TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeสภาวิศวกร ชี้วิศวกรรุ่นใหม่เปลี่ยนสายอาชีพ

สภาวิศวกร ชี้วิศวกรรุ่นใหม่เปลี่ยนสายอาชีพ

‘ศาสตร์แห่งวิศวกรรม’ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป หากรายล้อมรอบตัวเรามีทั้งสิ่งปลูกสร้าง อาคารสูง สะพาน ข้ามแม่น้ำ ถนนหนทาง รถยนต์หรือขนส่งสาธารณะ โดรนบังคับวิทยุ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ก็ล้วนมีวิศวกรรมเป็นกลไกในการพัฒนาหรือรังสรรค์ขึ้น สะท้อนภาพชัดได้จากนานาประเทศที่พัฒนาแล้วและเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ล้วนเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยด้านวิศวกรรมศาสตร์ทั้งสิ้น

เช่น ‘จีน’ เป็นศูนย์กลางขายอุปกรณ์ไอทีทั่วโลก ‘เกาหลี’ มีแบรนด์สมาร์ททีวีเป็นของตนเอง ‘เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา’ ผลิตเครื่องบินแอร์บัส (Airbus) หรือกระทั่งในหลายประเทศ ก็สามารถผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีมาตรฐานระดับ Medical Grade พร้อมทั้งส่งออกเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน 

แต่ในวันนี้ ในห้วงวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยเรากลับต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมาก อันสะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งที่วิศวกรไทยล้วนมีศักยภาพสูง สามารถคิดประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้จำนวนมาก ซ้ำร้ายยังมาพร้อมวิกฤติของวิศวกรรุ่นใหม่ที่มีจำนวนลดน้อยถอยลง

จากตัวเลขของบัณฑิตจบใหม่กว่า 35,000 รายต่อปี กลับพบจำนวนผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมจากสภาวิศวกร (COE: Council of Engineers) 6,000 – 7,000 ราย และคงเหลือเพียง 11% เท่านั้น หรือราว 4,000 ราย ที่มีใบอนุญาตฯ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราเร่งแก้ปัญหาระดับชาติว่า เหตุใด 88% ของวิศวกรรุ่นใหม่ ที่เลือกเรียนวิศวะแต่กลับไม่เลือกเป็นวิศวกร!?

“พี่เอ้” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า หลักสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ เลือกเรียนแต่ไม่เลือกเป็นวิศวกร จนอาจจะส่งผลให้การขับเคลื่อนประเทศในภาคอุตสาหกรรมหยุดชะงักได้ในอนาคตมาจากการขาดแรงหนุนใน 2. ปัจจัย ดังนี้ ‘ขาดโอกาสในการสร้างสรรค์ผลงาน’ หรือเสนอแนวคิดประดิษฐ์นวัตกรรม รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ จากการต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ‘ขาดผลตอบแทนด้านรายได้‘ เพราะในปัจจุบันรายได้ของวิศวกรไม่สูงมากนัก คนรุ่นใหม่จึงเลือกเปลี่ยนไปทำงานในสายอาชีพอื่นที่ได้ค่าตอบแทนสูงเพิ่มมากขึ้น หรือในบางรายเลือกเรียนในสาขาอาชีพยอดฮิต เช่น นักกฎหมาย นักสื่อสารมวลชน นักบริหารธุรกิจหรือสายการเงิน

“ดังนั้น เพื่อเป็นการดึงคนรุ่นใหม่มองเห็นโอกาสในการเรียนและก้าวสู่การเป็นวิศวกรมืออาชีพเพิ่มมากขึ้นในยุคดิสรัปชันเช่นนี้ ในฐานะนายกสภาวิศวกร เล็งเห็นว่า โลกแห่งเทคโนโลยี ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดหรือมุมมองใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะเป็นโลกของคนรุ่นใหม่อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราควรให้การสนับสนุนทั้งแนวคิด ทรัพยากรและแหล่งเงินทุน เพื่อเป็นต้นทุนให้กับคนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้า สภาวิศวกรจะไม่หยุดนิ่ง ในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ผ่านการจัดอบรมวิชาชีพ ให้การรับรองปริญญา มอบใบอนุญาตฯ เช่นกัน” 

ด้าน “น้องเติ้ล” ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการสื่อออนไลน์ SPACETH.CO ที่รวบรวมทุกเรื่องราวของอวกาศและดาราศาสตร์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ได้เล่าว่า เด็กในยุคปัจจุบันเกิดมาพร้อมกับชุดความคิดในการตั้งคำถามและคิดหาทางออก เพื่อให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ในมุมมองของผู้ใหญ่กลับมองว่า เป็นสิ่งที่เด็กต้องปรับตัวหรือแก้ปัญหาที่ตัวเอง เช่น ความคิดของการไม่อยากลุกขึ้นไปปิดไฟก่อนนอนเป็นความผิดของเด็ก(ที่เกียจคร้าน)แต่ในความคิดของเด็กนั้นเพียงเพราะต้องการระบบควบคุมไฟได้จากบนเตียง ฯลฯ ซึ่งสวนทางกับแนวคิดของผู้ใหญ่ในต่างประเทศ อย่าง สหรัฐอเมริกา ขณะที่เพื่อนของตนทำวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ลิ้นขึ้น กลับได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่จำนวนมาก โดยไม่ปิดกั้นความคิด ปล่อยให้เด็กได้ลงมือทำจริง เปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล (Resource) รวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิ้ล (Apple) และกูเกิ้ล (Google) ก็ร่วมให้การสนับสนุนแหล่งเงินทุน (Funding) อีกด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดองค์ความรู้ดังกล่าว แม้ต้นกำเนิดมาจากเด็กแต่ก็สามารถต่อยอดเชิงธุรกิจได้ในอนาคต ขณะที่ผู้ใหญ่ในไทยอาจจะมองว่า หุ่นยนต์ดังกล่าวไม่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์หรือ Commercialize ได้

ดังนั้น จึงต้องยอมรับว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่ คือ ข้อจำกัดในด้านทรัพยากรแหล่งเงินทุน และแรงสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งต้องตั้งคำถามกลับว่า ในวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เปิดให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล หรือวางกรอบนโยบายในการสนับสนุนวิชาชีพดังกล่าวเพียงเพราะความต้องการตลาด ซึ่งสวนทางกับความเปลี่ยนแปลงในยุดิสรัปชันเป็นอย่างมาก เพราะโลกปัจจุบันมีความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง 

“อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วแม้คุณจะไม่ได้ศึกษาต่อหรือจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่หากคุณมีความตั้งใจหรือมีแนวคิดที่อยากเปลี่ยนแปลงโลก คุณก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกับผมที่มีความสนใจด้านอวกาศและดาราศาสตร์ แต่ขณะนั้นแหล่งข้อมูลด้านนี้หาได้ยาก ตนเลยตัดสินใจชักชวนเพื่อน ๆ รวมกลุ่มกันทำเว็บไซต์ SPACETH.CO ขึ้นมา ซึ่งในท้ายที่สุดก็กลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องอวกาศและดาราศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง”

ผู้สนใจสามารถรับชมเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “WHYวิศวะ? วิศวกรในยุคดิสรัปชันกับทางรอดของโลก” ย้อนหลังแบบเต็มรูปแบบ และหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม อาทิ ‘วิศวกรรมชีวการแพทย์’ (Engineering Medicine) โดย รศ. ดร.สุธา ขาวเธียร รองเหรัญญิกสภาวิศวกร ‘สมาร์ทซิตี้’ (Smart City) โดย นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ เหรัญญิกสภาวิศวกร ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals: SDGs) ปี 2050 โดย ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร ฯลฯ ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/suchatvee.aewww.facebook.com/coethailand

                ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตฯ การต่ออายุใบอนุญาต การขอสอบเลื่อนระดับใบอนุญาตฯ กิจกรรมอบรมหรือการถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ และอื่น ๆ ได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 ไลน์ไอดี @coethai และเว็บไซต์ www.coe.or.th ยูทูบแชลแนล (YouTube) เพียงเสิร์ช “สภาวิศวกร Council of Engineers”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ