TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessวี ฟู้ดส์ ดึง มอร์มีท พัฒนาโปรตีนจากพืชรสชาติอาหารไทย เปิดตัว 4 เมนูใหม่ ยกระดับการกินเพื่อสุขภาพให้สนุกยิ่งขึ้น

วี ฟู้ดส์ ดึง มอร์มีท พัฒนาโปรตีนจากพืชรสชาติอาหารไทย เปิดตัว 4 เมนูใหม่ ยกระดับการกินเพื่อสุขภาพให้สนุกยิ่งขึ้น

วี ฟู้ดส์ – มอร์มีท ร่วมอวดความเฮลธ์ตี้ในงาน THAIFEX 2022 ส่งต่อสุขภาพดีจากฟาร์มโปรดักส์และแพลนต์เบส ตอบโจทย์การกินทุกเจเนอเรชัน

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมีแนวคิดต่อยอดผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม และพัฒนาสินค้าสุขภาพให้เหมาะกับกลุ่มตลาดของคนรุ่นใหม่ เล็งเห็นการเติบโตของสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) เพื่อรองรับกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ โดยยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบสร่วมกับบริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟู้ดเทคสตาร์ทอัพที่รู้จักกันภายใต้แบรนด์สินค้ามอร์มีท : More Meat ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสพร้อมปรุงที่มีคุณภาพ และมีความแปลกใหม่ ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

โดยในปีนี้ ทั้งสองบริษัทจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คงเอกลักษณ์และรสชาติความเป็นไทย หรือ Classic Thai Taste Series ให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชรสลาบทอด ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้าวีแกน ลูกค้าทั่วไป รวมถึงชาวต่างชาติ ตามด้วยในช่วงกลางปี 2564 ที่ได้ออกสินค้าโปรตีนจากพืชรสต้มยำทอด และทอดมันแพลนต์เบสข้าวโพดเนื้อปู 

ปี 2565 พัฒนาโปรตีนพืชรสกะเพรา

ล่าสุดปี 2565 พัฒนารสชาติใหม่อย่าง “กะเพรา” ซึ่งเป็นรสชาติที่คนไทยทุกคนคุ้นเคย โดยคงไว้ซึ่งคุณภาพ รสชาติ และความหอมสมุนไพรไทยอย่างกะเพรา คุณประโยชน์จากวัตถุดิบเห็ดแครงและถั่วเหลือง (Non-GMO Soy) จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังพบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั้งในเรื่องของรสชาติ เนื้อสัมผัสที่คล้ายเนื้อจริง ความแปลกใหม่ของสินค้า และตอบโจทย์กับการเลือกซื้อที่สามารถหาได้ง่ายและรวดเร็ว 

“ที่ผ่านมาตลาดมักมองว่าการพัฒนาแพลนต์เบสจะต้องเป็นอาหารที่ผลิตมาเพื่อคนที่รักสุขภาพเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญที่ต้องควบคู่กับการดูแลสุขภาพคือ “รสชาติ” และ “ความหลากหลาย” โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคคนไทยที่ชอบมองหาสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ ทางแบรนด์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเนื่องจากอยากให้เรื่องของการรับประทานแพลนต์เบสเป็นเรื่องที่สนุก ตอบโจทย์กับวิถีชีวิต และตอกย้ำความสุขในการรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวในทุกๆ วัน 

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสด้วยรสชาติความเป็นไทย และความหลากหลาย ยังเป็นการตอกย้ำคาแรคเตอร์ของแบรนด์ที่มุ่งสร้างสรรค์เพื่อบริโภคอยู่เสมอ และดึงให้กลุ่มที่ยังไม่เคยรับประทานแพลนต์เบสเปิดใจที่จะทดลอง หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของวีฟาร์มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวีฟาร์มจะไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่มองไปถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาอาหารทางเลือกที่มีรสชาติไม่จำเจ และสามารถเลือกซื้อได้อย่างสะดวก”

เปิดตัวผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน ที่งาน THAIFEX

ด้านอนรรฆ โกษะโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส ครีเอชัน ขณะนี้มีประมาณ 10% แต่ปัจจุบันวีฟาร์มได้เริ่มมองเห็นโอกาสมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้จะมีทิศทางในการรุกตลาดแพลนต์เบสมากกว่าที่ผ่านมา แต่จะเน้นไปที่แพลนต์เบสจากพืชที่ไม่ได้ผ่านการบด หรือปรุงแต่งให้คล้ายเนื้อสัตว์ แต่จะเป็นแพลนต์เบสทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบทานผัก กลุ่มคนรุ่นใหม่ การผลิตและการเก็บรักษาจะเน้นไปที่แพลนต์เบสแช่งแข็ง เนื่องจากมีอายุการเก็บที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันได้ค่อนข้างดี โดยยังจะมีการรุกตลาดต่างประเทศ ด้วยการการนำสินค้าที่มีรสชาติแบบไทย ๆ  ไปในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะแพลนต์เบสไบต์ ที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ รับประทานง่าย โดยมั่นใจว่าในแง่ของการแข่งขันด้านรสชาติ เป็นข้อได้เปรียบที่วีฟาร์มสามารถตีตลาดได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี วีฟาร์มยังได้มีการเปิดตัว 4 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2022 โดยเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready to eat) ที่ตรงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่ม Flexitarian ได้แก่ แชมปิอญองนักเก็ต, ดอกกะหล่ำปีวิงซ์ ที่ให้รสชาติเสมือนเนื้อไก่ทอด, ชีสบอลสปินิช และเฟรนช์ฟรายมัน 4 อย่าง ได้แก่ มันหวาน มันม่วง มันส้ม มันฝรั่ง ซึ่งปรุงสุกได้ง่าย ๆ ผ่านหม้ออบลมร้อน หรือการทอดผ่านน้ำมัน

มอร์มีท ปรับกลยุทธ์เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ด้าน วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาแพลนต์เบสแบรนด์ “มอร์มีท” (More Meat) เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดสินค้าแพลนต์เบสแข่งขันอย่างดุเดือด มอร์มีทจึงปรับกลยุทธ์การแข่งขันโดยจะเน้นที่การพัฒนา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะลดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และหาพืชทางเลือกใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ดียิ่งขึ้น มีเนื้อสัมผัสที่หนึบและจับตัวกันมากขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์มีไฟเบอร์สูงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลนต์เบสจากเมนูจานโปรดของคนไทย เช่น อาหารที่มีรสจัดจ้าน หรือจานเด็ดที่ต้องสั่งประจำของร้านอาหารอีกด้วย

เป้าหมายมอร์มีทในปีนี้ จะยังคงเน้นเป็นผู้ผลิต และสร้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีและยังคงมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปวัยรุ่น ซึ่งมอร์มีทมั่นใจว่าสามารถเข้าถึงได้ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยจะพร้อมออกสู่ตลาดก่อนเทศกาลกินเจ ส่วนปัจจัยที่มองหาผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ นั้น เนื่องจากปัจจุบันคนที่หันมารับประทานแพลนต์เบสไม่ได้มีแค่คนที่รักสุขภาพอีกต่อไป แต่ยังมีกลุ่มวัยรุ่นที่มองถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะจากอาหาร ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้บริโภคที่น่าจับตามองและเป็นเป้าหมายที่มอร์มีทจะต้องเข้าไปตีตลาดให้ได้ 

นอกจากปรากฏการณ์การแข่งขันสินค้าแพลนต์เบสจะมีผู้เล่นเข้ามาหลายรายแล้ว ยังมีอีกปรากฏการณ์ที่น่าจับตาคือกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนิวเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวมีการแสดงออกถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั้งบนโซเชียลมีเดีย และในวิถีชีวิตจริง จึงเป็นแนวทางสำคัญในเชิงการตลาด และคุณภาพของสินค้าที่จะต้องตอบกับความต้องการของคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาควบคู่กับการเติบโตก็คือการมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ และเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงแต่งจนมีรสชาติที่ผิดไปจากเดิม จากปัจจัยดังกล่าวทางแบรนด์จึงมีการวางขายผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสสูตรใหม่ที่มีโซเดียมต่ำ และไม่มีกลูเตน ซึ่งมอร์มีทถือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในตลาดแพลนต์เบสไทยที่มีการลดวัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์ลงให้เหลือน้อยที่สุด และ มีจัดให้ชิมเป็นเมนูต่างๆภาย ในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2022 อีกด้วย

ที่ผ่านมามอร์มีทเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 150% และคาดว่าในปีนี้ตลาดแพลนท์เบสน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30% โดยมอร์มีทตั้งเป้าว่าอยากจะครองสัดส่วนตลาดในปีนี้ให้ได้อีก 20% การเติบโตของมอร์มีทยังส่งผลให้เกษตรกรเติบโตไปด้วยจากเดิมที่มีกลุ่มผู้ปลูกเห็ดแครงเพียง 10 ครัวเรือน ในปัจจุบันขยายเพิ่มขึ้นถึง 30 ครัวเรือน ในอนาคตมอร์มีทกำลังมองหาพืชทางเลือกอื่นที่จะนำมาพัฒนาเป็นเนื้อจากพืชรูปแบบใหม่ โดยเลือกพืชท้องถิ่นในโซนภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ภาคอีสาน เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย และมอร์มีทเองก็จะได้วัตถุดิบจากท้องถิ่นใหม่ ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย วรกันต์ กล่าวสรุป

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“บ้านปู เน็กซ์” แนะ 5 เทรนด์ พลิกโฉมสู่ Smart Factory

Grab จับมือ depa เปิดตัวโครงการ “แกร็บวัยเก๋า” ชวนผู้สูงอายุพัฒนาทักษะดิจิทัล-หารายได้ผ่านแอปฯ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ