TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyทรู ร่วมกับ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำ 5G ยกระดับหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่

ทรู ร่วมกับ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำ 5G ยกระดับหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่

กลุ่มทรูจับมือกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำศักยภาพเทคโนโลยี True 5G เพิ่มประสิทธิภาพรถรุ่นใหม่หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 (Siriraj Mobile Stroke Unit)

-AIS แจง กสทช. ไม่มีข้อมูลส่วนบุคคลหลุด
-ทีดีอาร์ไอ ชี้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังโควิด-19 ต้องชัด

นำศักยภาพเทคโนโลยี True 5G ช่วยให้วางแผนการรักษาได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล โดยเชื่อมต่อด้วยซิม True 5G-Ready และอุปกรณ์รับสัญญาณ CPE 5G ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G ที่ได้ติดตั้งภายในโรงพยาบาล และตลอดเส้นทางที่รถพยาบาลวิ่งผ่าน ทำให้เพิ่มความแม่นยำในการควบคุม มีประสิทธิภาพสูงในการเชื่อมต่อ

เป็นการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตก ลดระยะเวลาของการรักษาเพื่อเปิดหลอดเลือด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน เพื่อลดอัตราการตายหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทเฉียบพลัน ที่อาจได้รับประโยชน์จากการดูแลเร่งด่วนได้ในพื้นที่เกิดเหตุ ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนไทย
 
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรม ว่า “การผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยผู้นำเครือข่าย 5G เรามุ่งพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้

ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่เกิน 4 ชั่วโมง โดยผู้พบผู้ป่วยโทรแจ้ง 1669 เข้าศูนย์เอราวัณ ทางศูนย์ฯ จะคัดกรอง แล้วแจ้งต่อไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในเขตที่ดูแลเพื่อให้เข้าไปรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจคัดกรองอาการและนำผู้ป่วยมาที่จุดนัดพบสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

ขณะเดียวกันทางศูนย์เอราวัณก็แจ้งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่มีผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้รับสายและซักถามอาการ และตามทีมแพทย์ พยาบาล นักรังสีการแพทย์ และพนักงานขับรถ ให้ออกปฏิบัติการรับผู้ป่วย เพื่อการรักษาในรถของหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่จุดนัดพบ ตามที่ได้ประสานงานไว้แล้ว

ขณะนี้ รถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดแล้วเสร็จของรถคันที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 และคันที่ 3 และ 4 จะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 ”
 
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเป็นมาและเทคโนโลยีว่า “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในรูปแบบของรถมาจากความคิดริเริ่มของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561 ซึ่งต่อมาในปี 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาความก้าวหน้าทางสมรรถนะและเทคโนโลยี ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากสองปีที่เปิดบริการแก่ประชาชนสามารถรองรับการรักษาช่วยผู้ป่วย 287 ราย ตอบโจทย์การแพทย์-ดิจิทัลเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค

สำหรับ ปี 2563 นี้ จะเป็นรถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน ด้วยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การนำของ รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และ ผศ.ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนการและผู้เชี่ยวชาญ

ทีมวิศวกรและนวัตกรผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างรถ  ระบบวิศวกรรมต่างๆและระบบการสื่อสารภายในรถที่ก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยี โดยใช้วัสดุและซัพพลายในประเทศไทยและอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยด้านยานยนต์ ตามมาตรฐานสหภาพยุโรป หรือEU วางระบบไฟฟ้าบนแพลตฟอร์ม  ระบบขับเคลื่อนหลักสามารถปรับใช้ได้ทั้งแบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือ ไฮบริดแบบปลั๊กอิน หรือ EV ครบครันด้วยระบบกู้ชีพ และระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสาร 5G ด้วยซิม

นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังบริหารจัดการระบบอำนวยการแพทย์และระบบปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีศูนย์ควบคุมทางการแพทย์ ณ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และมีศูนย์ทดสอบสมรรถนะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อีกด้วย
 
ด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูง ผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ Mobile Stroke Unit จะช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง

แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูงจะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผนและทำการรักษาของบุคคลากรการแพทย์สามารถกระทำได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้นการมีเทคโนโลยี 5G จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนคนไทย”
 
นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “จากวิสัยทัศน์ True 5G ที่มุ่งนำอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G เติมเต็มการใช้ชีวิตในทุกมิติ ด้วยความเชื่อว่าเครือข่าย True 5G จะไม่เป็นเพียงแค่สัญญาณมือถือ แต่เป็นสัญญาณยกระดับศักยภาพการแพทย์ดิจิทัลและสาธารณสุขของประเทศให้เหนือกว่าและยั่งยืนในทุกมิติ

กลุ่มทรูมีความตั้งใจที่จะร่วมดูแลสุขภาพคนไทย และเดินหน้าสนับสนุนภารกิจบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบในโรงพยาบาลทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  โดยนำศักยภาพเทคโนโลยี True 5G เครือข่ายอัจฉริยะของกลุ่มทรู ซึ่งมีจุดเด่นทั้งเรื่องของศักยภาพความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับรถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่สร้างโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์วางแผนการรักษาได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล

โดยเชื่อมต่อด้วยซิม True 5G-Ready และอุปกรณ์รับสัญญาณ CPE 5G ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะ True 5G ที่ได้ติดตั้งภายในโรงพยาบาล และตลอดเส้นทางที่รถพยาบาลวิ่งผ่าน ได้แก่ ถนนกาญจนาภิเษก เขตตลิ่งชัน, ถนนพรานนก-พุทธมณฑล, ถนนบรมราชชนนี และถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งลดอัตราการตายหรือพิการของผู้ป่วยได้อีกด้วย”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ