TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistย้อนรอยทวงคืน 3 ทับหลัง "พระนารายณ์-พระอินทร์-พระยม"

ย้อนรอยทวงคืน 3 ทับหลัง “พระนารายณ์-พระอินทร์-พระยม”

ผมรู้สึกตื่นเต้นด้วยความยินดีกับข่าวที่ “พระอินทร์” และ “พระยม” จะกลับคืนสู่ประเทศไทย หลังจากที่พลัดพรากไปนานกว่า 50 ปี ทำให้คิดถึง “พระนารายณ์” ที่เสด็จกลับมาเมื่อกว่า 30 ปีก่อน และเนื้อเพลงที่ร้องว่า “เอาไมเคิลแจ็กสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” ซึ่งโด่งดังอย่างมากเมื่อปี 2531

เพลงนี้แต่งขึ้นระหว่างการรณรงค์เรียกร้องให้มีการคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนประเทศไทย นั่นคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ถูกคนบาปผู้ละโมบแอบขโมยส่งไปขายต่างประเทศ

ตอนนั้นเครื่องบินของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ บินจากเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มุ่งสู่สนามบินดอนเมือง ประเทศไทย พร้อมกับนำทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับมา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531

ตอนนี้เหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้ง วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เครื่องบินโคเรียนแอร์จากเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ได้นำทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล และทับหลังพระยมทรงกระบือ มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงเวลาค่ำ

หลายคนอาจจะสงสัยว่า “ทับหลัง” คือ อะไร

ทับหลังเป็นแผ่นศิลาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่วางทับเหนือกรอบประตูทางเข้าปราสาท ทำหน้าที่รับและถ่ายเทน้ำหนักส่วนบนของอาคาร ส่วนที่ถูกลักลอบขโมย คือ ชิ้นงานศิลปะจำหลักลวดลายที่ติดประดับด้านหน้าของทับหลังอีกที

โดยนิยมทำจากหินทรายเพราะเนื้อไม่แข็งแกะสลักได้ง่ายงานจำหลักมักเป็นภาพตามคติความเชื่อทางศาสนา ลวดลายที่ปรากฏแตกต่างกันไปตามสมัยนิยม ซึ่งนักโบราณคดีใช้เป็นหลักฐานบ่งบอกยุคสมัยของการสร้าง ทับหลังทั้งสามคาดว่าถูกลักลอบนำออกนอกประเทศไทยช่วงเวลาไล่เลี่ยกันระหว่างปี 2004-2508

ต่อมามีผู้พบเห็นจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีชื่อของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเกิดปฏิบัติการทวงคืนสมบัติของชาติขึ้นทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นชิ้นงานที่ติดบนมณฑปด้านทิศตะวันออกปราสาทประธาน ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานขอมโบราณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 ตั้งอยู่บนปากปล่องของยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทนานแล้ว อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

ภาพจำหลักลวดลายพระนารายณ์บรรทมบนอาสนะในวงขนดของอนันตนาคราชที่มีหนึ่งพันเศียร มีดอกบัวผุดออกมาจากพระนาภี (สะดือ) มีพระลักษมี พระชายานั่งปรนนิบัติแทบพระบาท ชิ้นนี้เป็นงานสลักเก็บรายละเอียดได้อย่างพิสดาร ถือเป็นศิลปกรรมชั้นเลิศหนึ่งในงานปราสาทขอมที่อยู่ในประเทศไทย

ในการเรียกร้องขอคืนครั้งนั้น ไทยมีหลักฐานสำคัญคือ ภาพถ่ายครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสปราสาทพนมรุ้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2472 กับภาพถ่ายของ มานิต วัลลิโภดม นักโบราณคดีกรมศิลปากร ที่มีปรากฏในหนังสือรายงานการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะออกเฉียงเหนือภาค 2 พ.ศ.2503-2504 ภาพทั้งสองเผยให้เห็นทับหลังที่แตกหักเป็น 2 ชิ้น ภายหลังถูกโจรกรรมหายไป จนปี พ.ศ.2008 กรมศิลปากรตรวจยึดได้ส่วนที่เป็นชิ้นเล็ก ในร้านขายของแอนทิคชื่อกรุงเก่า ย่านราชประสงค์

อีก 7 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2515 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้น และดร.ไฮแรม วูดเวิร์ด อาสาสมัครสันติภาพที่มาสอนพิเศษ ได้พบส่วนที่เป็นชิ้นใหญ่จัดแสดงในสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก จึงทำหนังสือแจ้งกรมศิลปากรแนะนำเรื่องการขอคืนระหว่างปี พ.ศ.2516-2521 กรมศิลปากรทำหนังสือร้องเรียนถึงรัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งปี พ.ศ.2530 เมื่อการบูรณะปราสาทพนมรุ้งใกล้เสร็จสมบูรณ์ เตรียมเปิดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือโดยตรงถึงผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก

ภายในประเทศก็มีการรณรงค์ครั้งใหญ่ ชาวบุรีรัมย์กว่า 15,000 คนได้ชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องขอทับหลังคืน วงคาราวบาวก็ช่วยกระตุ้นให้คนไทยเรียกร้องร่วมกันด้วยการแต่งเพลงทับหลัง กระแสเรียกร้องอย่างจริงจังส่งผลให้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก แสดงท่าทีพร้อมแก้ปัญหาอย่างเป็นมิตร โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปะเท่าเทียมกัน

ฝ่ายไทยไม่ยอมรับข้อเสนอ แต่ยินดีจำลองประติมากรรมที่มีความสำคัญทางศิลปะและคุณค่าทางการศึกษาเป็นการตอบแทน ผู้ครอบครองก็ไม่สนใจ ยังคงต้องการการแลกเปลี่ยนตามที่ตนเสนอสถานการณ์เป็นดั่งสำนวนที่ว่า “อ้อยเข้าปากช้าง เห็นทียากที่จะได้ของเราคืน”

การต่อรองระหว่างสองฝ่ายดำเนินอีกหลายครั้ง ก็ไม่อาจได้ข้อยุติ แต่ระหว่างนั้นสื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจเสนอข่าวกันเอิกเกริกจนมีการประชุมสภาเมืองชิคาโกในเรื่องปัญหาทับหลัง ปรากฏว่ามีผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายไทยจำนวนมาก กดดันให้สถาบันศิลปะแห่งชิคาโกต้องตัดสินใจส่งมอบทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์คืนแก่ประเทศไทย

นี่เป็นบทเรียนการต่อสู้ที่กินเวลานานถึง 15 ปี กว่าจะได้สมบัติของชาติกลับคืนมา

ปี พ.ศ. 2559 บทเรียนการเรียกร้องครั้งใหม่ได้เริ่มขึ้น

ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเพื่อติดตามหาประติมากรรมสัมฤทธิ์ “พระโพธิสัตว์ประโคนชัย” อายุ 1,300 ปี จำนวน 18 องค์ และพระสำริดกว่า 300 องค์ ที่หายไปจากปราสาทปลายบัด 2 จังหวัดบุรีรัมย์ โดยถูกลักลอบนำออกไปขายต่างประเทศ

พวกเขาตั้งชื่อว่า “กลุ่มสำนึก 300 องค์” หรือ Thailand Pride Project เพื่อสะท้อนสำนึกของข้าราชการไทยบางคนที่มีพฤติกรรมวางเฉยโดยการปฏิเสธข่าวการหายไปของศิลปะประโคนชัยเหล่านี้การทำงานอย่างจริงจังของพวกเขาทำให้ค้นพบโบราณวัตถุของไทยชิ้นอื่น ๆ รวมถึงการพบทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล และทับหลังพระยมทรงกระบือ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ ชอง–มูนลี เอเชียน อาร์ต มิวเซียม ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

พวกเขาค้นหาข้อมูล หาพยานหลักฐาน รวมทั้งพยานบุคคลในพื้นที่ที่เคยรับรู้เรื่องราวการมีอยู่ของทับหลังทั้งสอง จนได้ความจริงว่าทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล เคยอยู่คู่กับปราสาทเขาโล้นซึ่งเป็นประสาทหลังเดียว ตั้งอยู่เหนือยอดเขาโล้นในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-17 กรมศิลปากรมีหลักฐานเขียนบันทึกไว้ประมาณปี พ.ศ.2502 และมีภาพถ่ายเก่าของศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เมื่อปี พ.ศ.2510

ส่วนทับหลังพระยมทรงกระบือ มีภาพถ่ายเก่าขาวดำจากการสำรวจทางโบราณคดีของ มานิต วัลลิโภดม ระหว่างช่วงปี พ.ศ.2503-2504 เป็นหลักฐานยืนยันว่าขณะนั้นทับหลังอยู่ปราสาทฝั่งทิศใต้ของปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ศาสนสถานของศาสนาฮินดูเมื่อราว 1,000 ปีที่แล้ว

ทางกลุ่มฯ ยังได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา นักวิชาการ และประชาชน จัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการลักลอบค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ และโบราณวัตถุที่สูญหายไป ทำให้ชาวบ้านทั้งสองจังหวัดเรียกร้องให้ภาครัฐทวงสมบัติของชาติคืนมา

ปี 2560 รัฐบาลจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการ เดือนสิงหาคมปี พ.ศ.2563 กรมศิลปากรส่งหนังสือติดตามทวงคืนโบราณวัตถุถึงสำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา พร้อมข้อมูลและหลักฐานเพื่อยืนยันว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในไทย และถูกลักลอบนำออกไปแบบผิดกฎหมายในที่สุดอัยการสหรัฐและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ได้อายัดทับหลังทั้งสองที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชอง-มูนลี และดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมจนทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยอมรับว่าทับหลังทั้งสองเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย

งานนี้ราบรื่นกว่าเมื่อ 30 กว่าปีก่อน เนื่องจากสหรัฐฯ มีนโยบายปราบปรามเครือข่ายค้าโบราณวัตถุข้ามชาติและการฟอกเงินอย่างเด็ดขาด มีการตรวจยึดโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ และส่งคืนประเทศเจ้าของที่แท้จริงจำนวนมาก

การต่อสู้ทวงคืนสมบัติชาติรอบนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ปี จึงประสบผลสำเร็จ

วันนี้ “พระอินทร์” และ “พระยม” ได้กลับคืนสู่ประเทศไทยแล้ว พร้อมของแถมมาด้วยเป็นพระพุทธรูป 13 องค์ ที่ถูกขบวนการลักลอบจำหน่ายโบราณวัตถุนำออกไปจากประเทศไทย

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ยังมีสมบัติชาติอีกจำนวนมากที่รอการทวงคืนจากคนบาปที่ละโมบ

สมชัย อักษรารักษ์

ฟื้นฝอยหาอดีต

ภาพ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ