TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessการตลาดวันละตอน ปักธงหนุน SME ไทย สู่ Data-Driven Marketing

การตลาดวันละตอน ปักธงหนุน SME ไทย สู่ Data-Driven Marketing

ย้อนกลับไป 4-5 ปีก่อน เมื่อพูดถึงเรื่อง Data คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว น่าจะเกี่ยวข้องกับคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟท์แวร์ คนที่เป็น Data Scientist หรือคนที่ทำในเรื่องของสถิติมากกว่าจะเป็นสิ่งที่นักการตลาด หรือเจ้าของธุรกิจ จะต้องทำความเข้าใจ หรือนำมาใช้ในการทำธุรกิจ 

“เพจของนักการตลาดที่ชอบเรื่อง Data-Driven Marketing, Personalization และใช้ Social Listening เป็นประจำ” คือ คำแนะนำตัวที่ปรากฏอยู่บนหน้าเพจ “การตลาดวันละตอน” เพจที่ค้นพบหลังจากเปิดตัวไปสักพักว่า กลุ่มผู้ติดตามเพจคือ นักการตลาด และเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี จึงเลือกที่จะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยยกระดับไปสู่ การเขียนเล่าเรื่อง Data ในมุมของคนที่เป็น Marketer ว่าการใช้  Data ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว และไม่ได้ยากอย่างที่คิด

ทำไมอยากช่วย SME

หนุ่ย ณัฐพล ม่วงทำ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของเพจการตลาดวันละตอน เผยมุมมองผ่านประสบการณ์การเสิร์ฟความรู้และข้อมูลทางด้านการตลอด การเปิดคอร์สสอนด้านการตลาด ไปจนถึงการเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดว่า “จากมุมที่ผมเจอ มีคนพยายามช่วย เอสเอ็มอี เยอะมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนแต่อาจจะช่วยไม่ตรงจุด ไม่ได้เข้าใจว่า เอสเอ็มอีต้องการอะไร ผมอาจจะได้เจอเอสเอ็มอี ค่อนข้างเยอะกว่าคนอื่นหน่อย ได้สอน ได้คุย ได้รู้ปัญหาหน้างานเขา เขาต้องการยังไง แค่ไหน”

จากประสบการณ์ ณัฐพล แบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ไม่มีปัญหา ยังคงทำธุรกิจแบบเดิมได้ต่อไป ไม่ได้อยากจะทำอะไรใหม่ และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มคนที่อยากจะทำให้ดีกว่าเดิม พร้อมจะเรียนรู้พร้อมจะเปิดรับ หากได้รับการผลักดันนิดเดียว ก็สามารถไปได้ไกล ไปได้เร็ว และมีวิธีการเติบโตในแบบของตัวเอง

นอกจากการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านเพจและเว็บไซต์ การตลาดวันละตอน ยังมีคอร์สสอนสำหรับ นักการตลาด ผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ หรือองค์กรที่อยากเริ่มต้นใช้ Data-Driven Marketing  และรับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้กับนักศึกษาในสถาบันการศึกษา โดยเน้นการสอนแบบออฟไลน์ ได้เจอหน้า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นหลัก โดยเนื้อหาการสอนส่วนใหญ่เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจหลักการเบื้องต้นของการตลาดจากการใช้ข้อมูล ที่ไม่ใช่แค่การยิงโฆษณา

“หลายคนยังเข้าใจว่า มาร์เก็ตติ้ง  เท่ากับการยิงแอด ไม่มีเงินยิงโฆษณา ไม่มีเงินทำคอนเทนต์ ถ่ายรูปไม่สวย เขียนไม่เก่ง แต่มาร์เก็ตติ้ง คือการทำทุกอย่างให้คนอยากได้เรา คือ การทำให้ประสบการณ์ทั้งหมด ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของคุณให้ดี ให้พิเศษและต่างจากของคนอื่น

คีย์หลัก คือการเข้าใจตัวเองก่อน หนึ่ง เราทำสิ่งนี้ไปทำไม ถ้าจุดประสงค์ของคุณชัด คุณไปต่อได้  สอง เมื่อเปิดตัวธุรกิจออกไป เริ่มมีลูกค้า คุณรู้จักลูกค้าดีพอหรือยัง เขาเป็นใคร ใช่กลุ่มคนอย่างที่เราตั้งความหวังไว้หรือไม่ ข้อนี้สำคัญ”

Data-Driven Marketing การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ณัฐพลพบว่า ปัญหาด้านการตลาดของคนส่วนใหญ่ คือ การตั้งคำถามที่ไม่ถูกต้อง “เราอยากขายดี เราต้องรู้ว่า เราขายดีกับใคร และขายไม่ดีจากอะไร ถ้าเรารู้ข้อนี้ คำถามจะเป็นตัวตอบไปแล้วครึ่งหนึ่ง คุณจะไปต่อได้เอง ผมแทบไม่ต้องมีหน้าที่ทำอะไรอีก แค่ชี้ประเด็นว่า คุณจะต้องตั้งคำถามแบบไหนมากกว่า”

การตั้งคำถามที่ถูกต้อง ต่อยอดด้วยการใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือการตลาด ทำให้ทำธุรกิจได้ดีขึ้น คือสิ่งที่ณัฐพลและทีมงาน ต้องการสื่อสารไปยังผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากแต่เดิมที่เจ้าของธุรกิจจะใช้ Data แค่จากตัวเอง จากเพื่อน จากคนรอบตัว คุยกันได้ 5 คน 10 คน

แต่ในปัจจุบัน เราสามารถเข้าถึง Data เยอะกว่านั้นได้มากมาย ในราคาที่ถูกลงได้ ผ่านเครื่องมือ ที่ทำให้เข้าถึง Data ได้ เช่น Google Trend ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจะใช้ Social Listening Tool เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งทีมงานการตลาดวันละตอน ใช้ในการทำ Data Insight ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ในการทำธุรกิจของตัวเองได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาธุรกิจเอสเอ็มี ที่มีการใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือการตลาด เป็นผลิตภัณฑ์แก้ไขปัญหาผมร่วง ซึ่งเจ้าของธุรกิจเป็นผู้ชาย มุมมองทีเ่ห็นคือปัญหาผมร่วงของผู้ชาย พรีเซ็นเตอร์ที่ใช้ก็เป็นผู้ชาย แต่จากการค้นหาข้อมูล กลายเป็นว่า นอกจากผู้ชาย ยังมีกลุ่มผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ที่มีปัญหาผมร่วงเช่นกัน

การเห็น Data ที่ไม่เคยมองเห็นด้วยตนเองมาก่อน  และประเมินว่าคนกลุ่มนี้มีการพูดถึงปัญหานี้มากพอที่จะเป็นโอกาสทางการตลาด คุ้มค่าที่จะลงทุนเพิ่ม เจ้าของแบรนด์จึงทำหรับปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม ปรับสูตรนิดหน่อย ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ โดยไม่ต้องทำอะไรใหม่มากมาย

ภารกิจหนุนเสริม SME ไทย สู่ Data-Driven Marketing

ณัฐพล เผยแผนหนุนเอสเอ็มอี ให้เกิดการใช้ Data เพื่อทำให้ทำธุรกิจได้ดีขึ้น ผ่านโปรเจคท์ Data Insight 77 จังหวัดของประเทศไทย โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 อย่างรุนแรง 

“เราก็มารู้ตอนโควิดว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักของประเทศอย่างหนึ่ง ไม่มีท่องเที่ยวทุกอย่างกระทบหมด ก็เลยอยากทำเพื่อช่วยกลุ่มนี้ก่อน ไล่ทำเป็นรายจังหวัดไปเรื่อยๆ  อันแรกน่าจะเป็นเกาะเสม็ด แล้วก็ไปเขาใหญ่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์กับคนมุมกว้าง มากกว่าเฉพาะเจาะจงแค่บางธุรกิจ

เราทำรายงานสรุปผลสำรวจและเผยแพร่ฟรี เพื่อให้คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พักร้านอาหาร รถเช่า สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รู้ว่าคนมามาจังหวัดเราต้องการอะไร เขาต้องการแบบนี้เรามีไหม ถ้าเรามี ทำมาร์เก็ตติ้งเพิ่มได้ไหม ถ้าเราไม่มีเราจะสร้างเพิ่มได้ไหม” 

นอกจากการทำข้อมูลในเชิงพื้นที่ 77 จังหวัดแล้ว การตลาดวันละตอนยังร่วมกับ Sellzuki แพลตฟอร์มผู้ช่วยธุรกิจ SME ในการทำ Data Insight ในแต่ละผลิตภัณฑ์ เป็นข้อมูลที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบฟรีๆ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ โดยเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ครีมซอง ต่อด้วยข้อมูลร้านบุฟเฟต์

“รายงานนี้ ตั้งใจทำให้กับทุกคนอยู่ในธุรกิจครีมซองได้รู้ว่าคนมี Insight ในการใช้ครีมซองอย่างไร เพื่อ ความขาวใส กันแดด ปกปิดริ้วรอย ใช้กับผิวกายหรือบนใบหน้า แบรนด์ไหนที่มาแรงโดยที่เราไม่รู้ เขาทำอะไรได้ดี ไม่ใช่แค่แบรนด์ใหญ่ที่มีเงินมาจ้างบริษัทแบบผม หรือคนอื่นในการทำ Data มันควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้มากกว่านี้

จากประสบการณ์ก่อนหน้านี้ที่เคยทำมาอยู่แล้ว หัวข้ออย่างเช่น เสื้อผ้าแฟชั่นคนอวบ มีคนแชร์เยอะมาก ทำให้เราเข้าใจว่าแค่นี้เองที่เอสเอ็มอีต้องการ ไม่ได้ต้องการข้อมูลที่แม่นยำ 100% หรือลงลึกมากเกินไป หลายคนชอบคิดว่า เราทำ Data ต้องมีคำแนะนำบอกทุกอย่าง ไม่ต้อง คนทำธุรกิจเก่งพอ เราแค่พอยท์หน่อยว่าประมาณไหน ที่เหลือเค้าเก็ตไอเดีย ไปต่อเองได้ ไม่ต้องป้อนทุกอย่าง” 

Mission ลดช่องว่างการเข้าถึงข้อมูลของ SME

รายงานข้อมูลทางการตลาด Data Insight ในสองโครงการข้างต้น ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเริ่มต้นทำ ในปี 2565 ที่ผ่านมา เพจการตลาดวันละตอน ได้มีการนำเสนอการอัพเดทเทรนด์การตลาด  #การตลาดเดือนละเทรนด์ เผยแพร่ข้อมูล Social​ Data​ Insight​ ในหัวข้อต่างๆ ทุกดือน เพื่อสร้างโอกาสและลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย

“เวลาเราทำ Data Research Insight เราไม่สามารถรู้กว้างทุกอย่างได้ เพราะ resource เรามีจำกัด หนึ่ง เราต้องเลือกหัวข้อก่อนว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร ใส่คีย์เวิร์ดเข้าไป ระบบจะไปดึง Data ที่เกี่ยวกับคีย์เวิร์ดดังกล่าวมาทั้งหมด จากนั้น เอาคนมาจัดการต่อ อ่านวิเคราะห์ทีละประเด็น จนสรุปทั้งหมดออกมาเป็นรายงาน ให้เราเห็นภาพแล้วคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

งาน Data เป็นงานคราฟต์ เป็นงานที่ใช้มากกว่าใช้เป็นหลักเดือน แต่ความเข้าใจคนส่วนใหญ่ คิดว่าเป็นงานเร็ว แต่จริงๆ เราใช้เวลาหลักเดือน เช่น ทำเรื่องผมร่วง ผมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เก็บข้อมูลเชิงลึก คุ้ยทุกเม็ดของคนที่มีปัญหาเรื่องผมร่วง ผมบาง หัวล้าน ทั้งหมด สรุปออกมาเป็นไกด์ไลน์เพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด”

ณัฐพล ให้มุมมองเรื่องความสำคัญของเทคโนโลยีและ Data ที่มีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า หากผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีและใช้ Data เป็น จะทำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ

“ถ้าเขาใช้เป็น เขาจะไปได้เร็ว ไปได้ไกล ถ้าเค้ามีความอยากใช้ จะเรียนรู้ที่จะใช้ได้ หลายคนที่ผมรู้จัก ทำหลังบ้านดีมาก ไม่ใช่แค่ทำมาร์เก็ตติ้ง แต่มีการเก็บข้อมูลลูกค้า เอาไปวิเคราะห์แบบ segmentation เอาง่าย ๆ หากลุ่มลูกค้าชั้นดี เอากลับไปทำ Marketing ต่อ ไปทำ Customer Relation Management”

ในปัจจุบัน มี Tools ในการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายขึ้นและราคาถูกลง แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่นับวิธีการใช้เครื่องมือฟรีอย่าง Google Trend  ต้นทุนในการสร้าง AI ที่ฉลาดพอ เป็นต้นที่สูง ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้  ยังคงจำกัดอยู่กับแค่บริษัทที่มีทรัพยากรมหาศาล และจำกัดการใช้ประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่มที่เป็นเหมือนยอดพีระมิด

ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นเหมือนฐานพีระมิด ก็มีทรัพยากรอันจำกัดและเข้าถึงได้ยาก นั่นคือสิ่งที่ณัฐพลและทีมงานพยายามแก้ไข และตั้งใจทำ Data ที่ดีพอ และเป็นประโยชน์กับคนวงกว้างมากพอ  

“ทุกๆ ครั้งเวลาผมได้รับข้อความในเพจ ที่เข้ามาขอบคุณ ขอบคุณที่ช่วยทำข้อมูลนี้ขึ้นมา  ขอบคุณมากที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา ผมรู้สึกว่า มันเป็นรางวัลชีวิต ที่เรามีความสุข เป็นสิ่งที่ทำให้ใจเราพองฟู มากกว่าเรื่องของเงินทอง

ผมจึงตั้ง purpose ของตัวเองและทีม ผมจะบอกทีมตรงๆ ว่า  เรื่องเงินเป็นเรื่องรอง แต่เราอยากทำอะไรที่ทำให้กับคนอื่นได้ประโยชน์มากกว่า คนที่ทำแบบนี้ เสิร์ชแบบนี้น่าจะเจออันนี้ใช่ไหม ทำแบบนี้ให้เขา แล้วสุดท้าย value มันจะกลับมาเอง เพราะฉะนั้น KPI ของเรา เท่ากับ คำขอบคุณจากคนที่ต้องการมันจริงๆ  เรารู้สึกว่านี่คือ รางวัลของเรา”

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักการตลาด นักธุรกิจ หรือคนที่นิยมเสพคอนเทนต์ดีๆ สามารถติดตาม “การตลาดวันละตอน” ได้ทางเว็บไซต์ www.everydaymarketing.co และทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และยูทูป แล้วคุณจะเห็นว่า Data Insight  อยู่ในทุกมิติชีวิตของคุณจริง ๆ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

MQDC เปิดตัวโครงการ CLOUD 11 ดันเป็นฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ประกาศผลแล้ว! THAILAND SOCIAL AWARDS ครั้งที่ 11

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ