TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewVulcan Coalition สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยฝีมือคนพิการ

Vulcan Coalition สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยฝีมือคนพิการ

หากเอ่ยชื่อเด็กนิติศาสตร์ อาจคิดว่าเรียนจบแล้วต้องทำงานอาชีพทนาย ผู้พิพากษา หรือ พนักงานอัยการ แต่สำหรับ “จูน” ผู้หญิงที่มีจิตใจอ่อนโยนวัย 30 ปี เธอกลับเลือกทำงานช่วยเหลือสังคม ด้วยวิธีการเพิ่มคุณค่าให้แก่คนพิการให้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนปกติ พร้อมดึงศักยภาพในตัวคนพิการออกมา เพื่อให้พวกเขากลายเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน GDP ประเทศ สร้างอาชีพ และลดการพึ่งพาเงินสนับสนุนจากรัฐในระยะยาว

เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ Chief Executive Officer (CEO) และผู้ก่อตั้งบริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด (Vulcan Coalition) สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยฝีมือคนพิการทั้งในด้านอุตสาหกรรมและงานวิจัย เล่าว่า สมัยเรียนปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีโควตาให้คนพิการสามารถสอบเข้ามาเรียนบางคณะได้ เช่น นิติศาสตร์  รัฐศาสตร์ หรือสังคมสงเคราะห์ จะเป็นคณะยอดฮิตที่คนพิการมาเรียน ซึ่งนี่ถือเป็นจุดแรกที่ทำให้ได้รู้จักคนพิการ 

“เราได้เห็นว่าเพื่อนคนพิการที่เรียนนิติฯ เจอปัญหาขาดสื่อการเรียนสำหรับคนพิการ บางคนมีมนุษย์สัมพันธ์ไม่ดี ไม่มีเพื่อนอ่านให้ฟังก็ยากที่เขาจะเรียนจบ กลายเป็นว่าคนตาบอด คนพิการที่จะเรียนจบได้ นอกจากเรียนดี ขยันแล้ว ยังต้องมีคนคอยช่วย เราเลยคิดว่าถ้าจะมีระบบอะไรที่ช่วยให้คนพิการสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ก็น่าจะช่วยให้เขาเรียนจบได้มากขึ้น ”

ขณะศึกษาที่ม.ธรรมศาสตร์ จูนเข้าร่วมโครงการ AIS Digital Playground เป็นโครงการที่ AIS นำดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาให้นักพัฒนาได้เข้ามาทดสอบเชื่อมต่อ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ และมีโอกาสได้เข้าไปทำงานด้านการตลาดออนไลน์ให้กับ AIS ขณะเดียวเขายังทำด้านสังคมควบคู่กัน เป็นโซเชียลโปรเจกต์ ชื่อ Guide Light  ออกแบบระบบการเรียน รวบรวมสื่อการเรียนในรูปแบบที่คนพิการ คนตาบอด สามารถเข้าถึงได้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“ตอนนั้นคิดว่าถ้าทำ Guide Light จะช่วยให้เพื่อนตาบอดสามารถเรียนจบได้มากขึ้น พอเรารวบรวมสื่อการเรียนที่ทำไปให้เขาใช้ ผลก็คือช่วยเขาได้จริง ๆ นอกจากนี้เรายังมีโอกาสไปพูดคุยกับคนพิการหลาย ๆ กลุ่ม ทำให้ได้เห็นว่าคนพิการมีความสามารถเหมือนคนปกติ คือเป็นคนพิการที่ขยันเพราะเขามีสื่อการเรียนที่เข้าถึงได้ มีกลุ่มหนึ่งเรียนดีอยู่แล้ว แต่ต้องลาออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากครอบครัวไม่สนับสนุนให้เรียน แม้คนพิการจะเรียนฟรี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ผู้ปกครองบางคนมองว่าพอลูกหลานพิการก็ให้ลาออกมาทำงานหาเงิน เอาเงินไปส่งเสียให้ลูกหลานที่ไม่พิการมีโอกาสเรียนหนังสือจนจบ ได้งานทำดี ๆ ดีกว่า”

เห็นเช่นนี้ จูนจึงกลับไปดูเรื่องกฎหมาย พบว่าประเทศไทยมีมาตรากฎหมายที่ช่วยเรื่องการจ้างงานคนพิการคือ มาตรา 33 ให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน อัตราส่วน 100:1 คือต้องจ้างคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้าง/เจ้าหน้าที่ 100 คน มาตรา 34 หากสถานประกอบการไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนด ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวนเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดในปีก่อนส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ x 365 (วัน) x จำนวนคนพิการที่ไม่รับเข้าทำงาน เฉลี่ยเดือนละ 9,520 บาท หรือประมาณ 1 แสนบาทต่อปี

แต่กฎหมายมีข้อยกเว้น มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามมาตรา 34 สถานประกอบต้องดำเนินการให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการด้วยวิธีพิเศษ ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก จัดให้มีล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ 

ทิ้งงานประจำ เดินทางทำโปรเจกต์เพื่อสังคม

หลังจากทำงานที่ AIS ควบคู่กับ Guide Light ได้ประมาณหนึ่งปี จูนรู้สึกว่าหากต้องการทำโปรเจกต์เพื่อช่วยเหลือคนพิการจริงจัง ต้องใช้เวลาในการทำวิจัยสูงมาก เขาจึงตัดสินใจลาออกจาก AIS

“พอเราเรียนจบ ได้เห็นว่ายังมีน้อง ๆ อีกมากที่ยังเรียนอยู่ และมีปัญหาเดียวกันกับเพื่อนเรา คือไม่มีหนังสืออ่าน ตอนนั้นจึงคิดแค่ว่าอยากทำอะไรบางอย่าง ที่จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสื่อการเรียนได้ดีขึ้น มีโอกาสเรียนจบมากขึ้น เพราะการที่คนตาบอดจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกไม่นานก็เรียนจบแล้ว ถ้าเราช่วยตรงนี้ได้ ก็ทำให้เขาเรียนจบได้ เหมือนพลิกชีวิตให้เขา แต่ถ้าเขาเรียนไม่จบความตั้งใจที่เรียนมาตั้งแต่มัธยมก็แทบไม่มีความหมาย”

คอนเซ็ปต์ของ Guide Light คือระบบนิเวศที่ช่วยให้คนพิการสามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ คือ 1) การทำสื่อการเรียนที่คนพิการเข้าถึงได้ในรูปแบบต่าง ๆ 2) การมีบัดดี้ที่ช่วยเหลือคนพิการขณะเรียน และ 3) การสร้างอาชีพให้แก่คนพิการระหว่างเรียน

“Guide Light เหมือน Social Project Base เป็นองค์กรเพื่อสังคม ที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. เป็นระบบนิเวศของการเรียน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงการเรียน มี Material การเรียน มีเพื่อนที่จะช่วยกันเรียน เพื่อแก้ไข Pain Point ที่จูนเจอตอนแรกว่าทำไมคนพิการถึงออกจากระบบกลางคัน”

แต่จุดอ่อนของ Guide Light คือ 1) ไม่สามารถขยายขอบเขตงานไปต่อได้เท่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดในการสร้างรายได้ 2) ไม่สามารถจ้างคนพิการในหมู่มาก เพราะเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจะจ้างคนพิการหลักร้อยมาทำอะไร เขารู้สึกว่าไม่เห็นช่องทาง

จุดเริ่มต้นของ Vulcan

ครั้งหนึ่ง จูนมีโอกาสเดินทางไปสัมมนาที่ประเทศสิงคโปร์ ทำให้ได้พบกับ นิรันดร์ ประวิทย์ธนา ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Vulcan เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผู้ก่อตั้ง Ava Advisory กำลังประสบปัญหาขาดคนจัดเตรียมข้อมูลสำหรับสร้าง AI ให้กับธุรกิจ ประกอบกับเวลานั้นจูนรู้จักคนพิการที่ต้องการหางานทำอยู่หลายคน จึงเข้าไปสอบถามว่าคนพิการสามารถทำงานด้านจัดเตรียมข้อมูลอะไรได้บ้าง เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Vulcan Coalition

“เริ่มแรกเราทำแพลตฟอร์มให้คนตาบอดทดลองทำตัวข้อมูลเสียง เพื่อดูว่าถ้าทำแพลตฟอร์มที่คนตาบอดใช้ได้คือ Screen Reader บนหน้าจอโน๊ตบุ๊ก เขาจะอ่านทุกอย่างได้ แพลตฟอร์มนี้ออกแบบให้คนตาบอดใช้งานได้ แต่เขาจะทำงานต่อได้หรือไม่ นี่คือสมมติฐานแรกที่เราลองทำไปด้วยกัน”

หลังจากนั้นจูนได้ “เต๋า” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย CRO คนปัจจุบันของ Vulcan มาดูแลเรื่องการทำวิจัยบทนี้ โดยไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีน้องคนตาบอด 30 คนแรกเริ่มทดลองใช้งาน 7 เดือน เพื่อดูว่าเขาสามารถทำงานได้หรือไม่ ปรากฏว่าเขาทำได้ และทำได้ดี ด้วยความเร็วที่เร็วกว่าคนปกติ 1.5 ถึง 2 เท่า

“เรามีไฟล์เสียง คนตาบอดจะใช้คอมพิวเตอร์ของเขา เมื่อเปิดโปรแกรมสำหรับ Accessibility โปรแกรมจะอ่านให้ฟังว่ามีอะไรอยู่บนหน้าจอ จากนั้นเขาจะใช้ปุ่ม Shortcut แทน ยกตัวอย่าง ถ้าเปิดโปรแกรม Zoom ในโปรแกรมจะบรรยายหน้าจอว่ามีปุ่มอะไรบ้าง ให้เขากด จากนั้นคนตาบอดจะกด Enter ที่ปุ่มที่เขาได้ยิน”

แต่ข้อจำกัดคือ จะทำอย่างไรให้โปรแกรมที่เราออกแบบ สอดคล้องกับโปรแกรมอ่านหน้าจอของคนตาบอดให้มากที่สุด สามารถมีคีย์ลัด Shortcut มีคำบรรยายในกรณีที่เป็นไอคอน หรือรูปภาพ เขาจะได้รู้ว่าคืออะไร พอจูนทำโปรแกรมนี้เสร็จ หน้าที่ของคนตาบอดคือฟังเสียง แล้วพิมพ์ตามที่เขาได้ยิน 

คนพิการคือผู้สร้างสมองให้ AI

โปรแกรมนี้กำลังสอนให้ AI สามารถอ่านออกเขียนได้ คนตาบอดทำหน้าที่เหมือนคุณครู ที่วันนี้บอกว่า ก.ไก่บวกสระอา ต้องอ่านว่า กา แต่วิธีการสอนของเขาคือการที่เขาฟังเสียงแล้วพิมพ์ตามที่เขาได้ยิน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็น Data Set ไว้ไปใช้ในการสอน AI 

หน้าที่ของ AI คือจับคู่เสียงกับข้อความ เสียงนี้ข้อความคืออะไร ในขณะเดียวกัน AI ก็จะทำหน้าที่กลับกันว่าข้อความนี้คือเสียงอะไร เป็น Speech-to-Text กับ Text-To-Speech ส่วน Speech-to-Text คล้าย ๆ เวลาพูดในแอปพลิเคชัน Line และ Line จะพิมพ์ออกมาเป็นข้อความ 

“เรามีทีม AI Scientist ที่ทำ AI model เหมือนทำสมองของ AI ส่วนที่คนพิการทำคือชุดข้อมูลเพื่อใช้สอน AI ซึ่งในที่นี้ชุดข้อมูลเป็นรูปแบบเสียง คนพิการจะพิมพ์ตามเสียงที่ได้ยิน แฟลตฟอร์มตัวนี้ Output คือชุดข้อมูลที่เป็นก้อนจับคู่กัน จากนั้น AI Scientist จะนำข้อมูลตัวนี้ไปใส่ในสมองของ Al เพื่อให้ประมวลผล”

เขาทำโปรเจกต์ Guide Light ประมาณ 4 ปี ตอนนั้น Guide Light เริ่มทำระบบแล้ว หน้าที่ของจูนแค่ดูแล ติดตามผลต่อ เขาจึงไปทำงานที่ TIME Consulting เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และนวัตกรรม

ลองจินตนาการว่าถ้าบริษัทต้องการข้อมูลสำหรับทำ Text-to-Speech 1 ล้านชุด ภายใน 2 เดือน ไม่มีบริษัทไหนกล้าจ้างคน 100 คนพร้อมกัน เพื่อมาทำงานนี้ คิดง่าย ๆ อย่างตอนนี้  Vulcan Coalition มีเครือข่ายคนพิการ 600 คน คูณ 9,520 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายมหาศาล”

เขาบอกว่า เป็น Fixed Cost ที่ไม่มีบริษัทไหน หรือแม้เป็นบริษัทใหญ่ระดับประเทศก็ไม่สามารถจ้างคนให้ทำงานตรงนี้พร้อมกันได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วและมีปริมาณเพียงพอกับที่เขาต้องการ ยิ่งงานสร้าง AI ข้อมูลยิ่งเยอะเท่าไหร่ ยิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น

ศักยภาพคนพิการที่เรา (อาจ) ไม่เคยรู้

คนพิการมีอวัยวะบางส่วนที่หายไป ซึ่งจะถูกเติมเต็มด้วยส่วนอื่นให้มีความพิเศษยิ่งขึ้น การโอนถ่ายพื้นที่ของสมองในส่วนอวัยวะที่พิการ เพื่อช่วยอวัยวะที่ไม่พิการ (Brand Rewired) การใช้ประสาทสัมผัสอื่นทดแทนประสาทสัมผัสที่พิการซ้ำ ๆ ส่งผลให้คนพิการแต่ละประเภท มี ‘ศักยภาพเฉพาะ’ ที่โดดเด่นกว่าคนไม่พิการ

“วันนี้ถ้าให้คนทั่วไปฟัง Podcast ด้วยความเร็ว 2 ถึง 3 เท่า แล้วพิมพ์ข้อความตาม หลายคนอาจฟังไม่ทัน และฟังไม่รู้เรื่อง แต่คนตาบอดสามารถทำได้ ล่าสุด ยังมีฟีตแบกจากแพลตฟอร์มกลับมาว่า ช่วยเพิ่มความเร็วให้หน่อย ให้เขาเลือกความเร็วได้มากกว่านี้ คือเขาสามารถฟังได้เร็วมาก ๆ”

ทฤษฎี Brain Rewind บอกเอาไว้ว่าสมองส่วน Auditory Cortex ของคนพิการที่มีไว้ฟังใหญ่กว่าสมองคนปกติ เพราะสมองส่วนนั้นถูกควบรวมจากเปลือกสมองส่วนการเห็น (Virtual Cortex) เนื่องจากสมอง 2 ส่วนนี้อยู่ชิดกัน ถ้าไปถามคนพิการ เขาจะมองว่าการที่เขาต้องใช้ชีวิตกับการฟัง เหมือนการใช้คอมพิวเตอร์ ถ้าเขาฟังด้วยความเร็วของเรา การที่เราจะค้นหาหรือเล่น Facebook ช้ามาก คือเขาหลับตาแล้ว Navigate ด้วยการฟัง ฉะนั้น เขาต้องปรับทุกอย่างให้เร็วขึ้น แค่ฟังพอรู้เรื่อง และเขาก็กดปุ่มเลือกต่าง ๆ ได้ บางคนใช้มาตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี เลยไม่แปลกที่เขาจะฟังได้เร็ว

“นี่เป็นทักษะที่ทำให้คนพิการดูเหนือกว่าคนธรรมดา ฉะนั้น การทำชุดข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้ในปริมาณมาก ๆ ในระยะเวลาสั้น ๆ ตรงนี้จึงเป็นชาเลนจ์ที่เหมาะกับกลุ่มคนพิการทางสายตา”

จูนบอกว่า พอได้ทำงานกับคนพิการ จึงรู้วิธีออกแบบแพลตฟอร์มให้คนพิการใช้งานได้ ปีที่ผ่านมา Vulcan มีคนพิการเกือบ 600 ราย หน้าที่เขาคือทำอย่างไรให้คนพิการ 600 คนสามารถทำงานจากที่บ้านได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ ควรมีวิธีการสื่อสาร การออกแบบ Organization Structure อย่างไร

พิการทางหู และออทิสติกก็สามารถทำงานได้

นอกจากคนพิการทางสายตาที่เข้ามาทำหน้าที่สร้างชุดข้อมูลเพื่อส่งให้สมองของ AI แล้ว Vulcan ยังให้โอกาสคนพิการทางหู และออทิสติก ในส่วนของกลุ่มคนหูหนวก สามารถมองเห็นในระยะกว้าง และมองรายละเอียดได้ดีกว่าคนทั่วไป กลุ่มออทิสติก สามารถจับแพตเทิร์นได้ดี มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่สนใจ

“คนหูหนวกทำเป็นภาพ เพราะงานข้อมูลไม่ได้มีแค่นี้ จุดเริ่มต้นเริ่มจากตาก่อน พอเราเห็นคนตาบอดทำงานได้ จึงขยายต่อไปเป็นเคลื่อนไหว แต่ไม่ค่อยมีปัญหา คือเคลื่อนไหวเขาแค่เดินทางไม่ได้”

สำหรับเคลื่อนไหวส่วนบน Vulcan มีพิการครึ่งซีกรวมถึงมือเกร็ง ในส่วนของความพิการทางสายตามีหลายระดับ ทั้ง ตาบอดสี ตาแพ้แสง แพลตฟอร์มของ Vulcan จึงปรับเปลี่ยนสี ปรับเปลี่ยนขนาดตัวอักษรได้ เพราะคำว่าสายตาพิการ มีมิติที่ลึกลงไปมากกว่าแค่ตาบอด 

“หน้าที่เราคือต้องทำแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์หรือเคลื่อนไหวเอง มือข้างเดียวสามารถใช้ได้ มือเกร็ง มือหงิก ใช้ไอแพดทำได้ เราต้องเรียนรู้ บางคนเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะทำงานติดต่อกันไม่ได้ วิธีการทำงานของ Vulcan ที่เราออกแบบคือทุกคนทำงานได้ Flexible วันละ 4 ชั่วโมง เลือกเวลาได้ จัดการเวลาเองได้ เพราะเรามีสถิติเก็บอยู่แล้ว 1 สัปดาห์ ต้องทำงานให้ได้ครบ 2,000 เหรียญ  ถ้าแปลงเป็นเวลาจะประมาณ 20 ชั่วโมง ใครทำได้เร็ว ก็เสร็จก่อน มีเวลาไปทำอย่างอื่นต่อ”

เหตุผลที่ต้องนับเป็นเหรียญ เพราะคนพิการลงเวลาเข้างานไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีข้อจำกัดทางร่างกายไม่เหมือนกัน เลยใช้ชิ้นงานเป็นเหรียญแทน เป็นการระบุว่าคนคนนั้นทำงานครบเวลาหรือไม่ หากต้องการทำมากกว่า 4 ชั่วโมงก็สามารถทำได้ ซึ่งคนทำก็จะได้รับเหรียญเพิ่ม เมื่อถึงปลายปีเราจะมีส่วนแบ่งให้คนพิการ อย่างปีที่ผ่านมามีคนพิการได้ส่วนแบ่งเพิ่มเติมจาก Vulcan ซึ่งถือเป็นโบนัส มากสุดประมาณหมื่นกว่าบาท

ปัจจุบันคนพิการในเครือข่ายของ Vulcan Coalition มีประมาณ 600 คน แบ่งเป็น กลุ่มแรก คนตาบอด ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของ Vulcan มีประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำ AI ด้านเสียงทั้งหมด ไม่ใช่แค่พิมพ์ แต่รวมไปถึงพูดเสียงตัวเองเข้าไป สอน Chatbot ทำเรื่องภาษา ยกตัวอย่าง บริษัทรับงานธนาคาร หรือธุรกิจค้าปลึก เวลาลูกค้าถามเข้ามา Bot ชอบตอบผิด บริษัทมีหน้าที่นำข้อมูลมาให้ คนพิการทางสายตาจะสอน Bot ว่าควรตอบอย่างไร กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเคลื่อนไหว ทำงานได้ทุกประเภท งานภาพ เช่นบริษัทมีภาพที่ระบุวัตถุว่าเป็นอะไร เพื่อทำงานกล้อง หรือทำตัวเอกสาร เพื่อให้ AI อ่านเอกสารได้ ทำระบุชิ้นส่วนรถยนต์ งานประเภทนี้กลุ่มเคลื่อนไหว

ส่วนสุดท้าย กลุ่มหู ข้อจำกัดหลักคือ เขาฟังไม่ได้ คนกลุ่มหูส่วนน้อยที่อ่านออก จึงเป็นกลุ่มหลักที่ต้องทำงานเรื่องภาพ และเป็นภาพที่ไม่เกี่ยวกับการอ่าน หรือการแปลงสื่อความหมาย เช่น ทำงานชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ต้องมารู้ภาษาก็ได้ เพราะเขารู้อยู่แล้วว่านี่คืออะไร สิ่งที่ Vulcan ทำคือใช้ไอคอน เช่น กระจังหน้ารถ มีคำว่า กระจังหน้ารถ แต่มีไอคอนด้วย วิธีการสอนส่วนนี้ ต้องเลือกไอคอนนี้ หรืองานเฟอร์นิเจอร์ สมมติ เห็นหนังสือ ก็แค่จับคู่หนังสือให้ตรงกับไอคอนหนังสือ สำหรับกลุ่มหู ข้อจำกัดเดียวคือ ต้องทำแพลตฟอร์มให้คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สามารถใช้งานได้ จึงต้องใช้ภาพในการสื่อความหมาย

ในมุมของ The Story Thailand จูนเป็นเหมือนข้อต่อของกลุ่มคนพิการในหลากหลายมิติ ด้วยระบบงานที่ทำให้คนพิการสามารถสอน AI เพื่อส่งต่อให้กับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของลูกค้า เขาคือความสวยงาม ที่สามารถสร้างงานให้แก่คนพิการ แม้จะต้องพบกับความท้าทายต่าง ๆ ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาระบบให้กับกลุ่มคนพิการ เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลที่มีคุณภาพ แล้วนำไปเชื่อมต่อส่วนงานที่มีคุณภาพ เพื่อส่งต่อให้แก่ลูกค้าที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยี AI 

Vulcan Coalition ในวันนี้

ปัจจุบัน บริษัท วัลแคน โคอะลิชั่น จำกัด เปิดให้บริการในประเทศไทยมานานเกือบ 3 ปี มีพนักงาน 20 คน เป็นคนพิการซึ่งทำหน้าที่ Developer 3 คน คนพิการที่อยู่ทีม Learning and Development 3 คน โดยช่วง 2 ปีแรกของการเปิดบริษัท เป็นช่วงลงทุนสรรพกำลัง พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้คนพิการแต่ละประเภทสามารถใช้งานได้ ปีแรกทดลองกับคนพิการ 30 คน ทำแพลตฟอร์มแรกออกมา แล้วขยายความพิการไปยังคนแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัด 

ปีที่ 2 มีประมาณ 200 คน เนื่องจากเริ่มมีคนใช้งานมากขึ้น แต่ 200 คนนี้เป็น Tester ทำงาน Commercial ให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันบริษัทได้มีการเก็บฟีตแบก ว่าเขามีปัญหาการใช้งานแพลตฟอร์มอย่างไร นอกจากนี้ทาง CTO ของบริษัท ยังรับ Developer ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา 2 คน เพื่อมาทำซอฟต์แวร์

ในขณะที่ UX Designer ของ Vulcan มีคนหนึ่งเป็น Asperger Syndrome หรือความบกพร่องของพัฒนาการรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว อยู่ในกลุ่มสเปกตรัมเดียวกับโรคออทิสติก แต่เป็น High-function Autistic อาการของเขาคือ ถ้าทุกคนเข้าประชุมบริษัทในวันจันทร์ จะมีน้องคนหนึ่งชื่อเจเจ ถามว่าประชุมนี้มีเพื่ออะไร จำเป็นหรือไม่ ผมต้องเข้าหรือไม่

“Asperger จะเป็นคนที่ไม่รู้ว่าตอนนั้นต้องทำอะไรในเชิง Emotional ครั้งหนึ่ง จูนบรีฟงานที่เป็นงาน UX UI เขาบอกกลางที่ประชุมว่า ผมอยากจะอ้วกแล้ว จูนคีย์ข้อมูลไม่เรียบร้อย เพราะ Asperger จะต้องเป็นอะไรที่เป็นลำดับ ขั้นตอน จัดระเบียบ การเห็นอะไรยุ่งเหยิงสำหรับเขา คือความรู้สึกเขาจริง ๆ เขาอยากจะอ้วกจริง ๆ และเขาก็พูดออกมา”

จูนบอกว่าปีแรกของการเปิดบริษัทจ้างพนักงานไอทีที่ไม่ใช่ผู้พิการมาทำ จากนั้นได้ ‘วิน’ คนตาบอด จบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยม มาทำงานด้วย ‘ณัฐพล’ จาก สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้จูนก็ยังมองหา Developer ที่เป็นคนพิการเข้ามาร่วมงานเพิ่ม

นอกเหนือจากได้ให้โอกาสทางสังคมแก่ผู้พิการด้วยการสร้างอาชีพ จูนยังบอกว่าคนกลุ่มนี้มีความสามารถพิเศษ มีความตั้งใจทำงาน สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทที่ความต้องการกำลังคนที่มีความสามารถมาช่วยทีม เขายกตัวอย่าง ‘วิน’ มีความสามารถในการทำงานเทียบเท่าหรือมากกว่าคนไม่พิการ เขาสามารถทำงานร่วมงานกับบริษัทชั้นนำอื่น ๆ ได้โดยไม่มีปัญหา

“เราเอง ต้องขอบคุณวิน ที่เลือกมาร่วมงานในบริษัทสตาร์ตอัพอย่าง Vulcan เหตุผลหนึ่งก็คือ บริษัทเรามีการออกแบบวิธีการทำงานที่เอื้อต่อคนพิการ ซึ่งเรามองว่าต่อให้คุณเก่งแค่ไหน ถ้าสภาพแวดล้อมที่ทำงานอยู่ไม่เอื้อ คุณจะไม่สามารถแสดงศักยภาพในตัวออกมาได้”

จูนยกตัวอย่างว่า คนตาบอดสามารถเขียน Code ได้ แต่เขามีข้อจำกัดบางอย่าง ที่หัวหน้าทีม Developer ต้องเข้าใจ สิ่งที่ Vulcan ทำ คือคุยกับพนักงานว่าข้อจำกัดของคุณคืออะไร จากนั้นหาวิธีการทำงานร่วมกัน

ดึงศักยภาพคนพิการ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม AI

ทุกวันนี้จูนพยายามดึงศักยภาพคนพิการ ในการจัดเตรียมข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลคุณภาพสูง ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม AI ไทย ทำให้การพัฒนา AI ของบริษัทต่าง ๆ ใช้งานง่ายขึ้น 

สิ่งที่เขาทำ คือการสร้าง AI model ที่มีความแม่นยำสูงภายในเวลาที่จำกัด เนื่องจากข้อได้เปรียบเรื่องของปริมาณคนที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลสำหรับพัฒนา AI model โดยปีที่ผ่านมามีเกือบ 600 คน ทำงานพร้อมกัน ทำให้ได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น ล่าสุด  Vulcan ทำ Thai Text-to-Speech AI ที่แปลประโยค ออกมาเป็นเสียงภาษาไทย มุ่งเน้นไปที่ความเป็นธรรมชาติของเสียงให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ใช้เวลาแค่ 2 ปี มีข้อมูล Text-to-Speech เทียบเท่าบริษัทอื่นที่ทำมานานกว่ามาก 

“Timeline และ Alternative Service อื่น ๆ ของเราอาจยังไม่เก่งกว่าคู่แข่ง แต่วันนี้ด้วยเวลาที่จำกัดเราสามารถเทียบเท่า เพราะมีจุดแข็งเรื่องของทีม สมมติว่าลูกค้าต้องการเปิดบริษัทใหม่ เขาบอกว่าอยากใช้เวลา 2 ปีเพื่อ Catch up ข้อมูลที่มีอยู่ ถ้าเกิดไม่ใช่โมเดลของเรา คิดว่ายากที่เขาจะสามารถที่จะทำได้ในเวลาที่เขากำหนด”

AI ระดับโลกที่ขับเคลื่อนโดยคนพิการ

เป้าหมายสูงสุดของ Vulcan คือการก้าวไปเป็น AI ระดับโลก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยศักยภาพของคนพิการ โดย AI ตัวแรกที่กำลังจะเปิดตัว คือ Text-to-Speech ภาษาไทย ที่คนไทยจะได้ใช้ วันนี้อยากให้คนที่อยากใช้ Text-to-Speech ได้ทดลองใช้งานของ Vulcan ในขณะเดียวกัน เขาจะได้รับรู้ว่าสิ่งที่เขาใช้เกิดขึ้นได้ด้วยศักยภาพคนพิการ

จูนเล่าว่า ที่ผ่านมา Vulcan Coalition เป็นสตาร์ตอัพที่รับทำชุดข้อมูลสำหรับ AI ให้แก่บริษัทที่สนใจ ในขณะเดียวกันบริษัทได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วย เนื่องจาก Vulcan เป็น Deep Tech ซึ่งต้องใช้ทุนในการทำวิจัยผลิตภัณฑ์นานกว่า Category อื่น ถ้าพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเดียว จะไม่มีรายได้เข้ามา จึงต้องแบ่งให้สมดุลกัน คือรับงานนอกด้วย อีกพาร์ทหนึ่งทำผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อสร้างรายได้มาหล่อเลี้ยงบริษัท ณ ปัจจุบัน AI ที่ทำอยู่สามารถอ่านข้อมูลได้ถูกต้อง มีเสียงใกล้เคียงกับธรรมชาติ แต่คุณภาพเสียงยังไม่ดีพอที่จะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งทีมกำลังลดเสียงที่เป็นหุ่นยนต์ออก 

“เวลาทำ AI หลายคนชอบพูดว่าส่วนที่ยากที่สุดคือส่วนที่ 90-100 ทำอย่างไรให้ 90 ถูกต้องที่สุดไปจนถึง 100 ได้ ช่วงนี้คือยากที่สุด”

ภาพรวมอุตสาหกรรม AI จูนมองว่ามีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโต ยกตัวอย่าง ทางด้านการแพทย์ ที่มีการนำ AI มาใช้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโควิดที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา เทรนด์ที่กำลังมา คือ คนไข้ต้องทำเองทั้งหมด เนื่องจากแพทย์เขาไม่เพียงพอที่จะทำทุกขั้นตอนให้กับคนไข้ได้ เขาจึงนำ AI มาช่วย

ก่อนหน้านี้ AI อาจเป็น Luxury Thing บริษัทที่มีเงินทุนที่ค่าของนวัตกรรมถึงกล้าลงทุน แต่วันนี้ AI ในต่างประเทศกลายเป็น A Must ที่ต้องใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ในต่างประเทศ ในอนาคตฝ่าย HR ที่เคยทำงานกับคน อาจต้องเจรจากับ AI ด้วย หมายถึงมี AI เป็นเพื่อนร่วมงาน แต่คนกับ AI จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร เป็นอีกหนึ่งชาเลนจ์ที่น่าสนใจ

“สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรม AI อาจไม่เติบโตเท่าต่างประเทศ แต่จูนเชื่อว่าตอนนี้ดีมานด์ของ AI ในประเทศไทยมีมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ”

ความสำเร็จของ Vulcan

วันนี้ Vulcan แบ่งลูกค้าออกเป็น 2 ส่วนคือกลุ่มที่รับทำชุดข้อมูล AI ให้ กับ กลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นพันธมิตรรายใหญ่ที่จ้างบริษัททำ AI อย่าง Agoda, Central, DEPA, Food Passion, King Power, Makro, Microsoft, สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ, NVIDIA, Odd-e, สหพัฒน์, Shopee, True Corperation รวมถึง SC Asset

เขายกตัวอย่าง แอปพลิเคชัน “บ้านรู้ใจ” ของ SC Asset ที่ให้ Vulcan เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแอปฯ คือระบบสั่งการบ้านด้วยเสียง หากเข้าไปในโครงการ อย่างแกรนด์บางกอก บูเลอวาร์ด บางใหญ่ สามารถเปิดแอร์ เปิดไฟ ปิด-เปิดผ้าม่าน โดยใช้ศักยภาพคนพิการในการทำข้อมูล ทำเป็น AI model ไปให้

จูนไม่เคยกลัวว่าบริษัทชั้นนำเหล่านั้นจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับ Vulcan แต่เขากลับมองว่า การเข้ามาของ Vulcan เป็นจิ๊กซอว์ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรม AI ในประเทศไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ลบข้อจำกัดด้านการทำข้อมูลสำหรับ AI หายข้อจำกัดนั้นหายไป หมายความว่าต้นทุนการทำ AI ของหลาย ๆ ที่จะดีขึ้น 

สำหรับปี 2565 จูนตั้งเป้าจะลดปริมาณการทำชุดข้อมูลสำหรับ AI ให้น้อยลง เนื่องจากได้รับผลตอบแทนน้อย ที่สำคัญปีนี้บริษัทมี Cash Flow มากพอ จึงต้องโฟกัสที่ 2 ส่วนคือ 1) รับงานลูกค้ารายใหญ่น้อยลง เน้นทำ AI model ของตัวเอง ซึ่งปัจจุบัน Vulcan มี AI Voice model ที่ต้องมาคิดว่า Voice model สามารถนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง อย่าง AI Audiobook สามารถนำไปทำ AI Call center chatbot ได้ 2) Vulcan กำลังจะทำ AI Voice command หรือระบบสั่งการบ้านด้วยเสียง ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จะนำไปขายคู่ไปกับบ้านในเครือ SC Asset 3) ที่เตรียมเปิดตัวปลายปีนี้คือ AI คัดกรองอาการซึมเศร้า ข้อดีคือ จะทำให้คนไทยสามารถประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น เพื่อติดตามดูว่าสุขภาพจิตเราตอนนี้เป็นอย่างไร

ผลิตภัณฑ์ AI model ของ Vulcan เป็นรูปแบบที่เรียกว่า AI-as-a-Service เหมือน Voice AI ซึ่งแล้วแต่ลูกค้า ว่าเขาจะเอา AI ตัวนี้ไปทำอะไร เช่น มีบริษัทรถยนต์เจ้าหนึ่ง ใช้เสียง AI จากระบบสั่งการรถด้วยเสียง มีเสียงตอบโต้ยังไม่ค่อยเพราะ ฟังแล้วรู้สึกแข็งกระด้าง หากนำ AI ของ Vulcan ไปใช้ สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงดัง เสียงคนแก่ เลือกได้หมด

เส้นทางของสตาร์ตอัพ Vulcan Coalition

จูนบอกว่า ที่ผ่านมา Vulcan ระดมทุนรอบ 4 Round ได้นักลงทุนร่วมกัน 3 เจ้าคือ StormBreaker Venture ของ กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล, NVest Venture ของธนาคารออมสิน และ InnoSpace ของ เทวินทร์ วงศ์วานิช โดยทั้ง 3 รายเข้ารอบเดียวกันประมาณกลางปี 2564 ได้มาประมาณ 8 หลัก แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีพื้นฐาน (fundamental) ทั้งหมด รวมถึงขยายทีม AI

สำหรับปี 2565 Vulcan มีแผนระดมทุนอีกครั้ง เป็น M For A ต้องคอยดูว่าจะ Raise fund ได้ถึง Series A หรือไม่ ดูความพร้อมของผลิตภัณฑ์ที่ทำว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมสร้างรายได้ไหม ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ แต่ไม่ได้มาจากผลิตภัณฑ์หลักเป็นการทำ AI ให้กับลูกค้าเจ้าอื่น ปีนี้จึงตั้งใจว่าหาก AI ทั้ง 3 ตัวเสร็จตามแผนที่ตั้งใจไว้ และเริ่มมีรายได้ ก็คิดว่าจะมีโอกาสถึง Series A 

สร้างรายได้ให้คนพิการ

ปกติแล้ว หากคนพิการไม่ได้ทำงานในบริษัท เขาจะได้รับเงินสวัสดิการคนพิการจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดือนละ 800-1,000 บาท โดยอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับ 1,000 บาท และอายุ 18 ปีขึ้นไปจะได้รับ 800 บาท แต่คนพิการที่มาทำงานให้กับ Vulcan หากทำครบ 2,000 คอยน์ในหนึ่งสัปดาห์ 1 เดือนเขาจะได้รับค่าตอบแทน  9,520 บาท

จูนอธิบายว่า เงินส่วนที่คนพิการได้รับจากการทำมาจากโควตาพาร์ทเนอร์ ที่มาจ้างทำ AI model ซึ่งเป็นข้อมูล หากบริษัทเอาข้อมูลนั้นมาทำ AI โควตาพาร์ทเนอร์จะได้สิทธิใช้ AI ไป ยกตัวอย่าง พาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่อยากใช้ AI คัดกรองอาการซึมเศร้า เขาไม่ต้องจ่ายค่าใช้ AI คัดกรองอาหารซึมเศร้า แต่ต้องเอาโควตาคนพิการมาแลก คือให้คนพิการในโควตาเขา ทำ AI คัดกรองอาการซึมเศร้าให้กับ Vulcan จากนั้น Vulcan จะทำ AI model ไปใช้ตามสัดส่วนคนพิการที่พาร์ทเนอร์ให้มา

เหมือนคล้าย ๆ กับว่า ตอนนี้พาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่อยากใช้ AI คัดกรองอาการซึมเศร้า ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าใช้ AI คัดกรองอาการซึมเศร้า ถ้าเกิดเขาเอาโควตาคนพิการมาแลก คือให้คนพิการในโควตาเขาทำข้อมูล AI คัดกรองอาการซึมเศร้า แล้วเอาข้อมูลนั้นมาให้บริษัท  Vulcan จะเอาข้อมูลไปทำ AI model ใช้ตามสัดส่วนคนพิการที่คุณให้มา

การทำข้อมูลมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ บริษัทบางแห่งมีโควตาคนพิการมาให้เรา บอกเราว่าจะเอาโควตาคนพิการมาจ้างคนพิการ  จากนั้นให้คนพิการทำข้อมูลบนแพลตฟอร์ม Vulcan ซึ่งส่วนนี้ถ้าเขาเอาแค่เรื่องข้อมูล เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าใช้แพลตฟอร์ม แต่หากเขาจ้างคนพิการเขาทำ Vulcan ก็เก็บแค่ค่าใช้แพลตฟอร์ม แต่หากเขาจ้างควบคู่กันคือ ทำ AI model ด้วย ทำข้อมูลด้วย ส่วนนี้ Vulcan จะคิดเงินค่าทำ AI model ในส่วนที่ทำข้อมูล คือให้คนพิการมาทำงานเพื่อให้ได้ข้อมูลมาสอน AI model”

เป้าหมายของจูนในปีนี้คือ จะขยายการสร้างโอกาสทางอาชีพให้แก่คนพิการเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 600 คน นอกจากนี้ ยังต้องการให้คนพิการเหล่านี้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากสวัสดิการคนพิการที่เขาได้รับจากรัฐ และรายได้ประจำเดือนละ 9,520 บาทจากการทำงาน ซึ่งหากคนพิการกลุ่มนี้สามารถทำงานให้กับ Vulcan ได้เกินกว่าโควตาที่บริษัทกำหนด บริษัทจะมีส่วนแบ่งพิเศษเพิ่มให้แก่เขา 

“เวลา Vulcan มีรายได้จากโปรเจกต์ เราจะแบ่งสูงสุด 30 เปอร์เซ็นต์ให้แก่คนพิการ เป็น On Top เพราะเป้าหมายของ Vulcan Coalition นอกจากทำให้บริษัทเติบโตไปข้างหน้าแล้ว เรายังต้องการเพิ่มโอกาสให้แก่คนพิการ คือการเพิ่มรายได้ต่อหัวให้มากขึ้น ซึ่งช่วยให้ชีวิตเขาดีจริง ๆ “

จูนทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ทุกวันนี้เขาดีใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ชีวิตของผู้พิการหลายคนดีขึ้น จากโอกาสที่จูนหยิบยื่น จูนมองว่า Vulcan Coalition จะก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้ หากขาดคนพิการเหล่านี้ 

ดังนั้นเขาจึงพยายามสร้าง Vulcan ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเอื้อต่อการทำงานของเพื่อนร่วมงานคนพิการให้มากที่สุด ทำให้เขารู้สึกว่าความสัมพันธ์ในฐานะพาร์ทเนอร์ช่วยให้คนปกติแบบเรา กับคนพิการแบบเขามีสถานะที่เท่าเทียมกัน

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล และ ‘Skooldio’ บทบาท “เรือจ้าง” ในยุคดิจิทัล กับพันธกิจ Professional Education

เป้าหมาย “ท๊อป จิรายุส” Bitkub ไม่ใช่แค่ Good company แต่เป็น Great company

ถอดรหัส “ไผท ผดุงถิ่น” ซีอีโอ สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิก Builk One Group เป็น “แมลงสาบ” ไม่ใช่ “ยูนิคอร์น”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ