professional Education

ช่วงแรกที่ดร.ต้ากลับมาไทยความเนื้อหอม data scientist ที่มีประการณ์ทำงานกับ Facebook นั้นชวนให้หลายบริษัทติดต่อเชิญเข้าร่วมงาน แต่สุดท้ายเขาเลือก ‘เลิร์น คอร์ปอเรชั่น’ และก่อร่างสร้าง Skooldio ขึ้นมา ซึ่งเขามองว่าธุรกิจการศึกษาจะไม่จบที่การเรียนในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่การศึกษาเป็นยุคของ life long larning ทำให้จุดยืนของ Skooldio มุ่งไปที่การสร้าง professional education เป็นหลัก

“เราเห็นเทรนด์แล้วว่า digital transformation กำลังมา ซึ่งเราพยายามทำ future skill เป็น digital skill ผมใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เรียนมาเยอะมาก มีสองอย่างที่เราทำเป็นหลัก คือ ทำเทคโนโลยีและทำคอนเทนต์สอนเทคโนโลยี ถ้าเราอยากไป global scale ให้ได้จริง ๆ เราต้องไปด้วยเทคโนโลยี ไปด้วยคอนเทนต์ไม่ได้เพราะภาษาไทยตลาดเล็ก ผมใช้ประสบการณ์จาก Facebook ในการปั้น product team การวาง roadmap product  วิธีทำงาน ผมเป็น empower ผมมี vision อย่างนี้ ผมมองเห็นโอกาสแบบนี้ พวกคุณเป็นมนุษย์เทคโนโลยีรู้ดีว่าเทคโนโลยีอะไรเจ๋ง อะไรเหมาะกับสิ่งที่ผมอยากได้ ก็ให้ทีมช่วยกันคิดมาให้”

อีกสิ่งหนึ่งที่เขาได้รับจากการเรียนที่ MIT คือ การเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ professional education ซึ่งเขาเล่าว่า Skooldio ตอนแรก ไม่มีแอปพลิเคชัน ซึ่งสตาร์ตอัพสมัยนี้เริ่มต้นต้องมีแอปฯ แต่ Skooldio เริ่มต้นจากระบบการเรียน

“คือถ้าคนอยากเจอจริง ๆ ก็อยากเรียนสบาย ๆ หรือเปล่า จอใหญ่ ๆ เราก็เริ่มจากเว็บไซต์ก่อน แต่เป็นโมบายล์เว็บที่เปิดบนมือถือได้ จนถึงวันหนึ่งที่เราค้นพบว่า คนที่เรียนผ่านมือถือเริ่มเยอะขึ้นมีคอร์สเป็นแนวฟังสบาย ๆ เยอะมากขึ้น จึงตัดสินใจทำแอปฯ เมื่อต้นปีที่แล้ว ต้องบอกว่า โชคดีที่ได้ไปเรียนที่ MIT ได้เห็นเทคนิคการเรียนการสอนใน Business School ที่ตอบโจทย์ professional education หลายครั้งมันไม่มีคำตอบที่ถูกแค่คำตอบเดียว ขึ้นอยู่กับธุรกิจกำลังต้องการอะไร ตอนนี้ควรจะ approach ปัญหาจากมุมไหน หรือตอนที่เป็น data scientist ที่ Facebook ต้องแอบไปเรียนออนไลน์เยอะเหมือนกัน เพราะความรู้อัปเดตเร็วขึ้น ทำให้ได้เป็น tech กับเชิง educational content ที่เอามารวมเป็น Skooldio”

Most In Demand Skills: Value Proposition

หากถามถึง value proposition ของ Skooldio ดร.ต้า เล่าว่าเขาอยากช่วยคนทุกคนให้มีทักษะที่โลกกำลังต้องการและมองว่าทีมที่ทำงานคือทีมมนุษย์ tech ที่ต้องการเป็นแรงหนุนให้กับธุรกิจในการก้าวไปข้างหน้า

“เราไม่ได้เข้าหาตลาดด้วยการบอกว่าเราเป็นโรงเรียน แต่เราเป็นทีมมนุษย์ tech เราเชื่อว่าเราจะสอนอะไรที่ล้ำ ๆ ทันสมัยได้เก่งเหมือนคนอื่น และใน mission จริง ๆ เราบอกว่า เราอยาก empower business ในการสร้าง workforce of the future เพราะสิ่งที่เรามองคือ คนไม่ได้อยากซื้อคอร์ส เพราะอยากได้ความรู้ คนซื้อคอร์สเพราะคนอยากจะมีสกิลที่มากขึ้น อยากมีการงาน ที่ดีขึ้น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น

Skooldio ได้ปรับตัวในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่เน้นทำคอนเทนต์แบบ B2C มาเป็นเน้น B2B มากขึ้น ด้วยเน้นเรื่อง deep tech ที่เป็นขั้นพื้นฐานแต่ทันสมัยตามที่องค์กรต้องการ ซึ่งในช่วงแรกที่สัดส่วนการทำธุรกิจยังเป็นคอร์สเรียนแบบเน้น B2C นั้น การเก็บข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ทำให้รู้ว่า องค์กรคือจุดหลักในการขับเคลื่อนภาพใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ

ทุกคนจะรู้ว่าคนไทยเป็นคนชิล ๆ ที่ผมชอบบอกทุกคนเลย Skooldio ไม่ได้แข่งกับ EdTech เจ้าอื่น คู่แข่งหลักของประเทศเราคือ YouTube และ Netflix  เพราะคนไทยชอบ Entertainment มากกว่า เราจึงเริ่มให้ความสำคัญกับ B2B มากขึ้น แต่ถามว่า B2C ยังทำไหม แน่นอนว่ายังทำอยู่

โดยเขาเลือกเส้นทางของ Skooldio เป็น tech knowledge ที่มุ่งไปยังกลุ่มเป้าหมายองค์กรที่มีกำลังซื้อ ความต้องการด้านคุณภาพจึงต้องมาอันดับแรก แม้ตลาดนี้จะเล็กแต่การเลือกกลุ่มนี้ตอบโจทย์จุดเด่นด้านคุณภาพที่ Skooldio มีอยู่และได้วางกลยุทธ์ในการเจาะตลาดองค์กรเป็นหลัก

โดยรายได้ส่วนใหญ่ในตอนนี้ยังคงมาจากองค์กรที่พร้อมจ่ายให้พนักงานเข้าร่วมคอร์สเพื่อ upskill และ reskill และเมื่อถามว่าองค์กรอยากได้การอบรมหรือเปล่า คำตอบคือ องค์กรอยากได้ทีมงานที่ช่วยให้องค์กรบรรลุสิ่งที่ต้องการให้ได้

“เรามองไปที่ภาพใหญ่คือ มองว่าตอนนี้องค์กรต้องการอะไรที่จะช่วยให้เขาไปข้างหน้าได้ ถ้าเราช่วยได้ บริษัทเหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะฉะนั้นเราเน้น workforce ที่ทันสมัยซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีใครสอน มีเราสอนอยู่เจ้าเดียว”

เขาเล่าถึงวิธีการทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ว่าไม่ได้มุ่งในสิ่งที่อยากสอนอย่างเดียว แต่จะเข้าไปแลกเปลี่ยนกับองค์กรว่าตอนนี้มีความต้องการแบบไหน ซึ่งคอร์สเรียนของ Skooldio จะมีในส่วนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจำนวนมาก ซึ่งการเอา data มาใช้ช่วยทำให้องค์กรเข้าถึง customer centric มากขึ้น

วิธีการทำงานของเรา มันไม่ใช่การปั๊มคอร์สออกมาขาย เราอยากเป็นคอนซัลท์ให้องค์กร เข้าไปคุยกับทีมพัฒนาบุคลากร (HRD) ว่า ตอนนี้มีความต้องการอะไร ขาดอะไรอยู่บ้าง ถ้าต้องกับความชำนาญที่เรามี เราก็สามารถจัดทำออกมาเป็นหลักสูตรให้ ซึ่งทำให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด

โดยในช่วงแรกของการทำคอร์สเรียนหลักสิ่งที่เขาทำคือเรื่องถนัดอย่าง data ซึ่งเขาเล่าว่า ตอนนี้คอร์สที่ขายดีที่สุดของ Skooldio ซึ่งองค์กรต้องการมากที่สุดไม่ใช่เป็นเรื่อง data ที่ล้ำสมัย แต่เป็นเรื่อง data สำหรับทุกคน

“การทำ dashboard การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Excel กลายเป็นสิ่งที่องค์กรต้องการมาก เพราะสุดท้ายองค์กรตระหนักดีว่า ถ้าอยากจะ data driven ไม่สามารถพึ่งพา data scientist 20-30 คนได้ แต่ต้องทำให้ทุกคนที่ต้องตัดสินใจ day-to-day สามารถใช้ข้อมูลเป็น ตรงนี้เป็นจุดที่เรา pivot focus มาตลอดระหว่างทางว่า องค์กรต้องการอะไร”

เขาเล่าถึงเส้นทางการเจาะกลุ่มธุรกิจเป้าหมายว่า การทำ customize ในแบบของ Skooldio จะมีเนื้อหาหลักแต่มีการปรับในส่วนของกรณีศึกษาต่าง ๆ ให้เปลี่ยนไปตามอุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่งกลุ่มแรกที่เริ่มเข้าทำธุรกิจด้วย คือ สถาบันการเงิน ธุรกิจค้าปลีกที่มากับกระแสอีคอมเมิร์ซ และรวมไปถึงธุรกิจประกัน

“คำว่า customize ไม่ได้ทำใหม่หมดในทุกองค์กร แต่มีของที่เป็นหลักสูตรของเราอยู่ในแต่ละก้อน เราสามารถนำมา mix and match ทำให้ออกมาเป็นโปรแกรมที่ตอบโจทย์ของแต่ละองค์กรได้มากที่สุด”

โดยเขามองว่า Skooldio เป็น EdTech ที่ทำงานแบบ 2 ส่วนไปพร้อมกัน คือ การทำเทคโนโลยี ซึ่งเริ่มจากการสร้างระบบบ learning management system หรือระบบเรียนใน Skooldio และส่วนที่ 2 คือ การทำคอนเทนต์สอนเทคโนโลยี โดยมีทีมเทคโนโลยีที่ทำเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการเรียน ในขณะเดียวกันมีทีมผลิตคอนเทนต์พัฒนาหลักสูตร ซึ่งสัดส่วนของเทคโนโลยีการพัฒนาระบบการเรียนในช่วงก่อนมีการระบาดของ COVID-19 มีสัดส่วนรายได้ที่ดีกว่าในส่วนของคอนเทนต์ เนื่องจากมีการทำระบบหลังบ้านด้านการเรียนรู้ให้กับหลายบริษัท เช่น LiNE และ Google เป็นต้น แต่หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรค คอนเทนต์ออนไลน์กลับทำรายได้มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเร่งทำตลาดในส่วนออนไลน์มากขึ้นจากเดิม

เราอาศัยทีม tech มาช่วยไกด์ว่า content ไหนกำลังมา เรื่องไหนที่คนอยากรู้ มันก็เลยเหมือนเป็นสองขาที่ทำคู่กันไปตลอดเวลา ถ้าถามผมมันครบคำว่า Ed กับ Tech ไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

Bootcamp: Beyond Knowledge

การทำ bootcamp เป็นการองค์ความรู้ระยะยาวแบบหนึ่งที่ Skooldio เริ่มทำ เขาตอกย้ำถึงจุดยืนที่ว่า ทุกคนไม่ได้มาเรียนเพื่ออยากได้ความรู้แล้วจบ แต่เอาความรู้ไปช่วยในการเพิ่มทักษะช่วยในสายอาชีพที่ทำ หรือเพิ่มทักษะเพื่อหางานในสายอาชีพใหม่ มีการติดตามผลหลังจบกิจกรรม เพื่อต้องการให้คนที่เข้าร่วมนำทักษะที่ได้ไปใช้ประโยชน์และเห็นผลจริง

สิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ คือ beyond knowledge การเรียนมีตั้งแต่ เรียนเอา knowledge  เรียนเอา skills จนถึงเรียนเอา career ซึ่งต้องบอกว่า จริง ๆ เรามีรองรับความต้องการในทุกระดับความรู้ สิ่งที่เราหวังคือจบ bootcamp เราช่วยสร้างอาชีพ ให้คน ๆ หนึ่งได้ โดยเป็นการเรียนในโปรแกรมระยะยาวขึ้น 2-3 เดือน สิ่งที่เราทำคือ mix and Mmtch มีคอร์สออนไลน์ให้เรียน มีการทำโปรเจคต์หรือมีทำ workshop เชิญผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความรู้”

Global Scale: Ultimate Goal

เขามองว่า “Skooldio ยังไม่สำเร็จ ผมยังคิดว่าเราไปได้ไกลกว่านี้ ภาพในฝันของผมจริง ๆ ควรต้องสอนทุกทักษะที่คนทำงานอยากมี ช่วยให้ทุกคนทำงานได้เก่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยากเห็นคือ เราเป็นแบรนด์ที่อยู่ใจระยะยาว เกิดความเชื่อใจในแบรนด์ จึงทำให้เราทำงานกันแบบใส่ใจรายละเอียดของคุณภาพหลักสูตรที่ออกไปอย่างมาก ซึ่งจำนวนคนจ่ายเงินซื้อ เรายังไม่นับว่าเรา achieve เราจะนับเมื่อคนจ่ายเงินให้เราแล้ว เขามาเรียนกับเรา เพราะนั่นคือจุดที่เขาจะได้ value จากเราจริง ๆ

“เราเชื่อว่าความรู้เป็นจุดเริ่มต้นของการมี capital ความรู้ที่ดีจะทำให้คนมีอาชีพที่ดี มีอาชีพที่ดีเขาจะมีงานที่ดี งานที่ดีเขาจะมีชีวิตโดยรวมที่ดี เขาจะมีแรงไปช่วยคนอื่นจะทําให้สังคมดีขึ้น สำหรับ Skooldio มองว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว แล้วถ้าเราสามารถทำให้คนไทยมีสกิลต่าง ๆ เหล่านี้ได้ไว เราสามารถพาบริษัทไทยไปแข่งในเวทีโลกได้ง่ายมาก ๆ”

ดร.ต้ามองว่า เมื่อก่อนแข่งขันด้วยกำลังการผลิต ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักร แต่ทุกวันนี้ถ้าทำให้คนไทยมีความรู้เรื่องนี้ลึกขึ้น สตาร์ตอัพก็สามารถทำแอปพลิเคชันให้เป็น global scale ได้ไม่ยาก ซึ่งเขามองว่าเทคโนโลยีเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อน digital economy เพราะฉะนั้น Skooldio อยากสร้างการขับเคลื่อนภาพใหญ่ของประเทศ

ถ้าสมัยของคุณครูเป็นเรือรับจ้างที่พายเขาส่งถึงฝั่ง เราจะเล่นบทนั้นใน digital world เราไม่ได้ลงไปเป็น tech company in the world แต่เราจะเป็นครูที่จะส่งบริษัทเทคโนโลยีไปในระดับโลกมากกว่า

ส่วนเรื่องการระดมทุนนั้น เขามองว่า Skooldio มีกำไรด้วยตัวเองตั้งแต่ปีแรกที่ลงเล่นในสนามนี้ การระดมทุนจึงยังไม่ใช้เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำตอนนี้ แต่หากมีนักลงทุนสนใจก็ควรเป็นการร่วมลงทุนในแบบพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ที่ช่วยให้เติบโตในตลาดใหม่ที่ใหญ่ขึ้น

“เราทำตัวเป็นสตาร์ตอัพ เราโตแบบสตาร์ตอัพ แต่จริง ๆ เรามีกำไรตั้งแต่ปีแรก ฉะนั้นต้องบอกว่าแผนของเราไม่ได้อยากจะระดมทุน ถามว่าถ้าจะทำมีโอกาสไหม มีคุยอยู่กับหลายที่แต่คุยในแบบถ้าใครจะมาลงทุน เราอยากให้มาเป็น strategic partner คือ ถ้าเขามาลงแล้ว ก็สามารถพาเราไปอยู่ในตลาดใหม่ ตลาดใหญ่ได้”

เขามองว่า Skooldio เหมือนสตาร์ตอัพตัวใหญ่อื่น ๆ ที่สุดท้ายเริ่มเห็นทิศทางว่าจะไปลงทุนในส่วนไหนเพิ่มเติม จะชวนใครมาเป็นพันธมิตร เช่น เทคโนโลยีการเรียน มีบริษัทไทย บริษัทต่างประเทศที่หลักสูตรเฉพาะทางซึ่งก็สามารถนำมาเติมเต็มกันได้ หรือในส่วนคอนเทนต์ที่มี content provider หลาย ๆ ราย ที่ Skooldio อยากร่วมงานด้วย

“เราไม่ได้โฟกัสให้คนมาลงทุนในเราแล้ว เราโฟกัสว่า เราจะไปลงทุนในคนอื่น เพื่อขยายธุรกิจพอร์ตนี้ให้มันใหญ่ขึ้น”

Tech Talent โจทย์หลักของประเทศ

ดร.ต้ามองว่า Tech Talent คือ โจทย์หลักของประเทศ โดยไทยมีปัญหาเรื่องโครงสร้างและนโยบายในระบบการศึกษามานาน แม้ว่าหลักสูตรหลักจะถูกปรับแก้ให้มีการเรียนวิทยาการคำนวณในเด็กเล็กเพื่อสามารถต่อยอดด้านเทคโนโลยีเมื่อโตขึ้น แต่ปัญหาอยู่ที่ทรัพยากรด้านบุคคลที่ไม่เพียงพอ

“คำถามคือใครจะสอนวิชานี้กับเด็ก ครูคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ติดปัญหาคนสอนไม่พร้อม ตรงนี้ผมว่าเอกชนหลายคนอาสาเข้าไปช่วย แต่ผมมักจะพูดตลอดเลย การทำงานกับภาครัฐมันมีความยาก ใครเคยทำงานกับภาครัฐทุกคนจะรู้ สิ่งที่อยากจะเห็นคือ อนาคตภาครัฐเปิดช่องให้เอกชนได้ยื่นมือเข้าไปช่วยมากขึ้น มันจะขับเคลื่อนอะไรหลาย ๆ อย่างได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สิ่งที่เขามักพูดถึงเสมอในตลาด EdTech คือ เรื่องการศึกษาทุกคนมีมุมที่ต้องการทำต่างกัน ทุกกลุ่มมีตลาดของตัวเอง สุดท้ายแล้วเมื่อมีผู้เล่นใน EdTech มากขึ้น ทุกคนขับเคลื่อนในมุมที่ตัวเองถนัด ทำให้คนสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น ทำให้คนตระหนักถึง life long learning เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ สุดท้ายเค้กก้อนนี้จะขยายสำหรับทุกคน

Startup Growth Plan

อีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มสตาร์ตอัพในตอนนี้ คือ มีการเติบโตของสินค้าและบริการในระยะแรกโดยมองที่ปริมาณเป็นหลัก แต่ในแง่ของการการสร้างรายได้ระยะยาวยังเป็นจุดบอดที่หลายสตาร์ตอัพกำลังเผชิญ โดยดร.ต้ามองว่า “สตาร์ตอัพควรโฟกัสที่สินค้า แต่ต้องมีแผนธุรกิจในใจนิดนึงว่าถ้าเราทำสินค้าแบบนี้ การสร้างรายได้จะเป็นยังไงต่อไป จะต้องชัดเจนในตัวเองว่า ฐานลูกค้าที่เราสร้างได้มาจากใคร แล้วสักวันหนึ่งเราจะสร้างรายได้จากกลุ่มนี้ได้จริง ๆ ใช่ไหม

“เราอยากเติบโตเน้น Growth ต้อง Growth แบบมี direction แบบมีแผนในหัวว่า business model ของเราเป็นอย่างไร”

โดยเขาเล่าว่า ตอนนี้ทุกคนเน้นมีตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานเพื่อไปบอกนักลงทุน แต่เขามองว่ามันเป็นกับดัก คือแม้วันนี้ได้จำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่สุดท้ายคนกลุ่มนี้อาจไม่พร้อมจ่ายเงิน นั่นคือสร้างรายได้ไม่สำเร็จ

“ยกตัวอย่างเช่น EdTech ที่เขาทำกัน เขาจะปล่อยคอร์สฟรีก่อน คนก็จะแห่มาเรียนคอร์สฟรีเยอะ หวังว่าสักวันทำคอร์สออนไลน์เก็บเงิน แล้วจะมีคนจ่ายเงิน ตอนที่ปล่อยคอร์สฟรี จริง ๆ คนที่มาเรียนส่วนใหญ่เขาอาจจะไม่ได้มีความอยากจะจ่ายเงินเลยก็ได้ สุดท้ายเริ่มเก็บเงิน เขาก็อาจจะไม่จ่ายเงินให้ แต่คนที่เขาพร้อมจ่ายเงินให้เรา อยากหาของที่ดีที่สุด พอเขาเห็นเราปล่อยของฟรี เขาอาจจะรู้สึกว่า คอร์สนี้มันไม่ดีหรือเปล่า ไปจ่ายเงินให้ที่อื่น”

โดยเขาแนะนำว่า จากสถิติระดับโลกทุกคนยืนยันตรงกันว่าสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ผู้ก่อตั้งมักเป็นคนอายุ 30-35 ปีโดยเฉลี่ย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่เห็นภาพการทำธุรกิจมาจำนวนมาก มีประสบการณ์มากพอที่จะเข้าใจเส้นทางการสร้างรายได้จากสินค้าที่เลือกทำธุรกิจ

“ผมไม่ได้บอกว่า เด็กรุ่นใหม่อายุ 20 กว่าไม่เก่งนะ ผมว่าเขาเก่ง เขามีแรง เขามีไอเดียที่ดี แต่หลายครั้งเขาอาจจะยังมีประสบการณ์ในมุมมองเชิงธุรกิจ ท่าในการหาเงินที่อาจจะไม่เยอะพอ ผมชอบแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้เก็บไอเดียพวกนั้นไว้ก่อน ถ้ามันยังไม่สุดลองไปทำงานหาประสบการณ์ก่อน อยู่บริษัทใหญ่ ๆ เรียนรู้โลกก่อน แล้วค่อยมาทำจริงๆ เราอาจจะทำได้เก่งขึ้น หรือถ้าใครคิดว่าไอเดียฉันปังมากแล้ว อยากเริ่มตั้งแต่เด็กเลย จบปุ๊บ ทำสตาร์ตอัพปั๊บ ให้หาเมนเทอร์ดี ๆ หาคนเก่ง ๆ มีมุมมองด้านธุรกิจเยอะ ๆ มาช่วยเป็นโค้ช แล้วจะทำให้การเติบโตของสตาร์ตอัพมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น”

โดยเขายกตัวอย่างว่า “สตาร์ตอัพที่ได้ซีรี่ส์ A แล้ว ตั้งตัวได้แล้วจบแค่ A มีวิธีจบแบบสวยงาม แต่สตาร์ตอัพบางรายยังอยากปั่นรอบไปเรื่อย ๆ จาก A B C D E ในต่างประเทศสตาร์ตอัพหลายรายเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งที่ยังไม่มีกำไรก็มี เช่น Coursera เป็น EdTech เจ้าดัง อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา ทุกคนตื่นเต้นตอนที่เขา IPO มาก ถามว่าตอนนี้บริษัทมีกำไรไหม ก็ไม่ยังไม่มี แค่เปลี่ยนโมเดล อยากหาเงิน VC เป็นหาเงินจากผู้ถือหุ้นแทน ให้ทุกคนมาซื้อหุ้น เขาก็ยังมีจุดที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ว่า การที่เขาเข้าตลาดได้ตัวเลขก็พิสูจน์แล้วว่า เขาจะสร้างกำไรมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลาดที่หาเงินได้มันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้” ดร.ต้า กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นัจกร สุทธิมาศ – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ

บนเส้นทางถนนลูกรังของ “ท๊อป จิรายุส” แห่ง Bitkub

เป้าหมาย “ท๊อป จิรายุส” Bitkub ไม่ใช่แค่ Good company แต่เป็น Great company

ถอดรหัส “ไผท ผดุงถิ่น” ซีอีโอ สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิก Builk One Group เป็น “แมลงสาบ” ไม่ใช่ “ยูนิคอร์น”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ