TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจริงหรือ ที่มี ผลตอบแทน 120% ต่อปี

จริงหรือ ที่มี ผลตอบแทน 120% ต่อปี

บางประโยค บางถ้อยคำที่เหล่าดาราที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน Forex-3D ที่กลับมาพูดกันอีก บางถ้อยคำสะท้อนอารมณ์ของความอยากได้ผลที่รวดเร็วและมาก จนลืมข้อเท็จจริง ขณะที่บางพวกคิดว่าตัวเองรู้ และเชื่อว่าก็จะมีคนอื่น ๆ ที่ถูกหลอกเข้ามาเรื่อย ๆ และตนเชื่อว่าตัวเองจะออกมาได้แบบรู้ทัน โดยความรู้สึกที่ว่านี้อยู่เหนือกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ด้วยคติแบบแปลกๆที่ว่า “ช่วยไม่ได้ อยากโง่เอง”

บางถ้อยคำเหล่านี้ สะท้อนออกมาได้ดี อาทิ

“การลงเงินแล้วให้ระบบ AI เทรดเอากำไรให้ลงเงินไป แล้วจะได้กำไรเดือนละ 10% โดยกำไรที่ได้มาก็ต้องมาหักคืนให้ Forex 40% ตนได้เงิน 60%จากกำไรทั้งหมด”

“ตนสามารถถอนเอากำไรออกมาเติมทุนจาก 100,000 บาท กลายเป็น 1,200,000 บาท ในเวลาไม่นาน แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาถอนเงินออกมาไม่ได้”

หรือเหตุผลที่ปฏิเสธตัวเองว่าไม่ใช่ ระบบหัวหน้าทีมกับลูกข่าย (Upline-Downline)

“ตอนนั้นแค่ถามว่า ตอนนี้ทำอะไร เขาก็บอกทำนั่นทำนี่ ก็ถามว่า คืออะไร อยากลอง เห็นเขาได้ ก็เลยถามเห็นแล้วโลภ อยากได้ ตอนแรก ยังไม่ได้ลง ก็ดูไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเล่นเอง” มอง Forex เหมือนฝากเงินธนาคาร กินดอกเบี้ย

จะบอกว่าเป็นเหตุผลหรือข้อแก้ตัวของคนที่ถูกจับได้ (หรืออาจจะเป็นอ้างคนสูญเสีย) จนมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า จะมีการลงทุนไหนที่จะได้มากกว่า 10% ต่อเดือน หรือปีละ 120% ข้อเท็จจริงข้อนี้ไม่มีธุรกิจไหนจะผ่านด่านนี้ได้ ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ถ้ามันมีจริง คนจะทำธุรกิจกันไปทำไม

ก็เข้าใจได้ว่ายุคสมัยของคนต้องการความรวดเร็ว แม้แต่การสร้างผลตอบแทน ก็อยากได้เยอะ ๆ ในเวลาอันสั้น ด้วยการโดดเข้าไปลงทุนตามการหลงเชื่อ (หรือเชื่อว่าตัวเองรู้ทัน) และที่น่ากลัวที่สุด ก็คือการทุ่มเม็ดเงินที่ทั้งหมดมี ไม่พอยังไปกู้หนี้ยืมสินเข้ามาใส่อีก ต่างอะไรครับกับการเดินเข้าไปในบ่อน แล้วขายบ้าน เพื่อหวังว่าจะได้เงินก้อนใหญ่เพื่อที่จะสบายไปทั้งชาติ และนั่นแหละคือหนทางหายนะ

ย้อนไปดูข้อมูลของนิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ได้ทำงานวิจัยการจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 โดยการทำแบบสอบถาม เพื่อศึกษาถึงการสะสมทรัพย์เพื่อใช้ดำรงชีพหลังเกษียณอายุ จำนวน 1,091 ตัวอย่างเช่น ในช่วงอายุ 55-70 ปี พบว่า

  • 40.06% ไม่มั่นใจว่ามีรายได้หรือทรัพย์สินเพียงพอในการดำรงชีพ
  • 29.47% มั่นใจว่ามีเพียงพอ
  • สาเหตุที่พบว่าไม่มั่นใจ เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลและบริหารทรัพย์สิน คิดเป็น 34.31%

ไม่แปลกใจหากเราคิดว่ามีทางลัดที่จะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ทั้งที่เส้นทางนั้นชวนหวาดเสียวและอยู่บนความไม่แน่นอน แต่มีเส้นทางหลักที่ชัวร์ มันมีเส้นทางที่อยู่บนความจริง แต่ปัญหาที่ทำกันไม่ได้เพราะ

  • ต้องใช้เวลาพอสมควร
  • ต้องหาเครื่องมือที่เหมาะกับการเป้าหมาย (ไม่ใช่กำไรสูงๆ)
  • ต้องมีเงินสะสมพอสมควร
  • ต้องมีเป้าหมายว่า การใช้เงินในแต่ละช่วงเวลา ต้องใช้เพื่ออะไร เพื่อจะได้รู้ว่า เงินที่มีอยู่ทำได้หรือไม่

และต้องไม่ลืมปัญหาเงินเฟ้อ ที่ทำให้ค่าเงินที่สะสมไว้ลดลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนปีและมูลค่าเงินเฟ้อ ที่พวกเรามักจะมองข้ามไป 

การวางแผนการเงิน ไม่ใช่เพื่อเป้าหมายทางการเกษียณว่าจะใช้จ่ายอย่างไร เท่าไรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตในอนาคตว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เรามองชีวิตปัจจุบัน มากกว่าจะเผื่อไปในอนาคต

ครับ เป็นเรื่องยากที่คุณจะทำตามนี้

  • สร้างเงินออมจากรายได้ที่หามาได้ 10-30% ก่อน ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่าย
  • มีภาระหนี้ ได้ไม่เกิน 30% ของรายจ่าย
  • สร้างเงินสำรองฉุกเฉินไว้ 3-6 เดือน

แต่สิ่งเหล่านี้คือหลักประกันความมั่งคั่งที่มั่นคงอย่างแท้จริง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ