TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityภาวะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภัยร้ายคุกคามเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์

ภาวะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภัยร้ายคุกคามเศรษฐกิจและสังคมมนุษย์

ท่ามกลางความกังวลถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ที่รู้จักกันดีอย่าง ภาวะโลกร้อน (Climate Change) หนึ่งในผลกระทบที่กำลังเป็นภัยเงียบ คุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขัดขวางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืน และเสี่ยงต่อความอยู่รอดของมนุษย์มากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ การสูญเสียความหลายหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss)

ทั้งนี้ ผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่บนเวที World Economic Forum ชี้ชัดว่า 50% ของเศรษฐกิจโลกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ที่หลายต่อหลายคนบนโลก ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในเมืองหรือพื้นที่ชนบทก็น่าจะเริ่ม “เอ๊ะ” ในใจเล็ก ๆ แล้วว่า นกที่เคยมา ปลาที่เคยจับได้ ลดจำนวนลง

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายชี้ว่า สิ่งที่มนุษย์เรากำลังเผชิญหน้าในขณะนี้ก็คือหายนะของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ระบบนิเวศทั้งหมดต้องพึ่งพาอาศัย

ด้าน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “มนุษยชาติได้กลายเป็นอาวุธของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก” พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกมุ่งมั่นหาแนวทางออกร่วมกัน เพราะความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นโอกาสในการหยุดยั้งการทำลายล้างนี้

จากการประเมินของ UN Global Land Outlook พบว่า ปัจจุบันมีสัตว์มากกว่า 1 ล้านสายพันธุ์กำลังใกล้สูญพันธุ์ แถมยังสูญพันธุ์ในอัตราที่ไม่เคยพบเห็นในรอบ 10 ล้านปี ขณะที่ พื้นผิวโลกมากถึง 40% ในขณะนี้จัดได้ว่าอยู่ในระดับเสื่อมโทรมขีดสุด

ยิ่งไปกว่านี้ งานวิจัยโดย International Union for the Conservation of Nature หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ พบว่ากิจกรรมของมนุษย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และเหมืองแร่ คิดเป็น 79% ของผลกระทบต่อสายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม

ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่ายินดีว่า เสียงเรียกร้องดังกล่าวได้ยินถึงเหล่าผู้นำทั่วโลกที่เริ่มหยิบยกประเด็นความหลากหลายมาพูดคุยหาแนวทางจัดการอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นก็คือการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพแห่งสหประชาชาติ (United Nations Biodiversity Conference) โดยในการประชุมปี 2022 ที่เรียกว่า COP15 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ที่ประชุมได้มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูการลดลงอย่างรวดเร็วของสัตว์ พืช และแมลง และบรรลุข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

Fin4Bio ขับเคลื่อนภาคการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งสู่ COP16 CBD

สถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน

แม้จะตระหนักดีว่า การดำรงอยู่ของพืชมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ เพราะเกี่ยวพันต่อชีวิตมนุษย์ตั้งแต่การสร้างออกซิเจนให้หายใจไปจนถึงอาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่พืชในขณะนี้มีอัตราการตายที่เร็วกว่าวงจรชีวิตปกติถึง 500 เท่า เมื่อเทียบกับโลกในยุคก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นมา

ยกตัวอย่างเช่น กล้วยไม้ งานวิจัยของ Kew พบว่า ปัจจุบัน กล้วยไม้เหล่านี้เป็นหนึ่งในพันธุ์พืชที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก โดย 56% ของตระกูลกล้วยไม้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เมื่อเทียบกับ 45% ของพืชดอกทั้งหมด

Kew Royal Botanic Gardens ประมาณการว่ามีแนวโน้มว่าประมาณ 3 ใน 4 ของพืชชนิดต่าง ๆ ในโลกที่ยัง “ไม่ได้รับการระบุ” ว่ากำลังใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่ บางชนิดสูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้วแม้ในขณะที่ถูกค้นพบ เช่น ดอกกล้วยไม้แห่งน้ำตกเดนิส (Saxicolella deniseae) ในประเทศกินี โดยมีการสันนิษฐานว่ากล้วยไม้ดังกล่าวสูญพันธุ์ไปจากการก่อสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วมพื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกล้วยไม้พันธุ์ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ด้วยจำนวนประมาณ 2.5 ล้านสายพันธุ์ทั่วโลก เห็ดถือเป็นสิ่งมีชีวิตอันดับที่สองรองจากสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในด้านความหลากหลายของสายพันธุ์ โดยมีการประมาณการณ์ว่า มีเห็ดมากถึง 95% ของโลกยังไม่ได้ถูกค้นพบ ทำให้ขณะนี้นักวิจัยในหลายประเทศทั่วโลกต้องเร่งแข่งขันกันค้นหาก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปด้วยน้ำมือของมนุษย์

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอื่น ๆ ล้วนทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพด้วยกันทั้งสิ้น

จากรายงาน World Economic Forum’s Global Risks Report 2023 ที่ว่าด้วยภัยคุกคามโลก พบว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศเป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงอันดับแรกที่โลกต้องเผชิญในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของความเสี่ยงระยะยาว

ความหลากหลายทางชีวภาพกับยารักษาโลก

นอกจากความเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์แล้ว นักวิจัยยังพบว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพยังส่งผลต่อโอกาสในการผลิตยารักษาโรคที่หลากหลายของมนุษย์ เนื่องจากพืชมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งส่วนผสมสำหรับยาทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ

ทั้งนี้ ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ระบุว่า นับตั้งแต่ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล เป็นต้นมา กล้วยไม้ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนจีนเพื่อรักษาอาการต่างๆ ตั้งแต่อาการปวดท้องไปจนถึงโรคข้ออักเสบ ขณะที่ประมาณ 1 ใน 10 ของรายชื่อยา “สามัญ” และ “จำเป็น” ขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีต้นกำเนิดมาจากพืชดอก อีกทั้งมากกว่า 40% ของสูตรยาในปัจจุบันยังได้มาจากการสกัดสารจากวัตถุดิบธรรมชาติ

Kew Royal Botanic Gardens ชี้ว่า เชื้อรา (Fungi) ถือเป็น “แหล่งที่มีคุณค่าอย่างมากของสารประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพ รวมถึงยาปฏิชีวนะ ยากดภูมิคุ้มกัน และสแตติน” ซึ่งอย่างหลังใช้เพื่อลดนะดับคอเลสเตอรอล

ทรู-ดีแทค เปิดแนวทางรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รอบเสาสัญญาณครอบคลุมทุกพื้นที่

ด้าน Taxol ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็งที่ใช้ในตัวยาเคมีบำบัดสามารถพบได้ในเปลือกต้น yew บางชนิด แม้ว่าปัจจุบันมนุษย์จะสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เหมือนกับยาช่วยชีวิตอื่น ๆ กระนั้น การมีอยู่ของต้น yew ก็ยังคงมีความสำคัญ แต่ต้น yew เหลานั้นกลับกำลังถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นอกจากนี้ ยารักษาโรคมะเร็งประมาณ 70% เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือ “แรงบันดาลใจทางชีวภาพ” ในขณะที่โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ และมาลาเรีย ก็อยู่ในอาการที่ต้องรักษาด้วยยาซึ่งรวมถึงสารเคมีที่พบในพืชด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ยาแก้ปวดสามัญอย่างแอสไพริน ซึ่งทราบกันดีว่าลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายได้นั้น ใช้สารประกอบที่สกัดจากเปลือกต้นวิลโลว์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ยาแผนโบราณตั้งแต่อดีต

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดการประชุมสุดยอดการแพทย์แผนโบราณระดับโลกเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2022 และพบว่าประมาณ 80% ของประชากรในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกาส่วนใหญ่ พึ่งพาการแพทย์แผนโบราณในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน

เพื่อรักษาแพทย์แผนโบราณให้คงอยู่ ทาง WHO ภายใต้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย เตรียมเปิดศูนย์การแพทย์แผนโบราณระดับโลกภายในปี 2024 เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของศูนย์ในการพัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์พืชที่มีสรรพคุณทางยา

แม้จะมีการคาดการณ์ว่าตลาดยาแผนโบราณมีมูลค่าสูงถึง 1.15 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ  สิ้นปี 2023  แต่อุตสาหกรรมและชีวิตของผู้ที่พึ่งพาอุตสาหกรรมนี้ถูกคุกคามจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมพลังปกป้อง “ร้านยา” จากธรรมชาติ 

Maria Neira ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ (Department of Environment, Climate Change and Health) ของ WHO ย้ำว่า มนุษย์ต้องลงมือปกป้องความหลากหลายทางธรรมชาติเดี๋ยวนี้แล้ว เพราะเพื่อให้มีชีวิตรอด คุณต้องพึ่งพาธรรมชาติ ในฐานะแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งอากาศ ก่อนชี้ว่า การตระหนักรู้ถึงบทบาทอนุรักษ์เป็นสามัญสำนึก

“มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องปกป้องสิ่งที่ปกป้องเรา หากไม่ทำ ผู้แพ้ก็คือเราไม่ใช่โลก” Maria Neira  ระบุ

ทั้งนี้ การอนุรักษ์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งหมายรวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนพื้นเมืองและส่งเสริมการใช้พืชอย่างยั่งยืนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

ตัวอย่างเช่น ในยุโรป ทีมนักวิจัยได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการ “รักษาร้านขายยาตามธรรมชาติ” (save nature’s pharmacy) ตั้งแต่  St John’s Wort สำหรับโรคซึมเศร้า ไปจนถึงดาวเรือง (Calendula) เพื่อรักษาบาดแผล โดยทีมวิจัยในยุโรปยังได้ร่วมมือกับ EthnoHERBS เพื่อสำรวจพืชในคาบสมุทรบอลข่านและใช้ประโยชน์จากศักยภาพการรักษา

โชคดีว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้มีดาวเทียมช่วยในการสำรวจและร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันเพื่อติดตามสายพันธุ์และลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ดอกเตอร์ Spyros Theodoridis จากศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศแห่ง Senckenberg (Senckenberg Biodiversity and Climate Research Centre) ในเยอรมนีกล่าวว่า ภายใต้การนำแบบจำลองการอนุรักษ์ไปใช้งานกับพืชสมุนไพรหลายชนิด เช่น ออริกาโน กล้วยไม้ และพริมโรสหลากหลายสายพันธุ์ พบว่า แบบจำลองดังกล่าวมีส่วนช่วยในการปกป้องคุณค่าของระบบนิเวศไม่ให้สูญหายไปจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมปี 2022 นานาประเทศต่างบรรลุข้อตกลงสำคัญในการตั้งเป้าหมายปกป้อง  30% ของแผ่นดินและมหาสมุทรของโลก ภายในปี 2030 ณ เวทีประชุมความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ (The United Nation’s Biodiversity Conference ) หรือ COP15

ขณะที่ในเดือนมกราคมปี 2023  ท่ามกลางวิกฤตด้านสุขภาพทั่วโลก รายงาน Global Health and Healthcare Strategic Outlook ของ World Economic Forum ได้กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับปี 2035 ซึ่งครอบคลุมถึง ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในฐานะหนึ่งในเสาหลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้าน ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า นวัตกรรมทางการแพทย์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์จริงจังกับการปกป้องแหล่งที่มาของยาเหล่านั้น ซึ่งก็คือธรรมชาตินั่นเอง

การสรรสร้างเศรษฐกิจเชิงบวกต่อธรรมชาติ (Creating a nature-positive economy)

บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวต่างเห็นตรงกันว่า มีเพียงการเปลี่ยนแปลงระบบที่หยั่งลึกถึงรากฐานเท่านั้น ที่จะสามารถหยุดยั้งกิจกรรมการทำลายล้างโลกของมนุษย์ และนำพาโลกไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นผลดีต่อธรรม

โดยในรายงานของ World Economic Forum ที่ว่าด้วยเรื่องของ ศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นจุดเริ่มต้น หรือ New Nature Economy ฉบับที่สอง ได้กำหนดช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่จะย้อนการสูญเสียธรรมชาติและดึงมนุษย์ออกจากปากเหวแห่งการสูญพันธุ์ พร้อมเตือนว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โลกจะประสบกับการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถาวร ซึ่งจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและทุกชีวิตบนโลกอย่างแน่นอน

รายงานดังกล่าวเตือนอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงที่มนุษย์เรากำลังสร้างตัวการหรือเป็นตัวการทำลายธรรมชาติ และว่า “การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมูลค่า 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งหมดของโลก อาจตกอยู่ในความเสี่ยงอันเป็นผลมาจากการพึ่งพาธรรมชาติธรรมชาติที่มากเกินไปของธุรกิจและบริากร “.

ทั้งนี้ ในรายงานความเสี่ยงทั่วโลกของ World Economic Forum ปี 2022 พบว่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการจัดอันดับให้เป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 3 ที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญในอีก 10 ปีข้างหน้า

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 5 ประการในเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลอย่างมากในการชะลอการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ และสร้างงานอีกมากกว่า 100 ล้านตำแหน่ง ประกอบด้วย

1. Compact built environment สร้างพื้นที่สีเขียวขนาดกะทัดรัด

การวางพัฒนาผังเมืองอย่างชาญฉลาดที่เปิดทางให้ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันให้มากที่สุด (Higher-density urban development) จะช่วยเพิ่มพื้นที่ว่างสำหรับการเกษตรและธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสามารถลดการแผ่ขยายของเมือง ซึ่งทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พืชและสัตว์ต่างๆ เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่มีอยู่ควรได้รับการพิจารณาเพื่อเพิ่มความหนาแน่นเชิงกลยุทธ์ ควรจัดทำโครงการจัดการอนุรักษ์เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่ได้รับการละเว้นจากการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงนี้สร้างโอกาสมูลค่า 6.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงสามารถสร้างงานได้อีก 3 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030

2. Nature-positive built environment การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธรรมชาติ

สภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นเหล่านี้เป็นการใช้พื้นที่ร่วมกับธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับมนุษย์น้อยลงและให้น้ำหนักกับความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแกนหลักของการออกแบบโครงการ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจะหลีกเลี่ยงหรือลดการทำลายธรรมชาติ และอาคารทั้งหมดใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาจะต้องรวมถึงพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสะพานเชิงนิเวศเพื่อเชื่อมต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในเมือง มีโอกาส 9.35 แสนล้านดอลลาร์ในสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นเหล่านี้ และความเป็นไปได้ที่จะสร้างงาน 38 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030

3. Planet-compatible urban utilities สาธารณูปโภคในเมืองที่เข้ากันได้ดีกับสิ่งแวดล้อม

เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มนุษย์โลกต้องการระบบสาธารณูปโภคที่สามารถจัดการกับมลพิษทางอากาศ น้ำ และขยะมูลฝอยในสภาพแวดล้อมในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการสร้างประโยชน์ให้กับธรรมชาติแล้ว สิ่งนี้ยังช่วยให้มนุษย์เข้าถึงอากาศและน้ำที่สะอาดได้อย่างทั่วถึง เซ็นเซอร์อัจฉริยะและเทคโนโลยีการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 อื่นๆ รวมถึงสามารถเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคในเมืองเพื่อทำให้เข้ากันได้กับโลก การสร้างสิ่งเหล่านี้สามารถมอบโอกาสทางธุรกิจมูลค่า 6.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงาน 42 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030

4. Nature as infrastructure ธรรมชาติเป็นโครงสร้างพื้นฐาน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการรวมเอาระบบนิเวศทางธรรมชาติเข้าไปในพื้นที่ที่สร้างขึ้น แทนที่จะเป็นการพัฒนาที่ทำลายพื้นที่ราบน้ำท่วม พื้นที่ชุ่มน้ำ และป่าไม้ การพัฒนาที่ยึดธรรมชาติเป็นโครงสร้างพื้นฐานจะกลายเป็นส่วนสำคัญของสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นใหม่ แนวทางการพัฒนานี้ยังสามารถช่วยส่งมอบอากาศที่สะอาด การทำน้ำให้บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ และลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง โอกาสทางธุรกิจโดยใช้ธรรมชาติเป็นโครงสร้างพื้นฐานอาจสูงถึง 1.60 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงาน 4 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030

5. Nature-positive connecting infrastructure โครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อที่เอื้อต่อธรรมชาติ

“โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงถึงกัน” รวมถึงถนน ทางรถไฟ ท่อส่งและท่าเรือ การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการวางแผนเพื่อลดผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยความเต็มใจที่จะยอมรับการประนีประนอมในเรื่องเวลาการเดินทางและระยะทางระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง การสร้างทางเดินในป่าและการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการขนส่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงเชิงบวกกับธรรมชาติ โอกาสทางธุรกิจที่นี่อาจสูงถึง 5.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโอกาสที่จะสร้างงานใหม่ 29 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์โลกรวนในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างย้ำตรงกันว่า ขณะนี้ ถึงเวลาในการจับมือสร้างสันติภาพและความสงบสุขกับธรรมชาติได้แล้ว และผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดความหลากหลายทางชีวภาพ COP15 จะกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติกับโลกธรรมชาติ

อันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ย้ำว่า ถึงเวลาที่ทั่วโลกต้องเอาชนะความแตกต่างเพื่อบรรลุข้อตกลงในการปกป้องธรรมชาติร่วมกัน  และขณะนี้ โลกจะต้องนำกรอบความหลากหลายทางชีวภาพที่กว้างขวางมาใช้ เพื่อส่งมอบอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคนให้กับคนรุ่นต่อไป

ที่มา World Economic Forum

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทรู ยกระดับเครือข่ายมือถือ-เน็ตบ้าน ด้วยศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย AI อัจฉริยะ

แอร์บัส ส่งเครื่องบิน A350F ลดการใช้เชื้อเพลิง และการปล่อยก๊าซคาร์บอน รับขนส่งสินค้าทางอากาศโต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ