TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityทิศทาง Climate Tech กับบทบาท AI ต่อการรับมือภาวะโลกร้อน

ทิศทาง Climate Tech กับบทบาท AI ต่อการรับมือภาวะโลกร้อน

ในช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับความสนใจอย่างล้มหลาม ทั้งในแง่ของผู้ใช้งานและเม็ดเงินลงทุนแล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันก็คือ Climate Tech เทคโนโลยีที่ว่าด้วยการควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์) ตัวการสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อนในเวลานี้

แม้ว่าปีที่แล้ว ปริมาณมูลค่าการระดมทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Climate Tech จะลดน้อยลงจากปีก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาในแง่ของจำนวนก็ต้องยอมรับว่า Climate Tech มีสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะทางฝั่งสหภาพยุโรปได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางรายการเพื่อป้องกันนำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเข้ามาในภูมิภาค ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากกระแสตื่นตัวทางสังคมที่ต้องการให้ภาคธุรกิจแสดงความรับผิดชอบทางสังคมมากขึ้น

ด้านบรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า Climate Tech สำหรับปี 2024 นี้ ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองว่า จะมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใด จะมีนวัตกรรมที่น่าจับตามองหรือไม่ และจะได้เห็นบทบาทของ AI ใน Climate Tech หรือไม่อย่างไร

งานนี้ Freay Pratty ผู้สื่อข่าวอาวุโสแห่งเว็บไซต์ Sifted ซึ่งติดตามรายงานข่าวคราวในวงการ Climate Tech จึงได้ระดมความเห็นของบรรดานักพัฒนา ผู้ก่อตั้งบริษัท (Climate tech founders) ตลอดจนเหล่านักลงทุน (Venture Capitals) เกี่ยวกับการคาดการณ์ของ Climate Tech กับบทบาทของ AI ที่น่าจะได้เห็นภายในปีมังกรนี้

เริ่มต้นที่ Rachel Delacour ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Sweep สตาร์ตอัพด้านการจัดทำบัญชีคาร์บอน (Carbon accounting) มองว่า AI จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการลงมือทำ (action) เพื่อรับมือกับสภาพอากาศมากขึ้น โดย AI จะเปลี่ยนการดำเนินการด้านสภาพอากาศ รวมถึงการเร่งและปรับปรุงกระบวนการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งนี้จะช่วยให้บริษัทต่างๆ ได้รับข้อมูล Carbon Footprint ที่แม่นยำมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเแม่นยำจะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถดำเนินการจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ AI สามารถเริ่มต้นและปรับขนาดการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศได้ สตาร์ตอัพจะต้องมีทีมงานที่เข้าใจเทคโนโลยีและสามารถใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ฝ่ายเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกันกับฝ่ายความยั่งยืนอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI ให้เกิดผลดีที่สุด และหลีกเลี่ยงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น

ด้าน Danijel Višević นักลงทุนจาก World Fund กล่าวว่า ปีนี้จะเป็นปีที่สำคัญของเทคโนโลยี Climate Tech ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน กับบทบาทผู้ช่วยของ AI ท่ามกลางระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าถึงจุดพีคสุด โดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เน้นย้ำว่า จะต้องเร่งให้เกิดการขยายตัวของการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนในวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนเป็นพื้นฐานของ Climate Tech ที่ทำให้เทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ สามารถพัฒนาได้เร็วขึ้น

ขณะที่ในส่วนบทบาท AI  นักลงทุนจาก World Fund รายนี้มองว่า AI จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนของเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศ กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเพิ่มความเร็วในการพัฒนา การใช้งาน และการขยายตัว ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงปลายปี 2024 จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ข้อมูลในเชิงสถิติได้แสดงให้เห็นปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยแรงหนุนของเทคโนโลยี Climate Tech ที่พัฒนาและมีการใช้งานอย่างรวดเร็ว

Romain Diaz นักลงทุนจาก Satgana ประเมินว่า เทคโนโลยีที่หลากหลายและเงินทุนจากนักลงทุนที่ให้การสนับสนุนอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นทำให้ Climate Tech กำลังพัฒนาไปสู่ภูมิทัศน์การลงทุนที่หลากหลายภายใต้การเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาในเชิงนวัตกรรมที่แตกต่างมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการสร้างผลกระทบในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น พลังงาน อาหาร หรือเกษตร ทั้งนี้ การมีความพยายามที่หลากหลายอย่างเห็นได้ชัดช่วยให้นักลงทุนกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในหนทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม Dias หวังว่าสิ่งที่จะได้เห็นมากขึ้นในปี 2024 คือความก้าวหน้าในการสนับสนุนโซลูชันการปรับตัวและการฟื้นฟู รวมถึงแรงจูงใจในการให้เงินทุนภาคเอกชนที่มีเป้าหมายที่ก้าวไปไกลกว่าโซลูชันการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้าน Andreas Thorsheim ผู้ก่อตั้ง Otovo แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์มองว่า ขณะที่ฝั่งเอกชนมุ่งมั่นพัฒนา Climate Tech ไปอย่างไม่หยุดยั้ง ปี 2024 จะเป็นปีที่สำคัญสำหรับฝั่งภาครัฐในการวางจุดยืนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เงินอุดหนุนเพื่อขับเคลื่อนพลังงานทางเลือก โดยรัฐบาลที่ล้มเหลวในการวางนโยบายรักษ์โลกอย่างพลังงานทางเลือกจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ขณะที่ Dimple Patel ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ NatureMetrics เสริมว่า นอกเหนือจากทุนสนับสนุนการพัฒนา Climate Tech ที่มากขึ้น ทุนสนับสนุนแนวทางและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2024 นี้ เช่นกัน โดย Nature Tech ที่มาพร้อมกับกรอบการทำงานที่ชัดเจนของหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ติดตามความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ทำให้ได้เห็นผลกระทบแบบโดมิโนขององค์กรธุรกิจที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าและเริ่มติดตามผลกระทบทางธรรมชาติของบริษัทตน

แน่นอนว่า ยังมีอะไรอีกมากที่สังคมโลกต้องทำหากต้องการบรรลุเป้าหมาย Global Biodiversity Framework และเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงปารีส ซึ่งในปี 2024 โลกจำเป็นต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิด หนึ่งในนั้นคือเปลี่ยนจากการมองการอนุรักษ์โลกธรรมชาติเป็นส่วนเสริมของสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกแนวทางสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืน ขณะที่กฎระเบียบที่กำหนดให้มีการเปิดเผยทางการเงินกำลังผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ พิจารณาห่วงโซ่อุปทานอย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการวัดผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติ และสร้างข้อมูลเชิงลึกในกระบวนการปฏิบัติงานในลักษณะที่ทำให้องค์กรรู้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวและความยืดหยุ่นทางการเงินได้อย่างไร

สำหรับ Oliver Heinrich และ Philipp Emig แห่ง Picus Capital ให้นิยามว่า ปี 2024 จะเป็นปีแห่งความยืดหยุ่นด้านพลังงาน (The year of energy flexibility) ซึ่งหมายความว่า จะมีการกระจายสินทรัพย์พลังงานสีเขียวแบบ decentralised มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนทางเลือกมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แผงโซลาร์บนหลังคา แบตเตอร์รีรถยนต์ไฟฟ้า หรือมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meters) โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวกำลังนำไปสู่โอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับโซลูชันที่ยืดหยุ่นในการเข้าถึงตลาดพลังงานที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกันมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค SMEs และระบบสาธารณูปโภคขนาดเล็ก

ขณะเดียวกัน นักลงทุนทั้งสองคาดการณ์ว่า ในตลาดที่เติบโตเต็มที่ เช่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โมเดลที่เน้นซอฟต์แวร์เป็นหลักและไฮบริดจะมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีต่อ ๆ ไป

Patric Hellermann หุ้นส่วนของ Foundamental คาดว่า ในปี 2024 เหล่าผู้กำหนดนโยบายจะเริ่มตระหนักถึงความตึงเครียดจากการผลักดันและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่มีเสถียรภาพจนกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่ายไฟฟ้า ส่งผลให้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของโรงไฟฟ้าจะมีแนวโน้มเติบโตพัฒนาอย่างรวดเร็วในปีนี้ ผ่านการจัดหาและการผลิต โดยส่วนประกอบของ smart grid จากพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับ จะเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ พร้อมกับเงินทุนสนับสนุนที่แข็งแกร่ง

ด้าน Catriona Hyland นักลงทุน VC จากบริษัท A/O ชี้ว่า แม้ปริมาณข้อตกลงด้านเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศ ตลอดจนกฎระเบียยบต่างๆ จะมีการขับเคลื่อนที่สูสีกันระหว่างยุโรปและอเมริกาเหนือมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เม็ดเงินลงทุนในยุโรปเพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศกลับล่าช้ากว่าที่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันอยู่เสมอ กระนั้น ในปี 2023 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแรกที่ การลงทุนในสตาร์ตอัพด้าน Climate Tech ของยุโรป มีปริมาณที่ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าฝั่งอเมริกาเหนือมากขึ้น โดยมากถึงระดับ Series B ขณะที่การเติบโตของระเบียบและข้อตกลงต่างๆ ก็ทำได้ดีกว่ามาก อีกทั้งในปี 2024 ที่ยุโรปนำร่องบังคับใช้มาตรการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เช่น CBAM  อาจทำให้ยุโรปเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศในทุกระดับ รวมถึงเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญสำหรับสตาร์ตอัพด้าน Climate Tech ไล่เรียงตั้งแต่ pre-seed, seed stage ไปจนถึง Series B เลยทีเดียว

ที่มา : sifted.eu

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เซ็นทรัลพัฒนา จับมือ NT ปั้น ‘บางนา’ เป็น Hotspot ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ตั้งเป้าเปิดให้บริการเฟสแรกปี 69

เดลล์ ชี้ 76% ขององค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ยังพัฒนาได้มากกว่านี้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

5 กลยุทธ์แก้วิกฤติขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยกำลังเผชิญ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ