TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเปิดวิสัยทัศน์ "สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท" แห่ง ฮัทชิสัน พอร์ท ทรานส์ฟอร์ม "แหลมฉบัง" ดันไทยสู่ฮับด้านโลจิสติกส์

เปิดวิสัยทัศน์ “สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท” แห่ง ฮัทชิสัน พอร์ท ทรานส์ฟอร์ม “แหลมฉบัง” ดันไทยสู่ฮับด้านโลจิสติกส์

ความต้องการขนถ่ายสินค้าทางเรือยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การบริหารจัดการท่าเทียบเรือเพื่ออำนวยความสะดวกให้การขนส่งสินค้าลื่นไหลได้อย่างราบรื่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และการมีท่าเทียบเรือที่ “ดี” คือ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวเติบโตได้

เมื่อต้นเดือนมมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย เปิดบ้านชวนสื่อมวลชนเยี่ยมความทันสมัยของท่าเทียบเรือชุดดี ของ HPT ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นที่แรกในโลกของ 52 ท่าเรือของ HPT ใน 26 ประเทศ ที่มีการลงระบบเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ที่จะช่วยให้ HPT รักษาศักยภาพการแข่งขันไว้ได้ในอนาคตอีก 10-20 ปี เมื่อท่าเทียบเรือจะทรานส์ฟอรฟ์มเป็นท่าเรืออัจฉริยะทั้งหมด

การลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของ HPT ที่ทุ่มงบลงทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อเนรมิตรท่าเทียบเรือ Terminal D จากท่าเรือเปล่าให้กลายเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะต้นแบบ ที่อัดแน่นด้วยระบบเทคโนโลยี อาทิ รถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (autonomous truck) ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล (remoted control super post panamax ship to shore cranes) และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (remote-control rubber tyred yard cranes) เป็นต้น เพื่อตอกย้ำพันธกิจในการเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้บรรจุสินค้า และพันธกิจในการขับเคลื่อนให้ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นท่าเรือหลักของประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคอาเซียนนี้ รวมถึงพันธกิจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 11 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2573 

ในฐานะหนึ่งในผู้ให้บริการท่าเทียบเรือชั้นนำระดับโลก สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HPT) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า HPT มีทางเลือก 2 ทาง คือ 1) การรักษามาตรฐานการให้บริการท่าเทียบเรือในแบบที่เคยทำมา หรือ 2) เปิดรับเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อเรียนรู้ เข้าใจ และนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับการบริการท่าเทียบเรือของฮัทชิสัน พอร์ม ประเทศไทยให้พร้อมสอดรับกับโลกยุคดิจิทัลมากให้มากที่สุด

Terminal D ต้นแบบสมาร์ทพอร์ท

ทั้งนี้ นอกจากเลือกเดินหน้ารักษามาตรฐานการให้บริการให้ดีมากกว่าเดิมแล้ว ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ยังมองเห็นโอกาสและศักยภาพที่จะยกระดับการให้บริการท่าเทียบเรือที่แหลมฉบังไปอีกขั้น โดยมีหลักฐานยืนยันอย่าง “เทอร์มินัล ดี” (Terminal D) ที่ทางฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ได้ติดตั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ และระบบควบคุมระยะไกล ที่ทันสมัยมากพอรองรับระบบโลจิสติกส์ระดับโลก และมากพอที่จะดันให้ไทยขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้

อย่างไรก็ตาม อาร์ชเวิรท ย้ำว่า การสร้างสมาร์ทพอร์ท (Smart Port) ที่มีระบบอัตโนมัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกที่ติดตั้งระบบเซนเซอร์สามารถทำงานขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองผ่านโปรแกรม หรือเครนยกตู้สินค้าที่ควบคุมสั่งการจากระยะไกล ทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความจะต้องลดการพึ่งพากำลังคน

“Terminal D ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะตัดลดกำลังคน เรายังคงหาคนเข้าทำงาน ยังคงต้องการแรงงานมาทำงานในฐานะวิศวกร ฝ่ายปฎิบัติการ ฝ่าย HR และฝ่ายการเงิน Terminal D เป็นกายกรระดับเพื่อทำให้ระบบปฎิบัติการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และมีความยั่งยืน” อาร์ชเวิรท กล่าว

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อดีของการติดตั้งระบบอัตโนมัติ คือ ตัวระบบปฎิบัติการที่สามารถทำงานต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีคนหรือไม่มีคน ซึ่งอาร์ชเวิร์ทได้ยกตัวอย่าง กรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ โดยในแต่ละสัปดาห์ มีพนักงานของทางฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยที่จำเป็นต้องกักตัวอยู่กับบ้าน เป็นเวลา 7-10 วัน ทำให้ไม่สามารถเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ ดังนั้น การที่ระบบส่วนหนึ่งที่ทำงานได้อัตโนมัติจึงเข้ามาช่วยชดเชยปัญหาในส่วนนี้ 

ขณะนี้ Terminal D ยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่คาดว่าจะสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ภายใน 3-4 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งหากทุกอย่างแล้วเสร็จ ทางฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยประเมินไว้เบื้องต้นว่าน่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายในเรื่องของการก่อสร้าง ติดตั้ง และค่าเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 5-10% ของงบลงทุนที่ตั้งไว้ 

“เราทำในส่วนที่เรียกว่าเฟส 1 เสร็จแล้ว ในส่วนของเรือ รถบรรทุก และเครน ทั้งหมดใช้เงินไปประมาณ 50% ของงบที่ตั้งไว้ คือ ประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคือ D2 และ D3 ที่ต้องใช้เงินอีก 10,000 ล้านบาท ในการติดตั้งอุปกรณ์ เครนยกและโปรแกรมต่าง ๆ ให้เรียบร้อยพร้อมใช้งาน” อาร์ชเวิรท กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อใดก็ตามที่สมบูรณ์แล้วเสร็จ แอชเวิร์ธ มั่นใจว่า Terminal D จะเป็นท่าเทียบเรือสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขณะที่ในอนาคตอันใกล้นี้ ทางฮัทชิสันจะเป็นผู้ให้บริการเทอร์มินัลที่ใหญ่ที่สุดไทย สามารถรองรับสินค้าได้มากกว่า 10 ล้าน TEU ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุดดี ของ HPT กำลังเข้าสู่การก่อสร้างส่วนที่เหลือซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 3.5 ล้าน TEU

“เราตั้งใจที่จะจำลองและลอกเลียนเทคโนโลยีที่ใช้งานที่นี่ (แหลมฉบัง) อย่าง รถบรรทุกอัตโนมัติ และเทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดของสมาร์ทพอร์ทส่งไปใช้งานที่ท่าเทียบเรืออื่น ๆ ทั่วโลก ดังนั้น เราจึงเป็นเสมือนพื้นที่สำหรับการเทรนนื่งเทคโนโลยีท่าเทียบเรือ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอยู่แล้วในบางส่วน เพียงแต่การนำไปใข้ก็จะต้องมีการปรับให้เข้ากันเฉพาะกับแหลมฉบับในไทย หรือเฉพาะกับท่าเรือในอังกฤษ เพราะต่อให้เทคโนโลยีพื้นฐานจะคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของกระบวนการ ถ้าจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น แหลมฉบังเป็นเสมือน สนามทดสอบ (testing ground) สำหรับฮัทชิสัน พอร์ท” อาร์ชเวิรท กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นฮับของภูมิภาคอาเซียน ไม่ได้มีแค่เพียงความทันสมัยของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับนโยบายและขั้นตอนระเบียบการของหน่วยงานรัฐบาลไทยอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ แอชเวิร์ธ มองว่า ขณะนี้ ท่าเรือแหลงฉบังถือเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของภูมิภาคอาเซียน ตามหลังเพียงท่าเรือของสิงคโปร์ กับอีกสองท่าเรือในมาเลเซีย โดยในมุมมองของอาร์ชเวิร์ท ท่าเรือแหลมฉบับแม้ไม่สามารถสู้ได้ด้วยขนาด แต่ถ้าเป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมถึงบริการขนถ่ายและลำเลียงสินค้า ท่าเรือแหลมฉบังของไทยอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าไม่เป็นสองรองใคร

ขณะเดียวกัน ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ใช่ท่าเรือถ่ายลำสินค้า (Transshipment Port) เหมือกับท่าเรือในสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่จะเป็นลักษณะของเกตเวย์ พอร์ท (Gateway Port) ที่แม้จะมีปริมาณสินค้าผ่านท่าน้อยกว่า แต่แหลมฉบังกลับเป็นท่าเรือต้นทางและปลายทางในเส้นทางการขนส่ง หรือเป็นต้นทางการผลิตของสินค้าและเป็นปลายทางของผู้บริโภคอีกด้วย

“ถ้าจะให้ไปแข่งขันในเชิงขนาดและปริมาณ แหลมฉบังคงทำไม่ได้ แต่ถ้าจะให้เป็นฮับอาเซียน แหลมฉบังทำได้แน่นอน สิ่งที่เอ่ยถึงไม่ได้หมายถึงประสิทธิภาพที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกระบวนการขั้นตอนทางเอกสารด้านศุลกากรให้ยุ่งยากน้อยลง ทำให้การถ่ายลำสินค้าเป็นไปได้ง่ายขึ้น ก็จะช่วยให้เรือสินค้าทั้งหลายหันมาถ่ายลำสินค้าในไทยแทนที่จะสิงคโปร์หรือมาเลเซีย” อาร์ชเวิรท กล่าว

แหลมฉบัง เป็นฮับของอาเซียน

ในความเห็นของแอชเวิร์ธ กระบวนการทางศุลกากรของไทยขณะนี้ค่อนข้างซับซ้อน เอกสารต้องจัดการมีมาก ทำให้การถ่ายลำสินค้าติดขัด ดังนั้นเรือบรรทุกสินค้าส่วนใหญ่ก็จะไม่อยากแวะมาไทย 

“ผมเคยพูดไว้ว่า ท่าเรือแหลมฉบังไม่ได้อยู่ในทำเลที่เป็นเส้นทางการค้าหลัก ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือจากสิงคโปร์ขึ้นไปเวียดนามและผ่านทางจีน การแวะมาไทยเพื่อถ่ายลำสินค้า แล้วต้องเจอกับขั้นตอนยุ่งยากจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ถ้าไทยสามารถทำให้ขั้นตอนถ่ายลำสินค้าเป็นไปได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น ก็น่าจะดึงดูดเรือขนส่งสินค้าบางส่วนให้มาทำการถ่ายลำสินค้าที่ท่าเทียบเรือของไทยได้” อาร์ชเวิรท กล่าว

ทั้งนี้ แอชเวิร์ธ เชื่อมั่นว่าหากทำได้ อนาคตของแหลงฉบับย่อมเป็นมากกว่าท่าเรือถ่ายลำสินค้า แต่จะเติบโตเป็นศูนย์กลางการนำเข้า-ส่งออก และกระจายสินค้าภายในประเทศ และภายในภูมิภาคอาเซียนได้แน่นอน

ท่าเรือแหลมฉบังถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของไทย คิดเป็นเส้นทางเดินเรือของไทยราว 74-75% จากเส้นทางเดินเรือทั้งหมด ดังนั้น ถ้าต้องการจะดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน การท่าเรือแห่งประเทศไทยต้องรวมกิจกรรมขนส่งทางเรือมาไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือว่า การที่จะดันให้แหลมฉบังเป็นฮับของอาเซียนมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนวัตกรรมเทคโนโลยี การบริหารจัดการร และกระบวนการขั้นตอนด้านศุลกากร รวมถึงนโยบายของภาครัฐ

นอกจากนี้ แหลมฉบังยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากตามขนาดเศรษฐกิจของไทย ในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตเพื่อการส่งออกอันดับต้น ๆ ในอาเซียน ความต้องการนำเข้าและส่งออกสินค้าทางเรือย่อมอยู่ในลำดับสูงเช่นกัน 

“ผมคิดว่าไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน และเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย ถ้าตัดจีนออกไป ไทยเป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ทั้งยังได้แรงหนุนจากกำลังการบริโภคภายในประเทศจากคนชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต ดังนั้น ท่าเรือแหลมฉบับสามารถเริ่มต้นด้วยการเป็นมินิฮับของอาเซียนในการขนถ่ายลำสินค้าไปยังเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา หรือเวียดนามก่อน” อาร์ชเวิรท กล่าว

อาร์ชเวิรท กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าเรือแหลมฉบังยังได้เปรียบตรงที่เป็นท่าเรือน้ำลึก ดังนั้นจึงสามารถเปิดให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่บางส่วนเข้ามาเทียบท่าใช้บริการได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีปัจจัยและโอกาสที่สนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถเติบโตจนกระทั่งมีบทบาทสำคัญต่อการขนส่งทางเรือภายในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกลำดับต้น ๆ ของอาเซียน และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและนโยบายการบริหารจัดการทั้งหมดเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการ ในส่วนของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนให้การดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับท่าเรือของทางการไทยสะดวกราบรื่นมากยิ่งขึ้น 

“ฮันชิสันจะทำทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทางการไทย ซึ่งในกรณีของแหลมฉบัง แหลมฉบังก็ยังคงเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุของไทย และฮัทชิสันก็เป็นหนึ่งในผู้ที่จะช่วยรัฐบาลดำเนินการ” อาร์ชเวิรท กล่าว

และการพัฒนาเทอร์มินัล ดี (Terminal D) เป็นเสมือนบริการพิเศษเพิ่มเติมที่ทางฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและระบบอัตโนมัติ เช่น รถบรรทุก เครนยกคาร์โก มาใช้งาน โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้ท่าเทียบเรือมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปลอดภัยมากที่สุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม 

“ฮัทชิสันเลือก Terminal D ของแหลมฉบังเป็นพื้นที่สาธิตทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งอนาคต เราพูดคุยกับรัฐบาล ปฎิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการศึกษาโอกาสต่าง ๆ เป็นรายกรณีไป แต่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งหมด เป็นเรื่องของรัฐบาลไทย ไม่ใช่สิ่งที่ฮัทชิสันจะเข้าไปก้าวก่ายได้ แต่เราให้คำมั่นได้ว่าเราจะสนับสนุนรัฐบาลและการท่าเรือแห่งประเทศไทยในทุกทาง เพื่อผลักดันให้ท่าเรือแหลงฉบังเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง” อาร์ชเวิรท กล่าว

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

KX และ Ookbee หนุนครีเอเตอร์ เข้าสู่โลกศิลปะดิจิทัล NFT และ Metaverse ด้วย Coral

ก.ล.ต. เผยแผนยุทธศาสตร์ ปี 2565 – 2567

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ