TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessพันธกิจ "โออาร์" ภายใต้แนวคิด Inclusive Growth

พันธกิจ “โออาร์” ภายใต้แนวคิด Inclusive Growth

ชื่อของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ โดดเด่นเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในวงกว้างตอนที่เปิดขายหุ้น IPO ให้บุคคลทั่วไป และสะท้อนถึงความสำเร็จของโออาร์ในฐานะ New S-Curve หนึ่งของธุรกิจน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของไทย คือ ปตท. ที่ขยายธุรกิจออกนอกพลังงานมาสู่ธุรกิจค้าปลีกและประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ทั้งการปรับภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันปตท.ให้เป็นมากกว่าแค่สถานที่เติมน้ำมัน การสร้างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แข็งแกร่งอย่าง Café Amazon และล่าสุดการเข้าถือหุ้นในธุรกิจอื่น ๆ ทั้ง SME และบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพผ่านการร่วมลงทุนกับ 500 TukTuks กองทุนที่ลงทุนในสตาร์ตอัพที่ประสบความมสำเร็จากที่สุดกองทุนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

แต่ทว่า ความสำเร็จในอดีตที่พาโออาร์มาถึงปัจจุบัน ไม่ได้การันตีความสำเร็จในอนาคตที่กำลังจะก้าวเดินไป ดังนั้น โออาร์จึงวางหมากกลยุทธ์และเดินเกมธุรกิจอีกครั้งเพื่อพาโออาร์ก้าวสู่แท่นความสำเร็จอีกครั้ง ในบริบทปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเมกะแทรนด์ใหญ่ของโลกคือเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และดิจิทัลดิสรัปชัน 

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอกที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ดิสรัปชัน และ climate change ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มีมากยิ่งขึ้น OR มองว่า บริษัทไม่อาจจะสามารถเติบโตได้หากว่าสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ดีขึ้น บริษัทจึงประกาศวิสัยทัศน์ว่า “โออาร์เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” (Empowering All Toward Inclusive Growth)

“OR ลุกขึ้นมา Disruptive ตัวเอง แล้วมาดำเนินภารกิจใน 4 ด้าน อาจจะได้ยินชื่อโออาร์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 แต่จริง ๆ ธุรกิจของโออาร์ทำมา 40 กว่าปี และผ่านการ diversify มาตลอด ตั้งแต่ปั๊มสามทหารจนกระทั่งมาเป็น living community สู่ธุรกิจ non-oil และขยายไปต่างประเทศ เราเชื่อมั่นว่าในเรื่องของการ diversify การทรานส์ฟอร์มศักยภาพของทีมงานที่เรามีกันรุ่นต่อรุ่น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ค้า” จิราพร กล่าว

โออาร์ กำหนดพันธกิจการเติบโตไว้ 4 ด้าน คือ mobility, lifesyle, global และ innovation โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้ 3 เรื่อง คือ people, planet และ profit  

พันธกิจด้าน mobility ของโออาร์คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการช่วยประเทศเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเดิมสู่พลังงานสะอาดได้อย่างไร้รอยต่อ ใส่ใจกับพลังงานสะอาดมากขึ้น พลังงานเดิมของโออาร์เป็นน้ำมัน โออาร์จะช่วยการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ที่ใช้รถน้ำมันไปเป็นรถยนต์ที่ใช้ EV เรียกว่าเป็น Seamless Mobility  

และเมื่อความต้องการของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โออาร์จึงมาเน้นพันธกิจสองที่เรียกว่า Lifestyle คือจะทำธุรกิจแบบครบวงจรในการดำเนินชีวิตของผู้คน 

พันธกิจที่ 3 คือ การขยายตลาดสู่ Global อันนี้เป็นพันธกิจที่ขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นจากปัจจุบันที่ประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นระดับภูมิภาค จะเน้นขยายธุรกิจออกไปยัง Global โดยไปด้วยหลักการที่เรียกว่า lite asset คือ การลงทุนแบบเบา ๆ คือใช้จากการ 80/20 เพื่อที่จะสร้างให้ด้านของ local ด้านท้องถิ่นในประเทศไทย และท้องถิ่นในต่างประเทศ โตไปพร้อมกับโออาร์ 

“ปั๊มน้ำมัน PTT Station หรือคาเฟ่อเมซอน ที่เห็นทั้งในประเทศไทยและใน CLMV สัดส่วน 80% เป็นของ Dealer ก็คือคนท้องถิ่น ทั้งเป็นเจ้าของ ทั้งเป็นผู้ Operate ส่วนโออาร์มีหน้าที่ในการสร้างแบรนด์ พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้า สร้างมาตรฐาน ทั้งภาพลักษณ์และคุณภาพ” จิราพร กล่าว

นอกจากนี้การขยายไปตลาดต่างประเทศ โออาร์จะเน้น Digital เพื่อเป็นสู่ระบบที่เรียกว่าสอดคล้องกับพฤติกรรม E-commerce  

“ทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Mobility ไม่ว่าจะ Lifestyle  ไม่ว่าจะเรื่องของ Global เราเพิ่มวิถีของการทำธุรกิจ จากเดิม เราเป็นลักษณะ In ไป Out นั่นคือเราพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ แล้วก็ส่งมอบให้กับดีลเลอร์หรือแฟรนไชส์ แต่วิธีการ In ไป Out กับสภาพที่เป็น Mega Trend มันไม่ทันต่อผู้บริโภค ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันเราใช้เป็น Out มา In นั่นคือ จะเห็นว่าเรามี Partner เพิ่มมากขึ้น เข้าไปลงทุน เข้าไปซื้อหุ้น เราเรียกว่า Out เข้ามา In ก็เป็น In-Organic Growth นอกเหนือจากการขยายสาขาในธุรกิจปัจจุบันของเรา” จิราพร กล่าว

พันธกิจที่ 4 เป็นพันธกิจที่สำคัญ เป็นเรื่องนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งโออาร์ได้แยกหน่วยงานออกมาชื่อ ORion เพื่อที่จะจัดทำในด้าน OR Innovation ซึ่ง Innovation ของโออาร์มีความแตกต่างจากทางด้านของบริษัทอื่น พนักงานกลุ่มนี้หน้าที่ของเขา คือต้องคิดค้นธุรกิจใหม่ที่จะแก้ไขปัญหาทางสังคมปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์

โออาร์ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เริ่มด้วยความแข็งแกร่งใน 3 ด้านหลัก ด้านแรก คือ Physical Platform โออาร์ใช้ Physical Platform มาต่อยอดทำธุรกิจในพันธกิจใน 4 ด้าน 

Physical Platform คือ ตัวสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในประเทศไทย ปัจจุบันมี 2,080 สาขา มีคนเข้ามาสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ประมาณ 2.5 ล้านคนต่อวัน 

ในขณะที่ Café Amazon ในไทยมีจำนวน 3,500 สาขาในปัจจุบัน แต่ถ้าหากนับจำนวนสาขาในอีก 9 ประเทศรวมเป็น 10 ประเทศ ถือว่าเป็นระดับ global ranking ของจำนวนสาขาของระดับโลก ซึ่ง Café Amazon อยู่ที่อันดับที่ 6 นอกเหนือจากนี้ ตัวบัตร Blue Card ซึ่งเป็นบัตร Loyalty Program ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 7 ล้านราย 

โออาร์มีลูกค้าที่เป็นตลาดพาณิชย์ ถือว่าเป็น competitive advantage ของโออาร์ ลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น การขายน้ำมันอากาศยาน น้ำมันเครื่องบิน เครื่องบิน JET ทั้งสายการบินที่เติมในประเทศไทยและในต่างประเทศ การขายน้ำมันลงเรือเดินทางระหว่างประเทศเรียกว่าเรือขนส่งบังเกอร์ รวมถึง LPG ทั้ง LPG Cooking ซึ่งเป็นถังที่ใช้ตามครัวเรือนและร้านค้า และ LPG เข้าโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงเข้าโรงงานอุตสาหกรรมนี้ ลูกค้าในส่วนนี้โออาร์มี 2,600 ราย รวมถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่มราชการและวิสาหกิจด้วยซึ่งลูกค้าเหล่านี้อยู่กับโออาร์มา 40 กว่าปี

ระยะ 2 ปีที่ผ่านมา​ โออาร์เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นของบริษัททั้งที่เป็นทางด้านอาหารเครื่องดื่ม ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR เช่น 

  • บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เจ้าของแบรนด์ ‘โอ้กะจู๋’ อาหารเทรนด์รักสุขภาพที่มี DNA เหมือน OR คือ คำนึงถึงชุมชน (20% มูลค่าไม่เกิน 500 ล้านบาท)
  • บริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด หรือ ISGC เจ้าของแบรนด์โคเอ็น ร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมียม (25% 192 ล้านบาท)
  • บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในประเทศไทย รวมทั้งประกอบธุรกิจร้านกาแฟประเภท Specialty coffee ภายใต้แบรนด์ Pacamara (65% 171.99 ล้านบาท)
  • บริษัท คามุ คามุ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “คามุ ที” แบรนด์เครื่องดื่มไลฟ์สไตล์ของคนไทย มองว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านของไลฟ์สไตล์ของ consumer (25% 480 ล้านบาท)

อีกสิ่งหนึ่งที่ OR มองเป็นเรื่องสำคัญ คือ เรื่องดิจิทัล ซึ่งการพัฒนาคนอาจจะไม่ทัน จึงไปตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Bluebik ตั้งเป็น Orbit Venture เพื่อการพัฒนาทางด้านของดิจิทัลของธุรกิจของ OR และไปร่วมตั้งบริษัทร่วมทุนกับ 500 TukTuks (โดย OR ถือหุ้น 99%) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ตอัพ ไม่เฉพาะการสนับสนุนเรื่องเงิน แต่มีแพลตฟอร์มให้ได้เข้ามาทดสอบ ทั้งในประเทศในต่างประเทศ 

“ทำอย่างไรจะเติมเต็มไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทำอย่างไรถึงจะทันต่อการเปลี่ยนแปลง เรามองว่าบริษัทใหญ่ หรือ start-up ต่างคนต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ถ้าเราเอาจุดแข็งมารวมกัน มา synergy กัน จะทำให้สร้างความแข็งแกร่งและเติบโตได้เร็ว” จิราพร กล่าว

นอกจากโออาร์ ปรับตัวได้ทันกับ Mega Trend โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว ข้อสำคัญโออาร์ได้ช่วยคนตัวเล็กได้ช่วย SME ให้ได้มีโอกาสเข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างของโออาร์เพื่อขยายธุรกิจ

“อาทิ เราสร้าง DC Automate ของคาเฟ่อเมซอนเสร็จ DC ตัวนั้น มีศักยภาพสามารถรองรับให้กับบริษัทย่อย ๆ ของเราที่เราเข้าไปร่วมทุนกับเขา เข้ามาร่วมแชร์ใช้ได้”

ทิศทางที่ OR จะไปคือ เน้นเรื่องของตัว Inclusive Growth เป็นหลัก ทั้งในแง่ของชุมชน สิ่งแวดล้อม และธุรกิจของโออาร์ 

3 ใน 10 ประเทศ คือ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และลาว โออาร์ตั้งบริษัทย่อย 26 ปีแล้ว ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ มาตรฐานของการทำงานเป็นที่ตอบรับของคนในประเทศนั้น ๆ 

“ตัวอย่างเช่น กัมพูชา ถ้าเป็นเรื่องสถานีบริการน้ำมันกับเป็นเรื่องของคาเฟ่อเมซอนมีปัญหาสนุก ๆ ที่พวกเราพูดกันว่าเป็น Good Problem คือ มีคนต่อคิวขอเป็นแฟรนไชส์ ขอเป็นดีลเลอร์ของคาเฟ่อเมซอน และสถานีบริการน้ำมันจำนวนมาก ที่กัมพูชา 1 วันทำยอดขายได้ 1,000 แก้ว ประเทศไทย ถ้าเป็นเทศกาลท่องเที่ยวสูงสุด (long weekend) คือ 800 แก้ว” จิราพร กล่าว

เตรียมเรื่อง digital infrastructure ทำเรื่อง O2O (offline-to-online) เพื่อทำ seamless mobility กับเรื่องของ lifestyle  มันถึงต่อเชื่อมกันได้ จะดำเนินการในเรื่องของ super App ทำให้ผู้บริโภคสะดวกขึ้นทั้งกลุ่ม segment ที่เป็น mobility ทั้งกลุ่ม lifestyle ส่วนในเรื่องของ digital technology ปรับมาใช้ระบบทางด้านบนดิจิทัลเพื่อการตัดสิน เช่น ปัจจุบันการเปิดสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กับ Café Amazon ใช้ GEO Analytic แบบเรียลไทม์ สามารถบอกได้ว่าถ้าจะสมัครเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ ตรงโลเคชันนั้น มียี่ห้อคาเฟ่อเมซอนอยู่แค่ไหน มียี่ห้ออื่นอยู่แค่ไหน Traffic เป็นประเภทคนหมู่บ้านหรือเป็นคนเดินทาง อยู่ในอัตราที่สามารถลงทุนได้ไหม ลงทุนคุ้มค่าไหม เรียกว่ามาใช้เรื่องของตัวดิจิทัลในการตัดสินใจ  

“เรามีการบูรณาการเรื่องของ data เรามีความพร้อม ขณะนี้เรา apply ล่วงหน้าและเรื่องของ PDPA ในแม้ว่ากฎหมายยังไม่ Effective”

EV Station

สิ้นปี 2564 โออาร์มีจุดชาร์จอีวี Quick Charge  3 หัวจ่าย อยู่ในสถานีบริการปั๊มน้ำมันปตท. 106 สาขา โออาร์วางแผนว่าในปี 2565 จะมี EV Station ในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเป็น 450 สาขา ในทุกระยะห่างของการเดินทางครอบคลุมทั่วประเทศ  นอกจากนี้ ยังมี EV Station Application คนใช้รถอีวีจะรู้ได้ว่าอีกกี่กิโลเมตรจะมี PTT Station สามารถจองคิวเติมล่วงหน้าผ่านแอปฯ ได้ ช่วยให้ผู้ใช้รถ EV สามารถวางแผนเส้นทางการเดินทางได้

“EV จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์และบริการในปั๊มปตท. ผู้บริโภคใช้เวลาประมาณ 25-30 นาที ระหว่างนั่งรอชาร์จ EV เขาก็จับจ่ายใช้สอย Non-Oil เช่นกัน”  จิราพร กล่าว

สถานีชาร์จอีวีขนาดมาตรฐาน มีขนาดประมาณ 4 ไร่ มี 3 หัวจ่าย แต่หากว่านโยบาย 2030 ทำให้มีการผลิตรถยนต์ EV 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย ถึงเวลานั้นแม้แต่ปั๊มมาตรฐานต้องมากกว่า 3 หัวจ่าย

ทั้งนี้ สถานีชาร์จไฟรถ EV โออาร์ไม่ได้ทำเฉพาะในปั๊มน้ำมันแต่มีความร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ จุฬาฯ ที่ติดตั้งสถานีชาร์จอีวีไปแล้ว ส่วนในพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยราชการ อยู่ในแผนการดำเนินการ

“EBITDA margin ประมาณ 3-4% แต่ Non-Oil อัตรามาร์จิ้นอยู่ที่ 25-28% ภายใต้แบรนด์ PTT Station ต้องเรียนว่า 30% ของกำไรได้มาจากหัวจ่ายน้ำมัน อีก 70% ได้มาจาก Non-Oil ถามว่า EV มาเราเดือดร้อนมั้ย ไม่เดือดร้อนเลย” จิราพร กล่าว

คนที่เข้ามาในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ใช้เวลาอยู่ที่ปั๊มประมาณ 20 ถึง 25 นาที โดยเป็นการให้บริการเติมน้ำมัน การชำระเงินที่ใช้ EDC Mobile จบแค่เพียง 4 นาที อีก 20 นาที เขาใช้เวลาจับจ่ายใช้สอยและเข้าห้องน้ำ  

นอกจากเรื่องสถานีชาร์จอีวีแล้ว ทิศทางธุรกิจค้าปลีกพลังงานของปตท. ยังรวมถึงการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงาน (Energy Solution) ผ่านการให้บริการติดตั้ง Solar Roof เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดค่าไฟ ประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“เรายังขายน้ำมันอยู่ เพียงแต่เราให้บริการในส่วนของ Energy Solution อื่น ๆ  อาทิ ถ้าโรงงานไหนเน้นพลังงานสะอาด เรามีโมเดลทั้งท่อทั้งถังที่เราออกแบบ สามารถใช้เชื้อเพลิงเป็น LNG ได้ ในปัจจุบันเราอาจจะขายน้ำมันดีเซล LPG เป็นเชื้อเพลิงเข้าโรงงานอุตสาหกรรม แต่ถ้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นบอกว่าต้องส่งสินค้าออกต่างประเทศ ต้องใช้พลังงานสะอาด ก็สามารถที่ใช้ LNG Model ของเราได้” จิราพร กล่าว

โออาร์ให้ความสำคัญกับ การทำ EV โดยถือว่าเป็นการทำเพื่อศึกษาทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านพฤติกรรมผู้บริโภค และเป็นการป้องกันความเสี่ยงในอนาคต 

“เราเป็นรายแรกของผู้ค้าน้ำมันในประเทศไทย ที่เปลี่ยนจากสถานีบริการน้ำมันล้วน ๆ ไปเป็นแพลตฟอร์มประเภทที่ Oil + Non-Oil  คู่แข่งย่อมตามมา แต่ถามว่าการตามมามีระยะห่างต่อกัน และที่สำคัญแบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็น Non-Oil ที่ผู้บริโภคสนใจได้เข้ามาอยู่ที่ OR แล้ว ทั้ง 2,080 สาขา ในประเทศไทย เป็น Prime Area ทั้งหมด ด้าน Non-Oil เราไม่ได้ทำแค่ F&B แล้ว เราจะเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ บางสาขาอาจจะเจอโอ้กะจู๋ พร้อมเสิร์ฟ Quick & Go ที่เป็นแซนด์วิช ที่เข้ากันได้กับการที่ต้องการความเร็วเอาขึ้นรถเลย ปัจจุบันมี 14 สาขา ในปี 2565 เพิ่มเป็น 80 สาขา” จิราพร กล่าว

รายได้จากการขายน้ำมัน จากปั๊มน้ำมัน 2,080 สาขา กับลูกค้าตลาดพาณิชย์ที่มีอยู่ 2,600 ราย หากว่าด้วยของสัดส่วนยอดขายจะมีสัดส่วนที่ใกล้กันประมาณ 55:45 บ้าง 50:50 บ้าง

ลงทุน 9.46 หมื่นล้านใน 5 ปี

ในภาพรวมปี 2565 ถึง 2569 รวมระยะเวลา 5 ปี บริษัทขออนุมัติงบลงทุนต่อบอร์ดไว้ประมาณ 94,600  ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนคือ 36% ไปที่ mobility การค้าปลีกน้ำมัน การค้าเชื้อเพลิง การค้า EV และการค้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นซึ่งเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งของโออาร์ภายใต้ PTT Lubricant 22% ไปที่ Lifestyle คือ F&B เช่น Café Amazon และ food ต่าง ๆ เช่น ปัจจุบันโออาร์เป็น Master Franchise เจ้าเดียวของ Texas Chicken เป็นต้น 14% ไปที่ Global และ 8% ที่ OR Innovations 

ด้านตลาดต่างประเทศเป็นพอร์ตที่โออาร์ให้ความสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายตลาดไว้ที่ประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก มีวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์ไม่ได้แตกต่างจากไทยมาก คือ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย อย่างน้อย ๆ ขั้นต่ำธุรกิจที่ไปได้คือ Café Amazon 

ปัจจุบันโออาร์มีบริษัทย่อยที่เซี่ยงไฮ้ ชื่อ PTT OR China ทำสองธุรกิจ คือ PTT Lubricant กับ Cafe Amazon ทั้ง 2 รูปแบบ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โออาร์เน้นเรื่องของการหา Local Partner เข้าร่วมลงทุน 

“ประสบการณ์จากที่เราทำในกัมพูชา ลาว และฟิลิปินส์ พบว่าถ้าเราไปอยู่ต่างชาติ เราเป็นบริษัทถือหุ้นเอง 100% สิ่งที่เราขาดหายไปคือ connection และความเป็นท้องถิ่น เราต้องการพันธมิตรในท้องถิ่นซึ่งมีความแข็งแกร่งกว่า รู้เรื่องของการขอใบอนุญาตแต่ละอย่าง ว่าต้องไปหน่วยไหน รู้จักพื้นที่และชุมชน”  จิราพร กล่าว

Innovation สิ่งที่ OR ดำเนินการ มีหลักการที่มีเป้าหมายแก้ไข Pain Point ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้คนรุ่นใหม่ โครงสร้างใหม่ ปัจจุบันมีการจัดตั้งหน่วยงานแยกออกมาชัดเจน ชื่อว่า ORion เป็นเหมือนดวงดาวที่แสวงหานวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ที่เป็นไปได้ 2 รูปแบบ คือสามารถขยายออกไปข้างนอก หรือสามารถกลับเข้ามาเสริมอยู่ mobility หรือ lifestyle หรือ global ได้

“บริษัทต่าง ๆ ที่ OR เข้าไปลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของปลูกผักเพราะรักแม่ คือ โอ้กะจู๋ หรือสตาร์ตอัพ เราไปหนุนให้คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะ scale เป็นพี่เลี้ยง เผื่อเขาจะถามหาโอกาสในการที่เขาจะ IPO ในอนาคต อันนี้เราก็ไม่จำกัด หรือว่า startup ด้านของ ORZON บริษัทที่เรา JB ขึ้นมาแล้วเนี่ย เค้าสเกล แล้วเขาจะให้ OR เพิ่มทุน หรือเขาจะหาเพิ่มทุนคนอื่น ก็ไม่มีอะไรเป็นเรียกร้องต่อกัน เขาจะ IPO เราก็ยินดี ก็ต้องเรียกว่า เราเป็นการหาโอกาส เติมเต็มโอกาส เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเติบโต”​  จิราพร กล่าว

ORion กับ ORZON

ORZON Ventures เป็นกองทุน ในช่วง 5 ปี ขออนุมัติบอร์ดไว้ 25-50 ล้านบาท มี KPI ว่าจะลงทุนในสตาร์ตอัพทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 10 ถึง 15 รายในแต่ละปี ด้วยโจทย์ที่มาเติมเต็มระบบนิเวศของโออาร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Health และ Wellness หรือ Tourism และ Digital รวมถึง Logistics  

ส่วน ORion จะเน้นลงทุนในสตาร์ตอัพที่ที่พ้นระยะเริ่มต้นแล้ว อาทิ Flash Express ที่โออาร์เข้าไปลงทุน เกิดมาจากทีม ORion แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อชัดเจนว่า ORion ดังนั้น ORion สนับสนุนทั้งสตาร์ตอัพและ SME ไทย 

หรือสตาร์ตอัพที่เป็นคนไทย แต่เราก็ไม่ได้ปิดรับด้าน Corporate  จะเข้าร่วมลงทุนเพื่อเติมเต็มกัน เรารับทั้งหมดทั้ง start-up  SME หรือ Corporate ล่าสุดก็ยังคงเห็นว่าเราไปร่วมทุนกับด้านของบริษัท SPT ที่ทำทางด้านของการให้บริการเรื่องของท่าอากาศยาน ที่อู่ตะเภา 

“ORion โครงสร้างนี้ตั้งถอยหลังไปประมาณ 3 เดือนแล้ว ประกอบไปด้วยน้องประมาณ 28 คน น้องส่วนใหญ่ จะเป็นน้องที่ผ่านโครงการ YP2G ของปตท.มา แล้วลาออกมาอยู่ OR เรียกว่า Young People to Global”  จิราพร กล่าว

ORion จะเป็นยานตัวใหม่ที่จะพยายามสืบหา New S-Curve ที่มีเป้าหมายเรื่องของ Inclusive Growth อยู่ด้วย คือ จะต้องทำให้ชุมชน ประชาชน สิ่งแวดล้อม เข้ามาอยู่ในธุรกิจ ซึ่งโออาร์มี 3 ประเด็นสำคัญ คือ People, Planet และ Profit   

People ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะพนักงาน นักลงทุน ผู้ถือหุ้น แต่หมายถึงชุมชน สังคม และทุกสถานประกอบการที่ OR ไปดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ส่วน Planet นอกจาก Net Zero หรือ Net Neutral ที่โออาร์กำหนดเป้าเป็น Net Zero 2050 

“Café Amazon ตอนนี้เราทำเรื่อง upcycling เอาพลาสติก PS มาผ่านกระบวนการถักทอ แล้วก็เป็นเส้นใย มาทำเสื้อ น้องบาริสต้าทั้ง 3,500 สาขา ทุกคนใส่เสื้อที่มาจากการถักทอเส้นใยพลาสติก ผ่านกระบวนการ upcycling ถ้าเป็น circular economy สาขาที่สมบูรณ์และเป็นสาขาต้นแบบ คือในเรื่องของตรงสามย่านแถวจุฬา ก็คือทุกอย่าง แม้แต่เยื้อหุ้มกาแฟก็สามารถมาผ่านกระบวนการบดอัดเพื่อทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้แล้ว” จิราพร กล่าว

การเรื่องของ 2P คือ People Planet ไม่ใช่เรื่องของ CSR ไม่ใช่เรื่องของบริจาค เพราะโออาร์ต้องการให้ทีมคิดใหม่ ทำใหม่ Plug-in ให้มันเข้าไปอยู่ใน Process ของธุรกิจ อย่าง Café Amazon For Chance เป็นโมเดลที่ทางด้าน Café Amazon ทำขึ้นมาเพื่อทำให้คนที่เขามีสภาพร่างกายไม่เหมือนคนปกคิ เขาได้รู้ว่าเขามีคุณค่า เขาสามารถอยู่โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว หลาย ๆ สาขาของเราจะมีผู้พิการทางการได้ยิน บางสาขาจะเป็นด้านของทหารผ่านศึกซึ่งเขาอาจจะพิการทางแขน 

“ในคาเฟ่อเมซอน จะให้มีผู้สูงอายุ 1 ท่าน ในปีนี้เราวางแผนไว้ 500 สาขา น้อง ๆ บาริสต้าจะต้องทำ culture ของตัวเองให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีคุณค่าจะทำให้เกิดการรู้สึกให้ซึ่งกันและกัน การทำแบบนี้ ทำให้คนมีความหวัง แล้วมันจะมีความสุข และเป็นสิ่งที่ยั่งยืน แล้ว P ตัวสุดท้ายจะตามมา ถึงบอกว่าขึ้นต้นด้วย People Planet แล้วก็ Profit” จิราพร กล่าวทิ้งท้าย

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การสื่อสารความถี่ต่ำ … งานวิจัยเพื่อภัยพิบัติ พันธกิจของนักวิจัยไทย “รศ.ดร.รังสรรค์ วงศ์สรรค์”

Vulcan Coalition สตาร์ตอัพ Deep Tech ผู้ขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI ด้วยฝีมือคนพิการ

นูทานิคซ์ เดินหน้าพลิกโฉมโมเดลธุรกิจเต็มตัว ชูจุดเด่นทำคลาวด์โซลูชันเป็นเรื่องง่าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ