TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupcWallet แพลตฟอร์มบัญชี carbon footprint ช่วยผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านสู่โลกธุรกิจยั่งยืน

cWallet แพลตฟอร์มบัญชี carbon footprint ช่วยผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านสู่โลกธุรกิจยั่งยืน

เพื่อช่วยให้บรรดาผู้ประกอบการไทยทั้งหลายสามารถเริ่มต้นปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่โลกของการธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น 3 หนุ่มสาวรุ่นใหม่ นัชชา เลิศหัตถศิลป์ (CEO) สิทธิกร นวลรอด (CPO) และชนาธิป ตรงปัญญาโชติ (CTO) จึงได้จับมือรวมพลังก่อตั้ง cWallet สตาร์ตอัพสัญญาติไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อให้การจัดทำบัญชีคาร์บอนฟุตปริ๊นท์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น 

ด้วยความเชื่อมั่นในแนวคิดที่ว่า เมื่อผู้ประกอบการไทยทั้งหลายได้รู้และเห็นว่าองค์กรมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ไหน เท่าไร อย่างไร ก็จะสามารถจัดการปรับ ละ เลิก ให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือน้อยที่สุด หรือในที่สุดก็ไม่มีการปล่อยคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ออกมาเลย 

นัชชา กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ในฐานะที่เคยทำงานในประเทศสิงคโปร์มาสักระยะหนึ่ง นัชชาเล่าว่า การทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญภาคบังคับที่หลายธุรกิจต้องปฎิบัติตาม ซึ่ง “ความจำเป็น” นี้ ทำให้มีสตาร์ตอัพจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาทำโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น บริการจัดทำบัญชีคาร์บอนที่จะพิสูจน์ ปริมาณการใช้และการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบริษัท โดยที่สิงคโปร์มีให้บริการอย่างน้อย 5-6 ราย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับมาประเทศไทย นัชชากล่าวว่า ไม่มีให้เห็นแม้แต่เจ้าเดียว ตนเองจึงได้จับมือกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 2 คน คือ  สิทธิกร และชนาธิกในการก่อตั้ง cWallet ที่เริ่มจดทะเบียนบริษัทดำเนินธุรกิจในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2565

“ก่อนตั้งบริษัทนัททำงานอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งที่สิงคโปร์ เรื่องของความยั่งยืน เรื่องของสิ่งแวดล้อม แล้วก็เรื่องของคาร์บอนฟุตปริ๊นท์เป็นอะไรที่เราพูดกันทุกวัน ไม่ว่าเราจะไปขายสินค้าให้กับบริษัทไหน เขาถามก่อนเลยว่า เรามีคาร์บอนฟุตปริ๊นท์เท่าไร ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ในประเทศไทยเรายังไม่ค่อยได้ยิน เราจึงไปศึกษามาว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่ค่อยได้ยิน แล้วเราก็พบว่าเป็นเพราะว่ามันยาก เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก” 

นัชชาอธิบายว่า cWallet เป็นระบบบัญชีคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ ซึ่งตัวแพลตฟอร์มจะทำการประเมินคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ให้กับองค์กร และช่วยให้องค์กรได้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น และเป็นใบรับรองมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำไปใช้พิสูจน์ยืนยันได้ในทุกตลาดส่งออกชั้นนำทั่วโลก รวมถึงภายในประเทศไทยเอง

ทั้งนี้จุดเด่นสำคัญของ cWallet ก็คือการทำให้กระบวนการทำบัญชีคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊นท์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น 

“ปัญหาหรืออุปสรรคในการเริ่มต้นทำให้บริษัทเป็นมิตรของสิ่งแวดล้อม ก็คือความยากในการทำ ซึ่งแม้แต่คนที่เป็นระดับผู้บริหารหรือผู้ประกอบการเองยังไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย เราเลยมองว่า เราจะทำอะไรได้บ้างที่ทำให้กระบวนการนี้มันง่าย แล้วก็เข้าถึงได้กับคนทั่วไปได้บ้าง ก็เป็นโจทย์ที่จะทำให้เรากลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย”

และคำตอบของนัชชาก็คือ cWallet ที่เป็นการใช้ออนไลน์แพลตฟอร์ม เปิดทางให้ผู้ใช้งานเข้ามากรอกลิสต์ต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง ก่อนที่ระบบของ cWallet ซึ่งมีการฝังวิธีการคำนวณต่าง ๆ ไว้ในแพลตฟอร์มจะทำการคำนวณเพื่อดูว่าบริษัทปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ในเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์มากน้อยแค่ไหนอย่างไร 

ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงทำเพียงแค่ต้องกรอกตัวเลข แล้วก็ปริมาณการใช้งานพลังงานต่าง ๆ เข้ามา แล้ว cWallet จะทำการคำนวณเป็นคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ออกมาให้

“เรามองเห็นโอกาสที่ใหญ่มากในตลาดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ของประเทศไทย อีกทั้งทำแล้วยังได้ช่วยโลกได้ด้วย สร้างผลกระทบให้แต่ละองค์กรได้รู้ปริมาณคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ของตนเอง โดยเมื่อรู้แล้ว ก็จะสามารถดำเนินการลดคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ได้”

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ร่วมลงนามในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ทาง cWallet จึงมองว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการใช้งาน cWallet เพราะ cWallet เป็นเหมือนก้าวแรกในที่บริษัททั้งหลายจะเริ่มเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero เพราะทำให้บริษัทเหล่านั้นรู้ว่า คาร์บอนฟุตปริ๊นท์ของตนเองมีอยู่เท่าไร ก่อนที่จะไปหาโซลูชันต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการลดได้

นัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า cWallet เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็น web-based ดังนั้นจึงสะดวกในการใช้งาน เพราะสามารถใช้ cWallet ได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ 

สำหรับเทคโนโลยีหลักในการใช้งานจะเป็น engine ที่ใช้ในการคำนวณ ซึ่งได้ผูกสูตรคำนวณต่าง ๆ ฝังเข้าไปในแพลตฟอร์ม แล้วให้ระบบมีการคำนวณข้อมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งในภายหลังจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ด้วย เพื่อที่จะตรวจสอบพฤติกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงงาน เพื่อดูว่าพฤติกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนมีความผิดปกติตรงไหน แล้วทาง CWallet ก็จะส่งระบบแจ้งเตือนไปยังบริษัทให้บริษัทสามารถที่ลงมือแก้ไขได้ทันที

ปัจจุบัน เพราะต้องการมุ่งเน้นให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทาง cWallet จึงมุ่งให้บริการสำหรับองค์กรเป็นหลักก่อน เพราะองค์กรมีผลกระทบในเรื่องของ คาร์บอนฟุตปริ๊นท์มากกว่า

ขณะที่ตัวแพลตฟอร์ม นัชชากล่าวว่า เป็นลักษณะให้มากรอกได้เอง และเป็นอุปกรณ์ติดตั้งเพื่อวัดปริมาณคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ที่โรงงาน ดังนั้นจึงมีข้อมูลบางส่วนที่สามารถกรอกเข้าไปในระบบได้โดยอัตโนมัติหลังจากที่ได้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลทางบัญชีที่เป็น SAP และ Oracle แล้วก็มีข้อมูลบางส่วนที่เชื่อมไม่ได้ ซึ่งในส่วนที่เชื่อมไม่ได้ก็ให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลเข้ามาเอง 

ในส่วนของอุปกรณ์ IoT ที่บางองค์กรก็จะมีการติดตั้ง gadget ต่าง ๆ ไว้กับตัวเครื่องจักรของโรงงาน ในส่วนนั้น cWallet ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลในส่วนนั้นให้แสดงผลในระบบของ cWallet เพื่อนำมาคำนวณได้แบบเรียลไทม์

“ขณะนี้ cWallet ยังเป็นแบบกึ่ง pilot ซึ่งยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ว่าวิธีการทำงานของเรา เราทำเป็นเหมือน POC (proof of concept) กับโรงงาน ก็คือเข้าไปรับโจทย์ความต้องการของโรงงาน จากนั้นทาง cWalllet จะพัฒนาโซลูชันออกมา ในขณะเดียวกัน ก็พยายามพัฒนาตัวแพลตฟอร์มหลักของ cWallet ไปด้วย”

ทั้งนี้ นัชชาย้ำว่าเป้าหมายหลักของ cWallet คือการที่จะช่วยให้องค์กรในประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย net zero ได้อย่างเป็นระบบ เริ่มต้นได้อย่างถูกต้อง เพราะการสุ่มสี่สุ่มห้าเริ่มเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรเลยเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

“เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนระบบในโรงงาน อย่างแรกเราก็ต้องมาคำนวณก่อนดีกว่าว่ามีจุดไหนที่ทำแล้วสร้างผลกระทบได้มากกว่า แล้วเราค่อยเปลี่ยน ค่อยลงมือทำจริง ๆ ซึ่งความสวยงามของระบบเราคือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (user experience) ที่ใช้งานง่าย”

นอกจากนี้ นัชชาเสริมว่า ระบบของ cWallet จะร่วมพัฒนากับโรงงาน มีการเข้าไปสัมภาษณ์ คุย พบ ตรวจสอบโรงงาน คุยกับระดับผู้บริหารและวิศวกรเพื่อที่จะดูวิธีการปฎิบัติงานของโรงงาน ดูหน้างานว่าทำงานอย่างไร สามารถใช้โทรศัพท์บันทึกข้อมูลได้ไหม หรือดูพฤติกรรมการทำงานว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าปัญหา (pain) ของโรงงานขนาดใหญ่ คือจำนวนพนักงานเยอะ ดังนั้น การจะมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานอะไรสักอย่างของพนักงานจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก 

เพราะฉะนั้น งานของ cWallet คือต้องออกแบบระบบที่ช่วยโรงงานให้เข้าไปคุยกับพนักงานได้ง่าย เพราะถ้าพนักงานเข้าใจใช้งานได้คล่อง บริษัทก็ต้องซื้อโซลูชันของ cWallet แน่นอน 

สำหรับคุณค่าของระบบของ cWallet นัชชาชี้ว่า ประกาแรกคือ การช่วยให้องค์กรได้มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมสามารถหาที่มาที่ไป หรือดูต้นทุนของการปล่อยพลังงานหรือปล่อยคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊นท์ และสามารถที่จะบรรเทาหรือแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอน และทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งในท้ายที่สุดเมื่อบริษัททุกแห่งในไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ สุดท้ายปลายทางประเทศไทยก็จะสามารถบรรลุเป้าหมาย net zero ด้วย 

และ cWallet ก็เป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอน 

“ธุรกิจในทุกวันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าองค์กรมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีธุรกิจส่งออก ที่ต่อจากนี้จะต้องมีใบรับรอง (Certificate) คาร์บอนฟุตปริ๊นท์ สำหรับบริษัทส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะ เรียกได้ว่าถ้าทำบริษัทส่งออก บริษัทต้องมีใบรับรองคาร์บอนฟุตปริ๊นท์แน่นอน เพราะถ้าไม่มีสิ่งที่ตามมาก็คือต้นทุนทางภาษีคาร์บอน สมมติว่าเรามีการประกอบธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊นท์เยอะ นั่นย่อมหมายความว่าต้นทุนในการประกอบธุรกิจของเราก็จะสูงขึ้น ในขณะที่เพื่อนซึ่งเป็นคู่แข่งดำเนินการลดก๊าซคาร์บอนแล้ว ทำให้ต้นทุนทางภาษีต่ำกว่าเรา ถ้าเรายังไม่ปรับตัวตอนนี้ เราก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจไปได้” นัชชา อธิบาย

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือประเด็นของ Net Zero Supply Chain คือระบบห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายความว่า นับจากนี้ ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริโภคจะไม่ได้ผู้แค่ว่าบริษัทนี้มีความยั่งยืนหรือไม่ แต่จะดูลึกถึงซัพพลายเออร์ทั้งหมดของบริษัทว่ามีความยั่งยืนหรือไม่ 

“มันเป็นการที่ธุรกิจหนึ่งผลักดันอีกธุรกิจหนึ่งให้เขาต้องลดคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊นท์ตามไปด้วย อย่างเราเป็นบริษัทที่มีซัพพลายเออร์เยอะ ถ้าสมมติว่าซัพพลายเออร์ทั้งพวกของเรามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง มันจะทำให้บริษัทของเราเองมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง และสิ่งที่ตามมาก็คือภาษีที่สูง เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือกผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”

นัชชาย้ำว่า cWallet ไม่ได้เป็นองค์กรที่ออกใบรับรองให้ แต่เป็นบริษัทที่ช่วยเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับการนำไปขอใบรับรอง (Certificate) ซึ่งโมเดลธุรกิจจะขึ้นอยู่ที่จำนวนผู้ใช้งานระบบ และก็ความซับซ้อนขององค์กร โดยคิดค่าบริการเป็นแบบสมัครสมาชิกรายปี 

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่เป็นสตาร์ตอัพสัญชาติไทย cWallet มีใบรับรองให้เลือกสรรที่สามารถใช้ได้กับตลาดทั่วโลกและตลาดภายในประเทศไทยเอง โดย cWallet มีพาร์ทเนอร์ในหลากหลายประเทศที่จะช่วยให้สามารถขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้ ดังนั้น cWallet จะไม่หยุดอยู่ที่ตลาดในประเทศไทยแน่นอน 

ขณะนี้ cWallet สามารถปิดรอบระดมทุน pre-seed ที่ 9 ล้านบาท แต่มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับบรรดา Venture Capital และ Angel Fund ไว้บ้างแล้วบางส่วน ปัจจุบันมีทีมงานทั้งหมด 8 คน ส่วนใหญ่ประมาณ 80% เป็นนักพัฒนา พร้อมตั้งเป้าเป็นยูนิคอร์น ภายใน 5 ปี

ในส่วนของการขยายตลาดไปต่างประเทศ นัชชากล่าวว่า จะออกไปในประเทศที่มีบริบทคล้าย ๆ กับไทย อย่างเช่น เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เพราะประเทศเหล่านี้เป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นประเทศที่ มีพื้นที่ในการเพาะปลูก จึงมีความคล้ายคลึงกับไทย ประกอบกับการที่ตลาดในฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงให้การเปิดเผยคาร์บอนฟุ๊ตปริ๊นท์แบบสมัครใจไม่ใช่บังคับแบบฝั่งยุโรป ดังนั้น การใช้แพลตฟอร์มของcWallet จึงตอบโจทย์ได้มากกว่า 

อย่างไรก็ตาม นัชชายอมรับว่า เป้าหมายสูงสุดของ cWallet ไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นการสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสังคม

“จริง ๆ อยากจะฝากไว้ว่า ธุรกิจที่ทำเงินให้กับเราได้มากมาย สร้างจีดีพีให้ประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว เจ้าของกิจการเหล่านี้ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงลบให้กับสิ่งแวดล้อม ก็อยากที่จะเชิญชวนเหล่าองค์กรทั้งหลายมาติดตาม คาร์บอนฟุตปริ๊นท์ แล้วก็เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน Net Zero Mission ไปด้วยกัน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์ 

นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

ปตท.สผ. ผนึก กรุงไทย นำร่องลงทุนบริหารสภาพคล่องเชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตครั้งแรกในไทย

เชลล์เปิดตัว ‘โปรแกรมชดเชยคาร์บอน’ ครั้งแรกในไทย หนุนภาคธุรกิจก้าวสู่เป้าหมาย Net zero ระดับอุตสาหกรรม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ