TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessราชสุดา รังสิยากูล ติดสปีด ORion เปิดเกมล่าธุรกิจใหม่ เร่งคว้าทุกโอกาส

ราชสุดา รังสิยากูล ติดสปีด ORion เปิดเกมล่าธุรกิจใหม่ เร่งคว้าทุกโอกาส

เมื่อบริบททางเศรษฐกิจและสังคมเคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นที่องค์กรต้องเหยียบคันเร่งธุรกิจในการก้าวให้ทันหรือก้าวนำการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ ราชสุดา รังสิยากูล ผู้รับหน้าที่นำทัพโอไรออน (Orion) ตามล่าทุกโอกาสทางธุรกิจเพื่อเติมเต็ม 4 พันธกิจหลักของโออาร์ ได้แก่ โมบิลิตี้ ไลฟ์สไตล์ โกลบอล และอินโนเวชัน ร่วมกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกัน

พันธกิจนายพราน “โอไรออน”

ราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการ ORion (โอไรออน) บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ความเร็ว (Speed) กลายเป็นส่ิงสำคัญในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้โออาร์จะมีหน่วยงานพัฒนาธุรกิจใหม่อยู่ในสายแผนและกลยุทธ์องค์กรอยู่แล้ว แต่เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน จึงได้แยกหน่วยงานเดิมที่มีอยู่มาจัดตั้งเป็นโครงการเฉพาะที่เรียกว่า “โอไรออน” (ORion) เน้นการทำงานใน 3 บทบาทหลัก คือ การหาธุรกิจใหม่หรือนวัตกรรม (New Business & Innovation) เพื่อหนุนสร้างการเติบโตทางธุรกิจ การบริหารความสัมพันธ์กับพาร์ตเนอร์ (Partner) ในการเติบโตร่วมกันตามวิสัยทัศน์ใหม่ของโออาร์ ซึ่งคือ “Empowering All towards Inclusive Growth”

ทั้งนี้ โอไรออนจะทำหน้าที่ในการปฏิสัมพันธ์กับพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาหาโออาร์เพื่อเติมเต็มธุรกิจซึ่งกันและกัน ไปจนถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจร่วมกัน สิ่งใดที่เกี่ยวกับหน่วยธุรกิจของโออาร์ที่มีอยู่ โอไรออนจะทำหน้าที่ประสานให้ แต่ถ้าเรื่องไหนยังไม่มีหน่วยธุรกิจใดรับผิดชอบ โอไรออนจะลงมือทำเอง และการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovation Culture) โดยผลักดันการทำงานที่มุ่งให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในโออาร์ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

กระบวนการทำงานที่ผ่านมาของโออาร์ค่อนข้างนิ่งและมีหลายชั้นหลายขั้นตอน แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบนวัตกรรมคือต้องคิดให้นำ ทำให้ไว โครงสร้างของ ORion คือ กลุ่มคนที่เน้นการบริหารจัดการงานและทีมให้กระชับฉับไวแบบอไจล์ (Agile) พร้อมสับเปลี่ยนหรือหมุนเวียนการทำงานตามสถานะโครงงาน (Project) ทั้งที่เกิดขึ้นใหม่ หรือมีการปรับเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป การจัดการงานภายใต้รูปแบบโครงการในระยะแรกช่วยให้เราค่อย ๆ จัดสรรเนื้องานให้เกิดความเหมาะสม จนเมื่อการดำเนินงานคล่องตัว และมีกระบวนการทำงานหลักที่ชัดเจนมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับโครงงานนั้นเป็นหน่วยธุรกิจในโออาร์ต่อไป

เมื่อ “นวัตกรรม” คือคำตอบของความยั่งยืน

ราชสุดา กล่าวว่า โอไรออนเปรียบเสมือนกองหน้า (Spearhead) ที่รุกสร้างและแสวงหาการลงทุนด้านนวัตกรรมไม่ต่างจากหน่วยธุรกิจอื่น ๆ เพียงแต่การลงทุนในธุรกิจของหน่วยธุรกิจจะผูกติดกับขีดความสามารถที่โออาร์มีอยู่แล้ว (Existing Competency) ขณะที่โอไรออนเน้นเร่งยึดพื้นที่ลงทุนในธุรกิจใหม่ที่โออาร์ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายและพันธกิจหลักของโออาร์ ได้แก่

การมองหาธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เป้าหมาย 3P ได้แก่ People – การให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมออกแบบและพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตไปด้วยกัน Planet – การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโออาร์ที่เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม และ Performance – การสร้างผลกำไรและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านธุรกิจค้าน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก การลงทุนโดยตรงในธุรกิจต่างประเทศ รวมถึงการสร้างและบริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับพาร์ตเนอร์

การหนุนเสริมพันธกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ Seamless Mobility การพัฒนาธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อทุกรูปแบบการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ Lifestyle ทางเลือกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตอย่างครบวงจรในทุกรูปแบบ Global การขยายฐานธุรกิจสู่ตลาดโลก และ Innovation & New Business การสร้างสรรค์นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ฉบับโออาร์ที่ตอบโจทย์เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในปี 2565 โออาร์ได้มีการปรับแผนการลงทุนใน 4 พันธกิจหลักรวม 40,494 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • กลุ่มธุรกิจโมบิลิตี้ 6,863 ล้านบาท
  • กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ 22,116 ล้านบาท
  • กลุ่มธุรกิจโกลบอล 6,156 ล้านบาท
  • กลุ่มธุรกิจอินโนเวชันและธุรกิจใหม่ 3,280 ล้านบาท
  • และอื่น ๆ อีก 2,079 ล้านบาท

โดยเป็นการปรับแผนเพื่อเน้นการลงทุนในส่วนของธุรกิจไลฟ์สไตล์และโกลบอล อาทิ การลงทุนในบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (KNEX) ผู้ประกอบกิจการร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ “Otteri Wash & Dry”(อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย) และการลงทุนบริษัท โลก้า โฮลดิ้ง (Loka Holding) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการบริการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ “ทราเวิลโลก้า” (Traveloka) เป็นต้น ตลอดจนมุ่งรักษาความเป็นผู้นำด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (Oil Ecosystem) และมุ่งสู่พลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้บริการผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ

“ขณะเดียวกัน เมื่อมองไกลถึงแผนลงทุนระยะยาวในธุรกิจใหม่เฉพาะของโอไรออนไปจนถึงปี 2573 จะอยู่ที่ราว 60,000 ล้านบาท จากงบประมาณโดยรวมของโออาร์ทั้งหมดซึ่งตั้งเป้าไว้ 200,000 กว่าล้านบาท” ราชสุดา กล่าว

ปักหมุด “อุตสาหกรรมที่ใช่” ให้เร็ว

การทำงานของ Orion เริ่มจากการหาภาพใหญ่ว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายคืออะไร พอปักหมุดได้ว่า “ใช่” ก็ต้องศึกษาต่อถึงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นว่า มีจิ๊กซอว์ตัวไหนที่น่าสนใจ และอยากสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สิ่งนั้น เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เลือกปักหมุดเรื่องโอทีเอ (Online Travel Agency – OTAs) สำหรับการให้บริการจองห้องพักและบริการการท่องเที่ยวออนไลน์

“สังเกตจากว่าโออาร์ลงทุนกับทราเวิลโลก้าแล้ว ก็ต้องคิดต่อว่า เราควรจะมีแพลตฟอร์มในการรับฟังเสียงผู้บริโภค (Social Listening Platform) ด้วยหรือไม่ หรือควรจะมีอะไรอีก เป็นต้น”

ส่วนเกณฑ์ตัดสินว่า อุตสาหกรรมนี้ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” อันดับแรก คือ Synergy จิ๊กซอว์ตัวนั้นจะต้องเชื่อมโยงหรือไม่ไกลจากธุรกิจปัจจุบันที่โออาร์ทำอยู่แล้วมากนัก Competency คือ การเปิดให้โออาร์ได้ใช้ขีดความสามารถในการปรับแต่งจิ๊กซอว์ตัวนั้นให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น หรือจะเป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ และ Asset หมายถึง การนำจิ๊กซอว์ตัวนั้นไปใช้ประโยชน์ร่วมกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ร้านคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon) ศูนย์บริการยานยนต์ Fit Auto จากนั้น จึงเป็นการพิจารณาตามกระบวนการเจรจาทางธุรกิจทั่วไป อาทิ ขนาดธุรกิจ การบริหารสินทรัพย์ การเติบโตทางธุรกิจ ผลประกอบการในเชิงรายได้ ประโยชน์ต่อคน สังคมและสิ่งแวดล้อม

“เมื่อกลยุทธ์หลักของโออาร์ คือ การส่งต่อการทำงานระหว่างกันจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ เพราะฉะนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องเห็นตรงกัน คือ หนึ่ง จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นที่เอาเข้ามาจะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของโออาร์ในเชิงกายภาพ (Physical) เช่น การดึงคนเข้าใช้บริการสถานีน้ำมันพีทีที หรือคาเฟ่อเมซอน และการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล แอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งรวบรวมประสบการณ์ของผู้คนที่มาปฏิสัมพันธ์กันผ่านออนไลน์”

ราชสุดา เปิดเผยว่า ปัจจุบันโอไรออนแบ่งสายการทำงาน (Workstream) ออกเป็น 9 สายงาน เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมายที่โออาร์กำลังจะไป ได้แก่ สายงานด้านโมบิลิตี้ (Mobility) ซึ่งแตกออกไปเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเน้นการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มบริการหลังการขายผ่านออนไลน์ (After Sales Online Platform) กลุ่มที่สองมุ่งแสวงหาโอกาสธุรกิจที่เกี่ยวกับอีโคซิสเท็ม (Ecosystem) ด้านพลังงาน เช่น ธุรกิจบริการเช่ารถ (Car Sharing)

สายงานด้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ซึ่งไม่ได้เน้นการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ แต่เป็นการเสริมประสิทธิภาพและความแข็งแกร่งด้านอีโคซิสเท็มให้กับ F&B Chain ที่โออาร์มีแผนเข้าไปลงทุนในแบรนด์ต่าง ๆ เยอะขึ้น เช่น การลงทุนในตลาดสดออนไลน์ “เฟรชเก็ต (Freshket)”

สายงานด้านการท่องเที่ยว (Tourism) เพราะเชื่อว่าประเทศไทยยังโตต่อในเรื่องการท่องเที่ยว เช่น การลงทุนในแพลตฟอร์มท่องเที่ยวและที่พัก ทราเวิลโลก้า (Traveloka) สายงานด้านความสวยความงามและการอยู่ดีกินดี (Health &Wellness)

นอกจากนี้ ยังประกอบด้วย สายงานด้านเอสเอ็มอี (SME) เป็นการลงทุนหรือเสริมสร้างธุรกิจเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งมากขี้น สายงานด้านธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital-VC) ในการตามหาจำนวนดีลการลงทุน (Deal Flow) อาทิ กลุ่มสตาร์ตอัพที่มองเห็นว่ามีศักยภาพในการเสริมทัพธุรกิจโออาร์ชนิดไม่ควรปล่อยให้หลุดมือ ตลอดจน สายงานด้านการบริหารความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์ และสายงานการดูแลเรื่องกลยุทธ์

“สิ่งสำคัญ คือ จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นในระบบนิเวศจะต้องไม่หลุดรอดสายตาของเรา ส่วนการตัดสินใจว่าจะสร้าง (Build) จะซื้อ (Buy) และร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ (Partnership) ให้เป็นไปตามบริบทที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น หมายถึงความพร้อมของเรา ความพร้อมของพาร์ตเนอร์ไม่ว่าจะสตาร์ตอัพหรือเอสเอ็มอี เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เสนอเข้ามา ทั้งในรูปแบบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital-VC) การทำข้อตกลงในลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture-JV) หรือ การควบรวมกิจการ (M&A)”

ราชสุดา เล่าว่า การใส่เม็ดเงินร่วมลงทุนในแบบ VC ทำให้ได้จำนวนดีลเข้ามามาก ซึ่งช่วยให้เราค้นพบจิ๊กซอว์ที่ต้องการในอีโคซิสเท็มต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ส่วนการทำข้อตกลงการค้าไม่ว่าจะเป็น JV หรือ M&A สิ่งที่ได้กลับมาอันดับแรก คือ ความเร็วในการเข้าถือครองพื้นที่ธุรกิจ สิ่งที่ตามมาภายหลัง คือ การได้องค์ความรู้ในธุรกิจนั้น ๆ มาพัฒนาขีดความสามารถของเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการเข้าไปถือครองสินทรัพย์ เพียงแต่รู้วิธีบริหารความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์เพื่อเติมเต็มศักยภาพและประโยชน์โดยรวมของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโมเดลธุรกิจ การทำแผนการตลาด หรือ แคมเปญการสื่อสารต่าง ๆ เป็นต้น   

วิสัยทัศน์คนโอไรออน “คิดให้นำ ทำให้ไว”

“คนโอไรออนต้องเป๊ะทั้งทักษะด้านการวิเคราะห์ (Analytical Skill) และทักษะด้านความคิดรวบยอด (Conceptual Skill)  ในการมองให้ไกลและกว้างว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นหรือสามารถเป็นไปได้ในอนาคต มองให้ออกว่าโมเดลธุรกิจใหม่จะมีหน้าตาอย่างไร และทำอย่างไรให้โมเดลธุรกิจนั้นเกิดขึ้น รวมถึงต้องผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การลงทุนที่รวดเร็วอย่างที่ต้องการ ขณะเดียวกัน ต้องมีชุดความคิดในการทำงานแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีปฏิสัมพันธ์ในการทำงานต่อทีมหรือต่อพาร์ตเนอร์แบบเป็นเหตุเป็นผล”

ราชสุดา เสริมว่า การทำงานของทีมแบบอไจล์ที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลา รวมถึงการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว (Resilience Competency) นับเป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่ เป้าประสงค์สำคัญ คือ ทำให้การบริหารทรัพยากรมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพสูง ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรผ่านการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจากหน้างานที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายขององค์กรได้ครบถ้วนทุกกระบวนการ ตั้งแต่การตรวจสอบกิจการเพื่อประเมินมูลค่าก่อนเข้าระดมทุน (Due Diligence) การอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในธุรกิจ (Cash Injection) การปิดการเจรจาต่อรอง (Closing the Deal) ไปจนถึงการดูแลหลังการลงทุน (Posting Investment)

“โครงการโอไรออนเมื่อถึงเดือนตุลาคมนี้ก็จะมีอายุครบ 1 ปีพอดี ปัจจุบัน เรามีพนักงานในทีมราว 30 คน สำหรับรองรับการทำงาน 9 สายงาน ที่ผ่านมาเราอยู่ในช่วงสร้างบ้าน ค่อยหาคนที่ใช่เข้ามา พร้อมกับทยอยเก็บจิ๊กซอว์ที่น่าสนใจ รวมถึงการดูแลหลังการลงทุนเพื่อเหลาจิ๊กซอว์ตัวนั้นให้มีหน้าตาอย่างที่เราหวังไว้ หรือสามารถนำไปต่อกับจิ๊กซอว์ตัวอื่น ๆ เพื่อให้เกิดภาพธุรกิจแบบอีโคซิสเท็มที่สมบูรณ์”

เป้าหมายสร้างกระแสรายได้ 20% ในปี 2573      

ราชสุดา กล่าวว่า ในท้ายที่สุดโอไรออนจะต้องสร้างกระแสรายได้จากธุรกิจใหม่และนวัตกรรม (New Revenue Stream) ประมาณ 20% ในพอร์ตของโออาร์ให้ได้ภายในปี 2073 จึงต้องมีการกำหนดค่าใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) จากงบ 6 หมื่นล้านที่ตั้งไว้ ส่วนกลไกการลงทุนต่าง ๆ จะดำเนินการผ่านบริษัท โออาร์ โฮลดิ้ง (OR Holdings) ซึ่งแตกออกเป็นสองส่วน คือ บริษัท มอดูลัส จำกัด (Modulus) สำหรับรองรับการลงทุนในประเทศ และบริษัท โออาร์ สิงคโปร์ โฮลดิ้ง (OR Singapore Holding) รองรับการลงทุนในต่างประเทศ

“สุดท้ายเรามองว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจได้เร็ว คือ การเปลี่ยนร่วมกับพาร์ตเนอร์ เป็นสิ่งที่โออาร์เชื่อว่า เรามาถูกทางแล้ว เพราะการเปลี่ยนผ่านด้วยตัวคนเดียวทำได้ช้า เปลี่ยนแล้วอยู่ได้คนเดียวก็ไม่ยั่งยืน”

ดังตัวอย่างเช่น การริเริ่มโครงการ OR Launchpad ผ่านกิจกรรมแข่งขันระดมไอเดียเพื่อสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดสู่อนาคตที่เรียกว่า Hackathon ภายใต้โจทย์ธุรกิจว่า โออาร์อยากได้อะไร รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาแนวคิดและวิธีการทำงานที่เอื้อต่อการเป็นสตาร์ทอัปมากขึ้น ทำให้น้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่สนใจเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 40 ทีม และหากนำจำนวนทีมที่เข้าทั้งหมดหารด้วยจำนวนพนักงานโออาร์ราว 1,700-1,800 จะได้ตัวเลขที่สูงถึง 8% กว่า ซึ่งนับว่าเยอะมากสำหรับการจัดการแข่งขันครั้งแรก โดยผลงานที่ชนะเลิศทั้ง 3 รางวัล รวม 4 ทีม กำลังถูกเหลาไอเดียให้คมขึ้นแล้วจะมีการขออนุมัติทำโครงการต้นแบบต่อไป

ความร่วมมือด้านการลงทุนแบบ JV ระหว่างโออาร์กับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BlueBik ในการจัดตั้งบริษัท ออร์บิท ดิจิทัล (ORBIT Digital) สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอทีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในธุรกิจดิจิทัลให้กับโออาร์ ไปสู่การให้บริการไอทีองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ได้ในอนาคต

การจัดตั้งกองทุน ออร์ซอน เวนเจอร์ส (ORZON Ventures) กองทุนส่วนบุคคล (Private Equity) ร่วมกับกลุ่มบริษัท 500 Startups โดยมุ่งเน้นการลงทุนกับสตาร์ทอัปขนาดเล็กในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโออาร์ รวมถึงโมบิลิตี้และไลฟ์สไตล์ที่เราเห็นแล้วว่ามีศักยภาพมากพอ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำโครงการ Start up for Chance คือ การเปิดรับพาร์ทเนอร์ให้มีโอกาสได้เข้ามาลองดูว่า จะเติมเต็มธุรกิจร่วมกับโออาร์ในมิติของนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) ได้อย่างไร ซึ่งโครงงานที่สอบผ่านก็จะได้รับงบประมาณจากโออาร์ไปดำเนินการต่อ เป็นต้น 

ตัวอย่างพอร์ตการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ ถ้าเป็น ORZON เช่น แพลตฟอร์มและแบรนด์ฟาสต์แฟชัน “โพเมโล่” (Pomelo) แพลตฟอร์มบริการด้านสุขภาพและความงาม “โกวาบิ” (GoWabi) แพลตฟอร์มการจำหน่วยวัตถุดิบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยง “เฟรชเก็ต” (Freshket) แพลตฟอร์มจองร้านอาหารและโรงแรม “ฮังกรี้ ฮับ” (Hungry Hub) ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีเอไอในชื่อ “โพรโตเมท” (Protomate) เป็นต้น เมื่อรวมกองที่ลงตรงโดยโออาร์ เช่น เฟรชเก็ต โกวาบิ หรือลงเพิ่มโดยโอไรออน เช่น ทราเวิลโลก้า กับที่ยังอยู่ในไปป์ไลน์อีกประมาณ 4-5 ตัว พอร์ตโดยภาพรวมก็น่าจะมีอยู่ประมาณ 15 ตัวในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ราชสุดา กล่าวว่า งานที่หินที่สุดกลายเป็นการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม อย่างตอนที่ทำโครงการ Hackathon อธิบายตั้งแต่แนวคิดลงลึกจนถึงบริบทของการตัดสินใจที่ต้อง “รู้ไว เรียนไว” ว่า ถ้าเห็นท่าไม่ดีต้องถอย แตะแล้วไม่ใช่ต้องเลิก แต่เมื่อเลิกแล้วต้องถอดบทเรียนให้ได้ว่า ทำไมถึงเลิกและไมโทษกันไปมา

“วัฒนธรรมองค์กรตอนนี้เริ่มไปในทิศทางนี้มากขึ้น การรับรู้ของคนในองค์กรคิดว่าเกินกว่า 80-90%  เพียงแต่พอถึงจังหวะที่ต้องลงมือทำหรือตัดสินใจอาจจะเหลือเพียง 50-50 เพราะบางทีตัวเราเองยังเผลอสวมหมวกใบเดิม ดังนั้น ถ้าคิดว่าเราจำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ต้องรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่ากระบวนการคิดแบบนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นได้ในฉับพลันทันที”

โอไรออนเปรียบเสมือนทรัพยากรที่ถูกจัดสรรออกมาเพื่อให้การทำงานทุกอย่างเร็วขึ้น เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ทุ่มสุดตัวในการมองหาโอกาสทางธุรกิจและไขว่คว้าโอกาสนั้นมาให้ได้ มันจึงเป็นเรื่องของความเร็ว (Speed) และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (Facility) เพื่อให้โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ หรือนวัตกรรมเหล่านั้น สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคตนั่นเอง

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ