TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityสวทช. - APSA ขยายระยะเวลาความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์พืช เดินหน้าสู่ความมั่นคงทางอาหารโลก

สวทช. – APSA ขยายระยะเวลาความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์พืช เดินหน้าสู่ความมั่นคงทางอาหารโลก

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงขยายระยะเวลาความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์พืช ระหว่างสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก APSA) และ สวทช. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระดับเอเชีย ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเดิมมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ถึง 30 กรกฎาคม 2565 ให้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลงจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2570 เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมายความมั่นคงทางอาหารของโลกและต่อสู้กับปัจจัยที่ท้าทายในอนาคต

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สวทช. และ APSA ได้ดำเนินการร่วมกันทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาบุคลากร และ ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประชาสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น การเข้าร่วมประชุม The 26th Asian Seed Congress (ASC2019) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี APSA เป็นเจ้าภาพ ได้สนับสนุนให้ สวทช. ออกบูธประชาสัมพันธ์ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์ที่จะให้บริการแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ

-“การรักษาสมดุล” เพื่อประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
-KISS จับมือ GMM และ DOD ปั้นนวัตกรรมสินค้าบำรุงผิวและเสริมอาหารจากกัญชง

อีกทั้ง การเข้าร่วมประชุม The Third Asian Solanaceous Round Table (ASRT) 2019 ณ เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ที่จัดโดย APSA นั้น ได้เชิญนักวิจัย สวทช. 2 ท่าน นำเสนอผลงานและร่วมประชุมฯ ได้แก่ ดร.อรประไพ คชนันทน์ (ศช.) ได้นำเสนอภาคบรรยาย เรื่อง “Development of immunochromatographic strip tests for a rapid detection of plant pathogenic bacteria and viruses” และ ดร.ชาญณรงค์ ศรีภิบาล (ศช.) นำเสนอภาคบรรยาย เรื่อง “Tospovirus Research in Thailand: Challenges and Opportunities”

ซึ่งการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ดร.ชาญณรงค์ ได้ดำเนินเสนอข้อเสนอโครงการใหม่ 2 โครงการ ได้แก่ “Development of Inoculation Protocol for PBNV resistance screening in tomato” และ “Screening for Tomato necrotic ringspot virus (TNRV) and Capsicum chlorosis virus (CaCV)-resistant sources in tomato and pepper germplasm” โดยมีบริษัทเมล็ดพันธุ์สมาชิก APSA ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าวหลายบริษัทฯ

จากการประชุมครั้งนี้ ได้เกิดโครงการร่วมวิจัยระหว่าง สวทช. และ APSA เรื่อง “การค้นหาแหล่งความต้านทานต่อเชื้อ Tomato necrotic ringspot virus (TNRV) และ Capsicum chlorosis virus (CaCV) ในเชื้อพันธุกรรมพริก” ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ.2564 และจะสิ้นสุดโครงการในปี พ.ศ.2566 อีกทั้ง สวทช. และ APSA ยังมีแผนงานที่จะดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในอนาคต

วิชัย เหล่าเจริญพระกุล ประธานคณะกรรมการสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า การลงนามบันข้อตกลงในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กร โดยใช้ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์พืช เป็นจุดเริ่มต้นที่มุ่งสู่การพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ เดินหน้าสู่เป้าหมายความมั่นคงทางอาหารของโลกต่อไป อย่างไรก็ตามทั้งสององค์กรได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน ในการเสริมสร้างศักยภาพ ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อต่อสู้กับปัจจัยที่ท้าทายในอนาคต จึงได้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลงจนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2570

ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยที่ได้ดำเนินการร่วมกัน มีลักษณะเป็นโครงการระยะยาว และเป็นงานวิจัยต่อเนื่อง การขยายระยะเวลาความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์พืชนี้ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถ ของภาคอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ ในประเทศไทยสู่ระดับสากล อีกทั้งยังช่วยต่อยอดความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนากับองค์กรอื่น ๆ ของ APSA โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิจัยต่อเนื่อง หัวข้อการค้นหาแหล่งความต้านทานต่อเชื้อ Tomato necrotic ringspot virus (TNRV) และ Capsicum chlorosis virus (CaCV) ในเชื้อพันธุกรรมพริก ที่ได้รับความร่วมมือด้าน Germplasm จากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น New Mexico State University และ World Vegetable Center ความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชสามารถพัฒนาเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ที่มีคุณลักษณะต้านทานโรค และทนต่อสภาวะต่าง ๆ สู่ท้องตลาดได้โดยใช้ระยะเวลาสั้นกว่าปกติ เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ APSA ในฐานะตัวแทนองค์กรเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ สวทช. ได้มีโอกาสแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ และแนวโน้มการเติบโตของตลาดเมล็ดพันธุ์โลก และในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในอนาคตได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

“โครงการความร่วมมือที่กำลังดำเนินการและโครงการความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่มีคุณภาพในประเทศ และในต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ ที่ไม่ได้มาตรฐาน เพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศไทยและในตลาดโลก” วิชัย กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ