TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistระวัง! ดอกเบี้ยกำลังยูเทิร์น

ระวัง! ดอกเบี้ยกำลังยูเทิร์น

เงินเฟ้อเปรียบเหมือนความดันในระบบเศรษฐกิจ หากมากไปก็อึดอัด ส่วนดอกเบี้ยไม่ต่างจากยาลดความดัน ที่ปรับยาขึ้นลงตามอาการที่เป็นไป สองเดือนเศษ ๆ ที่ผ่านมา ข่าวเงินเฟ้อพุ่งทำ “นิวไฮ” ตีคู่มากับข่าวธนาคารกลางหลายประเทศทั่วทุกทวีป พาเหรดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายราวกับเทศกาลดอกเบี้ยบานเพื่อสยบเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ต้นเดือนที่ผ่านมา สื่อทุกสำนักตีข่าว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี เดือนมิถุนายนอยู่ที่ 9.1% สูงสุดนับจากปี พ.ศ. 2527 และเป็นตัวเลขสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ “เงินเฟ้อ” พุ่งชนเพดานสูงสุดกันโดยถ้วนหน้า เช่น เยอรมนีเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทะลุ 7.9 % สูงสุดในรอบ 50 ปี อังกฤษเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมเช่นกัน อยู่ที่ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนของไทยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่กระทรวงพาณิชย์แถลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขึ้นไปถึง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี

อาการเงินเฟ้อกำเริบ เริ่มทำให้เศรษฐกิจอึดอัดมาตั้งแต่ปลายปี 2564 หลังการระบาดของโควิด-19 ทำท่าจะคลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มอย่างฉับพลัน แต่ระบบจัดส่งลำเลียงสินค้า ตอบสนองต่อความต้องการในลักษณะได้กล่าวไม่ได้ ตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มขยับธนาคารกลางอังกฤษ เป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่รับรู้ถึงสถานการณ์นั้น ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลังยุคโควิดเพราะประเมินว่าพิษของเงินเฟ้อนั้นร้ายกว่าดอกเบี้ยแพง ก่อนที่เงินเฟ้อจะพุ่งราวกับจรวด หลังรัสเซียรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตามราคาก๊าซและน้ำมันที่วิ่งไล่กวดตามความตรึงเครียดในสงครามไปติด ๆ

ในช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศต่างประกาศตัวเลขเงินเฟ้อนั้น ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำนิวไฮไม่ต่างจากตัวเลขเงินเฟ้อเรียกว่าผลักกันนำผลัดกันตาม โดยเฉพาะหลังระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ทำให้ตลาดผิดหวัง ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง 2 ครั้ง ครั้งแรก คือการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขึ้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% และครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนอีก 0.75% สู่ระดับ 1.5-1.75% ตรงนี้ต้องหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า เป็นการปรับดอกเบี้ยครั้งใหญ่สุดของ เฟด ในรอบ 28 ปี

การขยับตัวแรงของเฟดผสมผสานไปกับปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกขยับตัวตามกันถ้วนหน้า พอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพดังนี้ ธนาคารกลางที่ปรับอัตราดอกบี้ยนโยบายตามเฟด อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่สองของปีอีก 0.50% เป็น 0.85% เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นับเป็นการปรับแรงสุดในรอบ 22 ปี ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมาขึ้นอีก 0.25% เป็น 1.25% ตอนนี้อังกฤษเงินเฟ้อ 9.1% ยืนหนึ่งในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 ธนาคารกลางฮ่องกงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดเมื่อ 16 มิถุนายน เช่นกัน ขึ้นมา 0.75% สู่ระดับ 2% เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 ในปีนี้     

ธนาคารกลางอาร์เจนตินา ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 6 ครั้ง ๆ ล่าสุด 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา 3% เป็น 52% (บ้านเกิดของมาราโดนาเงินเฟ้อ 28.3 %) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง (เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนเช่นกัน ) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขึ้นไป 1.75% สู่ระดับ 2.25% วันเดียวกัน (13 ก.ค. 65) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 6 อีก 0.50% เป็น 2.50%   

นอกจากนี้ธนาคารกลางเปรู บราซิล อินเดีย แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ กลุ่มประกอทศรอบอ่าวอาหรับ ล้วนปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นด้วยเหตุผลไม่ต่างไปจากธนาคารกลางอื่นๆคือหยุดเงินเฟ้อ

ทีนี้มาดูอาเซียนกันบ้าง ธนาคารกลางมาแลเซียประกาศปรับขึ้น 0.50% สู่ระดับ 2% เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม ธนาคารกลางอินโดนีเซียเมื่อ 24 เดือนกัน ประกาศยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเหมือนแบงก์ชาติบ้านเรา ตามด้วยฟิลิปปินส์ ประกาศปรับขึ้น 0.75 %สู่ระดับ 3.25 % เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา 

แล้วดอกเบี้ยนโยบายบ้านเราจะไปทางไหน ?

เวลานี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะที่ทำงานให้ภาคเอกชน พากันออกมาวิจารณ์ด้วยความมั่นใจว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าเกินไปจะไม่ทันการณ์ ทำตัวสวนกระแสโลก บางสำนักมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ กนง. จะปรับดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งเบิ้ลจาก 0.25% ไปสู่ระดับ 1.50%

หากดูมติที่ประชุมของกนง. ครั้งล่าสุด เมื่อ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติ 4 ต่อ 3 ไม่เอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปซึ่งถือเป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง ผนวกกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังแรงต่อเนื่อง ประกอบกับท่าทีของเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ต่อความเป็นไปของสถานการณ์เงินเฟ้อ นับว่ามีความเป็นไปได้มากว่า ทิศทางดอกเบี้ยเมืองไทยกำลังจะมาถึงจุดเปลี่ยน หลังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างยิ่งมากกว่า 2 ปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เศรษฐพุฒิ ไปกล่าวระหว่างร่วมสัมมนาทางวิชาการที่สำนักงานภาคใต้ของแบงก์ชาติ ได้กล่าวถึงบทบาทของแบงก์ชาติ ไว้ตอนหนึ่ง ว่าเหมือนธนาคารกลางทั่วโลกที่ดูแลเสถียรภาพและเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น คือขึ้นอยู่บริบทางเศรษฐกิจในบางจังหวะ และได้กล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายการเงินต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งต่างจากเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง แต่ไทยต้องค่อย ๆ ถอนคันเร่ง  ซึ่งเหมือนบอกเป็นนัย ๆ ว่า การประชุมกนง. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ หากกนง. เสียงข้างมาก หรือเป็นเอกฉันท์ ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน จากผ่อนตลายอย่างถึงที่สุดมาเป็นเข้มขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะปรับขึ้นน่าจะเริ่มจาก 0.25% มากกว่า 0.50% เหมือนที่นักวิเคราะห์เดาแน่นอนว่า เมื่อดอกเบี้ยนโยบายขยับ ดอกเบี้ยอื่นต้องปรับตาม ในวาระดอกเบี้ยขาขึ้นที่คาดว่าจะมาถึงในไม่ช้า  มาตรการตั้งรับสำหรับ เจ้าของเงินกู้ ทั้งหลายที่จะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น มากหรือน้อยตามภาระหนี้ที่คงเหลือ คือจ่ายในสิ่งที่สำคัญก่อน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ