TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupไมโครซอฟท์ จัดกิจกรรม “Microsoft Founders Society” ยกระดับสตาร์ตอัพไทย สร้างโอกาสการเข้าถึงเงินทุน

ไมโครซอฟท์ จัดกิจกรรม “Microsoft Founders Society” ยกระดับสตาร์ตอัพไทย สร้างโอกาสการเข้าถึงเงินทุน

ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จัดกิจกรรม “Microsoft Founders Society” เชิญชวนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ B2B (Business-to-Business) ตามติดความเคลื่อนไหวล่าสุดจากไมโครซอฟท์ ต่อยอดจาก “Microsoft Founders Program for Startups” โครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพของไมโครซอฟท์ ที่มุ่งยกระดับสตาร์ตอัพไทย พร้อมช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นมากมาย อาทิ โอกาสในการเข้าถึงเงินทุน ความรู้ความเชี่ยวชาญจากที่ปรึกษามืออาชีพ ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ เพื่อผลักดันผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพและทีมงานให้เดินหน้าไปได้อย่างเต็มกำลัง พร้อมแนะนำโครงการ Microsoft for Corporate Venture Building และ M12 กองทุน Venture Capital ระดับโลกของไมโครซอฟท์ 

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์มองเห็นศักยภาพของสตาร์ตอัพไทย ที่จะเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันสร้างเศรษฐกิจและสังคมในหลายภาคส่วน ดังนั้น เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนศักยภาพของสตาร์ตอัพไทยให้เดินหน้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ เราจึงขอร่วมเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการผลักดันและส่งเสริมสตาร์ตอัพในประเทศเดินหน้าสร้างสรรค์ธุรกิจไปพร้อม ๆ กับเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ด้วยการผสานความรู้ความเชี่ยวชาญ ขยายความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรทางเทคโนโลยี พร้อมมอบโอกาสในการเข้าถึงตลาดร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพื่อปลดล็อคสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

สตาร์ตอัพที่เข้าร่วมโครงการ “Microsoft Founders Program for Startups” จะได้รับการสนับสนุนทรัพยากรด้านเทคโนโลยี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ในสองด้านหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  • เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการสรรสร้างนวัตกรรมและดำเนินธุรกิจ
    • ได้รับเครดิตสำหรับใช้งานคลาวด์ Azure (มูลค่าตามระดับของสตาร์ทอัพแต่ละราย)
    • สามารถใช้งานโซลูชันจากไมโครซอฟท์อย่าง Microsoft 365 Business Standard, Power BI Pro, GitHub Enterprise, Dynamics และ Power Platform เพื่อดำเนินธุรกิจและสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
    • ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักพัฒนาและสตาร์ทอัพของไมโครซอฟท์
    • ร่วมเรียนรู้การใช้งาน Azure และสอบรับ certificate ระดับมืออาชีพแบบฟรีๆ
  • โอกาสในการเข้าถึงลูกค้าและพัฒนาธุรกิจ พร้อมคำปรึกษาแบบเฉพาะตัว
    • ได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ 12 ชั่วโมงเต็มในปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ
    • ได้รับงบการตลาดสูงสุดเป็นมูลค่า 2,000 USD ต่อไตรมาส
    • มีโอกาสในการร่วมงานสัมมนาออนไลน์ของไมโครซอฟท์ในประเทศไทยและทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อนำเสนอโซลูชันให้ลูกค้าได้สัมผัส
    • โซลูชันที่ผ่านเกณฑ์ด้านความปลอดภัยจะรับตรารับรองในด้านดังกล่าวจากไมโครซอฟท์
    • มีโอกาสในการร่วมกันเสนอขายโซลูชันออกสู่ตลาดร่วมกับไมโครซอฟท์และเครือข่ายพันธมิตร

ไมโครซอฟท์ยังมี Microsoft for Corporate Venture Building ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่มุ่งให้การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจใหม่ในเครือขององค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีคุณสมบัติไม่ตรงกับโครงการสนับสนุนธุรกิจในระดับสตาร์ทอัพ โดยโครงการนี้ให้การสนับสนุนทั้งในเชิงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม การเข้าถึงเครือข่ายพันธมิตร การลงทุน และช่องทางการทำตลาด ซึ่งธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนมากมาย อาทิ

  • เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการพัฒนาโซลูชัน อย่าง คลาวด์ Azure และ GitHub ตามมาด้วยนวัตกรรมด้านความปลอดภัยอย่าง Azure Confidential Computing ครอบคลุมการใช้งาน หรือแบ่งปันข้อมูลโดยที่เข้ารหัสเพื่อรักษาข้อมูลให้เป็นความลับจากบุคคลภายนอก และอื่นๆ อีกมากมาย
  • การดำเนินธุรกิจแบบวันต่อวันด้วยแรงสนับสนุนจากเครือข่ายพาร์ทเนอร์ของไมโครซอฟท์ พร้อมด้วยตัวช่วยอย่าง LinkedIn เพื่อการเฟ้นหาบุคลากร นวัตกรรมด้านความปลอดภัยของไมโครซอฟท์ เพื่อบริหารจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ในองค์กร และ Microsoft 365 เพื่อการทำงานเอกสารและติดต่อประสานงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแนะนำ M12 กองทุน Venture Capital ของไมโครซอฟท์ให้กับเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพได้รู้จักกัน โดย M12 เฟ้นหาธุรกิจและสตาร์ทอัพเฉพาะในกลุ่ม B2B (Business to Business) หรือ B2B2C (Business to Business to Consumer) ที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมลงทุนและสนับสนุนให้เติบโตสู่ตลาดโลก โดยปัจจุบัน M12 มีบริษัทที่ลงทุนไปในพอร์ทโฟลิโอรวมทั้งสิ้น 120 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้ มีสตาร์ทอัพที่เข้าตลาดหลักทรัพย์หรือขายกิจการ (exit) รวมแล้วเกินกว่า 20 ราย และมีสตาร์ทอัพในระดับยูนิคอร์นเกินกว่า 15 ราย ขณะที่ M12 มุ่งลงทุนกับสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีใน 7 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่

  1. Vertical Software-as-a-Service เช่น โซลูชัน Fintech, Supply chain หรือ Commerce
  2. โครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์
  3. ความปลอดภัยและการยืนยันตัวตนในโลกดิจิทัล
  4. Web3, Metaverse และเกม
  5. DevOps และเครื่องมือเพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์
  6. โซลูชันด้านสุขภาพและร่างกาย
  7. ระบบอัตโนมัติต่างๆ

การรวมตัวของคอมมูนิตี้สตาร์ตอัพในครั้งนี้ ปิดท้ายด้วยการพูดคุยพิเศษระหว่าง ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “อนาคตของสตาร์ตอัพไทยในตลาดโลก” สะท้อนมุมมองการทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพและหน่วยงานภาครัฐ มองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือร่วมกัน ตลอดจนการดึงดูดสตาร์ทอัพและบุคคลที่มีความสามารถจากทั้งในไทย และทั่วโลกให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ผู้บริหารต้องมีความชื่อมั่นในเทคโนโลยีว่าจะสามารถแก้ปัญหาเมืองได้ รวมถึงมั่นใจในสตาร์ตอัพว่าจะเข้ามาช่วยได้เช่นกัน ส่วนตัวเชื่อว่า การดิสรัปโมเดลธุรกิจเดิม กับ การสเกล คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาเมืองที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเมืองอย่างมหาศาล เช่น โครงการนวัตกรรมโรงเรียนของกทม. ที่ตอนนี้มีโรงเรียนกว่า 54 โรงนำร่องเข้าร่วม Sandbox โดยการนำเอา EdTech (Education Technology) เทคโนโลยีการศึกษาเข้าไปช่วยยกระดับการศึกษาให้ทันสมัยและกว้างไกลยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขณะที่กรุงเทพมหนครพร้อมเป็น Sandbox ขนาดใหญ่เปิดรับสตาร์ทอัพที่สนใจ มีแนวทางการแก้ไข และแผนงานรองรับเข้ามาพูดคุยและแก้ไขปัญหาเมืองร่วมกัน”

ชัชชาติย้ำถึงพื้นฐานในการแก้ปัญหาเมืองของสตาร์ตอัพอีกว่าต้องยึดแนวคิด People Centric หรือมองประชาชนเป็นที่ตั้ง ถือเป็นหลักในการคิดโซลูชันต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้คน ขณะเดียวกันตัวสตาร์ทอัพเองก็ต้องอยู่รอดให้ได้ ซึ่งมีด้วยกัน 3 องค์ประกอบหลัก คือ

  1. เทคโนโลยีต้องเป็นไปได้: Technology → Possible
  2. ธุรกิจเปลี่ยนแปลงได้: Business → Variable
  3. ผู้คนออกแบบการใช้ชีวิตของตัวเองได้: People → Designable

โดยจุดร่วมของทั้ง 3 วงนั้นคือคำตอบในการแก้ไขปัญหาของเมือง ส่วนการดึงดูดคนที่มีความสามารถและศักยภาพ รวมถึงสตาร์ทอัพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพมหานครนั้น สามารถดำเนินการได้ทางอ้อมด้วยการ “สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่” ผ่านนโยบายและกิจกรรมต่างๆ อาทิ ดนตรีในสวนเพื่อสร้างความรู้สึกร่วม (Sense of Belonging) สร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้มีกิจกรรมทำร่วมกัน ตลอดจนจัดกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เลือกสรรกิจกรรมตามความชอบ และมีกิจกรรมอื่นทำนอกเหนือจากการเดินห้าง เป็นต้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ม.มหิดล ใส่ “หัวใจผู้ประกอบการ” ให้คนพิการ ผ่าน “สื่อภาษามือ”

สร้างจิตสำนึกในใจ หรือบังคับใช้กฏกติกา วิธีไหนแก้ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ ได้ดีกว่ากัน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ