TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewCEO Storyปลูกผักเพราะรักแม่ ... จุดเริ่มต้น เส้นทางเกษตรอินทรีย์ของ​ "โอ้กะจู๋"

ปลูกผักเพราะรักแม่ … จุดเริ่มต้น เส้นทางเกษตรอินทรีย์ของ​ “โอ้กะจู๋”

จากความฝันของเด็กมัธยมปลาย ที่อยากจะทำอะไรด้วยกันกับเพื่อน เติบโตมาไกลกว่าที่คาดคิด สู่พันธกิจที่สร้างแรงกระเพื่อนต่อวงการเกษตรอินทรีย์ เพราะปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจผักอินทรีย์มากมาย แต่จะมีกี่รายที่เติบโตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ด้วยมาตรฐานของตัวเอง จนสามารถขยายโอกาสสู่เกษตรกรรายย่อย ได้ร่วมอุดมการณ์เกษตรอินทรีย์ และกำลังจะก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชนในเวลาอันใกล้นี้

มิตรภาพเยาว์วัยและความฝันที่เป็นจริง

“ยุคผม เด็กผู้ชายก็อยากเรียนวิศวะเพราะมันเท่ แต่บังเอิญว่าตอน ม. 5 วิชาแนะแนว ที่โรงเรียนพาไปที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีโอกาสได้ไปดูที่คณะเกษตรศาสตร์ ก็เลยเห็น เอ๊ย..มันมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ มันไม่ใช่การเกษตรเหมือนที่พ่อแม่ต้องใช้แรงหนัก เหน็ดเหนื่อย ก็เลยเริ่มมีความสนใจ แต่ไม่ได้ถึงขั้นชอบเกษตรอะไรขนาดนั้นนะ แต่อาจเพราะตั้งแต่เล็กจนโต เราเติบโตมากับการเห็นพ่อแม่ทำเกษตร ปลูกหอมกระเทียม ทำสวนลำไย แต่เราก็ไม่ได้สนใจอะไร ก็ไปเล่นในไร่ในสวนตามประสาเด็กๆ ไปเล่นดิน เล่นโคลน เล่นทราย”

จิรายุทธ ภูวพูนผล หรือโจ้ หนึ่งใน founder บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เผยความรู้สึกต่องานเกษตรกรรมที่ผูกพันกับเส้นทางชีวิตของเขามาตั้งแต่เกิด ขณะที่ ชลากร เอกชัยพัฒนกุล หรือ อู๋ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เล่าว่าความฝันที่เหมือนคุยกันเล่น ๆ แต่กลายเป็นจริง และเติบโตเป็นบริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ในทุกวันนี้

“ส่วนที่บ้านผมทำผักดองเกี๋ยมฉ่ายขายตลาดวโรรสมาตั้งแต่สมัยอาม่า อากง ผมกับโจ้เรียนอยู่ห้องเดียวกันตั้งแต่ ม.3 จนจบ ม. 6 ส่วน ต้อง เข้ามาตอน ม.ปลาย ตอนนั้นโรงเรียนเราเพิ่งเปลี่ยนจากโรงเรียนสตรีมาเป็นสหศึกษาได้ไม่นาน พวกเราเป็นรุ่นที่ 4 นักเรียนชายยังมีน้อย พวกเราจึงสนิทกันมาก ถึงขั้นคุยกันเล่น ๆ ว่า อีกหน่อยพวกเราหาอะไรทำเพื่อให้รวมกลุ่มเพื่อนอยู่ด้วยกันได้”

หลังจบการศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 โจ้ กับ อู๋ ซึ่งจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยพายัพ เลือกการปลูกผักอินทรีย์เป็นจุดเริ่มต้นความฝันที่จะทำอะไรด้วยกัน และมี ต้อง วรเดช สุชัยบุญศิริ ที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ร่วมทีมเป็นอีกหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ซึ่งแต่ละคนต่างกู้ยืมเงินจากครอบครัวตัวเองมาลงทุนร่วมกัน โดยมีคุณพ่อของอู๋ สนับสนุนให้ใช้ที่ดินที่มีอยู่ใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เป็นที่ดำเนินการ

ล้มลุกคลุกคลาน จากฟาร์มทูเทเบิ้ล

“ปลูกผักเพราะรักแม่” จึงถือกำเนิดขึ้นจากโรงเรือนเล็ก ๆ ขนาด 6 คูณ 30 เมตร จุดเริ่มของการทดลองที่พวกเขาไม่คิดว่าจะมาได้ไกลจนถึงทุกวันนี้ และไม่ได้มีความคิดด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการ เพียงแต่อยากลองเดินตามความฝันที่คุยกันไว้ ด้วยความคิดว่าเด็กจบใหม่อย่างพวกเขา ถ้าล้มเหลวก็ยังมีเวลาที่จะไปหางานประจำทำก็ได้

ด้วยทุนทรัพย์ตั้งต้นที่จำกัด โรงเรือนที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่และโครงเหล็กขนาดเล็กล้มพังลงหลายครั้ง และแปลงผักถูกน้ำท่วมจากพายุฝน ครั้งที่หนักที่สุดคือ โรงเรือน 100 กว่าหลังถูกพายุฤดูร้อนกระหน่ำจนพังระเนระนาด แม้ต้องเผชิญกับปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทุกคนก็ยังอยากจะสู้ต่อ พวกเขาช่วยกันหาวิธีการแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดิมอีก

“เรามีแม่เป็นศูนย์กลางของครอบครัว เราก็ไม่กล้าที่จะไปตลาดหรือไปที่ไหนแล้วไปซื้อข้าวสารที่มีไซยาไนท์ หรือไปซื้อผักที่เรารู้ทั้งรู้ว่ามันมียามีสารเคมี ก็เลยเป็นที่มาที่เราก็อยากจะส่งต่อผักออร์แกนิก เราอยากจะให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี” อู๋บอกว่านี่คือที่มาของสโลแกนปลูกผักเพราะรักแม่

พวกเขาเริ่มต้นจากปลูกผักที่กินเป็นประจำวันให้คนในบ้าน คนในชุมชน ตั้งแต่คำว่าออร์แกนิคยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก ส่วนการปลูกผักสลัด โจ้เป็นคนออกความคิดเพราะมีประสบการณ์ปลูกผักสลัดขายช่วงปิดเทอมตอนสมัยเรียนหนังสือ จนต่อมาขยับไปขายส่งให้ร้านอาหารในเมืองเชียงใหม่ จนมีรายได้เดือนละ 2-3 หมื่น

โจ้ อู๋ และต้อง เรียนรู้กับการปลูกผักอยู่ประมาณ 3 ปี จึงเริ่มเล็งเห็นว่าพื้นที่ฟาร์มซึ่งอยู่ติดถนนใหญ่เป็นโลเคชั่นที่มีศักยภาพ แทนที่จะปลูกผักไปขายส่งให้คนอื่น พวกเขาน่าจะทำร้านสลัดและคาเฟ่เล็กๆ ให้ลูกค้ามานั่งรับประทานในฟาร์ม ร้านชื่อ “โอ้กะจู๋” สาขาแรกจึงถือกำเนิดขึ้นมา ในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของเชียงใหม่ นักท่องเที่ยวที่แวะมารับประทานสลัดที่ร้านนี้ จะรู้สึกสัมผัสถึงความสดและปลอดภัยของอาหารที่มาจากแปลงผักที่อยู่หลังร้าน ซึ่งพวกเขาลงมือปลูกกันเอง จนนิยมถ่ายรูป-เช็คอินลงโซเชียลมีเดีย เพื่อบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ  

การขยับขยายกิจการจากแปลงผักสู่โต๊ะอาหารคือการเรียนรู้ใหม่ ในช่วงแรกพวกเขายังไม่สามารถประมาณการได้ว่าจะต้องใช้วัตถุดิบมากน้อยเพียงใด ต้องเล่าว่า “ช่วงแรก ๆ พวกเรากินผักกันเป็นว่าเล่นเลย มันประมาณการอะไรไม่ได้ สถิติก็ไม่มีสักอย่าง เหมือนเราลองสนาม learning & growth ไปด้วยกันเลย แต่ตอนหลัง ๆ เริ่มมีสาขาเยอะขึ้น เราก็เริ่มคำนวณปริมาณความต้องการได้แล้ว โจ้ก็เก็บสถิติทุกอย่าง”  

โจ้ เสริมว่า “ตอนแรกก็คือปลูกไปก่อนเลย ขายไม่หมด ผักก็ยังอยู่ในแปลง วันไหนลูกค้ามาเยอะ พ่อครัวแม่ครัว ก็เดินเข้าแปลงผักมาเก็บกันสด ๆ ปรุงใส่จาน แต่ถ้าอายุผักเกินเก็บเกี่ยวก็ต้องกินเอง อุดหนุนกันเอง แต่จากประสบการณ์ที่ทำมา 10 กว่าปี มีการเก็บข้อมูลแบบละเอียดยิบ ตอนนี้มีฐานข้อมูลแน่นมาก” 

ข้อมูลที่ถูกจัดเก็บ เป็นต้นว่าปริมาณการใช้ผักของแต่ละสาขา ปริมาณการใช้รวมทุกสาขา ข้อมูลการผลิต สภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนและปริมาณแสงที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของผัก อัตราการสูญเสียทั้งจากแมลง โรคพืช รวมถึงการสูญเสียในกระบวนการล้างและตัดแต่ง

“ข้อมูลสถิติเหล่านี้ถูกนำมาเป็นปัจจัยในการคำนวณเพื่อวางแผนการปลูกและการคิดต้นทุน ทำให้อัตราการสูญเสียลดลงมาก อยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้” โจ้ กล่าว

แบ่งปันโอกาสสู่เกษตรกรร่วมอุดมการณ์

จากการทำร้าน “โอ้กะจู๋” ในช่วงแรก  โจ้-อู๋-ต้อง พูดได้เต็มปากว่า วัตถุดิบผักอินทรีย์นั้นมาจากฟาร์มของโอ้กะจู๋ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบันเป็นเวลา 3 ปีแล้วที่ทางทีมงานปลูกผักเพราะรักแม่ ได้ริเริ่มแนวคิดการแบ่งปันโอกาสให้กับเกษตรกรที่อยากจะทำเกษตรอินทรีย์ เริ่มตั้งแต่ลงไปพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งทำให้ได้เข้าใจปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญ 

อู่เล่าว่าความจริงเกษตรกรไม่อยากปลูกผักแบบใช้สารเคมี แต่เป็นเพราะพวกเขาเคยลองปลูกแบบไม่ใช้เคมีแล้ว ปรากฏผลว่าไม่มีคนรับซื้อเพราะผักไม่สวย ขนาดไม่ได้ น้ำหนักไม่ได้ จึงจำใจต้องใช้สารเคมี

“ผมกับโจ้ไปพูดคุยด้วย พวกเขาบอกอย่างคับข้องใจว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมคนในเมืองโง่แบบนี้ รู้ทั้งรู้ว่ามันมียา แต่ก็กิน เราก็จุกในอกนะ แต่ก็ยิ่งรู้สึกว่าสิ่งที่เราอยากจะทำตอนนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เลยชักชวนให้พวกเขาเปลี่ยนจากวิถีเคมีมาเป็นวิถีอินทรีย์” อู่กล่าว

เมื่อเกษตรกรตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกผักแบบใช้สารเคมี มาเป็นวิถีการผลิตแบบอินทรีย์ที่ไม่ใช้ทั้งยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยเคมี สิ่งแรกที่จะต้องเผชิญคือ ปริมาณผลผลิตจะลดลงอย่างมากจากที่เคยทำแบบเคมี ผลลัพธ์ในปีที่ 1 และปีที่ 2 พวกเขาให้คำบรรยายว่า “ร่อแร่” เพราะเกษตรกรต้องปรับวิถีใหม่ในการผลิต และธรรมชาติต้องการเวลาในการฟื้นตัว

“ในช่วงเริ่มแรกบางรายตัดสินใจไม่ทำต่อกับเรา ด้วยความที่เขายึดติดกับการทำแบบเดิมมานาน แต่ว่าตอนหลังเขาเริ่มเห็นว่า แม้ผลผลิตและรายได้ที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์จะลดลงถ้าเทียบกับที่เขาเคยได้ แต่ว่าเขาไม่ต้องเสียเงินซื้อยาฆ่าแมลง ซื้อปุ๋ย รวมถึงเรื่องสุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกษตรกรละแวกนั้นเห็นว่า มีคนที่ทำได้จริง แล้วก็เราก็รับซื้อจริง ก็เริ่มมีเกษตรกรมาเข้ากลุ่มเพิ่มมากขึ้น เกือบทุกที่ก็จะเป็นอย่างนี้” โจ้กล่าว 

ต้อง เสริมว่า “การกระจายความรู้ให้เกษตรกร ผมมองว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วย คือถ้ามีคนทำได้เยอะ ๆ เรามีผักใช้เยอะ เท่ากับเวลาเราสเกลอัพ เราก็ไม่เหนื่อยคนเดียวแล้ว เรามีคนที่ร่วมอุดมการณ์ ช่วยเราทำ” 

ปีที่ 3 ของการส่งเสริมเกษตรกรที่มีอุดมการณ์ในการทำแบบอินทรีย์ ทีมงานปลูกผักเพราะรักแม่ได้ปรับปรุงระบบให้มี ‘การส่งเสริม’ และ ‘การควบคุม’ คู่ขนานกันไป โดยมีทีมส่งเสริมที่จะลงประจำแต่ละพื้นที่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และมีทีมตรวจแปลง ที่จะเข้าไปตรวจสอบระบบ คล้ายการ audit เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพความเป็นอินทรีย์ เป็นมาตรฐานเดียวกันกับฟาร์มของโอ้กะจู๋ ซึ่งเกษตรกรกมีความพึงพอใจมากเพราะเริ่มได้ผลผลิตมากขึ้น โจ้ยังยกตัวอย่าง เกษตรกรรายหนึ่งซึ่งเป็นคนชนเผ่าปกาเกอะญอ อยู่เขตแม่วาง ซึ่งปีแรกขายได้เพียง 7,000 กว่าบาท แต่ในช่วงฤดูหนาวปีที่ผ่านมา เขาสามารถขายผลผลิตให้โอ้กะจู๋ได้เงินหลักแสนบาท 

นับจากการเริ่มรุกขยายสาขาเข้ากรุงเทพฯ นำร่องสาขาแรกที่สยามสแควร์ซอย 2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 จนปัจจุบันโอ้กะจู๋ขยายสาขาเป็น 23 แห่ง แต่ละวันต้องใช้ผักอินทรีย์มากถึง 1-2 ตัน หรือเฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อสาขา ในจำนวนนี้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลผลิตผักอินทรีย์จากเกษตรกรผู้ร่วมอุดมการณ์ 120 ราย ทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และน่าน โดยแต่ละพื้นที่มีศูนย์กลางที่ทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมผลผลิตเพื่อขนส่ง และมีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2566 นี้มีเป้าเปิดสาขาในประเทศเพิ่มอีก 13 สาขา

“ปีนี้เรามีแผนบุกภาคตะวันออก ปี 2567 เราจะบุกอีสาน และอาจจะมี CLMV บ้าง โดยปลายปีนี้เรามีแผนไปดูตลาดกัมพูชาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ก่อน เพราะซัพพลายหลักเราอยู่ที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะกำลังพล โรงล้างผัก ครัวกลางเราก็อยู่ที่เชียงใหม่ ก็ยังคงต้องใช้ที่นี่เป็นฐานทัพหลักอยู่ โลจิสติกส์ที่จะไปในแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ อีสาน หรือต่างประเทศก็ดี เราก็จะมีต้นทุนที่มากกว่าคนอื่น แต่ในอนาคตถ้าเราขยายสาขาไปต่างประเทศ การซัพพลายจากต่างประเทศก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง” อู๋ กล่าว

เส้นทางสู่ตลาดหลักทรัพย์และการเข้ามาของ OR 

การเดินทางช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของปลูกผักเพราะรักแม่ และ โอ้กะจู๋ เรียกว่าพวกเขามาไกลกว่าที่คิด และต้องเหนื่อยมาไม่น้อยกับการฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงการแบกต้นทุนของผักอินทรีย์ที่สูงกว่าผักทั่วไป แต่ โจ้-อู๋-ต้อง ยังคงจับมือกันเดินไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่นกับเป้าหมายของพวกเขาที่ไม่เคยลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีพันธมิตรที่มีดีเอ็นเอเดียวกันอย่าง OR จากยักษ์ปตท. เข้ามาเสริมความเข้มแข็งในช่วงต้นปี 2564 โดยใช้เวลาในการศึกษา พูดคุย ดูใจ จนตัดสินใจนานถึง 4 ปี  

“เป้าหมายเราก็มีเพิ่มขึ้นตลอด พอสำเร็จข้อหนึ่ง เราก็ตั้งอีกข้อขึ้นมา ซึ่งตอนนี้เป้าหมายเราก็คือ พาบริษัทปลูกผักเพราะรักแม่ ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 จริง ๆ เราวางแผนมาได้หลายปี ก่อนที่ OR จะเข้ามาถือหุ้น เราก็เตรียมพร้อมมาอยู่แล้วระดับหนึ่ง ตอนนี้เราก็พยายามปรับกระบวนระบบภายในทุกอย่าง เตรียมพร้อมไปได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว เราทำไว้ตั้งแต่วันที่ยังไม่เข้าตลาด เพราะฉะนั้น พอเราเข้าตลาดไปปุ๊บ เราก็สามารถเติบโตได้ไวมากขึ้น”

“ที่เลือก OR เป็นพันธมิตรเพราะเรามีวิสัยทัศน์ใกล้เคียงกัน มีดีเอ็นเอคล้าย ๆ กัน ผมมีโอกาสไปงานไทยเด็ดของ OR ที่ตั้งใจจะช่วยเกษตรกรชาวสวนผักผลไม้ที่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ให้มาขายผลผลิตในโครงการ เราก็รู้สึกว่าเขามีแนวคิดในการช่วยเหลือคนตัวเล็ก ในขณะเดียวกัน เขาก็มองเราเป็น SME เขาก็อยากจะช่วยให้ SME ที่เป็นแบรนด์ของคนไทยได้เติบโตมั่นคง” อู๋ กล่าว

ต้อง เสริมอีกว่า ”เรามีแผนที่จะสเกลอัพอยู่แล้ว การที่เราจะโตได้ด้วย economy of scale  ต้องมีฐานทัพก่อน คือ ครัวกลาง ที่จะคุม recipe ต่าง ๆ คุมโปรดักส์กึ่งสำเร็จรูปของเราที่จะออกไปสู่หน้าร้าน แล้วให้น้อง ๆ ที่หน้าร้านแปรรูปออกมาได้รสชาติเหมือนกัน เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ เราจึงลงทุนตัวโรงงานนี้ รวมถึงฟาร์มแห่งที่ 5 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ทั้งโปรดักส์ที่มีอยู่แล้ว และที่เรากำลังจะผลิตออกมาอีก อาจจะออกมาเป็น consumer product ที่สามารถไปถึงตลาดต่างประเทศได้” 

นอกจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ในส่วนของแบรนด์โอ้กะจู๋ ทางทีมงานยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพูดคุยถึงโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ อาจเป็นร้านอาหารรูปแบบอื่นที่ปลดล็อกข้อจำกัดเดิม ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับผักออร์แกนิค แต่เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ เช่น การนำเสนอชุดปลูกผักอินทรีย์สำหรับครัวเรือน ที่ประยุกต์จากการพัฒนาระบบ smart farm ที่โอ้กะจู๋ ได้พัฒนาระบบการปลูกผักแบบ continuous ใน organic substrate ที่ผลิตจากปุ๋ยหมัก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ปลูกผักอินทรีย์ได้ 

แต่สิ่งที่คนไทยจะได้เห็นจากโอ๋กะจู๋แน่นอนคือ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 จะมี application ของโอ้กะจู๋เกิดขึ้นจากแนวคิดว่า “โอ้กะจู๋เป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มเกษตรกรกับลูกค้า” 

“ปัจจุบันโอ้กะจู๋มีฐานสมาชิกอยู่ประมาณแสนกว่าราย จึงมีแนวคิดที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เกษตรกรกับลูกค้ามาเจอกันผ่าน App ของเรา ยกตัวอย่างเช่น วันนี้นาย ก. ปลูกผักบุ้ง 5 กิโลกรัม ก็แจ้งเข้าในระบบว่า พรุ่งนี้มีผักบุ้ง 5 กิโลกรัมลงกรุงเทพฯ ลูกค้าที่สนใจสามารถจองแล้วระบุได้ว่าจะไปรับที่สาขาไหน ซึ่งตอนนี้ที่หน้าร้านอาหารโอ้กะจู๋เกือบทุกสาขา มีผลผลิตออร์แกนิควางขายอยู่แล้ว เช่น กล้วย ข้าว ผักต่าง ๆ”

พันธกิจต่อผู้ร่วมอุดมการณ์เกษตรอินทรีย์

มักมีคำกล่าวเตือนไว้ว่า เพื่อนกันไม่ควรทำธุรกิจร่วมกัน แต่สำหรับ โจ้-อู๋-ต้อง เพื่อนที่รู้จักกันมาเกินกว่าครึ่งชีวิต และร่วมทำธุรกิจด้วยกันเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว กลับมองธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมิตรภาพ โดยก้าวข้ามเรื่องผลประโยชน์ และแบ่งความรับผิดชอบไปตามความถนัดของแต่ละคน

โจ้ เป็นผู้ดูแลฟาร์มเป็นหลัก อู๋ชอบงานที่ได้พบเจอผู้คน และชอบทำอาหาร ส่วนต้องที่จบด้านวิศวะก็ดูแลงานระบบหลังบ้าน นอกจากทำงานด้วยกัน พวกเขายังหาเวลาว่างกินเที่ยวด้วยกัน แม้กระทั่งเล่นเกมด้วยกัน เหมือนตอนเป็นวัยรุ่น สิ่งที่เพิ่มเติมคือ ทีมงานในการดูแลมากกว่า 1 พันคน รวมไปถึงเกษตรกรร่วมอุดมการณ์ 120 ราย ซึ่งโจ้ให้มุมมองว่า 

“ผมคิดว่าเกษตรกร 120 รายที่ทำร่วมกับเรา เทียบกับ 70 ล้านคน น่าจะแค่ 0.00001 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า แต่ขอแค่เกษตรกรกลุ่มอื่นได้เห็นตัวอย่างจาก 120 รายนี้ ว่าเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจริงนะ ตอนนี้เราอาจจะเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ อยู่ แต่วันใดวันหนึ่ง เราอาจจะมีโอกาสได้นำพาร้อยกว่าคนนี้ไปเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น ๆ ค่อย ๆ เกาะกลุ่มกันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนมีหลายคนมาช่วยกันเป็นกระบอกเสียง”

“ถ้าภาครัฐและภาคเอกชน บริษัทยักษ์ใหญ่ เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ มัน impact แน่นอน ทำให้เกษตรอินทรีย์มันบูมในประเทศไทยได้ คนไทยมีโอกาสได้รับประทานผักอินทรีย์ที่มันปลอดภัย คนที่ทำก็ปลอดภัย ลืมตาอ้าปากได้ มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับคนไทย”

ต้อง เสริมในมุมมองหลังการเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ว่า “ณ ปัจจุบัน เรามีผู้ถือหุ้นที่เป็นคนนอกครอบครัวของเรา อนาคตถ้าเราอยู่ในตลาดก็อาจจะมี stakeholder อื่น ๆ เข้ามาอีก ดังนั้นต้องบอกว่าเราแคร์ stakeholder มากขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังยึดเหมือนเดิมคือ เราก็ยังซื่อสัตย์กับอาชีพของตนเอง”

“แต่ละคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป แต่เป้าสุดท้ายทุกคนมองเหมือนกันว่า การที่เอาบริษัทเข้าตลาด ให้มันเติบโต ให้ผู้ถือหุ้นทุกคนแฮปปี้ เราต้องเชื่อและตัดสินใจไปในทิศทางเดียวกัน ทางเดียวกัน เดินไปด้วยกัน ทุกอย่างจบในที่ประชุม discuss ให้เรียบร้อย แล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม”

กับคำถามสุดท้ายว่า เข้าตลาดแล้วจะปล่อยมือจากธุรกิจหรือไม่ อู๋ยืนยันทิ้งท้ายว่า

“ต้องบอกว่าเราไม่มีความคิดนั้น เพราะว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่สร้างตรงนี้มากับมือ เรายังมีความเป็น owner ผมเชื่อว่าตรงนี้เรามีกันทุกคน แล้วเราก็คิดว่าน่าจะไม่ปล่อยมือแน่นอน ทุกวันนี้เราทำมากกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นะ เราเป็นทั้ง operation เป็นคนงาน เป็นกรรมการ เป็นทั้ง management และยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ปีที่แล้วเราขยาย 6 สาขา ก็ว่าหนักแล้ว ปีนี้เราโดนชาเลนจ์เพิ่ม จะขยายอีก 16 สาขา”

เขายืนยันว่าวันหนึ่งเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วมีทุนทรัพย์ในการไปขยายสเกลบริษัท “พวกเราอาจจะ fade ตัวเอง เอาสิ่งที่เราทำอยู่ใน 5-6 สิ่ง เราแบ่งให้คนอื่นที่เป็นมืออาชีพทำ แต่เราไม่มีทางปล่อยแน่นอน อย่างน้อยเราต้องเป็นโฮลดิ้ง เป็นกรรมการ ส่วนหนึ่งที่กำหนดทิศทางของบริษัทอยู่ดี ซึ่งผมก็คิดว่าแต่ละคนก็ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะเพื่อให้มันเติบโตและยั่งยืน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
น้ำผึ้ง หัสถีธรรม – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ