TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewRicult สตาร์ตอัพหัวใจเกษตร ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรม

Ricult สตาร์ตอัพหัวใจเกษตร ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรม

ประชากรกลุ่มใหญ่ของไทยราว 40% หรือประมาณ 20 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ คือ เกษตรกร เมื่อเอ่ยถึงเกษตรกร คือ ผู้มีรายได้น้อย ยากจน ของประเทศ ทั้ง ๆ ที่ อุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาทหมุนเวียนอยู่ 

เอิร์น-อุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร รีคัลท์ประเทศไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า รีคัลท์ ตั้งเป้าเป็นสตาร์ตอัพด้านเกษตร ที่มุ่งสร้างบิ๊กดาต้า แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย 

Core back bone คือ การใช้ Machine Learning ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลพยากรณ์อากาศ ข้อมูลดิน และข้อมูลอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการทำเกษตร เพื่อนำมาสร้างเป็นข้อมูลเชิงลึกในอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตออกมาเป็นแอปพลิเคชันที่เกษตรกรสามารถโหลดไปใช้ได้ฟรีผ่านมือถือ ขณะเดียวกัน รีคัลท์ นำข้อมูลในส่วนนี้ไปปรับเปลี่ยนเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ นำไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจของตนเอง 

“สตาร์ตอัพสายเกษตรไม่ได้หวือหวา หรือเซ็กซี่ เมื่อเทียบกับสตาร์ตอัพสายการเงินอย่างฟินเทคหรือคริปโต การเข้ามาทำสตาร์ตอัพสายเกษตรเกิดจากความชอบส่วนตัว บวกกับความต้องการที่จะได้เข้าไปช่วยคนไทย เราไม่ได้มุ่งเน้นที่จะทำเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นสร้าง Social Impact” 

ความท้าทายในการทำสตาร์ตอัพสายเกษตรของไทย มีอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ อายุของเกษตรกรไทยที่ค่อนข้างอยู่ในช่วงสูงวัย ประมาณ 50 ปีขึ้นไป  การศึกษาไม่สูงมาก การเข้าถึงเทคโนโลยีมีจำกัด ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่รีคัลท์ต้องมานั่งคิดแล้วว่าทำอย่างไรจึงจะคิดค้นแอปพลิเคชันให้คนกลุ่มนี้นำมาประยุกต์ใช้งาน  

ประการที่สอง คือ เกษตรเป็นกิจการที่อาศัยระยะเวลาระดับหนึ่ง ตั้งแต่การเริ่มต้นเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ปลูกข้าวใช้เวลา 4-5 เดือน ปลูกอ้อยใช้เวลา 9-10 เดือน ดังนั้น ถ้าต้องออกผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งแล้วต้องรอประมาณครึ่งปีจึงจะเห็นผลว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นใช้การได้หรือไม่ ซึ่งต่างจากแอปพลิเคชันอื่น เช่น แอปฯ หาคู่ที่กดปุ๊ปรู้ผลปั๊ปภายในวันเดียว 

ดังนั้น คนที่จะเข้ามาทำงานในสายงานด้านการเกษตรได้ต้องมีใจรักจริง ๆ ต้องมีความมุ่งมั่นหลงใหลอย่างจริงจังในการเกษตรและปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม 

“สำหรับรีคัลท์เองใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่า ๆ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ สองปีแรกที่เปิดตัวก็แทบไม่มีคนใช้เลย จนถึงปีที่สามถึงเริ่มมีคนใช้ กระทั่งก้าวเข้าสู่ปีที่สี่ที่เริ่มมีการขยายตัวโตตามที่คาดหวังไว้” 

เป้าหมายของรีคัลท์ในปีนี้ คือ ขยายจำนวนเกษตรกรผู้ใช้งานจาก 3 แสนรายในปัจจุบันให้ได้ 1 ล้านราย และเพิ่มจำนวนบริษัทเกษตรที่จดทะเบียนในตลาดจาก 10 รายเป็น 20-30 ราย 

บริการทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ 

ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ของรีคัลท์ ประกอบด้วยสองส่วนหลัก ๆ คือ แอปพลิเคชันให้เกษตรกรใช้ฟรีกับส่วนของซอฟต์แวร์ที่ให้โรงงานใช้ ซึ่งฐานข้อมูลที่เป็นข้อมูลหลักของโปรดักส์ทั้งสองส่วนนี้เหมือนกัน เพียงแต่เบื้องหน้าต้องต่างกันเพราะปัญหาของเกษตรกรและปัญหาของโรงงานแตกต่างกัน 

สำหรับความแตกต่างของผลิตภัณฑ์สองส่วนนี้ ฝั่งเกษตรกรจะไม่สนใจว่ารีคัลท์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัยหรือ เอไอเข้ามาวิเคราะห์ สิ่งที่สนใจ คือ การที่รีคัลท์จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มรายได้เลี้ยงปากท้องได้อย่างไร

“จากการพูดคุยกับเกษตรกรส่วนใหญ่ ปัญหาที่พบ คือ รายได้น้อย เพราะผลผลิตน้อย โดยที่ผลิตได้น้อยก็เพราะสภาพอากาศเป็นเหตุ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าควรจะปลูกอะไร เมื่อไร ถึงจะได้ราคาดี”

อุกฤษ มองว่า การเพาะปลูกของไทยสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ น้ำและระบบชลประทาน แต่เพราะระบบชลประทานไม่ทั่วถึง สิ่งที่เกษตรกรไทยอยากรู้มากที่สุด คือ ฝนจะตกเมื่อไร แล้วเมื่อไรจึงจะมีภัยแล้ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกษตรกรไทยหวาดกลัวมากที่สุด เพราะภัยแล้งไม่ได้ทำให้ไม่มีรายได้เท่านั้น แต่ยังทำให้เกษตรกรไทยเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย 

เนื่องจากการทำเกษตรส่วนใหญ่ คือ การกู้เงินมาลงทุนทำ อีกทั้งผลผลิตที่ขายได้ยังแทบไม่คุ้มทุน โดยสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า รายได้ครัวเรือนเกษตรกรไทยเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาทเท่านั้น กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้ของสังคมไทย

แอปพลิเคชันรีคัลท์ในส่วนของเกษตรกร จึงเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่ช่วยวางแผนในการเพาะปลูก ลดความเสี่ยง เข้าถึงบริการที่จะอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตรและทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 

แอปพลิเคชันจะระบุข้อมูลที่แม่นยำเรื่องสภาพอากาศและการพยากรณ์สภาพอากาศ การใช้ดาวเทียมส่องดูข้อมูลแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรรายนั้น ๆ เพื่อตรวจตรา ตรวจสอบ หรือใช้มองหาสินเชื่อเพื่อนำไปเป็นทุนในการเพาะปลูก ซื้อปุ๋ยซื้อเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ 

ขณะที่ในส่วนของโรงงาน ผู้บริหารจะให้ความสนใจกับบิ๊กดาต้า และเอไอต่าง ๆ เพราะเป้าหมาย คือ การทรานส์ฟอร์มบริษัทกิจการของตนเองให้เข้ากับยุคดิจิทัล เป็นการหาทางจัดสรรระบบขั้นตอนกระบวนการดำเนินการและการผลิตให้ราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยต้นทุนที่ประหยัดหรือคุ้มค่าที่สุด

ยกตัวอย่าง เช่น โรงงานน้ำตาล ที่ขั้นตอนจะครอบคลุมตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบด้วยการเจรจากับทางเกษตรกร เข้าโรงงานแปรรูป และก็ขาย ดังนั้น สิ่งที่โรงงานต้องการ คือ ความแน่นอนของวัตถุดิบที่จะป้อนเข้าสู่โรงงาน ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ แต่ทว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเกษตร คือ เมื่อเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม หรือปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ส่งผลให้ซัพพลายวัตถุดิบค่อนข้างผันผวนอย่างรุนแรง โรงงานจึงไม่สามารถจัดการเรื่องซัพพลายเชนของตนเองได้เลย

แอปพลิเคชันของรีคัลท์จึงเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงของโรงงานในส่วนนี้ ด้วยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และระบุให้รู้ล่วงหน้าว่า เดือนหน้าจะมีวัตถุดิบเข้ามาเท่าไร กี่ตัน ช่วยให้โรงงานสามารถวางแผนการผลิต จัดกำลังคน และวางแผนการขายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หรือในกรณีที่โรงงานดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าโรงงาน แต่ก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนว่า เกษตรกรจะนำเงินไปเพาะปลูกจริงหรือไม่ หรือเอาไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งรีคัลท์จะเข้ามาช่วยในการมอนิเตอร์ความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ 

“บริการของรีคัลท์ในส่วนนี้ดึงดูดความสนใจของภาคกาเงินการธนาคารให้เข้ามาลงทุน เพราะเห็นว่ารีคัลท์มีส่วนในการช่วยติดตามตรวจสอบหนี้ภาคการเกษตรได้ รวมถึงบริหารจัดการคุณภาพหนี้ได้”

แหล่งรายได้ 

เพราะรีคัลท์เป็นแอปพลิเคชันที่โหลดให้ใช้ฟรี รายได้หลัก ๆ ของรีคัลท์จึงมาจากฝั่งโรงงานที่รีคัลท์ขายซอฟต์แวร์ให้ โดยจ่ายเป็น Subscription ในการใช้ซอฟต์แวร์ของรีคัลท์ในการบริหารจัดการเกษตรกร และรับซื้อสินค้าเกษตร 

ส่วนรายได้อีกส่วน คือ รายได้จากค่า Commission จาก Transaction เช่น การที่เกษตรกรนำอ้อยเข้ามาขายโรงงาน หรือ นำฟางข้าวไปขายให้โรงงานไฟฟ้า หรือโรงงานผลิตปุ๋ยขายปุ๋ยให้เกษตรกร รีคัลท์ จะได้ค่านายหน้าในส่วนนี้ โดยรายได้ในส่วนนี้นับว่ามากพอให้รีคัลท์ดำเนินการต่อไปได้ เช่น อ้อย 25% ของผลผลิตอ้อยที่อยู่ในตลาดไทยทั้งหมดหมุนเวียนอยู่บนแพลตฟอร์มของรีคัลท์ คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท 

“ตอนนี้ เราประสบความสำเร็จในการจัดการอ้อย และมีแผนที่จะขยายไปสู่การผลิตมัน ข้าว ปาล์ม และพืชเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป”

อุตสาหกรรมเกษตร ตลาดมหาศาล

ทั้งนี้ อุกฤษ ย้ำว่า อุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีมูลค่าถึงหลายแสนล้านบาท บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยก็โตมาจากเกษตร บริษัทผู้ผลิตน้ำตาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายรายก็มีมูลค่าตลาดหลายหมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมเกษตรของไทยไม่ได้ยากไร้ เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างใหญ่และมีเม็ดเงินมหาศาล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัญหาของสตาร์ตอัพไทยที่จะเข้ามาลุยตลาดอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องระดมทุนตั้งต้น ก็คือ การที่สตาร์ตอัพของไทยจะคิดแค่ตลาดภายในไทย ดังนั้น ตอนที่ Pitch นักลงทุน รีคัลท์จึงต้องวาดแผนให้นักลงทุนเห็นว่า บริษัทสามารถขยายไปประเทศเพื่อนบ้านได้ 

แผนการดังกล่าว ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตัวเติบโตของรีคัลท์ เพราะประเทศกำลังพัฒนาอย่างลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ล้วนมีพื้นเพอยู่ที่ภาคการเกษตร หรือหากกล่าวในภาพกว้าง แทบทุกประเทศทั่วโลกล้วนเติบโตจากภาคการเกษตร ซึ่งการที่พิสูจน์ให้เห็นว่ารีคัลท์สามารถจัดการตอบโจทย์มอบโซลูชันในไทยได้ ก็หมายความว่า รีคัลท์จะสามารถให้โซลูชันด้านการเกษตรในประเทศอื่น ๆ ได้เช่นกัน 

เป้าหมายของรีคัลท์ คือ การเป็นบิ๊กดาต้าแพลตฟอร์มสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ความฝันของรีคัลท์ ไม่ได้อยากเป็นเพียงแค่สตาร์ตอัพของไทย เราอยากจะเป็นสตาร์ตอัพระดับโลก คือ เรามีเป้าหมายระดับโลกว่าเทคโนโลยีเราต้องระดับโลก อิมแพ็คที่เราต้องสร้างต้องระดับโลกที่ช่วยคนหลายล้านคนได้จริง แสดงว่าตลาดไทยไม่พอ เรามีความฝันว่าเราอยากจะไปประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ในอาเซียน ในอินเดีย ในปากีสถาน ในบังกลาเทศ เป็นต้น เพราะว่าปัญหาของอุตสาหกรรมการเกษตรเหมือนกันหมดทุกประเทศที่กำลังการพัฒนา”

ไม่หยุดแค่วงการเกษตร

ขณะเดียวกัน แม้จุดเริ่มต้นของรีคัลท์จะเริ่มจากเกษตร แต่จะคงไม่หยุดอยู่ที่วงการเกษตร แต่ตัดสินใจเริ่มจากเกษตรเพราะเกษตร คือ รายได้พื้นฐานของคนต่างจังหวัดที่อยู่ในเมืองไทย จากการปลูกข้าว ทำนา ทำไร่ รีคัลท์จึงเริ่มต้นจากเกษตรเพราะเป็นแหล่งรายได้แรกของคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม เพราะรีคัลท์อยากเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อคนต่างจังหวัด ดังนั้น จึงตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจของรีคัลท์ในแนวดิ่งเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนต่างจังหวัดในไทย เช่น การเข้าถึงประกันชีวิต  ประกันรถยนต์ หรือการช่วยหางานในช่วงระหว่างที่ว่างเว้นจากการเพาะปลูกทำนาทำไร่ 

“ความฝันของเราอยากที่จะเพิ่มรายได้ โดยที่ไม่จำกัดแค่เกษตรกร แต่ช่วยคนต่างจังหวัดโดยรวมให้มีรายได้ที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ขณะเดียวกัน รีคัลท์ก็มีแผนที่จะต่อยอดสร้างบิซิเนส โมเดลใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยก้าวต่อไปของรีคัลท์ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็ คือ สินเชื่อเกษตรกรและพลังงานชีวมวล 

สำหรับสินเชื่อเกษตรกรนี้มีขึ้นเพื่อช่วยให้ภาคการเงินการธนาคารปล่อยสินเชื่อช่วยเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ยกเว้นธนาคารของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะ

ส่วนพลังงานชีวมวลอยู่ในหมวดของพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งพลังงานชีวมวล ก็คือ การเอาฟางเข้า ชานอ้อย หรือเหง้ามันสำปะหลัง ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากการผลิตของเกษตรไปขายให้กับโรงงานไฟฟ้า แทนที่จะเผากำจัดทิ้งจนกลายเป็นปัญหาสภาพอากาศ และยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่โรงงานไฟฟ้าเองขณะนี้ก็กำลังมองหาเกษตรกรที่จะเข้าขายผลิตภัณฑ์ส่วนนี้ให้กับโรงงาน ซึ่งช่องว่างตรงนี้ก็คือส่วนที่รีคัลท์สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ 

นอกจากนี้ อุกฤษ ยังได้แสดงความเชื่อมั่นต่อรูปแบบธุรกิจของรีคัลท์ว่า จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร ดังนั้น การยกระดับคุณภาพชีวิตของพ่อแม่ย่อมมีส่วนช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพการศึกษา ที่สตาร์ตอัพด้านการศึกษารายอื่น ๆ สามารถใช้แอปพลิเคชันรีคัลท์เป็นช่องทางในการเข้าถึงเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ