TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessSea (ประเทศไทย) จับมือ ดีป้า - ยังแฮปปี้ ต่อยอดผลสำเร็จสู่ความร่วมมือ “อัปสกิลวัยเกษียณ สู่ผู้ประกอบการวัยเก๋า”

Sea (ประเทศไทย) จับมือ ดีป้า – ยังแฮปปี้ ต่อยอดผลสำเร็จสู่ความร่วมมือ “อัปสกิลวัยเกษียณ สู่ผู้ประกอบการวัยเก๋า”

“เพราะเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีความหมาย และเป็นพื้นที่ของคนทุกวัย”

ในยุคที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้อายุอย่างเต็มรูปแบบ จะเห็นได้จากไม่ว่าเราจะหันไปทางไหน คนรอบตัวล้วนแต่เป็นคนสูงวัยทั้งนั้น ซึ่งคนเหล่านี้ แท้จริงแล้วก็คือวัยรุ่น วัยทำงาน ที่เคยมีประสบการณ์การทำงาน การใช้ชีวิตในสังคมมาไม่น้อย เมื่อถึงวันหนึ่งที่พวกเขามีอายุมากขึ้น ต้องออกจากงาน กลับมาอยู่บ้าน ทำให้รู้สึกเหงา และความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองลดลง จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถทำให้คนวัยเกษียณเหล่านี้ ลุกขึ้นมาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีนั้นมาสร้างคุณค่าให้กับตัวเขาเอง นี่คือที่มาของความร่วมมือ “อัปสกิลวัยเกษียณ สู่ผู้ประกอบการวัยเก๋า” โดย Sea (ประเทศไทย) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และยังแฮปปี้ (YoungHappy)

Activity_Sea-ประเทศไทย-x-YoungHappy-ขายได้ขายดีกับ-Shopee

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Sea (ประเทศไทย) ได้จัดทำคอร์สออนไลน์ ‘ขายได้ขายดีกับ Shopee’ เวิร์กช็อปแบบเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับผู้สูงอายุ ร่วมกับ YoungHappy มีผู้ประกอบการวัยเก๋าเข้าร่วมโครงการ สามารถสร้างยอดเข้าชมรวมมากถึง 8,845 ครั้ง และมียอดขายรวมทุกร้านกว่า 20,000 บาท ภายในระยะเวลาเพียง 1 – 2 สัปดาห์หลังเปิดร้าน ทำให้เห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุยังคงมีศักยภาพในการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี สามารถพัฒนาจากนักช้อปสู่ผู้ประกอบการออนไลน์ที่สามารถสร้างรายได้ในช่วงวัยเกษียณ

งานแถลงข่าวชอปปี้

สำหรับปีนี้ Sea (ประเทศไทย) เดินหน้าต่อยอดโครงการร่วมกับ YoungHappy และ depa ด้วยการออกหลักสูตร ‘Happy Learn – ช้อปง่ายขายคล่องที่ช้อปปี้ ฉบับวัยเก๋า’ หลักสูตรอีคอมเมิร์ซที่ออกแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนวัยเกษียณโดยเฉพาะ โดย พุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะที่ Sea (ประเทศไทย) เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney) แม้จะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนคนรุ่นใหม่ แต่ก็มองว่าปัจจุบันการเข้าถึงเทคโนโลยีมีอย่างกว้างขวางมากขึ้นไม่จำกัดแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนสูงอายุ วัยเกษียณ เห็นได้จากการพวกเขาสามารถใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตได้อย่างคล่องแคล่วในชีวิตประจำวัน สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันพวกเขากลับรู้สึกว่าพอไม่ได้ทำงานแล้วคุณค่าของตัวเองในสังคมก็ลดลงด้วย ซึ่ง Sea (ประเทศไทย) มองว่าเทคโนโลยีจะสามารถพัฒนาชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้นได้ แก้ปัญหาได้หลายมิติ จึงมีโครงการที่จะพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่กลุ่มคนค่อนข้างหลากหลาย โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่ Digital Nation ซึ่งรวมไปถึงการเปิดตัวความร่วมมือ “อัปสกิลวัยเกษียณ สู่ผู้ประกอบการวัยเก๋า” ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

“เราอยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีความหมาย และเป็นพื้นที่ของทุกคน ไม่ใช่ของคนวัยใดวัยหนึ่ง” 

พุทธวรรณ สุภัทรนันท์

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้อายุอย่างเต็มรูปแบบ อัตราการเกิด ส่งผลกระทบกับโครงสร้างทางสังคมในแง่ของสัดส่วนวัยทำงานที่ลดลง รวมถึงการที่ธนาคารโลกออกมาให้ข้อมูลว่า อัตราการลดลงของวัยทำงานของประเทศไทยมีความเร็วเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รองจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แต่อัตรา GDP ต่อหัว (Per Capita) ของไทยต่ำกว่าสิงคโปร์และฮ่องกงเกือบ 2 เท่า ก่อให้เกิดความท้าทายเรื่องของเศรษฐกิจที่เติบโตลดลง งบประมาณถูกนำไปใช้กับผู้สูงอายุมากขึ้น การยกระดับความรู้ดิจิทัลให้แก่ผู้สูงอายุอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดทอนความท้าทายนี้ให้กับประเทศ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ Sea (ประเทศไทย) ต้องมาสนับสนุนพี่ ๆ วัยเกษียณ ให้มีทักษะความรู้ดิจิทัล พุทธวรรณ กล่าว

กษิติธร ภูภราดัย

ด้านดร. กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า “หนึ่งในพันธกิจสำคัญของ depa คือการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่คนในทุกช่วงวัย รวมถึงผู้สูงอายุ เนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนไป ดิจิทัลเทคโนโลยีก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ในขณะที่คนสูงวัยหลายท่านไม่ได้คุ้นเคยกับเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ ยิ่งในยุคของการแพร่ระบาดโควิด-19 เราได้เห็นแล้วว่าทุก ๆ กิจกรรม หรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องทำผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับพี่ ๆ สูงวัยทุกคนรู้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร จากนั้นทำการเพิ่มทักษะดิจิทัลเพื่อการดำรงชีวิตในทุก ๆ วัน ให้แก่พวกเขา ยกตัวอย่าง การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้แอปพลิเคชันเพื่อการสนทนา หรือการทำธุรกรรมออนไลน์ ที่ไม่ได้สอนเชิงเทคนิค แต่พยายามสอดแทรกประเด็นเรื่องของความมั่นคง ความปลอดภัย เพราะรู้ว่าโลกดิจิทัลไม่ได้ปลอดภัย 100% เพื่อให้พี่ ๆ รู้เท่าทันภัยที่อาจเกิดขึ้น”

สิ่งที่ depa ทำอีกสเต็ปหนึ่งก็คือสอนการนำดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นคอร์สสอนถ่ายภาพ คอร์สสอนขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้เราเห็นว่า แท้จริงแล้ว หลายคนมีสินค้า แต่ไม่รู้จะขายอย่างไร โดยเฉพาะช่วงนี้ออกจากบ้านไม่ได้ ต้องขอบคุณมากที่ทาง Sea (ประเทศไทย) และ YoungHappy ที่มาจับมือช่วยกันสร้างทักษะเหล่านี้แก่พี่ ๆ สูงวัย

นายธนากร-พรหมยศ-ผู้ร่วมก่อตั้ง-บริษัท-ยังแฮปปี้-จำกัด-2

ธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง ยังแฮปปี้ (YoungHappy) กล่าวว่า ต้องขอบคุณ Sea (ประเทศไทย) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของพี่ ๆ สูงวัย หลายคนกำลังกังวลว่าผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาให้กับสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว 80% ของสัดส่วนผู้สูงอายุจาก 14 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีความกระปรี้กระเปร่า (Active Ageing) YoungHappy เล็งเห็นว่าดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้พี่ ๆ สูงวัยใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น 

“เราได้เห็นแล้วว่าวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น จากสถานการณ์เดียวกัน หากพ่อแม่ หรือคนใกล้ตัวของใช้จำเป็นหมด ไม่สามารถออกไปซื้อเองข้างนอกได้ หากหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเลือกของที่ถูกใจกับตัวเอง เปรียบเทียบราคาสินค้าในแต่ละร้านเป็น น่าจะตอบโจทย์ ซึ่งเทคโนโลยีเองก็มีทั้งดีและไม่ดี หากเราสามารถติดเกราะอาวุธป้องกันมิจฉาชีพเหล่านั้นได้ มั่นใจว่าจะเป็นหลักสูตรที่สนุกและเป็นประโยชน์แน่นอน”

ข้อมูลจากยังแฮปปี้ (YoungHappy) ระบุว่า ปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือแม้จะเป็นปัญหาเล็ก ๆ แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่ให้เกิดขึ้นภายในบ้านได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงวัยลืมว่าต้องใช้โทรศัพท์อย่างไร แชร์โลเคชั่นให้เพื่อนอย่างไร ก็อาจเกิดความขัดแย้งในครอบครัวจากช่องว่างระหว่างวัย แต่จะดีกว่าไหม หากลูกหลานที่โตขึ้นมากับเทคโนโลยี จะสามารถเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของสายสัมพันธ์ในครอบครัว

จากจุดเริ่มต้น แค่ต้องการดูแลเจนสูงวัยในครอบครัวให้ดี

“ย้อนกลับไป 4 ปีก่อน YoungHappy เริ่มต้นโครงการจากการที่ต้องการดูแลคนสูงวัยในครอบครัวให้ดี แล้วขยายกลายเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา บทบาทของเราในฐานะกิจการเพื่อสังคม อยากสนับสนุนให้พี่ ๆ วัยเก๋า รวมตัวกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ติดอาวุธใหม่ให้กับตัวเอง ส่งเสริมด้านศักยภาพอื่น ๆ ที่พี่ ๆ สนใจ เราเชื่อว่าเทคโนโลยี กับโอกาสดี ๆ หลังวัยเกษียณ จะช่วยให้เขาเหล่านี้ได้ทำอะไรใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง อยากให้พี่ ๆ สนุกกับเทคโนโลยี และพึ่งพาตัวเองได้ ได้ทำงานกับพาร์ทเนอร์ที่ดี ที่จะส่งเสริมให้พี่ ๆ มีความสุขตลอดไป”

Sea-x-Young-Happy_Digital-Literacy-Workshop_09

พุทธวรรณ กล่าวเสริมว่า “5 ปีที่ผ่านมาที่ทำงานร่วมกับ YoungHappy เราได้เรียนรู้อะไรมากมายในแง่มุมของการดูแลคนวัยเกษียณ ทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้วคนวัยเกษียณทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ไม่แพ้คนรุ่นใหม่ แต่เราต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องมือ และดูว่าจะสื่อสารกับเขาเหล่านั้นด้วยวิธีการไหนถึงจะเหมาะสม โดยปีแรก ๆ ของการเริ่มโครงการ ผลตอบรับที่ได้ดีมาก ตอบโจทย์ และประทับใจมาก เราทราบว่าพี่ ๆ วัยเกษียณมักมีปัญหาเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) อยู่ในครอบครัว คนสูงวัยอยากคุยกับลูกค้าหลาน แต่คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะเข้ากับหลาน ๆ อย่างไร จากจุดนี้ Sea (ประเทศไทย)จึงเข้าไปสอนให้พี่สูงวัยเล่นเกม ROV หวังจะเป็นการใช้เนื้อหาด้านเกมในการสร้างบทสนทนา และสานสัมพันธ์กับลูกหลานในบ้านได้ ซึ่งผลออกมาดีมาก ทุกคนแสดงให้เห็นว่าทุกคนเต็มใจที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ แอ็กทีฟมากสำหรับเรา”

ปีต่อมา Sea (ประเทศไทย) สอนให้พี่ ๆ วัยเกษียณรู้จักป้องกันตัวเองจากภัยไซเบอร์ สอนให้ซื้อของบนอีคอมเมิร์ซอย่างปลอดภัยบนช้อปปี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการในปีนี้ เพิ่มทักษะความรู้ให้แก่พี่ ๆ จากการเป็นนักช้อป มาเป็นผู้ประกอบการบนช้อปปี้ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของโครงการไม่ได้อยู่ที่การสร้างรายได้ให้กับพี่ ๆ สูงวัย หรือส่งเสริมเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้พวกเขาได้ใช้เทคโนโลยีอย่างมีความสุข เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ 

“หลังจากที่พี่ ๆ ได้เรียนกับช้อปปี้ และเปิดร้านได้เพียง 2 สัปดาห์ สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 20,000 บาท มียอดคนเข้าชมร้านค้าอยู่ที่ 8,845 ครั้ง”

งานแถลงข่าว Sea (ประเทศไทย) ผนึก ‘ดีป้า’ – ‘ยังแฮปปี้’ เปิดตัวหลักสูตรอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้สูงอายุครั้งแรกในไทย (3)

สำหรับเป้าหมายโครงการในปีนี้ คือการเพิ่มขนาดโครงการให้ขยายมากขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก depa ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เข้ามาเป็นพันธมิตรสำคัญ เราคาดหวังว่าการเข้าถึงโครงการจะสามารถกระจายไปยังทั่วประเทศ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่พี่ ๆ วัยเกษียณได้มากขึ้น โดยในปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเวิร์กช็อป เป็นลักษณะ  E-Module ทั้งหมด 7 ตอน เข้าใจง่าย ๆ ศึกษาง่าย ๆ ผ่านทางวิดีโอ ประกอบกับคู่มือที่จัดทำขึ้นเพื่อวัยเก๋าโดยเฉพาะ อ่านง่าย ภาพเยอะ ตัวหนังสือใหญ่ สอนตั้งแต่การเปิดร้าน การเลือกซื้อสินค้ามาขาย ไปจนถึงการส่งของ การรับเงินค่าสินค้า ไปจนถึงการดูแลจัดการร้านในระยะยาว

ดร. กษิติธร กล่าวเสริมว่า การอบรมในครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของทฤษฎี แต่พี่ ๆ สูงวัยยังจะได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติ จากผู้มีความรู้จริง ซึ่งถือว่าสำคัญมาก โดยขณะนี้ depa กำลังสร้าง Dmedia หรือดิจิทัลมีเดีย คือทำคอนเทนต์ดี ๆ ออกมาเพื่อให้พี่ ๆ วัยเก๋าสามารถติดตาม เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการขายของบนอีคอมเมิร์ซก็เป็นหนึ่งในคอนเทนต์นั้นด้วย การขายของต้องปลอดภัย ต้องรู้ว่ารับเงินมาจากใคร นอกนี้ยังมีแพลตฟอร์ม Retro OK ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการอัปเดตความรู้ด้านดิจิทัล และการใช้โซเชียลมีเดีย 

พุทธวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราหวังว่าโครงการครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายพี่ ๆ ซีเนียร์ทั่วประเทศ ให้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง ว่าตัวเองสามารถที่จะเรียนรู้ได้ มีคุณค่า และส่งต่อความรู้ที่ได้รับไปยังคนอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความเก๋าให้กับตัวเองได้มากยิ่งขึ้น”

KV-Sea-ประเทศไทย-x-YoungHappy-ขายได้ขายดีกับ-Shopee

และนี่คือส่วนหนึ่งของผลสำเร็จที่เกิดขึ้นหลังเข้าร่วมคอร์สออนไลน์ ‘ขายได้ขายดีกับ Shopee’ ในปีที่ผ่านมา

พี่โพธิกุล

โพธิกุล รุ่งลักษมีศรี อายุ 57 ปี – ฟาร์มไส้เดือนโพธิ์ภัทร์
จำหน่าย มูลไส้เดือน, ดินพร้อมปลูก, ชุดทดลองเลี้ยงไส้เดือน, ชุดเลี้ยงไส้เดือนอาชีพ, ระบบ Smart farm

จากผู้จัดการประจำฝ่ายวิศวกรรมและส่งเสริมการผลิตในบริษัทมหาชนขนาดใหญ่  และผู้จัดการแผนกพัฒนาอย่างยั่งยืนโรงงานในประเทศเวียดนาม ผันตัวมาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์โดยใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things)

โพธิกุล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้หัดใช้อีคอมเมิร์ซมาระยะหนึ่งในฐานะผู้ซื้อ แต่ก็เป็นธรรมชาติของคนสูงวัย ที่จะมีความกลัว สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี มองไว้ก่อนว่าจะเป็นเรื่องยาก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย วุ่นวาย คนอื่นต้องมาคอยช่วยสอน ลูกหลานจะรำคาญที่จะมาสอนหรือไม่ จนได้มาเข้าร่วมโครงการ บทเรียนที่ทางทีมงานเรียบเรียง และรวบรวมมาให้เป็นระบบ ขั้นตอนดีมาก ทำให้คนที่เริ่มต้นจากศูนย์ เข้าใจเต็มร้อยได้โดยไม่ต้องเสียเวลามาก ไม่ได้ยากเกินกว่าผู้สูงวัยจะเข้ามาเรียนรู้

“จริง ๆ แล้ว ถ้าเราเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถเกินที่เราจะทำได้ เรียนรู้ได้ นอกจากนี้การเข้าร่วมโครงการ ยังได้มิตรภาพ ได้รู้จักเพื่อนใหม่วัยใกล้เคียงกัน”

พี่สำราญ

สำราญ รุ่งโรจน์ อายุ 51 ปี ร้าน MEUKSaDeD (หมึกสะเด็ด)
จำหน่ายชุดอาหารทะเลพร้อมปรุง อาหารทะเลแช่แข็ง หมึกสะเด็ดแดดเดียว หมึกพื้นถิ่นจากประมงเรือไดร์บ้านเพ จ.ระยอง 

จากร้านอาหารทะเลบ้านเพ แหล่งรวมอาหารทะเลสด ๆ พื้นถิ่นอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง สู่การขยายตลาดบนช่องทางออนไลน์ เพื่อหวังให้ลูกค้าในจังหวัดอื่น ๆ ได้ทานอาหารทะเลสดส่งตรงถึงบ้าน

สำราญ เล่าว่า ช่วงแรกที่เข้าร่วมโครงการ รู้สึกว่าการขายสินค้าบนช้อปปี้ดูยุ่งยาก ไม่คิดว่าจะเรียนรู้ได้ เนื่องจากมีฟังก์ชั่นการใช้งานหลากหลาย เมื่อได้เข้ามาเรียนรู้ เปิดหน้าร้าน เอาสินค้าเข้าไปวาง ได้เรียนรู้ว่าไม่ใช่แค่สามารถใส่รูปถ่ายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถทำคลิปวิดีโอ ทำเมนูสินค้าตัวอย่างลงไปได้ หากลูกค้าซื้ออาหารทะเลจากร้านไป จะเอาไปทำเมนูอะไรได้อีก 

“ระบบต่าง ๆ ที่ช้อปปี้มีช่วยเราหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่น การส่งสินค้า รายละเอียดสินค้าต่าง ๆ สะดวกมาก แม้จะมีลูกค้ามานั่งทานที่ร้าน แต่ออนไลน์ก็ยังขายอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่ารอดตาย”

ในส่วนของการทำโปรโมชัน ได้เรียนรู้ว่าการให้ส่วนลดพิเศษกับลูกค้าที่มาติดตามร้าน การส่งสินค้าฟรีจะช่วยกระตุ้นยอดขาย ทำให้ลูกค้าสนใจอยากทดลองซื้อสินค้า เกิดการซื้อซ้ำได้ไม่ยาก 

“เคยคิดว่าอายุอย่างเราไม่พร้อมจะเรียนรู้อะไรแบบนี้แต่พอได้เปิดใจ เข้ามาเรียนรู้กับเพื่อน ๆ สิ่งที่เคยคิดว่ายาก คงทำไม่ได้ พอได้มาเรียนรู้เทคนิคเพียงเล็กน้อยเหมือนได้เปิดประตูบานใหม่ ได้เห็นอะไรที่สดใสมาก สามารถตามทันคนอื่น ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นเรื่องของเจนวาย เจนอัลฟ่าบ้าง จะทำให้เราได้เรียนรู้ด้วยว่าลูกเราในอนาคตเขาจะอยู่กันอย่างไร จะได้เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับเขาได้ เพราะเราไม่หยุดที่จะเรียนรู้”

สุธาสินี ทรัพย์วงศ์ อายุ 64 ปี – ร้าน Krubee_64
จำหน่าย กระเป๋ากระจูด งานหัตถกรรมสานจากต้นกระจูด ต.ทะเลน้อย จ.พัทลุง

จากคุณครูสอนวิชานาฏศิลป์ โรงเรียนมุกดาหาร วัยเกษียณ สู่เจ้าของร้านกระเป๋ากระจูดบนช้อปปี้

สุธาสินี เล่าว่า ช่วงที่เกษียณออกมา ปิดตัวเองไประยะหนึ่ง จนกระทั่งมารู้จัก YoungHappy ได้รู้จักเพื่อนใหม่ทางออนไลน์ ได้เรียนรู้เทคนิคการใช้อินเทอร์เน็ต ถ้าจะดูข่าว ดูการค้าขายออนไลน์จะต้องตรวจสอบอย่างไร

“ก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่ประกาศขายไว้ ทำให้รู้สึกกลัว และมองว่าการซื้อขายออนไลน์เป็นเรื่องน่ากลัว แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ ได้เริ่มเรียนทุกอย่างตั้งแต่แรก ทำให้รู้รายละเอียดมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เป็นความรู้ที่ดีและมีประโยชน์มาก”

เทคนิคที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนอกจากวิธีการเปิดร้านแล้ว ยังได้ทราบว่า ถ้าอยากให้ลูกค้าสนใจต้องบอกรายละเอียดสินค้า กว้างยาวเท่าไหร่ ผลิตจากวัสดุอะไร สามารถเข้าไปโปรโมทสินค้าได้บ่อย ๆ ครั้งละ 5 ชิ้น ทุก 4 ชั่วโมง ได้เรียนรู้เรื่องของการโอนเงิน การส่งของ ช้อปปี้มีระบบที่ดีที่ช่วยผู้ประกอบการ ขอให้กล้าที่จะลงไปเล่นกับของที่เขามีให้

“ขายของบนช้อปปี้ทำได้ไม่ยาก ไม่เคยคิดด้วยว่าจะมียอดขาย ต้องขอบคุณ YoungHappy และช้อปปี้ที่ทำให้คนแก่คนหนึ่งไม่กลัวโลกอินเทอร์เน็ต เปิดใจยอมรับเทคโนโลยีใหม่ เราหนีไม่ได้ก็จับขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

พิรญาณ์ พรหมจันทร์ อายุ 52 ปี ร้าน Plant & Bonne Charm Stone
จำหน่าย ต้นไม้ เมล็ดมะพร้าวทะเลทราย

พิรญาณ์ บอกว่า ปัจจุบันทำธุรกิจขายกระบองเพชร แคคตัส ไม้มงคลไม้ใบสวยงาม และเครื่องประดับหินมงคล อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง แต่ต้องการขยายตลาดออกไปสู่โลกออนไลน์ เคยลองทำเองแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง

“หลังจากเข้าร่วมโครงการตอนแรกเข้าใจว่าจะต้องมานั่งเรียนแบบนักเรียน นั่งฟังอย่างเดียว แต่พอเข้าไปเรียนแล้ว เหมือนเราทำงานร่วมกันมากกว่า เป็นการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป ได้เรียนรู้วิธีโฆษณาสินค้า วิธีทำ Follow price เพื่อให้คนที่ติดตามร้านเราเราจะได้ให้ส่วนลดพิเศษ ลูกค้าก็ประทับใจซื้อสินค้ากับเราครั้งแรกได้ส่วนลดเลย ยิ่งเข้าร่วมโปรโมชันที่ช้อปปี้จัด โอกาสที่ลูกค้าจะเลือกสินค้าเรามีเยอะมาก”

พิรญาณ์ มองว่า จริง ๆ แล้วช้อปปี้เป็นแอปพลิเคชันที่ดี ผู้ใช้สามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย พอมียอดขายเข้ามาก็ตื่นเต้น รู้สึกมีโทรศัพท์เครื่องเดียวก็สามารถทำงาน ขายของได้โดยไม่ต้องออกไปตั้งร้าน เสียค่าเช่า

“พี่เชื่อว่าทุกคนสามารถขายได้ พอเรามีหน้าร้านบนช้อปปี้ เราขายได้ คนรู้จักก็ให้มาสอนทำบ้าง เราก็สอน พยายามสอนคนอื่นเหมือนที่ได้รับมาจาก YoungHappy ถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้ การเรียนไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ ยิ่งเรานำประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราไปใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีสมัยนี้ พี่ว่าเราต่อยอดไปได้อีกเยอะ”

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เชฟรอน เปิดตัว Coder Camp ค่ายสร้างนักพัฒนาเว็บไซต์รุ่นใหม่ เตรียมความพร้อมสู่ตลาดอาชีพ

AP เผยปี 65 เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ 65 โครงการ มูลค่า 78,000 ล้านบาท

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ