TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Story‘ศุภชัย ปาจริยานนท์’ มากกว่าความเป็นหมอ คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม และการเพิ่ม GDP ให้กับภูมิภาค

‘ศุภชัย ปาจริยานนท์’ มากกว่าความเป็นหมอ คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม และการเพิ่ม GDP ให้กับภูมิภาค

“ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นเป็ด โดยส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนรู้ของใหม่ ๆ ตลอด อะไรก็ตามที่ผมได้เรียนรู้ ผมแฮปปี้หมด”

แม้เขาจะเรียนจบหมอ แต่ด้วยความชอบลองอะไรใหม่ ๆ ชอบเทคโนโลยี และการลงทุน ทำให้ชื่อของนายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือหมอคิด กลับเป็นที่รู้จักในวงการสตาร์ทอัพ และโฆษณาดิจิทัลไทย เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแมคฟิว่า (MCFIVA) ผู้บุกเบิกวงการโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทรานส์ฟอร์มระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System) ให้กับโรงพยาบาลชั้นในเมืองไทย

และปัจจุบัน กับตำแหน่งผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE (Regional Corporate Innovation Powerhouse) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรแห่งภูมิภาค สตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรมองค์กร ที่ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อน 1% ของ GDP ภูมิภาคด้วยนวัตกรรมองค์กร

หมอคิดบอกกับ The Story Thailand ว่าก่อนที่ RISE จะเพิ่ม 1% ให้กับ GDP ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ หมุดหมายแรกคือต้องเพิ่ม 1% ของ GDP ในประเทศไทยก่อน ซึ่งตอนนี้ทำได้ 40% แล้ว และคิดว่าจะถึงเป้าหมายภายในปีนี้

RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ด้วยความตั้งใจของหมอคิดที่อยากจะเพิ่ม 1% ให้ GDP ประเทศไทย โดยให้องค์กรกับสตาร์ทอัพมาทำงานร่วมกัน สตาร์ทอัพได้ประโยชน์ องค์กรก็ได้ประโยชน์ ตัวเขาเองก็แฮปปี้ ได้ทำสิ่งที่ชอบ

ตอนนั้นคุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (Value proposition) ของ RISE คือ 1) RISE ไม่ใช่ Match maker แต่คือ Deal marker ไม่ได้แค่จับคู่ แต่ต้องมีโปรเจกต์ร่วมกันทำ pilot ร่วมกันจริง ๆ บทบาทของ RISE คือ เมื่อองค์กรพูดภาษาหนึ่ง สตาร์ทอัพพูดภาษาหนึ่ง หน้าที่ของ RISE คือไปบอกให้สตาร์ทอัพใจเย็น ๆ เป้าหมายขององค์กรคืออะไร เข้าไปทำให้องค์กรกับสตาร์ทอัพคุยกันรู้เรื่อง เพื่อหวังเป้าใหญ่ว่า ทำแล้วจะทรานส์ฟอร์ม 

โปรเจกต์แรกที่ทำหลังจากจดทะเบียนบริษัท คือ การจับมือร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จนเกิดเป็น KrungsriRISE ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้คนรู้จัก RISE มากขึ้น 

“RISE เป็นพาร์ทหนึ่งของกรุงศรี เพราะไอเดียเกิดลำพังไม่ได้ การเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรต้องทำกรุคู่กับองค์กร เพราะเป็น Corporate Innovation หน้าที่ของเราคือเข้าไปช่วยองค์กร โดยหาสตาร์ทอัพมาเข้าโปรแกรม ทำงานกับทีมกรุงศรีจริง ปีแรกเราเลือก ฟินโนมีน่า พาไปเจอกรุงศรี กรุงศรีจึงตัดสินใจตั้งกองทุน Krungsri Finnovate  ขึ้นมาเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ เป็นผลงานที่ภูมิใจมาก มี 15 บริษัทที่เข้าแบดจ์ ปีแรกเป็น Top ฟินเทคทั้งหมด” หมอคิด กล่าว

ปีที่ 2 RISE ยังโฟกัสฟินเทคอยู่แต่ขยายขอบเขตเพิ่มอีคอมเมิร์ซเข้าไป เลยมีตัวเลือกอื่น ๆ อย่าง AppMan ตอนนั้นไปทำให้ AIA เป็น AIA x RISE เป็น Corporate accelerator จับมือสตาร์ทอัพระดับโลกสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเป็นโซลูชันใหม่ให้กับอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทย นอกจากนี้ยังไปทำให้กับพีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น  เป็น “PTT Digital X RISE” ร่วมเปิดตัวสตาร์ทอัพ 15 ทีม จาก 7 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้สตาร์ทอัพได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Digital Transformation ของกลุ่ม ปตท. 

หมอคิดบอกว่า ตอนนั้นในตลาดมีคนจะสร้าง accelerate program เป็นแบรนด์ของเขาเอง แต่ RISE ไม่ใช่ RISE ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ 1) เรื่องของการเป็นตัวช่วยองค์กร (corporate enabler) ทั้ง Innovation enabler, Transformation enabler ให้กับองค์กรโดยไปหาสตาร์ตอัพมาให้ 2) ปั้นคนเก่ง ๆ ในองค์กร ให้ขึ้นเป็นยานลูก

“บริการที่ 2 เกิดจาก pain point ของเซอร์วิสแรก ลูกค้ามองว่าบริษัทเขามีคนเก่งอยู่แล้ว ทำไมต้องไปเอาจากข้างนอกมาทำอย่างไรจะสร้าง culture ปั้นเป็นทีม เป็น business unit ใหม่ขึ้นมา หน้าที่ของเราคือการเอาทักษะที่ปั้นสตาร์ทอัพมาเป็นร้อย ๆ มาปั้นคนในองค์กร หรือการสร้างสตาร์ทอัพในองค์กร”

เขายกตัวอย่าง SCG ไปช่วยตั้งแต่แบดจ์แรกที่ SCG เอาคนของเขาเข้ามา ปัจจุบันเซอร์วิสนั้นก่อตั้งเป็นบริษัทชื่อ ‘Dezpax’ รับออกแบบเเบรนด์ร้านอาหาร บรรจุภัณฑ์ กล่องอาหารให้แม่ค้าออนไลน์ ซึ่งนั่นก็เป็นผลงานของ RISE ช่วยปั้นจน spin off ออกมาเป็นบริษัท 

สำหรับผลงานที่ทำให้กับภาครัฐอย่าง EV Charger เกิดจากคนในการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไปเลือกทีมงานจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามาอยู่ในโปรแกรม แล้วปั้นพวกเขาขึ้นมา กลายเป็นโปรดักส์ที่ออกมาขายจริง ใครที่มีที่ว่างอยู่ เอาเครื่องชาร์จไปติด ใครจะไปชาร์จก็ได้

ธุรกิจหลักของ RISE เรียกว่า Venture builder คือ การสร้างธุรกิจใหม่ หรือปั้นยานลูก ไม่เกี่ยวข้องกับเงิน แค่นำเอาองค์ความรู้ไปให้เขาใช้ เตะเขาออกไปให้ลองทำจริง ติดอะไรก็ให้กลับมาโค้ชกับผู้เชี่ยวชาญ คือ โปรแกรม accelerate ที่ทำกับสตาร์ทอัพเอามาบิดเป็นโปรแกรมที่ทีม RISE คิดขึ้นมาเอง เป็นหลักสูตรใหม่ ปรู๊ฟแล้วว่าตัว  Venture builder ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เทรนด์คนไปแล้ว 10,000 คน ใน 200 องค์กรใหญ่

ก่อตั้งปีกว่า ขยาย 3 ประเทศ

RISE เปิดตัวในประเทศไทยช่วงปี 2016 ปลาย ๆ ปี 2017 มี footprint ออกไปต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลของ 3 ประเทศ เพราะยกเซอร์วิสไปทำที่นั่น เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนของเขา

หมอคิดยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์มีองค์กรชื่อ Enterprise Singapore ทำหน้าที่คล้ายกับ Depa ในไทย ให้เงินสนับสนุน RISE ทุกปี เวลาไปรันโปรแกรมให้ จ่ายค่าจ้างคนสิงคโปร์ เพราะอยากปั้นอีโคซิสเต็มส์ให้เกิดขึ้นในบ้านเขา เขารู้ว่า RISE มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้

จุดแข็งของ RISE คือมีองค์กรที่ทำงานร่วมกันอีกกว่า 400 บริษัท ทำให้สตาร์ทอัพอยากมาเจอ 200 องค์กรใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน Top 10 อยู่กับ RISE เกือบหมด ที่เหลือเป็น Family Business ขนาดใหญ่ เป็นลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

“ต้องขอบคุณประเทศไทย พอเราทำโมเดลประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบให้ region ไม่มีใครทำได้ครบวงจรแบบนี้ หมายถึงว่า หาสตาร์ทอัพเข้ามาทำงานก็ได้ ปั้นเวนเจอร์ก็ได้ ทำให้เวลาเราโดนหยิบไปเทียบกับบริษัทที่ทำหน้าที่คล้ายกัน ในร้อยกว่าบริษัท รัฐบาลสิงคโปร์เลือกเราเป็น representative หรือตัวแทนของ  SEA ยิ่งมีรัฐบาลเป็นพาร์ทเนอร์สนับสนุนเรา เขาเองเป็นคนพาลูกค้ามาให้เรา”

เป็น accelerator เหมือนกัน แต่วิธีการรันต่างกัน

เมื่อถามว่าองค์ความรู้ที่นำมาใช้มาจากไหน หมอคิดบอกกับเราว่า ก่อนจะเริ่มทำ KrungsriRISE เขาคิดเอง ดูจากต่างประเทศ ดู region เขาทำอะไร 

เขายกตัวอย่างวันแรกที่เริ่มทำ accelerator มั่นใจมากว่าโมเดลที่ทำจะประสบความสำเร็จ เพราะโมเดลในอดีตไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ accelerator ส่วนใหญ่ คือ เอาสตาร์ทอัพมาลงเงินนิดหน่อย ได้หุ้นนิดหน่อย รอสตาร์ทอัพเป็นยูนิคอน exit ได้เงินคืนมา แล้วทำต่อ พอศึกษาโมเดลนี้จาก JFDI Accelerate ซึ่งวันนี้เขาปิดไปแล้ว ทำมาเกือบ 10 ปีไม่มี exit รอไม่ได้ เลยไม่ใช้โมเดลนี้ 

หมอคิดมองว่าไทย หรือ SEA ประเทศไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยรัฐบาล ประเทศอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะมีองค์กรที่แข็งแรง แต่องค์กรต่าง ๆ ขาดการทำเทคโนโลยีมาใช้ ในวันที่ยังทำเองไม่ได้ ไม่มี venture build องค์กรเหล่านี้ต้องการเทคโนโลยีไปเร่งสปีดทำให้เขาโตขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เขาก็น่าจะพร้อมที่จะลงทุนกับโปรแกรมของเรา RISE

ลองนึกย้อนดู สตาร์ทอัพไทยขาดอะไร คำตอบคือขาดเงินลงทุน ขาดตลาด ไม่มีรายได้ ในขณะที่องค์กรมีลูกค้าเยอะ RISE เลยทำให้องค์กร จับมือกับสตาร์ทอัพ ให้องค์กรต่าง ๆ เอาลูกค้ามาให้สตาร์ทอัพ องค์กรเหล่านั้นก็ขายของได้มากขึ้น รวยขึ้น นี่คือองค์ความรู้ที่เราศึกษามา คือเป็น accelerator เหมือนกัน แต่วิธีการรันต่างกัน

“เราเอาโมเดลนี้ไปใช้กับกรุงศรีเป็นที่แรก ผมโชคดีเพราะกรุงศรีเคยเป็นลูกค้าแมคฟิว่า ที่รู้จักกันมาเป็นสิบปี ผมคิดว่า ความเชื่อมั่นก็มีส่วน อย่างน้อยกรุงศรีก็รู้ว่าผมตั้งใจทำจริง ๆ ทุกอย่างที่ทำมันโชว์ออกมาด้วยผลลัพท์อยู่แล้ว เราทำจริงจัง ทำเกิน 100 ก็ดีใจมาก ๆ ที่กรุงศรีเชื่อใจ ผมก็คิดว่าผู้บริหารก็มีวิชันมาก ๆ ยอมเปิดใจลองกับผม พอลองปุ๊บมันก็เวิร์ก และไปต่อ”

โปรแกรมที่เด่น ๆ อีกอันคือการจับมือร่วมกับไทยรัฐ ปตท.สผ. และ ARV (AI and Robotics Ventures) ทำ “RISE of AI” นำ AI และ Robotics ไปใช้ เพราะอยากทำโปรแกรมให้เป็น regional

จากวันแรกของการก่อตั้ง RISE ในปี 2016 มาถึงวันนี้ หมอคิดบอกว่า วันนี้ตัวเขายังถือเป็นสตาร์ทอัพอยู่ เพราะ  raise fund จากข้างนอกด้วย รวมถึงมีแผนที่จะขยายไปยังต่างประเทศ 

ปี 2022 กระตุ้นอีก 3,000 ล้านเหรียญ ถึงเป้าในประเทศ

เมื่อถามวันนี้ว่า RISE อยู่ในจุดไหนของเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะกระตุ้น GDP ประเทศไทยให้โตเพิ่ม 1% หมอคิดบอกว่า จริง ๆ แล้วเขาวัดผลทุกปี โดยดูว่าสตาร์ทอัพที่รีเฟอร์ให้องค์กร สามารถเพิ่มรายได้ให้องค์กรได้กี่บาท บางตัวที่เขาไม่ให้ ก็ไม่เอามารวม วัดเฉพาะที่เอามารวมได้ วันนี้เพิ่ม GDP ไปแล้ว  2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“GDP ประเทศไทยอยู่ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เราเพิ่มไปแล้ว 2,000 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 40% ขาดอีก 3,000 ล้านเหรียญจะถึงเป้าหมาย ซึ่งคิดว่าน่าจะทำได้ในปีนี้ เพราะตั้ง OKR เอาไว้”

ปีนี้ RISE มีกลยุทธ์อยู่ 3 เรื่องเพื่อให้ไปถึงเป้าในประเทศที่วางไว้คือ  Enhance, Enrise และ Envision

1) Enhance ช่วงโควิดโชคดีมาก มีเวลากลับมานั่งดูว่าองค์กรไทยขาดอะไรอีกที่ทำให้เขาไปต่อได้ เลยทำโมเดลเพื่อวัดระดับนวัตกรรมในองค์กรขึ้นมา เหมือนเป็นเข็มทิศ 

“ทุกวันนี้มีคนชอบมาถามว่าอยากเป็นแบบ กรุงศรี เอไอเอ ปตท. ต้องทำอย่างไร ตอบไม่ได้ ต้องไปดูก่อนว่าบริษัทนั้นอยู่ในระดับไหน ไม่มีใครรู้ ทำโมเดลตัวนี้ออกมาแจกฟรี เพื่อให้ทุกคนวัดระดับได้” 

เมื่อโมเดลวัดผลตัวนี้ออกมา ก็ได้รับการรับรองจาก Young President Organization ซี่งมีซีอีโอทั่วโลก 30,000 คนใช้โมเดลนี้ เอาไปใช้ดำเนินการในองค์กร วัดความก้าวหน้าทางนวัตกรรมขององค์กร หรือเป็นระดับของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันในองค์กร

ในไทยใช้ไม่ต่ำกว่า 200 องค์กร ที่เป็นลูกค้า RISE อยู่แล้ว ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งสปีด 3,000 ล้านเหรียญ พอเขารู้ระดับตัวเองแล้ว ก็กลับมาให้ RISE ช่วยทำ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ RISE ต้องออกเซอร์วิสใหม่ บางองค์กรเก่ง ทำได้เอง ดูได้เอง แต่ก็มีองค์กรที่ทำไม่ได้เลยอยู่ไม่น้อย

ปี 2022 RISE จึงออกเซอร์วิสใหม่ เป็น “ที่ปรึกษาการเร่งนวัตกรรมองค์กร” ซึ่งเป็น growth driver

2)Enrise คือ ตัวโปรแกรมของ RISE รู้สึกว่ายังมีจุดที่เติมได้อีก ปีแรก ๆ ยังไม่ได้ทำเทรนนิ่ง พอปีหลัง ๆ ทำเทรนนิ่งซึ่งมีหลักสูตรเดียวคือ “Venture Build”  ซึ่งเขารู้สึกว่าไม่พอ ขาดหลักสูตรเพื่อผู้บริหาร  เพราะทำเฉพาะคนที่สร้างจากโมเดลนวัตกรรมที่เรียกว่า Corporate Innovation Maturity Model (CIMM) วัดมาแล้วเจอว่า องค์กรไปข้างหน้าไม่ได้ เพราะผู้นำไม่รับรอง บางองค์กรผู้นำรับรองแต่ขาดคนทำ จึงเสริมหลักสูตรสำหรับผู้นำเข้าไป ด้วยโปรแกรมDTX (Digital Transformation Xponential) เอาซีอีโอมาทรานส์ฟอร์ม เพราะที่ผ่านมาเป็น Middle Level  

นอกจากนี้ยังเติมอีกหนึ่งหลักสูตร คือ New Manager Incubation เร่งสปีดสำหรับผู้จัดการมือใหม่Enrise คือ ทำให้ครบมากขึ้น

3)Envision อนาคตมอง RISE ว่าคงไม่เป็น service company ดังนั้น Envision คือ เทคทีมที่เขาสร้างอยู่ ซึ่งมี CTO เคยทำงานกับ Agoda ทำให้ RISE มีเทคทีมประมาณ 10 ชีวิตภายใน 3 เดือน ซึ่งตอนนี้พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกมาแล้ว ชื่อ Athena 

เร่งสปีดการเรียนรู้ชีวิตทำงานด้วย Mentorship

การที่จะขับเคลื่อนองค์กรหรือนวัตกรรมทั้งหมด เกิดขึ้นจากความรู้หมด ลองนึกดู ถ้าตอนนี้คุณอยากไปทำความรู้จักหรือขอคำแนะนำเรื่องงานจาก กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล หรือ เคน- นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ จะเข้าไปหาเขาได้อย่างไร

ซึ่งหมอคิดมอง wisdom คือ สิ่งที่จะขับเคลื่อนองค์กรหรือนวัตกรรม เขาจึงอยากทำ Democratize Wisdom from One to Many ให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ง่าย ๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง wisdom และ advice จากผู้มีประสบการณ์ เพื่อเร่งสปีดการเรียนรู้ การเติบโตและความสำเร็จได้ผ่านการทำ Mentorship ที่เน้นให้เห็นผลลัพธ์จริง 

แพลตฟอร์ม Athena ใช้งานง่าย แค่ลงทะเบียนเข้าไป อยากรู้เรื่องไหนเพิ่ม ระบบก็จะแมชท์ให้ว่าคุณควรไปคุยกับใคร มีทั้งสตาร์ทอัพและผู้นำองค์กร ซึ่งเป็น mentor กว่า 200 ชีวิต ระบบจะโชว์ขึ้นมาว่า mentor แต่ละท่านว่างวันไหน ก็กดจองไป คุยกันแบบ Virturl เปิดห้องคุยกันบนแพลตฟอร์ม เห็นหน้ากัน

“ส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพชั้นนำในเมืองไทย มีคุณบอย โกสิยพงศ์ ด้วย ผู้ใช้งานสามารถสมัครเข้ามาได้” 

สำหรับเป้าหมายของแพลตฟอร์ม Athena  หมอคิดบอกว่าหลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็น soft launch มี mentor 200 คน 60% เป็นคนไทย ต่างชาติก็มี ในปีนี้ตั้งเป้าอยากให้เป็นแพลตฟอร์ม Global สามารถคุยกับคนที่ Google Netflix ได้ให้มี mentor เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นคน คนไทย 20% ต่างชาติ 80% อยากมีผู้ใช้งานประมาณ 1 แสนคน 

เขามองว่า Athena เป็นเพียงจิ๊กซอว์ในการขับเคลื่อน GDP ให้ไปถึงเป้า เพราะ give back มากกว่าที่จะหารายได้ นอกจากนี้ อิมแพคที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มาหา mentor นั้นวัดผลยาก เพราะสุดท้ายต้องกลับไปวัดที่ตัวองค์กรมากกว่า

รายได้ของ Athena มาจากตัวแพลตฟอร์ม เก็บค่า Platform Fee ถ้า mentor เก็บเงิน ก็เก็บ 20% ของค่า mentor นั้น คนที่เข้ามาใช้บริการก็ไม่ต้องเดินทางไปเรียน 

หมอคิดมั่นใจว่า กลยุทธ์ทั้ง Enhance Enrise และ Envision จะช่วยทำให้ RISE ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากปี 2021 ปีเดียวก็ได้มาค่อนข้างเยอะ ปีนี้น่าจะ ontrack อยู่

SeaX Ventures อีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญ

ปัจจุบัน นอกจากหมอคิดจะนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE แล้ว เขายังสวมหมวกการเป็นผู้รันกองทุน SeaX Ventures ที่ถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อน Milestone 1% ของ RISE

SeaX Ventures เป็น sister company ของ RISE วันนี้ระดมทุนได้ 2,000 ล้านบาท เป็น Venture Capital ตั้งแต่ปี 2018 ตอนแรกมีแค่ 300 ล้านบาท เพิ่งปิดกองใหม่ไปประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ตอนแรก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ มี 10 องค์กรชั้นนำในไทยมาลงด้วยกัน อาทิ บริษัท PTT OR International Holdings (Singapore), บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), กองทุน สิงห์ เวนเจอร์ส, บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน), บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท วัชรพล จำกัด (ไทยรัฐ), บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน), บริษัท โมเดอร์นฟอร์มกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัดในกลุ่มบริษัทเบญจจินดา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีซีอีโอบริษัทมาร่วมลงทุนด้วยอย่าง จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บรรยง พงษ์พานิช  ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน), ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ชาย ศรีวิกรม์ กรรมการ Gaysorn Group, อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ กรรมการ บริษัท โตโยต้า ทูโช ไทย โฮลดิ้ง จำกัด, โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการบริหาร บริษัท ดับเบิ้ลเอ (1991) จำกัด (มหาชน), วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน), ณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สยามราชธานี เป็นต้น

“กองทุนนี้น่าจะใหญ่ที่สุดที่องค์กรในประเทศไทยมาลงทุนร่วมกันเพื่อเปลี่ยนประเทศ โดย SeaX Ventures มีจุดยืนชัดเจนคือช่วยเพิ่ม 1% GDP ประเทศ” 

สิ่งที่เขามองเห็นคือ องค์กรในประเทศขาด asset tool ที่ดี ไทยทำได้หมด ทั้ง Logistic E-Commerce มี Bitkub Exchance มี True Money ฟินเทคทำได้หมด แต่สิ่งที่ทำไม่ได้คือ Deep Tech, AI,  Robotic และ Blockchain เจ๋ง ๆ ทำไม่ได้ 

SeaX Ventures จึงเป็นกองทุนที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพที่ซิลิคอนวัลเล่ เพื่อเอาเทคโนโลยีกลับมาช่วยในองค์กรที่ถือหุ้นในกองทุนนี้ ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์อีกตัวหนึ่งที่จะช่วยเพิ่ม GDP ไทย 

“2,000 ล้านบาท ลงทุนไซส์ Seed to series A ขนาด 1-5 ล้านเหรียญ โดยจะลงปีละ 20-30 บริษัท ใช้เวลาไม่เกิน 3-5 ปี” 

จากนักศึกษาแพทย์ สู่ผู้สร้างองค์กรนวัตกรรม

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น จากนักศึกษาแพทย์สู่ผู้ประกอบการสายเทคโนโลยี นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ เล่าให้ The Story Thailand ฟังว่า ตั้งแต่เด็ก ๆ เป็นคนชอบวิชาชีววิทยา คิดว่าตัวเองต้องเป็นหมอ สุดท้ายไปค่ายอยากเป็นหมอ ซึ่งจัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รู้สึกว่าถ้าได้ช่วยคนไข้คงดี จึงสอบเข้าคณะแพทย์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล

ช่วงที่เรียนศิริราช ได้รับทุนและต้องใช้ทุนด้วยการเป็นอาจารย์หมอ ได้ตรวจคนไข้เยอะ เรียนหมอ 6 ปี 3 ปีแรกเรียน เรียนพรีคลีนิค กายวิภาค สรีรวิทยา เรื่องยา ซึ่งอาจารย์ในสาขานี้หายาก ส่วนใหญ่อยากเป็นหมอเฉพาะทาง เขาเลือกเป็นอาจารย์พยาธิวิทยาคลินิก (Clinical Pathology) เขาไม่ได้ชอบการทำแลป แต่อยากไปเพื่อดูระบบไอทีให้โรงพยาบาล 

“จริง ๆ แล้วช่วงนั้น ศิริราชกำลังทรานส์ฟอร์มระบบในโรงพยาบาล เลยหาช่องทางเข้าไปช่วย”

เขาบอกว่า ตัวเองเป็นคนชอบเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก ๆ ตอนที่เรียนอยู่ก็เขียนโปรแกรมด้วย ทำบริษัทไอทีด้วย ตั้งแต่ปี 2 ความชอบเรื่องเทคโนโลยีเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่แล้ว สนใจและชอบ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ จนปี 2 ได้เห็นโปสเตอร์ใบหนึ่งเขียนว่ามีการแข่งขันเขียนโปรแกรม จัดโดยโนเกีย ตอนนั้นทุกคนใช้โนเกียและดีแทคหมด ซึ่งขณะนั้น โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ เป็นบิ๊กบอสอยู่ ส่วนตัวเป็นคนชอบการแข่งขัน จึงไปสมัคร เขียน proposal ส่งเข้าไปแล้วก็เข้ารอบ 

ไอเดียที่หมอคิดเสนอไป คือโปรแกรมเล่นหุ้นผ่านโทรศัพท์โนเกีย 3310 เพราะต้องการแก้ไขปัญหาให้ชีวิตตัวเอง คือเรื่องหุ้น

“ตอนเด็ก ๆ เป็นคนตัวใหญ่ กินเยอะ ไปโรงเรียนพ่อแม่ให้เงินมา 5 บาท กินยังไงก็ไม่อิ่ม เลยไปถามแม่ แม่แนะนำให้ไปฝากธนาคาร ได้เริ่มการออมเงินตั้งแต่อยู่ประถม ชอบอ่านใบปลิว ไปที่ธนาคารมีอะไรให้อ่านอ่านหมด อ่านเจอเรื่องกองทุนรวม เริ่มลงทุนรวมตั้งแต่มัธยม รู้สึกว่าได้ดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคาร เลยเริ่มศึกษา ทำความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ย ผลตอบแทน พอเข้าใจมากขึ้นเลยเล่นหุ้น เริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์” 

หมอคิดเล่าว่า เขาเริ่มเล่นหุ้นตั้งแต่มัธยม 6 ชอบการลงทุน ตอนนั้นโดนครูว่าตลอดเวลาเรียนทำไมคุยโทรศัพท์ในห้องเรียน แต่ตลาดหุ้นเปิด 10.00-16.30 น. ถ้าไม่คุยตอนนี้จะซื้อขายตอนไหน ถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน นี่จึงเป็น pain point ที่ทำให้เขาเข้าร่วมการแข่งขันของโนเกีย จนได้รางวัล Best 5 ของประเทศ ได้เงินรางวัลมาประมาณ 1 แสนบาท

บริษัทแรก เทรดหุ้นผ่านโทรศัพท์ปุ่มกด

“ตอนนั้นคิดกับเพื่อนที่ร่วมทีมแข่งด้วยกัน เอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไรดี 1) แบ่งกันแล้วไปเที่ยว 2) ตั้งบริษัท เพื่อแก้ไขปัญหา pain point ที่เจอมา จึงตัดสินใจตั้งบริษัท First Vision advantage ชื่อยาวมาก ทุกคนเลยเรียกว่า FIVA ตอนหลังเลยทรานส์ฟอร์มมาเป็น MCFIVA 

First Vision advantage บริษัทแรก ๆ ที่ทำให้คนไทยสามารถเทรดหุ้นผ่านมือถือได้ ปีแรกร่วมมือกับ SETtrade ของตลาดหลักทรัพย์ เปิดตัวบริการออกมา ปี 2003 มีผู้ใช้งานหลายพันคน บนโทรศัพท์มือถือแบบกดปุ่ม และความเร็วระบบ 2G แต่เทรดได้จริง ถือว่าประสบความสำเร็จเร็วมาก เปิดตัวปี 3 พอปี 4 SETtrade ก็ขอซื้อลิขสิทธิไลเซ่นของระบบไปพัฒนาต่อเป็น Settrade Streaming ในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นสู่วงการโฆษณา

หลังจากขายกิจการแรกที่ก่อตั้งมาให้กับตลาดหลักทรัพย์ มีคนในวงการหุ้นชวนให้เข้าไปช่วย Academy Fantasia ปีนั้นอยากได้ผลโหวตของ AF เป็น realtime สามารถดูเป็นกราฟได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่หมอคิดถนัด เพราะจุดเด่นของโปรแกรมเล่นหุ้นที่เคยทำคือวิเคราะห์กราฟได้บนหน้าจอโนเกีย เลยเป็นจุดเปลี่ยนผลันตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการโฆษณา 

“เอาความรู้เรื่องโปรแกรมมิ่ง ไปเซิร์ฟกับลูกค้าเอนเตอร์เทนเมนท์ เปลี่ยนสายเลย หมอ-หุ้น-บันเทิง กลายเป็นคนทำระบบให้กับ Academy Fantasia ซีซัน 3-4 ตอนนั้นใช้ชื่อบริษัทเดิมมาทำ”

ไม่น่าเชื่อว่าที่เล่ามานี้ ขณะนั้นหมอคิดกำลังสวมหมวก 2 ใบ ใบแรกคือนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราชอยู่ ประมาณปี 5-6  หมวกที่ 2 คือเจ้าของบริษัท First Vision advantage เขาเริ่มรู้สึกว่างานในโฆษณาไปได้ดี

“ตอนนั้นไทยยังไม่มีสตาร์ทอัพ ผมก็ทำทั้ง 2 อย่าง 7.00-19.00 น. เรียนหมอดูคนไข้ หลัง 19.00 ถึงตี 2 ไปทำเทคโนโลยี วนอยู่แบบนี้หลายปี สนุกมาก  ตอนนั้นยังเด็กอยู่”

ขึ้นแท่นที่ปรึกษากลยุทธ์และสื่อดิจิทัล

เขาบอกว่าตอนที่ทำ AF เหมือนเปลี่ยนโลก เป็นช่วงที่ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งกำลังเริ่ม ประจวบเหมาะว่าเป็นคนชอบอ่านชอบเรียนรู้ เลยไปเอาทวิตเตอร์เข้ามา ช่วงนั้นจะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนใน First Vision advantage  แต่เปลี่ยนใจ ซึ่งชื่อบริษัทเขามีคำว่า MC เลยมารวมกับ FIVA เปลี่ยนเป็น MCFIVA เป็นที่ปรึกษากลยุทธ์และสื่อดิจิทัล

ธุรกิจหลักของ MCFIVA คือ Digital Advertising ทำงานร่วมกับ Google Facebook Twitter จุดแข็งคือเป็น Performance Marketing การันตีผลลัพท์ 

“ยกตัวอย่าง หากธนาคารมาสมัครใช้บริการกับ MCFIVA จ่ายเงินมาเท่านี้ จะได้สินเชื่อกี่ใบ” 

ยุคนั้นมีคนทำ Digital Advertising น้อยมาก เราทำแอปพลิเคชันด้วย เพราะมีพื้นฐานเรื่องเทคโนโลยี เข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ทำให้เราทำ Digital Marketing ได้ดี ทำเว็บไซต์ ทำแอปพลิเคชันให้โตโยต้า โลตัส ตอนนั้นเป็น GURU  ใครอยากทำ Digital Marketing ชิ้นใหญ่ ๆ หรือแอปพลิเคชันสเกลใหญ่ ๆ ก็มาทำกับ MCFIVA 

เดิน 2 เส้นคู่กัน

แม้จะเดินทางมาถึงจุดที่ MCFIVA ประสบความสำเร็จ แต่หมอคิดยังไม่ลืมว่าเขายังต้องเดินบนเส้นทางของสายอาชีพ ซึ่งขณะนั้นยังมีคอนดิชันกับโรงพยาบาลแพทย์อยู่ เนื่องจากต้องใช้ทุนที่เรียนมา รวมถึงการเป็นส่วนร่วมในการบริหารโครงการเทคของศิริราชด้วย

“ตอนนั้นที่บ้านก็ยังมีคำถาม รู้สึกว่าการเลือกเดินเส้นทางผู้ประกอบการมีความเสี่ยง อยากให้เลือกเรียนต่อหมอเฉพาะทางต่อ”

สุดท้ายหมอคิดก็ไม่เลือกเรียนต่อหมอเฉพาะทาง เขาเลือกที่จะเดินทางสายชอบด้านเทค ในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่อาจารย์หมอที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการสาธารณสุขไทย 

“ชื่ออยู่ที่อาจารย์หมอ แต่ตัวอยู่ที่โครงการ SIHIS (Siriraj Hostipal management Information System) เป็น core system ของศิริราช เขาจะรื้อระบบใหม่ ลงทุนเยอะสุดในประเทศไทย ประมาณ 500 ล้านบาท ได้ทำงานกับบริษัทคอนซัล ได้เรียนรู้ระบบ วิธีการทรานส์ฟอร์ม”

ช่วงเวลาเดียวกัน หมอคิดก็กำลังศึกษาปริญญาโทออนไลน์ เรื่อง Health Informatic ที่มหาวิทยาลัยออริกอน ประเทศสหรัฐ แต่บินไปทำกิจกรรมและสอบที่นู้น เป็นโปรแกรมไฮบริด เรียนเรื่อง Health Informatic อยากเรียนไว้เป็นดีกรี หากวันหนึ่ง MCFIVA ไปต่อไม่ได้ ก็ ยังสามารถตรวจคนไข้ได้ ทำเทคที่เป็น Health Informatic ได้ มีหลายพาร์ท ทำมาซักระยะหนึ่ง เรียนประมาณ 3 ปี กว่าจะจบ

“เรียนที่ออริกอน นอกจากจะไปดูระบบมาใช้กับโรงพยาบาลในเมืองไทยแล้ว ยังคิดเผื่อว่ากลับมาจะตั้งภาควิชา Medical informatics ในไทย ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แต่ในต่างประเทศมีเป็นสาขาวิชา หมอสาขาเทค แต่ในไทยยังไม่มี”

หมอคิดอธิบายว่า โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั่วโลก จะมีตำแหน่ง CMIC – Chef Medical Information Operation คล้าย ๆ CIO บ้านเราแต่อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งตำแหน่งนี้ต้องเป็นหมอที่จบเทคโนโลยีมา เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลขับเคลื่อนเทคโนโลยีโดยหมออย่างเดียว มีองค์ความรู้บางอย่างที่คนที่ทำจากประสบการณ์ กับคนที่เรียนมาไม่เหมือนกัน สุดท้ายก็ไม่ได้ทำหลักสูตรนี้ที่รามา เพราะมีหลายปัจจัยในการ setup หลักสูตรใหม่

“ตอนที่ย้ายจากศิริราชมารามา เพราะตอนนั้นรามามีทุน เขาต้องการทำระบบ HIS (Hostipal management Information System) แต่ไม่ใหญ่เท่าศิริราช เราก็เรียนด้วย ทำงานใช้ทุนให้รามาด้วย รวมแล้วอยู่รามา 8 ปี (เรียนออริกอน 2 ปี ใช้ทุน 2 ปี อยู่ทำงานเพิ่ม 4 ปี)

เปิดบริษัท Healthcare

หลังจากเข้าไปมีส่วนร่วมในการทรานส์ฟอร์มระบบไอทีให้กับศิริราช และรามา หมอคิดถูกส่งไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลไทรน้อย จ.นนทบุรี ออกตรวจคนไข้กว่า 100 คนในหนึ่งวัน ทำให้เขาพบกับปัญหาการเขียนรายชื่อยาซ้ำถึง 3 รอบต่อคนไข้หนึ่งคน ประกอบกับความรู้ด้านไอทีที่มีอยู่ จึงอยากแก้ pain point ตรงนี้

“คนไข้ส่วนใหญ่ที่มาตรวจเป็นเบาหวาน ความดัน ได้ยากลับไปคนละ 10 ตัว หมอต้องเขียนยาด้วยลายมือ 1 รอบใบสั่งยา 1 รอบในเวชทะเบียน 1 รอบสมุดพกคนไข้ ต้องทำแบบนี้ 3 รอบต่อคนไข้ 1 คน ห้องยาต้องเอาใบนี้ไปกรอกในระบบอีก เลยรู้สึกอยากทรานส์ฟอร์มโรงบาล”

เขาจึงเดินเข้าไปหาผู้อำนวยการโรงพยาบาล เพื่อเล่าถึงปัญหาที่เจอ พร้อมยื่นข้อเสนออยากปรับปรุงระบบให้โรงพยาบาล แลกกับการตรวจคนไข้น้อยลง เพื่อนำเวลาที่เหลือไปใช้ในการสร้างระบบใหม่

“ตอนนั้นบอกผอ. ว่าอยากทำ paperless เพื่อลดการทำงานซ้ำของหมอและเจ้าหน้าที่ ผอ.ก็ยินดี ให้การสนับสนุน”

หมอคิดใช้เวลา 3 เดือน สร้างโปรแกรมให้โรงพยาบาลไทรน้อย โดยหมอไม่ต้องเขียนรายชื่อยาซ้ำ ๆ  คีย์เข้าระบบในคอมพิวเตอร์ครั้งเดียว แล้วพิมพ์ออกมา 3 ชุด แปะออกมาในสมุดพกคนไข้ได้เลย ใบสั่งยาก็ถูกส่ง data ไปห้องยา ไม่ต้องเขียนซ้ำ ใช้งานได้จริง ใช้งานได้ดี จึงตัดสินใจเปิดบริษัท  ITUS (IT is all about us) ด้าน healthcare เพราะคิดว่าระบบนี้น่าจะนำไปใช้ที่อื่นได้อีก ไม่ใช่แค่ที่นี่ที่เดียว

ธุรกิจหลักของ  ITUS คือการทำซอฟต์แวร์โรงพยาบาล โดยใช้ชื่อ Hospitus ใช้ลงทะเบียนจ่ายยา ทำประวัติคนไข้  เป็นระบบ HIS เล็ก ๆ ใช้ในโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 1,000 เตียง นอกจากนี้ยังให้บริการที่ปรึกษาด้านการทำ Healthcare IT System โดยมีลูกค้าในช่วงแรกคือโรงพยาบาลจุฬา โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลรามคำแหง

ปัจจุบันหมอคิดเลือกที่จะหยุดทำบริษัท ITUS เพราะมองว่า pain point ของโลกเฮลท์แคร์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินเยอะ แต่ลงทุนด้านไอทีน้อยมาก เพียง 2% ของรายได้  เมื่อเทียบกับ Top spender ด้านไอที ที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเทเลคอม แบงก์ใช้งบด้านไอที 10-15%

นอกจากนี้ Healthcare มีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมากมายให้ใช้ฟรี แต่บริษัทเหล่านี้อยู่ไม่ได้ใน long term เนื่องจากเก็บแค่ One-Time Charge ค่าเทรนนิ่งในครั้งแรก ไม่มีทาง sustain หรือเติบโตเชิงมิติ เลยกลับมาโฟกัสเรื่องโฆษณาที่ MCFIVA เพราะเห็นเทรนด์ออนไลน์ ลูกค้าเริ่มติดต่อเข้ามา 

ทำแมคฟิว่ามาซักระยะหนึ่ง ขณะนั้นอายุ 33 ปี หมอคิดจึงตัดสินใจยุติบทบาทความเป็นหมอ เนื่องจากใช้ทุนที่ศิริราชและรามาครบหมดแล้ว ระบบ HIS ในโรงพยาบาลที่เคยปูทางไว้ ก็สามารถรันได้เอง มีทีมที่แข็งแกร่งแล้ว

ปี 2016  MCFIVA มีบริษัท D2C ของประเทศญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในสัดส่วน 51% หมอคิดถืออยู่ 49% แต่เนื่องจากปัญหาความไม่เข้าใจกันเรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงตัดสินใจนำเงินทุนที่ได้จากการขาย MCFIVA ไปลงทุนกับสตาร์ทอัพในฐานะ Angle Investor

หมดคิดบอกว่า ขณะที่ยังแฮนเดิล MCFIVA อยู่ 3 ปี (2013-2016) เขามีเวลาหาเวนเจอร์ใหม่ นั่งคิดว่าจะทำอะไรดี เป็นช่วงเวลา 3 ปี ที่ได้ทำอะไรหลายอย่างมาก รวมถึงการเลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในหลักสูตร Executive Program เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ พยายามค้นหาตัวเอง หาเวนเจอร์ใหม่ ๆ 

“คิดอยู่ตลอด ว่าทำอะไรที่ไม่ใช่ได้แค่เงิน แต่ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน และมีอิมแพคในวงกว้างด้วย”

หลังจากจบหลักสูตรที่สแตนฟอร์ด จึงทำให้เขาแน่ใจว่าสิ่งที่เขาเลือกเดินนั้นมาถูกทาง จึงกลับมาก่อตั้งบริษัท RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร 

Next Step…

เมื่อถามว่าหาก hit milestone แล้วจะทำอะไรต่อ เขาบอกแค่อยากทำให้คนไทยภูมิใจว่าเรามีบริษัทที่เป็น regional สามารถสร้างอิมแพคให้กับประเทศได้ แต่การสร้างอิมแพคให้กับประเทศ จุดเริ่มต้นคือ เพิ่ม 1% ของ GDP ประเทศ จากนั้นถึงไปเพิ่ม 1% ของ GDP ภูมิภาค

ไทยควรฉวยโอกาส ทำประเทศให้เป็น Hub 

หมอคิด เสนอว่า เวลานี้เป็นช่วงที่ดีมาก ๆ ที่คนในประเทศจะฉกฉวยโอกาสนี้ในขณะที่ทุกคนกำลังฟื้นตัวอยู่ ทำอย่างไรให้ประเทศเป็น Hub ของเรื่องเหล่านี้

“ไทยเป็นประเทศที่เก่งทำเดี่ยว ๆ แต่พอเป็นทีมจะไม่เก่งมาก ทั้ง Blockchain, DeFi เราเห็นหลายบริษัท ทั้งบิทคับ แบรนด์โปโตคอล อัลฟาไฟแนนซ์ กิลด์ฟาย บริษัทที่เริ่มจากคนหลักสิบ มีหลายบริษัทที่มีคนอยู่ไม่กี่คน แต่สามารถเป็นยูนิคอนได้ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเอาจุดแข็งนี้มาเป็นจุดแข็งของประเทศได้”

ไทยมีเด็กเก่งในประเทศมากมาย ทำไมสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ตั้งบริษัทโดยที่คนไม่เยอะแต่เป็นยูนิคอนได้ เขาเชื่อว่าคนกลุ่มนี้น่าสนใจ ทั้งเรื่อง Digital Asset, คริปโท หรือภาษีคริปโท

“แทนที่รัฐจะมองเรื่องวิธีการเก็บภาษีคริปโทให้มากที่สุด ถ้าเป็นผมไม่เก็บเลย พอไม่เก็บนักลงทุนก็บินมา คนเก่ง ๆ ก็เข้ามา มากินมาใช้ ธุรกิจแถวนี้ก็จ่ายภาษีเพิ่ม มาใช้เงิน มาขยายอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีก”

เราไม่ทำประเทศอื่นก็ทำ เชียงใหม่มีคริปโททาวน์ ภูเก็ตก็อยากทำ ทำไมไทยไม่ทำซักเมืองหนึ่ง อันล็อกซิตี้ ต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาส จะรอได้ไหม การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวในอีกปี 2 ปีข้างหน้า รอไหวไหม เป็นเรื่องวิชันล้วน ๆ หมอคิดทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
สุมณี อินรักษา – เรียบเรียง

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

SeaX Ventures ระดมทุน 2,000 ล้านบาท ลงทุนใน Deep Tech เร่งสปีดการเติบโตใน SEA

เปิดยุทธศาสตร์ “KX Endless Capital” กับบทบาท Venture Investment รูปแบบใหม่และพันธกิจขยายระบบนิเวศของ KX

“อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” กับภารกิจขับเคลื่อน “คลาวด์กลางภาครัฐ” ยกระดับบริการรัฐสู่โลกดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ