TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Storyถอดความคิด "ณัฐธิดา สงวนสิน" .... เมื่อ BUZZEBEES ขอเป็น "เดคาคอร์น"

ถอดความคิด “ณัฐธิดา สงวนสิน” …. เมื่อ BUZZEBEES ขอเป็น “เดคาคอร์น”

เมื่อโลกของคนกล้าฝันไม่มีคำว่าผิดถูก และความล้มเหลวไม่ได้แปลว่าพ่ายแพ้ เช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน เคยกล่าวไว้ “เราไม่ได้ล้มเหลว เราแค่ค้นพบวิธีที่ไม่ได้ผลถึง 10,000 วิธี” น่าจะเป็นสิ่งที่พอนิยามตัวตนของ ณัฐธิดา สงวนสิน ผู้ซึ่งล้มแต่ไม่ยอมเลิกในการปั้นแบรนด์ บัซซี่บีส์ (BUZZEBEES) จนทะยานสู่การเป็นสตาร์ตอัตด้านแพลตฟอร์ม CRM & Digital Engagement อันดับหนึ่งของไทย 

“พิ้งค์เป็นคนขี้เบื่อ” นั่นคือบทสนทนาเริ่มต้นระหว่าง ณัฐธิดา สงานสิน กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บัซซี่ บีส์ จำกัด กับ The Story Thailand 

แต่ความเบื่อนั้นกลับให้คุณ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของ “การเรียนรู้ที่หลากหลายและได้ค้นพบตัวเองอย่างรวดเร็ว” จากนักศึกษาปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และคณะบริหารธุรกิจ ม.รามคำแหง แต่เพราะเบื่อสายธุรกิจ จึงผันตัวไปเรียนปริญญาโทด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่อังกฤษจนจบจึงรู้ตัวอีกครั้งว่าไม่ชอบงานโค้ดดิ้งโปรแกรมแม้แต่น้อย

“เป็นจังหวะเปิดโลกคือเราพยายามเรียนรู้ทุกจุด พอถามตัวเองว่า อยากเป็นอะไรในชีวิต คำตอบเลยชัดว่าอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากเป็นแบบ Facebook พอตกผลึกได้ความคิดก็แล่นว่า งั้นต้องทำงานอะไรก็ได้ที่ทำให้เรียนรู้ได้เยอะที่สุด อยากทำให้ดีกว่าเมื่อวาน ไม่ว่าจะเป็นเนื้องานหรือความรู้”

การทำงานในแผนกบริหารโครงการ บริษัทที่ปรึกษา KPMG Consulting คือ โรงเรียนแรกในชีวิตการทำงานที่มอบโอกาสการเรียนรู้ธุรกิจแบบตัวต่อตัวที่เป็นของจริงทั้ง กระบวนการ และ แนวปฎิบัติที่ให้ผลเป็นเลิศ ผ่านการทำงานในโปรเจ็คต์ต่าง ๆ ให้กับองค์กรของลูกค้า เช่น United. Nation บริษัท Organge ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบไอที ระบบโทรศัพท์สื่อสาร การตรวจสอบการทำงานภายใน การศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การจัดการเรื่องทรัพยากรบุคคล การติดตามกระบวนการผลิตของแต่ละธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พอออกจากเคพีเอ็มจีย้ายมาทำงานที่ จีอี แคปปิตอล (GE Capital) รับผิดชอบงานกระบวนการปรับปรุงคุณภาพภายในตามทฤษฎีซิกซ์ ซิกม่า (Sig Sigma) ของ แจ็ค เวลซ์ เช่น การพัฒนาระบบจดจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อการกู้ยืม การปรับปรุงระบบติดตามหนี้ จนสามารถทำเงินได้กว่า 200 ล้านบาท 

“ตลอด 2 ปีที่อยู่เคพีเอ็มจี พิ้งค์ทำไปสิบกว่าโปรเจ็คต์ อย่างตอนไปดูโรงงานผลิตไก่ ต้องทำตั้งแต่ตรวจฟาร์มไก่ไปจนถึงขายไก่หน้าฟาร์ม ส่งไปโรงงานจนจบเป็นสินค้าพร้อมส่งออก พอถูกส่งไปทำโปรเจ็คต์ที่ออเร้นจ์ ก็ได้เห็นกระบวนการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นของจริง แต่ทุกอย่างยังเป็นการตรวจงานตามไกด์ไลน์ที่เคพีเอ็มจีให้มาแล้วเขียนรายงานสรุป แต่ช่วงทำงานที่จีอีราว 1 ปี อันนี้ลงลึกถึงภาคปฏิบัติที่ต้องทำให้เกิดผลจริง ต้องศึกษาเรื่องระบบหนี้ เงินกู้ ออกแบบระบบคอมมิชชั่น พัฒนากระบวนการติดตามหนี้ไม่ให้ยากเกินไป ซึ่งบ่มเพาะตัวเราให้เป็นคนที่ทำอะไรจะเน้นความเป็นกระบวนการแบบจ๋า ๆ มาก”  

ก่อตั้ง ”ไอคอนเซ็ปต์” 

ภายหลังเหตุการณ์เครื่องบินสองลำพุ่งชนตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 กันยายน  2544 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการเข้างวดในการตรวจสอบภูมิหลังของประชาชนใน 22 อาชีพเป้าหมาย เช่น นักบิน แพทย์ ครู คนขับแท็กซี่ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความต้องการเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในการตรวจสแกนลายนิ้วมือที่พุ่งสูงและรวดเร็ว เป็นจังหวะที่เธอได้พบกับ ไมเคิล เชน ผู้ร่วมก่อตั้งบัซซี่บีส์ จึงร่วมกันคว้าโอกาสนี้พัฒนาโซลูชันสแกนลายนิ้วมือจนเสร็จภายใน 3 อาทิตย์ และยื่นขอรับรองจากหน่วยงานเอฟบีไอตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตอนนั้น มีเพียง 4 รายในโลกที่ทำได้ คือ เอ็นอีซี พรินท์เทค ไอเด็นเทค และมัลฟอร์ด ส่วนไมเคิลและเธอน่าจะเป็นรายที่ 5 หรือ 6 เมื่อเห็นว่าโปรดักส์นี้มีอนาคต จึงตัดสินใจขอเป็นตัวแทนขายในไทย และเป็นที่มาของการตั้ง บริษัท ไอคอนเซ็ปต์ (IConcept)ในปี 2546 โดยระหว่างนั้นยังคงทำงานที่จีอี แคปปิตอลควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งปี 2548 จึงออกจากงานประจำมาลุยธุรกิจในบทผู้ประกอบการเต็มตัว

ไอคอนเซ็ปต์เปิดตัวในเมืองไทยด้วยโซลูชันสแกนลายนิ้วมือชื่อว่า e-Fingerprint โดยลูกค้าหลัก คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หน่วยงานสันติบาล เป็นโซลูชันที่มาอุดช่องโหว่ของคนสามสัญชาติที่ไม่มีพาสปอร์ตและเดินทางโดยใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุผู้แฝงตัวเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ดังนั้น การสร้างฐานข้อมูลลายนิ้วมือเชื่อมกับฐานข้อมูลอาชญากรรมช่วยให้พบประวัติกระทำผิดได้รวดเร็ว หลังจากติดตั้งซอฟต์แวร์ใช้งานได้ราว 1-2 สัปดาห์ สามารถตรวจจับยาเสพติด ตลอดจนผลักดันคนข้ามแดนผิดกฎหมายออกนอกประเทศได้จำนวนมาก

“สิ่งหนึ่งที่ภูมิใจ คือ ได้ใช้โซลูชันนี้สแกนลายนิ้วมือคนข้ามแดนที่ผ่านเข้าไทยมาเป็นสิบ ๆ ครั้ง ด้วยรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันเพื่อพิสูจน์ให้เอกอัครราชฑูตสหรัฐฯ ที่ถูกเชิญมาขณะนั้นได้กระจ่างว่า คนเหล่านี้เข้าไทยมาทำงานโดยสมัครใจ ไม่ใช่เหยื่อค้ามนุษย์ที่ควรจะมาลดระดับประเทศไทย ซึ่งถึงทุกวันนี้ โซลูชันนี้ก็ยังใช้งานอยู่ในตม. ณ จุดผ่านแดนรอบประเทศไทยที่ไม่ใช่สนามบิน”

สตาร์ตอัพ “บัซซี่บีส์”

ปี 2553 เป็นจุดเปลี่ยนธุรกิจเมื่อได้พบเพื่อนของคุณไมเคิลซึ่งทำธุรกิจสตาร์ตอัพแต่ขายบริษัทให้อินเทลไปสองพันล้านเหรียญ แล้วในวงข้าววันนั้นทุกคนคือสตาร์ตอัพ บางคนมาจากเวียดนาม บางคนมาจากซิลิคอนวัลเล่ย์ 

ตอนนั้นกระแสเฟซบุ๊กกำลังแรง กระแสสตาร์ตอัพเริ่มมา เทรนด์ข้างหน้าชี้แล้วว่า ต้องจับเรื่องเกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัล หรือธุรกรรมบนโซเชียลมีเดีย เพราะการทำงานแบบโปรเจ็คต์เบสคงไม่ใช่เทรนด์ ความที่โตมากับแพลตฟอร์มองค์กร ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโมไบล์ แต่ความเป็นคนใจเร็ว ทำเร็ว รุกเร็ว เธอส่งน้องในบริษัทไปเรียนไอโอเอส เรียนแอนดรอยด์ เรียนการพัฒนาแพลตฟอร์มบนโมไบล์ แล้วก็ตั้ง บริษัท บัซซี่ บีส์ ตอนปี พ.ศ.2555 ตั้งใจให้เป็นบริษัทพัฒนาโปรแกรมรักษาฐานลูกค้า (Loyalty Program) โมเดลธุรกิจ คือ การโฆษณาและการสะสมแต้มแลกของรางวัลผ่านเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดีย

“คิดว่าท่านี้แหล่ะเจ๋งสุด แต่พอเอาโมเดลนี้ไปปรึกษารุ่นพี่ในวงวารโซเชียล คำตอบที่ได้กลับมาคือ “คุณทำบ้าอะไรเนี่ย!”

เพราะโมเดลบัซซี่บีส์เหมือนเปิดศึกรอบด้าน ต้องหาสปอนเซอร์ ต้องสะสมจำนวนผู้ใช้งาน ต้องติดต่อซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้ของรางวัลมาแจก มีรายได้จากเก็บค่าโฆษณาค่าแบนเนอร์บนหน้าเพจทีละนิดละหน่อยเพื่อมาเลี้ยงแอปพลิเคชัน

“จ๋อยมากแต่ไม่ยอมแพ้ แอบดื้อเพราะแอปพลิเคชันพัฒนาเสร็จแล้ว พิ้งค์ก็งัดทฤษฎีการตลาดมาเลย วิจัยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมายอย่างนักศึกษา คนทำงานที่เพิ่งจบใหม่ ทุกคนบอกว่านี่คือสิ่งที่เวิร์คที่สุด เราก็มั่นมาก เปิดตัววันแรกต้องระเบิดระเบ้อแน่ ปรากฎว่ามีคนใช้อยู่ 20 คน เป็นน้อง ๆ ในออฟฟิศ วันที่สองเพิ่มมาอีก 20 เป็นกลุ่มญาติ ๆ เราก็เริ่มแย่ละจะแป็กไม๊ แต่ปลอบใจตัวเองว่า คอนเซ็ปต์ดีแต่อธิบายไม่ดี การตลาดไม่เจ๋งจึงไม่มีใครเข้าใจ เพราะเอาจริง ๆ ยังไม่มีใครพัฒนาแอปฯ บนโมไบล์ที่ทำให้ใครได้แต้มรางวัลมาก่อน ก็จ้างเลยเอเจนซี่การตลาดออนไลน์ใครเก่งสุด ก็ได้บริษัท ซีเจ เวิลด์ มาช่วย”  

การทำตลาดออนไลน์ ใช้ผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียล ลงโฆษณาในเฟซบุ๊กได้ผลจริง สามารถสร้างจำนวนบัญชีผู้ใช้งานให้บัซซี่บีส์ถึง 250,000 คนภายในเดือนเดียว แต่ก็หายไปหมดในเดือนถัดมา เพราะไม่มีของรางวัลจูงใจผู้ใช้งานให้อยู่กับแพลตฟอร์มอย่างยั่งยืน สปอนเซอร์ ซัพพลายเออร์มองไม่เห็นประโยชน์เพราะพอจะเอาบัซซี่บีส์เสนอ ไม่ทันกับผู้ใช้งานที่ทะยอยออกจากแพลตฟอร์มไปเรื่อย ๆ แถมได้บทเรียนว่า ความเข้าใจพฤติกรรมคนยุคดิจิทัลไม่สามารถวัดผลได้จากการทำงานวิจัยเพียงอย่างเดียว

เจ็บแต่ไม่ยอมจบ

“เงินเก็บ 3.5 ล้านบาทที่สะสมจากการทำงาน กำไรที่ได้จากไอคอนเซ็ปต์ พิ้งค์เอามาลงจนหมด แล้วก็หมดไม่เหลือจริง ๆ ภายในเวลาแค่ 3 เดือน รู้แล้วว่าตัวเองทำผิด แต่ไม่รู้จะทำให้ถูกยังไง ก็คุยกับไมเคิลว่า เลิกทำดีไม๊ กลับไปทำไอคอนเซ็ปต์ ลุยโปรเจ็คต์ราชการเหมือนเดิมดีกว่า”

แต่เหมือนโชคช่วย บัซซี่บีส์รอดตายในครั้งนั้นเพราะงานประมูลโครงการของ 2 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในตลาดสื่อสาร คือ  AIS Privilege และ Samsung Galaxy Gift ที่เธอสู้ชนิดทุบหม้อข้าวตัวเอง

วันที่ไปฟังสรุปเงื่อนไขความต้องการของลูกค้าเป็นวันที่บิซซี่บีส์นำของที่เขาอยากได้ไปให้แบบสำเร็จเรียบร้อย แถมยังปิดช่องว่างบัซซี่บีส์ชนิดครบขา ทั้งขาของสปอนเซอร์ ฐานยูสเซอร์ที่มาจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์ และซัพพลายเออร์มาทำของรางวัล เป็นโมเดลที่สร้างรายได้ต่อเนื่องให้แอปพลิเคชัน ยูสเซอร์ก็สนุกกับการสะสมแต้มไว้แลกของรางวัลแลกบัตรกำนัล เจ้าของธุรกิจมีรายได้จากธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น แล้วโปรแกรมซีอาร์เอ็มเป็นสิ่งที่องค์กรทำแล้วไม่ค่อยเลิก เลยเป็นโปรเจ็คที่ถูกจ้างทำต่อเนื่องและบัซซี่บีส์เริ่มมีรายได้มาต่อลมหายใจ      

“บัซซี่บีส์เหมือนสิ่งที่มาก่อนกาลเลยไม่มีใครสนใจและเราก็ไม่มีฐานลูกค้า พิ้งค์เชื่อว่าแนวคิดธุรกิจนี้ไม่ผิดแต่เล่าไม่รู้เรื่อง ขายไม่เป็นเลยขายได้น้อย และไม่เคยเข้าตลาดฝั่งคอร์ปอเรตจริงจัง เลยไม่มีมูลค่าอะไรให้จับต้องได้ พอได้งาน 2 โปรเจ็คต์นี้มาคือบรรลุเลยว่า เราเข้าใจผิดที่สู้อุตส่าห์พัฒนาแอปฯ ออกมาเป็นร้อยฟีเจอร์ ลูกค้าตัดเหลือแค่สามฟ่เจอร์ เพราะท่าที่ใช่ที่สุดของแอปฯ บนมือถือ คือ ทำให้ใช้ง่าย ๆ ปูพื้นให้ผู้ใช้งานเข้าใจ และกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานกับแบรนด์ให้มาก ๆ (engagement) แต่ที่ผ่านมาคือ ฟีเจอร์จัดเต็ม ของชั้นต้องเจ๋ง แต่โทษทีผู้ใช้งานใช้ไม่เป็น”  

ถึงกระนั้นตลอดสามปีที่ทำธุรกิจ บัซซี่บีส์มีลูกค้าแค่สามราย คือเอไอเอส ซัมซุง และพีทีทีโออาร์ มีฐานบัญชีผู้ใช้งานราวสองล้านคน แต่รายได้ไม่เป็นอย่างที่หวัง ความคิดเริ่มตัน และอยากเลิกอีกครั้ง

ตั้งโจทย์ใหม่ โฟกัสที่ “อีโคซิสเท็มส์”

“ชีวิตของคนที่คิดเป็นผู้ประกอบการ พิ้งค์ว่าต้องมีคำนี้ในใจนะ คำว่า ความทรหด เพราะมันจะมีวันที่คุณพลาดแล้วพลาดอีก โดนต่อยแล้วก็โดนอีก หรือล้มหนัก ๆ จนจิตตกแบบ เลิกทำดีกว่าทีนี้ขึ้นอยู่กับว่า จะพาตัวเองออกมาจากความหดหู่ได้ไม๊ วันที่หมดแบบไม่เหลืออะไรแล้ว คุณจะยังลุกขึ้นสู้ต่อไม๊” 

การปลุกใจตัวเองให้กลับมาเชื่อมั่นว่า บัซซี่บีส์คือธุรกิจอนาคตที่มาแน่ ๆ และต้องเลือกว่าจะทำให้สำเร็จในมือเรา หรือปล่อยให้ไปสำเร็จในมือคนอื่น

จังหวะนั้นเองที่กลุ่มแอสเซนด์ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่นให้ความสนใจร่วมลงทุนด้วย ทำให้เธอตัดสินใจสู้ต่อ พร้อมเร่งขยายการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพิ่มเติม อาทิ “บัซซี่บีส์ วอลเล็ต” กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างร้านค้ากับวอลเล็ตทุกยี่ห้อ ตั้งแต่ ทรูมันนี่ อาลีเพย์ แอร์เพย์ ดอลฟิน โดยผ่านเครื่องของอีซี่บีส์เพียงเครื่องเดียว การจัดตั้ง บริษัท มาร์เก็ต บัซซ์ (Marketbuzz) บริษัทสำรวจวิจัยทางการตลาดผ่านสมาร์ทโฟน ในปี 2558 เป็นต้น จนท้ายที่สุด ได้ลูกค้าครบทุกธนาคารจากการพัฒนาโปรแกรมสะสมแต้มแลกของรางวัลภายในเวลา 1 ปี และสร้างฐานบัญชีผู้ใช้งานโตถึง 13 ล้านบัญชี เกิดการใช้งานของภาคธุรกิจอื่นตามมา เช่น ธุรกิจประกัน ธุรกิจภาคบริการที่ใช้บริการรอยัลตี้โปรแกรม ไล่ลงมาถึงการใช้งานของวอลเล็ตของเอสเอ็มอี อย่างชานมไข่มุก “คามุ ที” สุกี้ตี๋น้อย เพรสเซล”อานตี้แอนส์” เป็นต้น 

ส่วน “อีโคซิสเท็มส์” พิ้งค์เล่าว่า เป็นเฟสสองของบัซซี่บีส์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มทรูเข้ามา และเริ่มเห็นว่าระบบที่พัฒนายังเป็นฝั่งคอร์ปอเรตที่ส่งออกไปหาร้านค้าและยูสเซอร์ แต่ยังไม่มีระบบด้านฝั่งขารับ เช่น ระบบชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ระบบซีอาร์เอ็มตัวเล็ก ๆ หรือพีโอเอส เชื่อมต่อกับระบบจัดการของรางวัล ระบบส่งของ ระบบติดตามเวนเดอร์ เพื่อให้ได้ระบบงานดิจิทัลครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบด้วยแพลตฟอร์มบัซซี่บีส์ จึงเร่งพัฒนางานเบื้องหลังให้ครบทุกจุด

ปัจจุบัน บัซซี่บีส์นับว่ามีเครือข่ายร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ 30,000 สาขา ดำเนินโครงการรอยัลตี้โปรแกรมที่มีผู้ใช้งานกว่า 130 ล้านบัญชี มีองค์กรธุรกิจที่อยู่ในอีโคซิสเท็มส์กว่า 400 ราย และเกิดการประกอบธุรกรรมราว 2 ล้านบัญชีต่อวัน รวมถึงสร้างการเติบโตของบัซซี่บีส์แบบก้าวกระโดดชนิดโต 300% จาก 50 ล้านบาทในขวบปีแรก มาเป็น 160 ล้านบาท และโตต่อเนื่องมาตลอดจนถึง 1,100 ล้านบาทในปีที่แล้ว ส่วนเป้าการเติบโตที่ตั้งไว้ในปีนี้ คือ 1,800 ล้านบาท และคาดว่าจะแตะ 3,100 ล้านบาทได้ในปีหน้า

ฝันไกลถึงเดคาคอร์น ด้วยการทำ Productization

วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจที่น่าประหลาดใจของบัซซี่บีส์อย่างหนึ่ง คือ การปฎิเสธดีลธุรกิจที่ไม่ใช่อนาคต และการตอบตกลงดีลธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งพิ้งค์อธิบายให้ฟังว่า บัซซี่บีส์โตมากับการขายแพลตฟอร์มที่ต้องมีการปรับแต่งการใช้งานให้เหมาะกับธุรกิจที่เปลี่ยนไปก็จริง แต่จะไม่เสียเวลาการพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคตเนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด (ปัจจุบันมีพนักงานไอทีราว 250 คน) ส่วนการลงทุนในตลาด red ocean ที่แข่งขันสูงอยู่แล้ว เช่น พีโอเอสอย่าง B-POS ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ต้องการเป็นคู่แข่ง แต่เป็นการควบรวมระบบอีโคซิสเท็มส์จากแวดวงค้าปลีกเพื่อเติมเต็มอีโคซิสเท็มส์ของบัซซี่บีส์ให้ครบองค์ประกอบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม บัซซี่บีส์จะโตท่านี้ไม่ได้หากคิดจะเป็นยูนิคอร์นระดับพันล้านเหรียญ แต่ต้องเหนื่อยกับการปรับปรุงแอปพลิเคชันให้เข้ากับธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายตลอดเวลา การชนะโจทย์นี้จึงต้องนำการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ไปสู่ความเป็น Productization และสร้างระบบอีโคซิสเท็มส์ให้แข็งแรงเพื่อลงแข่งขันในตลาดโลก 

ด้วยรูปแบบของ Productization จะทำให้โซลูชันของบัซซี่บีส์ได้รับการพัฒนาฟีเจอร์การทำงานที่เป็นมาตรฐานพร้อมใช้สำหรับทุกธุรกิจ หรือติดตั้งโดยปรับแต่งค่าการใช้งานเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นโอกาสของการขยายช่องทางจำหน่ายและบริการผ่านตัวแทนขายได้ในอนาคต นอกจากนี้ การขยายระบบอีโคซิสเท็มส์ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจให้กว้างขวางและแข็งแกร่งมากขึ้น เช่น การซื้อธุรกิจซอฟต์แวร์ในการบริหารร้านสปากับคลินิคชื่อ “ใส่ใจ” ซึ่งทำให้ได้เครือข่ายร้านสปาเข้ามาเพื่อผลักดันเรื่องของรอยัลตี้โปรแกรม

ส่วนโครงการลงทุนในต่างประเทศเพิ่อปูทางสู่ตลาดโลกตั้งแต่ก่อนโควิดซึ่งขาดทุนจนต้องพับฐานไปก็เอามาปัดฝุ่นลงทุนกันใหม่ เช่น ในประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ยกตัวอย่าง ฟิลิปปินส์ที่เปิดตลาดไปในระยะ 2-3 เดือน ได้ลูกค้าคอร์ปอเรตมา 30 ราย ในร้านค้า 80 สาขา นับเป็นการต่อจิ๊กซอว์ระบบอีโคซิสเท็มว์ระหว่างบัซซี่บีส์และพาร์ทเนอร์ที่ win-win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ซึ่งสำหรับสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ระดับประเทศ เธอเรียกว่าเป็น “ยุทธวิธีป่าล้อมเมือง” ในการเดินทีละก้าว ต่อจิ๊กซอว์ที่ละภาพ โยงทีละจุดให้เกิดเป็นอีโคซิสเท็มส์ที่เชื่อมทุกการติดต่อระหว่างคอร์ปอเรต ร้านค้า และผู้ใช้งานไหลรวมเข้าสู่บัซซี่บีเสมือนเป็นวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดในโลกของดิจิทัล และหากไม่มีอะไรผิดแผนน่าจะถึงเป้าการเป็นยูนิคอร์นได้แน่นอนใน 3-4 ปีข้างหน้า 

พิ้งค์เปรยว่า ภาพของยูนิคอร์นสำหรับบัซซี่บีส์นั้นชัดมาตลอด แต่ปีนี้เหมือนจับทางธุรกิจได้ว่า ถ้าอยากไปให้ไกลถึงเดคาคอร์น (Decacorn) ที่มีมูลค่าหมื่นล้านเหรียญ ต้องงัดกลยุทธ์เรื่องของ Productization และบุกให้ถึงตลาดโลกให้ได้

ส่วนอะไรที่ทำให้มั่นใจ เธอบอกว่าเกิดจากการที่มีคนเริ่มนำแพลตฟอร์มซีอาร์เอ็มระดับเวิล์ดคลาสมาเทียบกับบัซซี่บีส์เพื่อต้องการเปลี่ยนมาใช้ของเธอ โดยตัวแพลตฟอร์มที่เป็น suite สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ถึง 70-80% ส่วนการบ้านที่ต้องทำต่อ คือ การตลาดเพื่อจัดวางตำแหน่งของแบรนด์บัซซี่บีส์ให้มีชื่อชั้นไม่ต่างจากแบรนด์อย่างเซลล์ฟอร์ซ เซ็คชั่นเอ็ม ซีเบล หรือ ไมโครซอฟท์ ให้ได้ในอนาคต 

มันเป็นความฝันของสตาร์คอัพที่อยากไปให้ถึงธุรกิจหมื่นล้านในวันหนึ่ง อยากเห็นตัวเองเป็นผู้เล่นคนสำคัญบนเวทีโลก ถ้าเราฝันใหญ่ เลือกใช้คนถูก แล้วเดินหน้าไม่ลดล่ะ ยังไงก็ถึงแน่ ๆ แต่จะถึงเมื่อไหร่แล้วแต่ฝีมือ พิ้งค์ไม่อยากเล่นเกมสตาร์ตอัพที่ผลาญเงินแล้วต้องไปวิ่งหาเงินก้อนใหม่เอาข้างหน้า ไม่อยากเป็นสตาร์พอัตที่พอเงินหมดแล้วบริษัทตาย เราวางโมเดลธุรกิจของเรามาดี เรายอมกดกำไรให้เหลือ 2% เพื่อเอาเงินไปลงทุนให้บริษัทโต แม้บัซซี่บีส์จะถึงเส้นชัยช้ากว่าคนอื่น แต่นี่คือวิธีที่เราเลือกแล้ว” 

ดีเอ็นเอคนบัซซี่บีส์

การสร้าง วัฒนธรรมของความไม่ยอมแพ้ ให้กับพนักงานในองค์กรที่สะท้อนผ่านค่านิยมหลัก (Core Value) 5 Bs คือ Be Fast-คิดนำทำเร็ว Be Bold-กล้ารับผิด คิดแก้ไข และไม่ผิดซ้ำ Be Persistent -อึด ถึก ทน Be Inspired – เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และ  Beyond Expectation– คิดนอกกรอบ ไม่ติดกับดักวิธีการเดิม ๆ และทำทุกอย่างให้ดียิ่งกว่าเก่า รวมถึงการเดินหน้าการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าประสงค์และมีความสุขในทุก ๆ วัน ซึ่งเป็นการปูพื้นบุคลากรที่ไม่ใช่เพื่อการทำงานในบัซซี่บีส์ แต่เป็นเพราะคนที่มีคุณลักษณะแบบนี้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็จะประสบความสำเร็จ เมื่อเจออุปสรรคก็มีพลังต่อสู้ฝ่าฝัน

ซึ่งค่านิยมหลัก 5 Bs มาจากการถอดบทเรียนชีวิตและประสบการณ์ทำงานของเธอ ไมเคิล และทีมงานที่ร่วมหัวจมท้ายด้วยกันมาเป็นสิบ ๆ ปี ทุกคนล้มกันมาแล้วเป็นหมื่นครั้ง โปรดักส์ที่ดันสู่ตลาดเป็นร้อยตัวแต่เจ็งไปก็เยอะตายไปก็แยะ จึงอยากถ่ายทอดดีเอ็นอีนี้ให้กับพนักงานรุ่นใหม่ ๆ สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การปลูกฝังให้ทุกคนต้องมีเป้าประสงค์ในชีวิตตลอดเส้นทางที่เดินไป 

“มีคนถามเยอะว่ากุญแจความสำเร็จของบัซซี่บีส์อยู่ที่ไหน พิ้งค์จะย้ำคำตอบเดิมเสมอว่า ถึงชั้นเจ๊งแต่ชั้นไม่เลิก เพราะคนที่แพ้แล้วออกจากเกมมันก็จบถูกไม๊ แต่พิ้งค์ไม่ยอมออกจากเกม พิ้งค์เลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการเล่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอทางที่ใช่ ซึ่งก็จะวกกลับไปที่ 5Bs แล้วขีดเส้นใต้หนัก ๆ ใต้คำว่า อึดถึกทน มีแรงบันดาลใจ และตั้งเป้าประสงค์ที่อยากสำเร็จอย่างแรงกล้า แล้วทำทุกอย่างให้ดีกว่าเมื่อวานเพื่อให้ตัวเองเฉียบคมขึ้นในทุก ๆ วัน”

สตาร์ตอัพในฝันของพนักงาน

หากมองย้อนไปกลับไปตอนเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งเธอและไมเคิลมีจุดมุ่งหมายต่างกัน ไมเคิลคิดไกลถึงขั้นอยากเปลี่ยนโลก โดยมองว่าตลาดธุรกรรมด้านดิจิทัลในโลกไม่ควรถูกรวบตึงในมือผู้ค้าไม่กี่ราย เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ส่วนเธอเองตั้งเป้าอยากมีเงินสองร้อยล้านบาทตอนอายุ 25 พอไปถึงแล้วก็เปลี่ยนเป้าให้ใหญ่ชึ้นเป็นการทำเพื่อคนอื่น เพื่อพนักงานให้มีความสุขและอยู่ดีกินดี 

“การแจกหุ้นไอพีโอ (IPO) ให้กับพนักงาน” เป็นสิ่งที่เธอตั้งใจมาตั้งแต่เริ่มต้นบริษัท บัซซี่บีส์ เหตุมาจากปมที่ไม่สามารถสร้างรายได้และชีวิตที่ดีกว่าให้กับพนักงานที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ไอคอนเซ็ปต์ได้ ทั้งนี้ การวางแผนการให้หุ้นไอพีโอราว 5% จากมูลค่ารวม 133 ล้านดอลลาร์ ก็จะอยู่ที่ราว 2-3 ร้อยล้านบาทกระจายให้กับพนักงานราว 500 คน ส่วนใครจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถและอายุการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของุธรกิจบัซซี่บีส์ร่วมกัน อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนหรือกำไรที่เพิ่มขึ้นจากหุ้นไอพีโอที่ให้ไป โดยหวังว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยงบประมาณปีหน้า เพื่อไปออกหุ้นไอพีโอให้ได้ในปี 2567 จากนั้น หน้าที่ต่อไปของเธอ คือ สร้างมูลค่าบริษัทจาก 133 ล้านดอลลาร์ ไปเป็นยูนิคอร์นพันล้าน ไปเป็นเดคาคอร์นหมื่นล้านให้ได้

พร้อมรับ ESG

ข้อดีอย่างหนึ่งของบัซซี่บีส์ คือ การมีผู้บริหารที่เชี่ยวชาญในเรื่องกระบวนการจัดการองค์กรที่ทำให้สามารถเตรียมงานงานหลังบ้านและกระบวนการตรวจสอบได้ทันต่อการเติบโตทางธุรกิจ และพร้อมต่อการเสนอขายหลักทรัพย์ไอพีโอตามแผนที่วางไว้  ซึ่งต้องมีการเตรียมการเพิ่มเติมเรื่องความยั่งยืน การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมตามหลัก ESG และการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น

เทรนด์โลกเรื่องอีเอสจีเป็นสิ่งที่บัซซี่บีส์มีมานานแล้วแต่ไม่เคยจัดโครงสร้างให้เห็นเป็นภาพชัด เช่น ระบบบัตรกำนัลดิจิทัล (e-Voucher) การลดขั้นตอนการจัดซื้อ-ส่งบัตรกำนัลหรือคูปองแลกคะแนน ที่เดิมต้องจัดทำเป็นเล่มส่งให้ทางไปรษณีย์ขึ้นไปอยู่บนมือถือ การจัดโปรแกรมลดแลกแจกของรางวัลที่เฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับลูกค้าที่ถือบัตรเครดิตต่างประเภทกัน รวมถึงการใช้งานรบบ e-Flow ซึ่งลดทั้งเวลาและงานเอกสารกระดาษให้ไปอยู่บนระบบดิจิทัลทั้งหมด เป็นต้น  

รางวัลการันตีความสามารถ

บัซซี่บีส์เป็นสตาร์ตอัพที่ไม่มีเมนทอร์ ไม่เคยเข้าโปรแกรมสตาร์ตอัพที่ไหน สิ่งที่ทำมาตลอดก็คือ ทำและทำเพื่อให้คนอื่นตามเราไม่ทัน”

ด้วยความที่บัซซี่บีส์ยังไม่เป็นที่รู้จักและไม่มีใครเข้าใจโมเดลธุรกิจเมื่อแรกเปิดตัว ทำให้เธอตัดสินใจส่งโปรดักส์ไปแข่งขันกับแบรนด์ระดับคอร์ปอเตและกวาดรางวัลมาได้ถึง 20 รางวัล รวมถึงรางวัลการันตีความสามารถในนามบุคคลติดต่อกันหลายปี อาทิ รางวัลบริษัทผู้พัฒนาโซลูชันด้านเอ็นเตอร์ไพรส์ยอดเยี่ยม และรางวัลบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ จากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย รางวัลผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ จากนิตยสารเฮลโล รางวัลชนะเลิศธุรกิจแห่งอาเซียน ประเภทความเป็นเลิศด้านการเติบโตในธุรกิจเอสเอ็มอี รางวัลยกย่องนักการตลาดด้านดิจิทัลแห่งเอเชียจากประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น นั่นทำให้ชื่อชั้นบัซซี่บีส์ในประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่จากนี้ต่อไป ต้องพยายามผลักแดนสู่เวทีรางวัลระดับโลกมากขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม บัซซี่บีส์จะโตต่อได้แค่ไหนไม่ใช่เรื่องของรางวัล แต่อยู่ที่การสร้างชุดความคิด ต้องคิดใหญ่ ต้องมั่นใจ เธอเคยทำโอเคอาร์ (Objectives and Key Results -OKRs) เพื่อกำหนดเป้าหมายของบุคคลให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายองค์กร ซึ่งหนึ่งในปรัชญาของโอเคอาร์ คือ Moonshot หมายถึงการตั้งเป้าแบบฝันไกลไปดวงจันทร์ เช่น ถ้าคุณเป็นพนักงานขายแล้วตั้งเป้าปีหน้าโตแค่ 15% อันนี้ไม่ต้องคุย แต่ถ้าตั้งเป้าให้สูงว่าจะโต 300% แล้วไปให้สุด ถึงไม่ถึงค่อยว่ากัน หรืออย่างน้อยถ้าอยากโต 300% แล้วคิดเปลี่ยนวิธีการทำงานก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้พนักงานรู้จักคิดนอกกรอบ มองหากลยุทธ์ใหม่เพื่อเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเธอบอกว่า เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลมาแล้วกับทีมขายแอปฯ WHATSALE ที่สามารถปั้นยอดขายจากหลักแสนไปเป็น 24 ล้านบาทได้

ถึงบรรทัดนี้ บัซซี่บีส์ยังคงโตต่อด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจภายใต้อีโคซิสเท็มส์อีกมากมาย อาทิ แพลตฟอร์มด้านซีอาร์เอ็มและกิจกรรมการมีส่วนร่วม (CRM & Digital Engagement Platform) ตลอดจนรอยัลตี้โปรแกรมต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 130 ล้านบัญชี การสร้าง brand.com ตลาดบริหารการค้าอี-คอมเมิร์ซให้อีกกว่า 100 แบรนด์ ระบบจัดการคำสั่งซื้อแบบครบวงจร ZORT ทั้งเตรียมเดินหน้าต่อยอดโมเดลธุรกิจในการเปิดรับเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและพาร์ทเนอร์นักพัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ (ISV Partner) เพื่อมุ่งถางทางสู่เดคาคอร์นให้เป็นจริงนั่นเอง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ