TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist8 ปี เศรษฐกิจไทย ในกำมือ "รัฐบาลลุงตู่"

8 ปี เศรษฐกิจไทย ในกำมือ “รัฐบาลลุงตู่”

กระแส “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” ที่หลายคนต้องลุ้นระทึกและกลายเป็นประเด็นร้อนวันนี้ คงไม่พ้นเรื่องการนับอายุการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่านั่งอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่ ซึ่งก็มีการคำนวณหลาย ๆ สูตร บ้างก็บอกว่าให้นับตั้งแต่ปี 57 ที่นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก บางสูตรก็บอกว่าให้นับปี 60 ตามการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บางสูตรก็บอกว่านับปี 62 หลังจากจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งล่าสุด

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่าวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ที่จะครบ 8 ปี หากนับตั้งแต่ปี 57 นั่งในตำแหน่งครั้งแรก คงต้องลุ้นผลจะออกหัวหรือออกก้อยเดี๋ยวคงรู้กัน ทำไมเรื่องนี้ถึงมีความหมาย เพราะในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยที่ลุงตู่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อเห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยบอบช้ำมากแล้ว แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังสนับสนุนให้อยู่ต่อจึงมีสูตรในการตีความออกมามากมาย 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องสะบักสะบอมมากที่สุดกับการแก้ไขวิกฤติไวรัสโควิดแพร่ระบาด เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ทุกวันนี้หลาย ๆ ประเทศเริ่มใช้ชีวิตแบบปกติเศรษฐกิจเริ่มเดินเครื่องเกือบจะ 100% ขณะที่ประเทศไทยการแพร่ระบาดยังคงหนัก ซึ่งกลายเป็นปัญหาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก

มีข้อมูลรายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เจอพิษโควิดทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้า ติด 1 ใน 3 ของโลก ส่วนอีก 2 ประเทศ มีอิตาลีและญี่ปุ่นเท่านั้น จะเห็นได้จากปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.6% เพราะวัคซีนไม่เพียงพอ ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เขาฟื้นได้เร็ว เพราะรีบฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายปี 2020 มาปีนี้ประเทศเริ่มดีขึ้นมาบ้าง จะเห็นว่าจีดีพี 2022 เราโตใกล้จีดีพีโลก ต่างจากปีที่แล้ว คือปี 2021 จีดีพีของไทยกับของโลกห่างกันลิบลับ จีดีพีโลก 6.1% ส่วนไทยแค่ 1.6% เท่านั้น ปีนี้เราคาดการณ์โต 3% ฉะนั้นในครึ่งหลังของปีนี้ต้องโต 3.5% เพราะครึ่งปีแรกโตแค่ 2.5% เท่านั้น คงต้องลุ้นกันเหนื่อยพอสมควร

ร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับสื่อทีวี ในหัวข้อ “8 ปี เศรษฐกิจไทยไปถึงไหน?” เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเปรียบเทียบ 8 ปีที่ผ่านมากับ 8 ปีก่อนหน้า เปรียบเทียบจีดีพี.กับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกว่า

ในปี 2006-2013 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางโต 6.5% แต่เศรษฐกิจไทยโตแค่ 3.7% พอ 8 ปีที่ผ่านมา 2014-2021 เศรษฐกิจไทยโตแค่ 1.7% ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกโต 4.2%ปี 2006-2013 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทย 75.7% แต่ช่วงปี 2014-2021 กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลกโตเร็วกว่าเศรษฐกิจไทยถึง 147.1%

จากบทวิเคราะห์ สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยแย่แน่ ๆ เพราะจะยิ่งถอยหลังไปเรื่อย ๆ จะเห็นว่า 8 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ทรุดลงไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่น

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิ ยังพบว่าการลงทุนเทียบไทยกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ประเทศไทยลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก เพราะปัจจัยนี้เป็นตัวขับเคลื่อนให้จีดีพีโตเร็วหรือโตช้า ปี 2007-2013 ไทยลงทุน 25.9% ของจีดีพี ส่วนประเทศอื่น 31.9% ของจีดีพี ปี 2014-2020 ไทยลงทุน 23.3% ของจีดีพี ประเทศอื่น 32.6% ของจีดีพี ประเทศอื่น ๆ ลงทุนมากกว่า จึงจัดสรรทรัพยากรไปภาคลงทุนมากกว่าบริโภค ถ้ากระตุ้นด้วยการบริโภคจะช่วยได้แค่ระยะสั้น ไม่ช่วยจีดีพีระยะยาว 

แต่ถ้ามาดูจีดีพี ข้อมูลจาก สภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลารวมตั้งแต่ปี 2557 – 2565 เศรษฐกิจไทย ลดลงต่ำสุดถึงติดลบ 6.2% ในปี 2563 จากการระบาดของโควิด และขยายตัวสูงสุด 4.2% ในปี 2561 ขนาดของ GDP เพิ่มขึ้นจาก 13.13 ล้านล้านบาท ในปี 2557 เป็น 17.35 ล้านล้านบาท ในปี 2565 หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 4.22 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 5.2 แสนล้านบาท

รายได้ต่อหัวคนไทย เพิ่มขึ้นจาก 195,995 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2557 เป็น 248,468 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2565 หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 52,000 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยปีละ 6,500 บาทต่อคนต่อปี

ขณะเดียวกันลองย้อนดูการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอด 8 ปี ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมา รวมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 12 ครั้ง ทั้งสิ้น 26.7 ล้านล้านบาท รวมเม็ดเงินกู้สำหรับรับมือสถานการณ์โควิด-19 เป็นเงินทั้งสิ้น 28.5 ล้านล้านบาท ขาดดุลต้องกู้เพิ่มเติมรวม 6 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ 3 ใน 4 จ่ายเงินเดือนราชการทำให้เงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจจึงไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเข้ามาบริหารประเทศ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 42.50% ต่อจีดีพี มูลค่า 5.53 ล้านล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สาธารณะล่าสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มียอดคงค้างอยู่ที่ 10,046,605 ล้านบาท  คิดเป็นสัดส่วน 60.81% ของจีดีพี ซึ่งทะลุเพดานกรอบเงินกู้ที่กำหนดไว้ที่ระดับ 60% ของจีดีพี จนต้องมีการขอขยายเพดานหนี้เป็น 70%

โดยแบ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงประมาณ 8,204,351 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่กู้มาแก้ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดและใช้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการประชานิยมต่าง ๆ  เช่น โครงการคนละครึ่งที่มีต่อเนื่องถึง 5 เฟส 

จะเห็นว่า 8 ปีเศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาล “พล.อ. ประยุทธ์” เศรษฐกิจไทยมีแต่จะทรุดลงเรื่อย ๆ ขณะที่หนี้สาธารณะกลับเพิ่มสูงขึ้น จนกลายเป็นการสร้างรอยแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทย แทนที่จะรักษาบาดแผล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ