TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessทีดีอาร์ไอ ชี้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังโควิด-19 ต้องชัด

ทีดีอาร์ไอ ชี้ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังโควิด-19 ต้องชัด

ยุทธศาสตร์ประเทศไทยหลังโควิด-19 เป็นโจทย์สำคัญที่คนไทยต้องช่วยกันคิด ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว และส่งออก สองภาคธุรกิจสำคัญที่สร้างการเติบโตให้ประเทศไทยมาโดยตลอด

-New Normal หลังโควิด-19 … โลกที่ Cyber Security และ Privacy ไปคู่กัน
-ชำแหละ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล
-นักการตลาดต้องบริหารความคาดหวังผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า อนาคตหลังวิกฤติโควิด-19 จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเปลี่ยนผ่าน หมายถึงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งโควิด-19 ถูกควบคุมได้จากการมีวัคซีน มียารักษา หรือการมีภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้โรคไม่แพร่กระจายต่อไป และช่วงหลังโควิด-19 หรือที่เรียกว่า New Normal

“ธุรกิจท่องเที่ยวช่วงเปลี่ยนผ่าน การท่องเที่ยวจากต่างประเทศแทบจะหายไปทั้งหมด ที่เหลืออยู่คือคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ”

การท่องเที่ยวมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปีล่าสุดประมาณ 18% โดยเป็นท่องเที่ยวจากต่างประเทศถึง 12% มีนักท่องเที่ยวมาไทยในปี 2562 ประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก ส่งผลให้เกิดการจ้างงานทั้งในระบบโรงแรม ร้านอาหาร ไกด์ทัวร์ สปา รวมถึงธุรกิจบันเทิง และช้อปปิ้ง กระทบกับแรงงานประมาณ 5-6 ล้านคน

ท่องเที่ยวต้องปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่าน

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การปรับตัวของการท่องเที่ยวก่อนจะมีวัคซีนในวงกว้าง คนจำนวนมากอาจจะต้องเปลี่ยนไปหางานใหม่โดยอัตโนมัติ เพราะถ้าจะหวังให้มีงานทำแบบเดิมในเวลาแบบนี้จะยาก

หลาย ๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยน่าจะทำ คือ การพยายามเปิดการท่องเที่ยวในประเทศก่อน ซึ่งรัฐบาลอาจจะหาทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศขึ้นมา และหลังจากนั้นจึงเปิดท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนสถานบันเทิงเป็นธุรกิจที่ถูกเพ่งเล็ง และมีโอกาสที่จะเปิดกลับมาประกอบธุรกิจปกติได้คงอีกนาน

บางประเทศมีการจับคู่กับประเทศที่ควบคุมโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องมีการกักตัวกันนาน เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

“หากมีการคิดค้นวัคซีนได้ในต่างประเทศ กว่าจะถึงคิวของประเทศไทยก็อาจจะต้องรอกันอีกเป็นปี ซึ่งอาจจะทำให้การท่องเที่ยวถูกปิดไปจนถึงปี 2564 ในช่วงปลายปี และไปเปิดกันในช่วงปี 2565”

ส่งออกชะงักช่วงเปลี่ยนผ่าน

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ภาคส่งออกที่ผ่านมาได้รับผลกระทบ 2 รูปแบบ คือ ในด้านการผลิตที่ชะงักไปจากการปิดเมือง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยเป็นฐานใหญ่ในบางผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถติดต่อเนื่องได้เพราะขาดชิ้นส่วนบางชิ้นส่วนที่ต้องมาจากจีน

ขณะที่สินค้าเกษตรบางตัวมีปัญหาไม่สามารถส่งออกได้ เช่น ไข่ไก่ที่รัฐบาลควบคุมการส่งออก รวมถึงมีการตรวจที่ด่านศุลกากรนานขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้ามีปัญหา รวมถึงการชะงักในระบบโลจิสติกส์จากการประกาศเคอร์ฟิว แต่คาดว่าใน 1-2 เดือนนี้ก็จะผ่านพ้นไปได้

กำลังซื้อหดตัว ความท้าทายหลังโควิด

ส่วนที่ท้าทายและยากกว่า คือ ผลกระทบในด้านอุปสงค์ เมื่อตลาดโลกหดตัวลง กำลังซื้อลดลง จะเกิดผลกระทบในระยะยาวประมาณ 1-2 ปี

“มีการพูดกันว่าหลังโควิด-19 ประเทศไทยควรจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เปลี่ยนวิธีการพัฒนาประเทศ ถ้าจะหากินจากท่องเที่ยวและส่งออกเหมือนเดิมนั้นจะยาก”

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ถ้าสามารถควบคุมโควิด-19 ได้จะมีคนที่โหยหาการท่องเที่ยวกระโดดกลับเข้ามา แต่เมื่อกำลังซื้อหดลงคนที่กลับมาจะไม่ได้ใช้เงินมือเติบแบบเดิม คำถาม คือ จะปรับตัวไปทำอะไรกันซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ และยังไม่มีใครมีคำตอบให้

สิ่งที่ลงทุนไปแล้วอย่าง การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ขยายสนามบินใหม่ที่อู่ตะเภา รวมถึงโรงแรมต่าง ๆ ประเทศไทยออกแบบไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวปริมาณมาก

ส่วนส่งออก ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นอาจจะกลับมา แต่ก็มีโจทย์ท้าทาย คือ เรื่องการกีดกันทางการค้า ที่เริ่มมีสูงขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อของทุกคนหดตัวลงทั่วโลก สมรภูมิส่งออกเหนื่อยมากขึ้น

ประเทศไทยอาจจะพอได้โอกาสมากขึ้นถ้า สหรัฐฯกีดกันสินค้าจากจีน เช่น เก็บภาษีสูงขึ้น จะมีสินค้าจากไทยบางรายการส่งออกไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่ไทยส่งออกไปจีนที่นำไปผลิตต่อจะหายไป

เกษตร-สุขภาพ อนาคตประเทศไทย?

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า มีคนเชื่อว่าอาหาร เป็นอนาคตของประเทศได้ จากการส่งออกอาหารของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ลดลงมากมายเมื่อเทียบกับสินค้าหลายรายการ จึงคาดการณ์ว่าจะเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงในประเทศไทย

แต่ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าจะให้อาหารขยายตัวคือต้องไปขยายสาขาเกษตรของไทยให้ใหญ่ขึ้น ขณะที่สาขาเกษตรไทยใช้แรงงานคนประมาณ 30% เมื่อนับเวลาการทำงาน

“โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในสาขาเกษตรใช้คนเยอะ แต่มีประสิทธิภาพในสัดส่วน GDP แค่ประมาณ 8% เท่านั้น”

หมายความว่าถ้าจะขยายสาขาเกษตรเพื่อผลิตอาหารเพิ่มขึ้นโดยใช้วิธีเดิม จะทำให้รายได้ต่อหัวลดลงต่ำประเทศ เพราะสาขาเกษตรมีความสามารถในการผลิตเพียง 1 ใน 9 ของภาคอุตสาหกรรม

จะต้องเปลี่ยนเป็นเกษตรรูปแบบใหม่เป็น การทำเกษตรโรงเรือน และใหญ่พอที่จะจ้างงานคนจำนวนมาก ทำให้เกิดรายมาก

ด้านความเสี่ยง ที่เป็นความเสี่ยงระดับสูง คือ ราคาของสินค้าเกษตรผันผวนกับราคาของตลาดโลก อีกปัญหา คือ ความเสี่ยงในการผลิต ดินฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติ

“ถ้าจะไปเกษตรแบบใหม่ เราจะต้องเก่งกว่านี้มาก ที่จะผลิตอาหารคุณภาพสูงในราคาสูง”

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ธุรกิจสุขภาพ เป็นตัวที่ดูมีอนาคตในเชิงของภาพลักษณ์จากวิกฤติรอบนี้ เพราะประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี ยอดการเสียชีวิตไม่สูง แม้จะไม่ได้โดดเด่นเหมือน ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือเวียดนาม

จึงมีความคิดกันที่จะขยายให้เป็นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ

ความท้าทาย คือ ประเทศไทยมีบุคลากรด้านสุขภาพเพียงพอหรือไม่ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามารักษาพยาบาลในจำนวนมากได้หรือไม่

วิเคราะห์สถานการณ์โลกอย่างลึกซึ้ง ก่อนปรับตัว

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ก่อนจะบอกว่าเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปทางไหนดี ต้องดูก่อนว่าตลาดเปลี่ยนไปทางไหน ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ในโลกก่อนว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งถ้ามันยังไม่ชัด ก็ต้องทำให้ชัดในระดับหนึ่งก่อนวางแผน

ที่ผ่านมายุทธศาสตร์ประเทศไทยวางโดยใช้ข้อมูล ความรู้ การถกเถียงกันแบบลึกซึ้งน้อยเกินไป ประเทศไทยจึงมียุทธศาสตร์ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก

“ถ้าจะทำยุทธศาสตร์ต้องตีโจทย์ให้ชัด ก่อนที่จะพูดว่าจะทำอะไรแบบใหม่ให้มีคุณภาพ ต้องทำยุทธศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงก่อน”

ส่วนแนวทางของ ทีดีอาร์ไอ ขณะนี้ คือ เข้ามาช่วยสภาหอการค้าไทยทำข้อเสนอเรื่องการเปิดเมือง เปิดโรงเรียน เนื่องจากการระบาดลดลงมาก และมีหลายพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาด เช่น โรงเรียนบนดอย ทำการเสนอให้เปิดเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้

ทำวิจัยเรื่องการทำงานจากบ้าน (Work from Home) ว่ามีผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร โดยใช้กรณีศึกษาของ ทีดีอาร์ไอ เอง ซึ่งสายวิจัยสามารถทำงานจากบ้านได้ถึง 99% และต่อไปก็อาจจะทำงานจากบ้านซึ่งเป็นผลดี ก่อนนำบทเรียนนี้ไปใช้ได้กับหลายเรื่อง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ