TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistฤาจะเป็น "Phuket Sadbox"

ฤาจะเป็น “Phuket Sadbox”

เกือบครบ 1เดือนที่รัฐบาลนำร่องเปิดประเทศใน 120 วัน ด้วยโปรเจกต์ “Phuket Sandbox” ถือเป็นการซ้อมมือพลาง ๆ ขณะเดียวกันก็หวังจะปักธงท่องเที่ยวไทยให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้รับรู้ว่า ภูเก็ตพร้อมเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแล้ว

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 กำลังแรง และหนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะถ้าไม่เปิด เศรษฐกิจของจังหวัดก็จะพัง ยิ่งหากปล่อยให้ยืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ ภูเก็ตที่เคยเป็น “จังหวัดเศรษฐี”​ จะกลายเป็น “จังหวัดยากจน” ทันที

จะเห็นได้จากงานวิจัยของคณะการบริการและการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่รายได้ของคนภูเก็ต ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 1,984 บาทต่อเดือน ขณะที่เส้นความยากจนของไทย 3,044 บาทต่อเดือน

จากงานวิจัยชิ้นนี้ เรียกได้ว่า คนภูเก็ตกำลังประสบ “วิกฤติฉับพลัน” เพราะรายได้มีแนวโน้มต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตลดลงเฉียบพลันนั่นเอง

ในปี 2562 จังหวัดภูเก็ตมีรายได้จากการท่องเที่ยว 442,891 ล้านบาท แต่ในปี 2563 ลดเหลือเพียง 108,464 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ช่วงก่อนล็อกดาวน์ (รายได้ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2563) 98,835 ล้านบาท หรือร้อยละ 91 และตั้งแต่เมษายนจนถึงสิ้นปีภูเก็ตแทบไม่มีรายได้เข้ามาเลย

ทั้งหลายทั้งปวง ก็เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดภูก็ตผูกติดอยู่กับการท่องเที่ยวและบริการอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว มากถึง 84 % ซึ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 89.6% เลยทีเดียว

นี่คือคำตอบ ทำไมต้องมี Phuket Sandbox และรัฐบาลเองก็หวังจะใช้ภูเก็ตสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความมั่นใจ ถึงกับยกขบวนคณะรัฐมนตรี และระดมหอการค้าทั่วประเทศ ไปร่วมงานกันอย่างคึกคัก จนมีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณในการจัดพิธีเปิด ค่าจ้างออร์กาไนซ์จัดงาน และค่าจ้างพีอาร์ ทำประชาสัมพันธ์ อาจจะมากกว่ารายได้ที่ได้มาจากนักนักท่องเที่ยว

คนไทยที่นั่งเครื่องมาจากต่างประเทศ แล้วมาลงที่ภูเก็ต เล่าให้ฟังว่า เมื่อเครื่องมาลงที่ภูเก็ต ยังต้องเจอระเบียบปฏิบัติและขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการความสะดวกสบาย แม้ค่าที่พักโรงแรมจะถูกลงกว่าในเวลาปกติ แต่ค่ารถหรือค่าบริการอื่น ๆ กลับแพงลิบลิ่ว สวนทางกับเจตนารมณ์ของโครงการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิด Phuket Sandbox ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่ได้เพริศแพร้วศิวิไลซ์อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง เพราะมีกระแสข่าวนักท่องเที่ยวติดโควิดต้องถูกกักตัวที่โรงแรม กรุ๊ปที่มาด้วยกันก็ขอกลับประเทศไม่อยู่เที่ยวต่อ

แต่ผลกระทบในเชิงจิตวิทยา คือ ชาวบ้านในพื้นที่หวาดผวา ทางจังหวัดต้องสั่งปิดโรงเรียนทั่วเกาะภูเก็ต เด็ก ๆ ที่เรียนในโรงเรียน ต้องกลับไปเรียนออนไลน์ ทำให้ต้องเสียโอกาสทางการศึกษา เพื่อแลกกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ

แต่ที่ดูเหมือน Phuket Sandbox ไม่พ้นวิบากกรรม เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมนี้ คณะมนตรียุโรปซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ทั้ง 27 ประเทศ ออกแถลงการณ์ถอดรายชื่อประเทศไทยและรวันดาออกจากรายชื่อประเทศปลอดภัยที่ชาติสมาชิกพิจารณาให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด 

แม้จะเป็นประกาศจำกัดการเข้าประเทศของเขา แต่เมื่อมีประกาศอย่างนี้ ย่อมมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และโครงการ Phuket Sandbox อย่างมิอาจปฏิเสธได้ คงไม่มีใครอยากมาเที่ยวประเทศที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นทุกวันแน่ ๆ

ขณะที่หลาย ๆ ประเทศในยุโรป กรีซ สเปน อิตาลี หรือยุโรปตะวันออก ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามไม่แพ้ภูเก็ต. สถานการณ์ประเทศเหล่านี้เริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะหันไปเที่ยวประเทศเหล่านี้แทน ซึ่งประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาในการเดินทาง ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวยุโรปมาเที่ยวภูเก็ตตามเป้าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้คงจะเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ

“ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” ตอนนี้ภาคเอกชนในภูเก็ตต้องนั่งกุมขมับ หลังจากที่รัฐบาลล็อกดาวน์พื้นที่ 13 จังหวัด โดยยกระดับควบคุมเข้มข้น มีการประกาศยกเลิกเที่ยวบิน รวมถึงรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยเข้ามาเที่ยวภูเก็ต หรือเท่ากับศูนย์ แถมนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่เข้าเป้า

ขณะนี้ในภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาผ่านโครงการ Phuket Sandbox โดยทั้งเดือนกรกฎาคมนี้ ราว ๆ 17,000 กว่าคน แต่ถือว่าต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้มากพอสมควร ภาคเอกชนก็ได้แต่หวังว่าไตมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น น่าจะมีนักท่องเที่ยวหนีหนาวจากยุโรปมาเที่ยวมากขึ้น

แต่ก็คงยากตราบใดที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ทำให้ตัวเลขคนติดเชื้อลดลงไม่ได้ คงไม่มีใครกล้ามาเขาคงเที่ยวใกล้ ๆ บ้านเขาแทน

สำหรับโครงการ Phuket Sandbox ในความรู้สึกชาวบ้าน เขาบอกว่าน่าจะ เป็น Phuket Sadbox มากกว่า เขามองว่า ได้ไม่คุ้มเสีย ชาวบ้านอยู่กันอย่างหวาดผวา เด็กนักเรียนต้องมานั่งเรียนออนไลน์ รายได้ที่เข้ามาจริง ๆ ก็ไม่กี่ร้อยล้าน เม็ดเงินก็ตกไปอยู่กับโรงแรมขนาดใหญ่ของนายทุนจากส่วนกลางมากกว่าตกในกระเป๋าคนท้องถิ่น

ยังไง ๆ ก็อย่าให้เป็น Phuket Sadbox อย่างที่ชาวบ้านเขาว่าไว้ ก็ขอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปให้ได้

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ