เพย์ โซลูชั่น (Pay Solutions) ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย ประกาศเป็นเอกชนรายแรกของไทยนำร่องชิมลาง บริการชำระสินค้าด้วยคริปโทเคอร์เรนซีกว่า 300 สกุลเงิน โดยเบื้องต้นจำกัดเฉพาะร้านค้าไม่กี่ราย พร้อมวอนภาครัฐเปิดใจรับฟังอย่างเข้าใจ และเปิดพื้นที่พูดคุยกับเอกชนเพื่อร่วมมือพัฒนาตลาดคริปโทเคอร์เรนซีของไทยให้แข็งแกร่ง มั่นคงและปลอดภัย โดยมั่นใจว่า เงินดิจิทัลคือเทคโนโลยีของโลกอนาคตที่คนไทยต้องปรับตัวและเปิดรับเพื่อเพิ่มโอกาส ความสามารถในการแข่งขัน และการอยู่รอดในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด กล่าวว่า แต่เดิม แนวโน้มช่องทางการชำระสินค้าและบริการของผู้บริโภคในไทย เริ่มหันมาที่ระบบออนไลน์มากขึ้นอยู่แล้ว เพียงแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การยอมรับและใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในแง่ของปริมาณและความเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 โมบายแบงกิ้งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 157% ขณะที่ พร้อมเพย์พุ่งทะยานถึง 219% ตามข้อมูลการชำระเงินของคนไทยที่ศึกษาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจแทบทั้งหมดต่างต้องปรับตัวเข้าสู่รูปแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหารออนไลน์ หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ยิ่งเมื่อยังมีแนวโน้มว่าธุรกิจออนไลน์จะยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ช่องทางการชำระเงินค่าสินค้าและบริการจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลาย สอดคล้องเหมาะกับความต้องการหรือความสะดวกของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อทำให้การชำระเงินสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ด้วยกระแสของเทคโนโลยีสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ที่เริ่มได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงินชั้นนำ และในอีกหลายแวดวงธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้ เพย์ โซลูชั่น ซึ่งมีระบบการชำระเงินออนไลน์ที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ตัดสินใจเดินหน้าเป็นผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์รายแรกของไทยที่นำร่องทดสอบเปิดให้บริการ ชำระเงินค่าสินค้าด้วยคริปโทฯ หรือ Crypto Payment โดยเบื้องต้นขณะนี้ เปิดให้ร้านค้าที่เป็นลูกค้าเดิมของเพย์ โซลูชั่น ไม่กี่สิบรายได้ทดลองใช้ดูก่อน และจำกัดวงเงินต่อการทำธุรกรรมหนึ่งครั้งไม่เกิน 20,000 บาท และรวมยอดไม่เกินบัญชีละ 100,000 บาทต่อเดือน รวมถึงรองรับการชำระเงินผ่านสกุลเงินดิจิทัลกว่า 350 สกุลเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ภาวุธกล่าวว่า เพราะตระหนักและเข้าใจถึงความเสี่ยงในการใช้สกุลเงินดิจทัลในเวลานี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐ นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเห็นว่าเงินดิจิทัลมีความผันผวนสูง และน่ากลัวจะตกเป็นช่องทางของการฟอกเงิน ดังนั้น การให้บริการจ่ายด้วยคริปโตของเพย์ โซลูชั่น ครั้งนี้จึงจำกัดวงเงินไว้ เป็นการป้องกันการฟอกเงิน
ขณะที่ในส่วนของความเสี่ยงในเรื่องความผันผวน ทางเพย์ โซลูชั่น รับมือด้วยการ เปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลออกมาเป็นสกุลเงินบาทให้ร้านค้าทันทีที่รับชำระเงินแบบเรียลไทม์ เป็นการป้องกันเรื่องความผันผวนของค่าเงินด้วย
ด้านในแง่ของความปลอดภัย ภาวุธอธิบายว่า ผู้จ่ายสามารถจ่ายผ่านระบบกระเป๋าคริปโทเมตามาสก์ (Metamask) ผ่านระบบเครือข่ายบล็อกเชน (Blockchain) ของ Binance Smart Chain (BSC) ที่เป็นที่นิยมกันทั่วโลก และมีเกณฑ์การตรวจสอบตามนโยบายรู้จักร้านค้า (Know Your Merchant: KYM) เพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างรัดกุม และเปิดให้ร้านค้าสามารถขอยืนยันตัวตนซ้ำได้ (eKYC) เพิ่มความปลอดภัย
“เพราะเข้าใจข้อกังวลดังกล่าว เราจึงมีแนวทางการใช้งานนี้ออกมา เป้าหมายของ เพย์ โซลูชั่น ก็คือต้องการให้ธุรกิจไทยและผู้บริโภคชาวไทย คุ้นเคยกับการใช้เงินดิจิทัล ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเป็นเทคโนโลยีของโลกอนาคตที่มาแน่ๆ ดังนั้น แม้การเปิดรับชำระเงินด้วยคริปโทฯ จะยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็ไม่อยากให้การไม่ยอมรับกลายเป็นการปิดกั้นโอกาสและจำกัดการพัฒนานวัตกรรม อย่างน้อยก็ให้ เพย์ โซลูชั่น ได้เริ่มให้บริการในแง่มุมที่จำกัดและควบคุมได้ดูก่อน” ภาวุธกล่าว ก่อนฝากข้อความสื่อสารถึงภาครัฐ ว่าให้เปิดรับฟังด้วยความเข้าใจ และหันมามาพูดคุยถกเถียง และร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดจะดีกว่า
ทั้งนี้ ในมุมมองของภาวุธ คริปโทเคอร์เรนซี เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีบลอกเชน ซึ่งอยู่เบื้องหลังและรองรับโลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น จึงไม่อยากให้ไทยปฎิเสธ จนพลาดโอกาสที่ดีงามไป พร้อมย้ำว่า ต่อให้ห้ามปรามในไทย ก็มีธุรกิจไทยอีกมากมายที่พร้อมจะเดินหน้าทำต่อ เพียงแต่ย้ายไปทำในประเทศที่อนุญาตให้ทำเท่านั้น
สำหรับ เพย์ โซลูชั่น เป็นหนึ่งผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางของการชำระเงินกับระบบ ออนไลน์ เพย์เมนท์ที่ รองรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจองค์กร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงร้านค้าออนไลน์ในหลากหลายธุรกิจ โดยปีที่ผ่านมามีการเติบโตกว่า 40% หรือคิดเป็น 1,650 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากร้านค้าในระบบทั้งที่เป็นกลุ่มลูกค้าองค์กรและลูกค้าเอสเอ็มอี
ขณะที่ ในส่วนของปี 2565 นี้ ทางเพย์ โซลูชั่น วางแผนเดินหน้าตอกย้ำความแข็งแกร่ง สร้างความแตกต่างเพื่อตอบสนองลูกค้า และหวังกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างนวัตกรรมให้ธุรกิจดิจิทัลของไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งจากฐานข้อมูลของเพย์ โซลูชั่น พฤติกรรมการจับจ่ายของคนในโลกออนไลน์ในช่วงโควิด-19 มีการชะลอการจ่ายเงินสด และหันมาจ่ายในรูปแบบผ่อนชำระ มากขึ้นถึง 84 %
“เราจะมีอีกหนึ่งบริการชำระเงินออนไลน์รูปแบบใหม่ที่จะเปิดตัวให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ ซึ่งได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการเงินชั้นนำ และเครือข่ายชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก มีจุดเด่นอยู่ที่การเพิ่มสภาพคล่องของกระแสเงินสดให้บริษัทด้วยศักยภาพของบัตรเครดิต ตั้งเป้าพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนธุรกิจของไทยและสร้างนวัตกรรมใหม่ของบริการชำระเงินออนไลน์”
ส่วนในอนาคต ภาวุธเปิดเผยว่า ทางเพย์ โซลูชั่นส์ จะพัฒนาบริการระบบการชำระเงินออนไลน์ใหม่ ๆ โดยเน้นเชื่อมโยงทุกบริการด้านดิจิทัลที่มีอยู่ประมาณ 40 บริษัทมาบูรณาการ พร้อมผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการใช้งานจริง และเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในแต่ละภาคส่วนต่าง ๆ โดยพัฒนาต่อยอดจากฟีเจอร์เดิมที่ให้บริการอยู่แล้ว เช่น ระบบจดจำบัตรเครดิต (Tokenizer), API ระบบตัดบัตรอัตโนมัติ (Recurring), Secure payment link, E-Tax invoice, e-Wallet และ Reseller module รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระบบจัดการ Back-office System, E-Tax invoice report, Fraud monitoring system, System on cloud service เชื่อมต่อ E-Commerce ให้ครอบคลุมตั้งแต่เว็บไซต์ ระบบจัดการร้านค้า ระบบรับชำระเงิน ระบบคลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ Big Data โฆษณาดิจิทัล และระบบปฏิบัติการ เช่น ระบบเอกสาร ระบบบัญชี และระบบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลตลอดจนการพัฒนาในส่วนของการร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาบริการให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เพื่อทำให้แบรนด์และบริการของ เพย์ โซลูชั่นส์ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ภาวุธวางแผนเน้นการทำตลาดออนไลน์ (ออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง) ให้มากขึ้น ควบคู่กับการรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิม และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยจะผนึกกำลังร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อส่งมอบสิทธิประโยชน์และประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เส้นทางสู่ระบบคลาวด์ของ เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น
ม.มหิดล ดันสตาร์ตอัพผลิต RT-LAMP ครอบคลุมตรวจ OMICRON ผ่านการรับรองจาก อย.