TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistคำถามถึง “กสทช.”

คำถามถึง “กสทช.”

ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด สำหรับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติออกมา 2 ต่อ 3 ให้มีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หลังจากเสียงเห็นชอบและคัดค้าน เสมอกัน 2 ต่อ 2 และของดออกเสียง 1 เสียง

ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. จึงใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุม กสทช. ออกเสียงอีกครั้งหนึ่งเพื่อชี้ขาดสนับสนุนการควบรวม จึงเป็นที่มาว่า ทำไมมติออกมาเป็น 3 ต่อ 2 ทั้งที่กรรมการประชุม 5 คนงดออกเสียง 1 คน

แต่ที่เป็นไฮไลท์ให้คนในสังคมวิพากษ์วิจารณ์ คือ กรณีที่คณะกรรมการ กสทช.สองคน คือ ประธานกสทช. และกรรมการอีกหนึ่งคน ยืนยันว่า กสทช.” ไม่มีอำนาจ “ในการอนุมัติ” ทำได้แค่ “รับทราบรายงาน” เท่านั้น ทั้งที่ ข้อ 8 ของประกาศฉบับ พ.ศ. 2549 ระบุว่าชัดเจนว่า

“การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะในทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน จะทำไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการเสียก่อนแในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือครองธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม คณะกรรมการสามารถสั่งห้ามการถือครองกิจการได้”

ที่สำคัญ ที่ประชุมเสียงข้างมากคือ ประธานและกรรมการอีกหนึ่งคน เห็นว่า การควบรวมธุรกิจในกรณีนี้ “ไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” สวนทางกับกรรมการเสียงข้างน้อยอีก 2 ท่านที่เห็นต่าง ว่า “เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน”

สิ่งที่คนสงสัยคือทั้ง ทรูและดีแทค ไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกันตรงไหน คนไทยรับรู้กันมาโดยตลาดว่าผู้ประกอบการทั้งสองค่ายนี้ คือ เบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในธุรกิจโทรคมนาคม และเป็นคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิง

อีกประเด็นที่คนสงสัยกันมาก คือ การลงมติครั้งนี้จะถือว่าผิดหลักการหรือไม่ เพราะประเด็นการพิจารณาเป็นเรื่องของ “กิจการโทรคมนาคม” แต่กรรมการกสทช. ทั้ง 5 คนที่พิจาณาในวันนั้น ไม่มีคนใดที่เป็นกรรมการในสายของกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากกรรมการด้านนี้ ยังอยู่ระหว่างการสรรหา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน นั่นแปลว่ามติที่ออกมาไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านนี้ร่วมพิจารณา  

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค 60-70 ล้านคน ที่อาจจะต้องใช้บริการแพงขึ้น ยังกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศเพราะจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เกิดเงินเฟ้อและกระทบจีดีพีของประเทศ  ทำไมไม่รอให้มีกรรมการด้านกิจการโทรคมนาคม ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเสียก่อน 

อย่างที่คาดเดาทิ้งไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า งานนี้ออกได้ 3 ทาง คือ แนวทางแรก หากกสทช.เห็นว่าการรวมธุรกิจไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด สามารถมีคำสั่ง “อนุญาต” ให้ควบรวมได้โดยไม่มีเงื่อนไข แนวทางที่ 2 กสทช. เห็นว่าการรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาด สามารถมีคำสั่ง “ห้ามการรวมธุรกิจ” และแนวทางที่ 3 หาก กสทช.เห็นว่า การรวมธุรกิจก่อให้เกิดการผูกขาด แต่สามารถกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อแก้ไขการจะก่อให้เกิดการผูกขาดได้ สามารถอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจ และกำหนดเงื่อนไขเอาไว้

การที่ กสทช.เลือกแนวทาง อนุญาตให้ควบรวม แต่มีเงื่อนไข นั่นแสดงว่า รู้ทั้งรู้ว่า หากให้ผู้ประกอบการทั้งสองรายควบรวมกันย่อมเกิดการผูกขาดแน่ ๆ จึงมีเงื่อนไขกำหนด เช่น มาตรการกำกับราคาเฉลี่ยในอนาคต รวมถึงการเฉลี่ยต้นทุน ข้อกำหนดโปรโมชันราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อย และหลังจากควบรวมสำเร็จ จะมีการปฏิรูปสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด ทาง กสทช.ต้องออกเงื่อนไขใหม่เพื่อให้อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน เป็นต้น 

ด้าน รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์เป็นกรรมการเสียงข้างน้อยที่คัดค้านการควบรวมให้ความเห็นส่วนตัวไว้ตอนหนึ่งว่า “ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สาธารณชน และสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ ประโยชน์จากการรวมธุรกิจยังขาดความชัดเจนว่า ประชาชนจะได้รับระโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งในกระบวนการของการพิจารณาก็ได้พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่าง ๆ แต่ผลยังไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดที่มาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้

“จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่าง ๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่า เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (Remedies) ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้”

แม้ว่า กสทช.จะกำหนดเงื่อนไขโดยอ้างว่า เป็นมาตรการไม่ให้ผู้บริโภคเสียเปรียบซึ่ง ในความเป็นจริง กสทช.ก็เคยประกาศใช้มาตรการต่าง ๆอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เคยกำกับดูแลได้จริง ๆ ยิ่งเมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ย่อมทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นตามไปด้วย คำถามคือ กสทช.จะกล้าใช้อำนาจหรือไม่

งานนี้ จึงเป็นเพียงการเล่นกลตบตาคนไทยทั้งประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นได้ว่าการควบรวมจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถควบรวมได้ตามที่ต้องการ เท่านั้น

จึงอยากฟังคำอธิบายจากกรรมกรเสียงข้างมากว่า การควบรวมตามที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบนั้นดีอย่างไร เป็นประโยชน์กับประชาชนในฐานะผู้บริโภคอย่างไร รวมถึงการควบรวมดีกว่าการให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีอย่างไร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ