TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityทีดีอาร์ไอเตือน 'ภาวะโลกรวน' ทำไทยติดอันดับต้นของโลกเสี่ยงเจอภัยพิบัติ

ทีดีอาร์ไอเตือน ‘ภาวะโลกรวน’ ทำไทยติดอันดับต้นของโลกเสี่ยงเจอภัยพิบัติ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เตือน ภาวะโลกรวน ทำไทยติดอันดับต้นของโลกเสี่ยงเจอภัยพิบัติ ห่วงเศรษฐกิจหดตัว ชี้ภาคเกษตรกระทบหนักสุด แนะรัฐ หนุนกลไกให้ครบห่วงโซ่ “เข้าถึงเทคโนโลยี-แหล่งทุน-สร้างการรับรู้” ช่วยปรับตัว-รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของประเทศไทยในขณะนี้ว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 องศา ทำให้อากาศของไทยอุ่นขึ้น หนาวน้อยลง ฤดูร้อนยาวขึ้น และฤดูหนาวสั้นลง ขณะเดียวกันการเกิดของฝนมีความแปรปรวนมากขึ้น ทำให้ไทยได้รับผลกระทบถึงสองเด้ง ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง ที่เสี่ยงแล้งเพราะจำนวนวันที่ฝนตกต่อเนื่องน้อยลง ในขณะเดียวกันเมื่อฝนตกลงแต่ละครั้งกลับตกในปริมาณที่มากทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังมีพายุซึ่งเป็นพายุที่รุนแรงระดับตั้งแต่พายุดีเปรสชันขึ้นไปพัดเข้ามาอีก ทำให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเสี่ยงสูงต่อปัญหาน้ำท่วมฉับพลันด้วย

ดร.กรรณิการ์ ยังกล่าวถึงภาพรวมของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสังคมไทย ว่า ผลกระทบในระดับมหภาค มีงานศึกษาของพิม มโนพิโมกษ์ และคณะ (2565) ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของสภาพอากาศที่ผิดปกติ (Climate shocks) ต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย พบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติสามารถทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการผลิตหลักของประเทศหดตัวประมาณ 0.7 เปอร์เซ็นต์สำหรับทุกภาคการผลิต โดยภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือภาคเกษตรกรรม ที่ผลผลิตจะหดตัวทันที 0.75 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ภาคการผลิตอื่น ๆ จะทยอยได้รับผลกระทบและหดตัวสูงสุดที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ หลังจากผ่านไปแล้วถึง 2–3 ไตรมาส และจะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างสูงจากสภาพอากาศที่ผิดปกติ

ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ถ้าเจาะลึกลงไปดูในภาคเกษตรกรรม พบว่ามีงานศึกษาของ Attavanich (2017) ซึ่งติดตามผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรไทยตั้งแต่ปี 2554 และมองไปในอนาคตจนถึงปี 2588 ซึ่งชี้ว่าผลกระทบหรือความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรของไทย อยู่ที่ประมาณ 6.1 แสนล้านบาทถึง 2.85 ล้านล้านบาท เมื่อคิดเป็นรายปีจะอยู่ที่ปีละ 1.7 หมื่นล้านบาทไปจนถึง 8.3 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่เกิดผลกระทบกับภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรงมาก เพราะภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่พึ่งพาดินฟ้าอากาศในการผลิตค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืช ทำปศุสัตว์ และทำประมง ดังนั้นสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมจึงสร้างผลกระทบต่อการทำการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม แน่นอนว่ากระทบต่อไปยังรายได้การบริโภค ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป

สำหรับความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยนั้น ค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำในระดับที่มาก อย่างไรก็ตามทำแค่ด้านลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียวไม่พอ แต่ควรเดินหน้าด้านการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆของโลกที่เสี่ยงสูงและได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าพิจารณาดัชนี Global Climate Risk Index ย้อนหลัง พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วติดต่อกันอย่างน้อยๆ 7 ปี โดยเหตุการณ์ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกคือเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554

“ปัจจุบันหลายภาคส่วนในประเทศไทยยังมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรเทาผลกระทบและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยมาก  ยังมีผู้คนและองค์กรจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบอย่างไรกับชีวิตพวกเขา องค์กรของเขา และประเทศของเราทั้งหมด และยังไม่เห็นความสำคัญว่าเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่ภูมิคุ้มกันในระยะยาว หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Long-term Climate Resilience ผลที่ตามมาคือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีค่อนข้างน้อย การดำเนินการส่วนใหญ่เน้นการรับมือภัยพิบัติ เฉพาะหน้าหรือระยะสั้นเท่านั้น” ดร.กรรณิการ์ระบุ

ดร.กรรณิการ์ มีข้อเสนอต่อภาครัฐด้วยว่า ฝากให้ภาครัฐมองถึงกลไกสามด้านที่ช่วยสนับสนุนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยต้องคิดให้จบห่วงโซ่ คือ 1.เรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สนับสนุนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาใช้ในการลงทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนของหลายภาคส่วน เช่น สถาบันการเงิน ตลาดทุน และ 3. เรื่องของการสร้างการรับรู้ของคน ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบอย่างไรกับสาขาการผลิตนั้นๆ  และช่วยสนับสนุนให้มีการคิดนอกกรอบจากสิ่งที่เคยทำมาตลอด โดยรัฐอาจเริ่มจากการสร้างตัวอย่างในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละสาขาหรือแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เห็นว่าสาขาต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยว หรือเกษตร ถ้าจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องเริ่มจากตรงไหน และให้ผู้ที่อยู่ในสาขานั้น ๆ ไปดูว่าตัวอย่างไหนเหมาะสมกับบริบทของตนเองเพื่อนำไปสู่การปรับใช้

ดร.กรรณิการ์ ระบุถึงความเป็นไปได้ในบรรลุถึงคำมั่นของไทยว่าจะถึงเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีคศ.2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 ส่วนตัวมองว่าเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความหวัง เพราะตอนนี้มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น กรีนไฮโดรเจน เทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน ดังนั้นมีหนทางให้ไทยนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งที่จำเป็นต้องขับเคลื่อน คือเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ว่ารอให้เหตุการณ์รุนแรงไปมากกว่านี้แล้วจะสายเกินไป ดังนั้นรัฐต้องบาลานซ์ 2 ด้าน ทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กับการปรับตัวที่ต้องทำควบคู่กันไป และภาครัฐควรเชื่อมต่อตัวผู้ประกอบการในการที่จะมาทำเรื่องของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

1 ใน 5 ของธุรกิจยั่งยืนมีการรายงานผลกระทบ SDG

กทม. จับมือ GC สร้างเครื่องเล่นอัปไซเคิล จากพลาสติกใช้แล้ว ให้สัตว์เลี้ยงในโครงการ Circular Pet Zone by GC YOUเทิร์น 

OR มอบรางวัล โครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2566”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ