TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเปิดแผนพันธกิจ “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” กับบทบาทผู้อำนวยการเนคเทค วาระที่ 2

เปิดแผนพันธกิจ “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” กับบทบาทผู้อำนวยการเนคเทค วาระที่ 2

บทบาทและพันธกิจของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ​เปลี่ยนไปตามยุคสมัยของการเคลื่อนของการพัฒนางานวิจัยของทั้งภาครัฐ​ มหาวิทยาลัย และเอกชน 

ในช่วงปีแรก ๆ ของเนคเทคมีบทบาทหน่วยงานทำวิจัยและเป็นตัวเชื่อมพางานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง เรียกว่า “จากหิ้งสู่ห้าง” พางานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยไปสู่ภาคเอกชน จากนั้นปรับขยายบทบาทสู่การทำ “งานวิจัยใช้ได้จริง” แต่ด้วยความไม่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจทำให้ “งานวิจัยใช้ได้จริง” ต้องขยายความสามารถของเนคเทคออกไปทำงานวิจัยเป็นโซลูชันมากขึ้น ช่วงนั้นเนคเทคต้องขยายคนจาก 200 เป็น 600 คน เรียกว่าเนคเทคก้าวเข้าสู่ “ยุครับจ้างวิจัย” อย่างเต็มตัว งานวิจัยรับจ้างไหลทะลักเข้ามามากจนเนคเทคขาดการโฟกัสในงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ ซึ่งเป็นยุคที่ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย เป็นผู้อำนวยการหน่วยวิจัย จึงตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการเนคเทค ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปรับบทบาทเนคเทค

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)​ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ไม่ได้สมัครด้วยความมั่นใจ แต่ลงสมัครด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะแก้ไขปัญหาหลายอย่างในการทำวิจัยที่เนคเทคต้องปรับปรุง 

และด้วยความเชี่ยวชาญของดร.ชัยในเรื่องเอไอ บวกกับความต้องการในการเข้ามาแก้ปัญหางานวิจัยและบทบาทของเนคเทค และมุมมองเชิงบริหาร ทำให้เป็นครั้งแรกที่เนคเทค หน่วยงานวิจัยหลักของประเทศที่มีอายุมากกว่า 30 ปี มีผู้อำนวยการที่อายุน้อยที่สุดและไม่ได้มาจากการเป็นรองผอ. แต่มาจากผู้อำนวยการหน่วยวิจัย

“เรามี passion ในการบริหารที่อยากนำงานวิจัยออกไปใช้เชิงพาณิชย์ อยากจะขึ้นไปในระดับบริหาร คาดว่าที่ได้เป็นผอ.เนคเทค เพราะความเชี่ยวชาญเรื่องเอไอ บวกกับการที่นักวิจัยมีน้อยมากที่จะมีมุมมองบริหารที่อยากแก้ไขปัญหา อยากช่วยเหลือประเทศ ผมเป็นหนึ่งในนั้น” ดร.ชัย กล่าว

ปรับยุทธศาสตร์เนคเทค

ภารกิจสำหรับการเป็นผู้อำนวยการวาระแรก คือ การปรับบทบาท (repositioning) และการปรับยุทธศาสตร์ของเนคเทค จากที่ทำหลายบทบาท ทั้งการให้คำปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ทำนโยบาย ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยี

เมื่อ 4 ปีก่อนตอนดร.ชัยนั่งเป็นผู้อำนวยการเนคเทค ภูมิทัศน์ด้านวิจัยในประเทศไทยเปลี่ยน ภาคเอกชนเริ่มทำวิจัย มหาวิทยาลัยมีพันธกิจงานวิจัยคล้าย ๆ กับเนคเทค เนคเทคจึงต้องเปลี่ยนบทบาทจากการทำงานวิจัยซึ่งบางครั้งอาจจะดูเหมือนไปแข่งกับมหาวิทยาลัย และเอกชน มาสู่การทำวิจัยพื้นฐานเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถมาหยิบใช้ได้ในราคาที่ดีที่สุดหรือฟรี โดยเนคเทคจะขอการสนับสนุนงบจากหน่วยงานอื่นเพื่อมาสนับสนุนงานวิจัยขั้นพื้นฐาน 

สมัยก่อนมีเอกชนเข้ามาให้เนคเทคช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเป็นราย ๆ ซึ่งแต่ละรายใช้เวลา 2-3 ปี ภายใต้รูปแบบการรับจ้างวิจัยหรือการขายลิขสิทธิ์งานวิจัย ซึ่งมีบริษัทเดียวที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยชิ้นนั้น 

“ใช้เวลาเวลานักวิจัย 3-4 คน เสร็จโครงการได้เงินมาหลักไม่ถึงล้านบาท จบ ไปเริ่มโครงการใหม่ มีบริษัทติดต่อเข้ามาจำนวนมาก ทำให้เนคเทคต้องเพิ่มนักวิจัยเข้าไป แต่การเพิ่มนักวิจัยนี้ไม่สร้างผลกระทบหรือสร้างระบบนิเวศให้กับประเทศ” ดร.ชัย กล่าว

เนคเทคจึงเปลี่ยนจากการรับจ้างทำวิจัย มาสู่การทำวิจัยแพลตฟอร์ม โดยไปขอการสนับสนุนงบวิจัยจากสวทช. ดีอี กองทุนววน. ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยที่เนคเทคจะทำ จากนั้นเปิดให้เอกชนและหน่วยงานอื่น รวมถึงมหาวิทยาลัยเข้ามาใช้ได้ ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือ ใช้ฟรีและคิดค่าบริการ (freemium model) 

“ตอนที่เริ่มทำรูปแบบนี้ มีคนไม่เห็นด้วยมาก เพราะคนจะมองว่าเนคเทคไม่รับจ้างทำวิจิยแล้ว แล้วจะหาเงินมาเลี้ยงองค์กรได้อย่างไร” ดร.ชัย กล่าว

สิ่งที่ดร.ชัยทำ คือเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนในการวิจัยจากเงินค่าจ้างของเอกชน มาเป็นการของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงดีอี สวทช. และกองทุนววน. โดยเริ่มจากการทำวิจัยที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและงานวิจัยขั้นเชิงพาณิชย์ 

ผลงานวิจัยที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและงานวิจัยขั้นเชิงพาณิชย์ที่ดร.ชัยภูมิใจ คือ AI for Thai ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการด้านเอไอ 36 บริการ มีนักพัฒนาเข้าใช้บริการกว่า 5,000 คน มีการเรียกเข้ามาใช้งาน (Request) มากกว่า 27 ล้านครั้ง มีบริษัทที่เรียกเซอร์วิสไปใช้ และขอคำปรึกษาจากเนคเทคมากกว่า 20 รายซึ่งทั้งหมดจะทำให้เกิดบริการเชิงพาณิชย์

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเนคเทคไม่ได้ทำเพียงแค่งานวิจัยที่เป็นรากฐาน หรือการทำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี แต่ทำงานเชิงนโยบายด้วย เทคโนโลยีใหม่นี้ต้องการแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ผ่านการทำงานเชิงนโยบาย 

บทบาทการช่วยขับเคลื่อนงานนโยบาย ใน 3 ปีแรกของดร.ชัยได้ช่วยขับเคลื่อน SMC – Sustainable Manufacturing Center ที่วังจันทร์ วัลเลย์ ที่ ECCi ใช้เวลาเขียนแผนร่วมปีจนผ่านครม. 

“SMC มีขึ้นเพื่อช่วยโรงงานในประเทศไทยขับเคลื่อนสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยการใช้เทคโนโลยีจากเนคเทค และเครือข่ายทั้งมหาวิทยาลัยและเอกชนต่าง ๆ” ดร.ชัย กล่าว

วาระแรก …… ทรานส์ฟอร์มเนคเทค 

ดร.ชัย ใช้เวลา 3 ปี ในวาระแรกของเป็นผู้อำนวยการเพื่อทรานส์ฟอร์มเนคเทค ซึ่งกระบวนการการทรานส์ฟอร์มเนคเทคเสร็จแล้ว ปีแรกมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และปรับแผนกลยุทธ์ของเนคเทคให้โฟกัส 8 อย่าง

เนคเทคโฟกัส 8 อย่าง คือ 1. ระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Strategic Big Data) 2.ระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) 3.แพลตฟอร์มโรงงานอัจฉริยะ (Smart Industry) 4ระบบเซ็นเซอร์ยุทธศาสตร์ (Strategic Sensor Process and Device) 5.บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย (Thai AI Service) 6.เมืองอัจฉริยะ (Smart City) 7. แพลตฟอร์มนวัตกรรมการศึกษาและ (Innovation Education Platform) 8.สุขภาวะดิจิทัล (Digital Wellness)  

จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาใช้งานได้จริง ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถึงมือผู้ใช้งาน เกิดรูปแบบธุรกิจ และเกิดประโยชน์จริง ที่เหลือจะทำเป็น blue sky research คือ งานวิจัยใหม่ ๆ เป็นงานวิจัยที่นักวิจัยจะต้องใช้จินตนาการและความสนใจ โดยแบ่งสัดส่วนทรัพยากรเป็น 70:30

รายได้ของเนคเทคส่วนใหญ่มาจากเงินทุนวิจัย แต่ก็ต้องมีรูปแบบของการแสวงหารายได้เพื่อนำมาใช้ต่อยอดหรือดูแลงานวิจัยที่ประมาณ 30% ของงบประมาณการใช้จ่าย มากกว่านี้ไม่ดี น้อยกว่านี้ไม่ได้ เพราะจะเสียบทบาทการเป็นนักวิจัย

สำหรับตัวอย่างแพลตฟอร์มงานวิจัยที่มีการผลักดันให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง คือ 

  1. NETPIE เป็นแพลตฟอร์ม Internet Of Thing ปี 2020 ออกเวอร์ชัน 2 NETPIE2020 เปิดมาตั้งแต่ปี 2558 ตัวนี้ผู้ประกอบการใช้จริงและกว้างขวางด้วยมีบริษัทสปินออฟ ที่ช่วยดูแล อาทิ NETPIE ไปรันธุรกิจ
  2. HandySense – ระบบเกษตรแม่นยำ ที่เปิดโอเพ่นซอร์สสำหรับฟาร์มอัจฉริยะ 
  3. Open-D เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการ Big Data ส่วนใหญ่ใช้กับหน่วยงานภาครัฐ อย่างสำนักงานสถิติแห่งชาติ
  4. Navanurak : เทคโนโลยีเพื่อจัดเก็บ บริหารจัดการ และการอนุรักษ์ข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม
  5. Thai School Lunch ทำให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ใช้มา 5 ปี เป็นโอเพ่นเซอร์วิสให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ เก็บข้อมูล ตอนนี้มีการต่อยอดไปเป็นแพลตฟอร์มสุขภาพเด็ก

หน่วยงานวิจัยที่โฟกัส และ long-term

จุดแข็งของเนคเทค คือ นักวิจัย ที่มีความสามารถจำนวนมาก และเป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยแบบโฟกัสและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทุกงานวิจัยที่เนคเทคทำมีอายุยาวนาน อาทิ TPMAP 5 ปี Thai School Lunch 7 ปี eDLTV 15 ปี เป็นต้น 

หน่วยงานมีพันธกิจชัดเจน ว่าเป็นหน่วยงานวิจัยของประเทศ มีนักวิจัยที่มีความสามารถและจำนวนมาก และเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำวิจัยแบบโฟกัสและกัดไม่ปล่อย 

“ตอนนี้มีหน่วยงานดิจิทัลเกิดขึ้นเยอะมาก แต่หลายครั้งก็ต้องอาศัยเนคเทค เพราะต้องการคนที่เชี่ยวชาญ การทำวิจัยเป็นมาราธอน ใช้เวลาเยอะ ลงทุนช่วงแรก 2-3 ปีโดยไม่มีรีเทิร์น นักวิจัยมีจิตใจฝักใฝ่ลุ่มหลงมุ่งมั่นงานวิจัย”

ปัจจุบันเนคเทคมีนักวิจัยมากกว่า 350 คน ฝ่ายสนับสนุนอีกกว่า 150 คน รวมแล้วมาประมาณเกือบ 600 คน

เนคเทคทำงานให้กับภาครัฐเยอะมาก ทำงานให้สภาพัฒน์ฯ ทำฐานข้อมูล TPMAP (Thai People Map and Analytics) เป็นฐานข้อมูลคนของประเทศ ทำ DS-RMS (Dam Safety Remote Monitoring System) ให้กับ 14 เขื่อนใหญ่ในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในด้านความมั่นคงปลอดภัยในเขื่อนใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำ  Thai School Lunch ให้กับ 58,000 โรงเรียน 

วาระสอง …. นำงานวิจัยรากฐานถึงมือประชาชน

จากผู้สร้างงานวิจัยสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน สู่การสร้างงานวิจัยสู่มือประชาชน อาทิ นำข้อมูล TPMAP ที่ทำให้สภาพัฒน์ฯ มาให้ประชาชนได้ใช้ผ่านบริการของภาครัฐหรือภาคเอกชน ข้อมูลสภาพอากาศและภูมิประเทศใน Agri-Map จาก 12 กรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมาให้เกษตรอำเภอในการใช้วางแผนนโยบาย หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ใช้ประโยชน์ หรือการนำแพลตฟอร์ม Thai School Lunch ไปทำธุรกิจ ในมุมที่เกิดประโยชน์กว้างขึ้น เอาไปทำเรื่องการบริหารจัดการโภชนาการในโรงเรียน

พันธกิจในวาระที่สองของการเป็นผู้อำนวยการเนคเทค คือ การขยายงานวิจัยรากฐานให้ถึงมือธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์จากงานวิจัยนั้นในเชิงพาณิชย์ทั้งระดับองค์กรและระดับปัจเจก คาดหวังว่าจะนำ 6 แพลตฟอร์ม (จาก 15 แพลตฟอร์มที่ทำวิจัยและพัฒนาอยู่) ออกสู่มือประชาชน 

ปี 2565 จะมีการแยกบริษัทออกไปเพื่อนำแพลตฟอร์ม Thai School Lunch ไปทำธุรกิจในมุมที่เกิดประโยชน์มากขึ้น คือ ไปทำเรื่องการบริหารจัดการโภชนาการและอาหารในโรงเรียน ซึ่งต้องมีผู้ประกอบการเข้ามาช่วยเนคเทคนำงานวิจัยนี้ออกไปในวงกว้าง

เนคเทคจะขยายผลงานวิจัยผ่านการ spin off ซึ่งที่ผ่านมามีการ spin off ไปแล้ว 3 บริษัท คือ บริษัท AI9 จำกัด ทำด้านเอไอ บริษัท BIGGO จำกัด ทำด้าน big data และบริษัท BrainiFit จำกัด ที่ทำเรื่อง brain interface ใช้ในผู้ป่วยติดเตียงในการฝึกการสื่อสาร ซึ่งมีลูกค้าอยู่ 4 โรงพยาบาล 

ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ 

เนคเทคกำลังทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีในการขับเคลื่อนแผน Thailand National AI Strategy เป็นแผน 6 ปี (2565 -2570) เนื่องจากเอไอ คือ next s-curve ของเศรษฐกิจ หลายประเทศมีแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเอไอ เนคเทคและกระทรวงดีอีร่วมกันร่างแผนนี้ตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนพฤษภาคม 2565 

แผน AI แห่งชาติ จะกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาด้านเอไอของประเทศ ทำให้ทุกหน่วยงานที่ทำงานเรื่องเอไอ มีทิศทางหลักของประเทศร่วมกัน วิสัยทัศน์ของแผนนี้ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะต่างจากแผนเอไอแห่งชาติของประเทศอื่นที่อาจจะมุ่งเน้นเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โจทย์หลัก ๆ ของแผนเอไอแห่งชาติ คือ สร้างคน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างสังคม โดยเน้นเรื่องการสร้างสังคม ภายใต้แผนมียุทธศาสตร์​ 5 ด้าน คือ 1. กฏหมายและกฏระเบียบ 2. โครงสร้างพื้นฐานทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ (อาทิ คลาวด์ และ high performance computing)  3. ผลิตคน ซึ่งเป็นไฮไลต์ของแผนนี้ ที่ตั้งเป้าผลิตคนด้านเอไอ 30,000 คน 4. การวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะโฟกัส 3 ด้าน (จากทั้งหมด 10 ด้าน) ที่ตอบโจทย์การใช้เอไอเพื่อสังคม คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการเกษตร และด้านบริการภาครัฐ 5. การขับเคลื่อนสตาร์ตอัพเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาด้านเอไอ และเพิ่มขีดความสามารถในการนำเอไอไปใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งงานส่วนนี้จะมีดีป้าเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก 

“แผนเอไอแห่งชาติเป็นแผนแรก ๆ ที่จะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างสองกระทรวงอย่างใกล้ชิด คือ กระทรวงดีอีและกระทรวงอว.” ดร.ชัย กล่าว

โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นผู้ขับเคลื่อน แผน Thailand National AI Strategy โดยมีเนคเทค-สวทช. เป็นเลขานุการ 

“เนคเทคจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนแผน Thailand National AI Strategy ได้ เพราะเนคเทคมีนักวิจัยด้านเอไอจำนวนมาก และหวังว่าประเทศไทยจะสามารถปักหมุดเอไอในแผนที่โลกและสามารถก้าวขึ้นเป็นอันอับสองด้านเอไอในอาเซียนให้ได้ภายใน 6 ปีนี้ ต้องแซงมาเลเซียและอินโดนีเซียให้ได้” ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจและมีความหวังต่อหมุดหมายของประเทศไทยในเวทีเอไอโลก

ล้อมกรอบ: NECTEC วาระ 2 กับ 15 แพลตฟอร์ม

TOPs 1 : Strategic Big Data

  • TPMAP คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อยอดจากระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบชี้เป้า (Thai Poverty Map and Analytics Platform) ให้สามารถครอบคลุมปัญหาที่กว้างขึ้น เช่น เด็กแรกเกิด การศึกษา ผู้สูงอายุ การพัฒนาสภาพที่อยู่อาศัย โดยยังคงความสามารถของระบบเดิมในการชี้เป้าความยากจนไว้ด้วย TPMAP จึงสามารถใช้ระบุปัญหาความยากจนในระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น/ท้องที่ จังหวัด ประเทศ หรือปัญหาความยากจนรายประเด็น ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นและสามารถออกแบบนโยบาย โครงการในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการหรือสภาพปัญหาได้
  • eMENSCR หรือ Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform เป็นระบบสารสนเทศที่ใช้ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานผ่านแผนงาน โครงการหรือการดำเนินการต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากส่วนราชการต่าง ๆ ได้อย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ eMENSCR ยังเป็นระบบ Paperless system เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเผยแพร่รายงานสรุปผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบ ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามประเมินผล และเป็นระบบฐานข้อมูลกลางที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างบูรณาการ ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมทั้งช่วยลดภาระการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการชี้แจงต่าง ๆ ของหน่วยงานอีกด้วย

  • OPED-D เทคโนโลยีแพลตฟอร์มข้อมูลสำหรับข้อมูลแบบเปิด

TOPs2 : Precision Farming

  • แพลตฟอร์มความร่วมมือข้อมูลเกษตรประเทศไทย (Thailand Agricultural Data Collaboration Platform : THAGRI) เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวบข้อมูลที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม บูรณาการข้อมูลจากฐานข้อมูลของระบบ Agri-Map โดย เนคเทค สวทช. และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาในรูปแบบแอปพลิเคชัน Agri-Map ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ประสานรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Agri-Map เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตรในการวางแผนและบริหารพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ในรูปแบบอัตโนมัติ โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้น จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) และจัดทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) ที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และบริการข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องและมีความปลอดภัย

Tops3 Smart Industry Platform 

  • IDA : IDA Platform แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform)
  • UNAI ระบบระบุตำแหน่งภายในอาคาร หรือ “แพลตฟอร์มอยู่ไหน” (UNAI platform)

Tops4 Strategic Sensor Process and Device

  • AI-SERs  Platform 

Tops5 AI Service Platform

  • แพลตฟอร์มบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ aiforthai.in.th
    ภายใต้แนวคิด “AI สัญชาติไทย” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานในประเทศไทย

Tops6 Smart City Platform

  • Traffy : SMART CITY แพลตฟอร์มบริหารจัดการเมือง Citizen Engagement & Empowerment Platform
  • ทันพิบัติ ระบบสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ทางธรรมชาติแบบเรียลไทม์ 

Tops7 Innovative Education Platform

  • Navanuruk Platform แพลตฟอร์มเพื่อการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติ 

Tops8 Digital Wellness Platform

  • KidBright Platform
  • KidDiary Platform ระบบฐานข้อมูลสุขภาพเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ
  • Thai School Lunch Platform ระบบที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ทั้งยังสามารถประมาณการค่าใช่จ่ายและวัตถุดิบล่วงหน้า

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดมุมมอง “โจ-จีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์” ช่างภาพผลงานระดับโลกที่ธรรมดาสามัญ

ทีซีซี เทคโนโลยี ชูธงนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยี

‘ศุภชัย ปาจริยานนท์’ มากกว่าความเป็นหมอ คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม และการเพิ่ม GPD ให้กับภูมิภาค

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ