TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ชี้ความปลอดภัยอุปกรณ์ IoT บนคลาวด์

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ชี้ความปลอดภัยอุปกรณ์ IoT บนคลาวด์

เอเชียแปซิฟิก (APAC) ถือเป็นภูมิภาคแนวหน้าในการใช้ IoT โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะแตะระดับ 437 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ในขณะที่ตลาด IoT ของไทยมีมูลค่าราว 90,680 ล้านบาท ตามข้อมูลการสำรวจเมื่อปี 2564 ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเติบโตดังกล่าวเกิดจากภาครัฐและเอกชนที่ทุ่มการลงทุนในโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

อุปกรณ์ IoT ถือเป็นเสาหลักสำคัญของการทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันซึ่งครอบคลุมการใช้งานหลากหลายด้าน ตัวอย่างเช่น เซนเซอร์ตรวจจับแสง เครื่องปรับอากาศในอาคารอัจฉริยะ ไปจนถึงหุ่นยนต์อัตโนมัติในระบบอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี อุปกรณ์อัจฉริยะจำนวนมากไม่ได้รับการออกแบบถึงระบบรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ หรือมีช่องโหว่ในรหัสโปรแกรมที่ใช้ในซัพพลายเชนของผู้ผลิตโดยที่ไม่มีใครรู้ตัว ช่องโหว่ความปลอดภัยดังกล่าวเมื่อผนวกกับเรื่องจำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเร่งทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ IoT เหล่านี้ที่อยู่บนเครือข่ายของตนเอง ดังนั้น เมื่อบริษัทเดินหน้าลงทุนในด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ก็ควรให้ความสำคัญในระดับเดียวกันกับเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการดำเนินงานแต่ละวันด้วย

สิ่งที่ควรพิจารณาในด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับอุปกรณ์ IoT มีอะไรบ้าง และเราจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง

ข้อจำกัดด้านความปลอดภัยในอุปกรณ์ IoT

สิ่งสำคัญที่ควรทราบก็คือ การตรวจพบภัยคุกคามจากอุปกรณ์ IoT มักขึ้นอยู่กับการอัปเดตฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลอุปกรณ์ที่ตกเป็นเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ IoT บางประเภทไม่มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือพลังในการประมวลผลที่เพียงพอต่อการรองรับการจัดเก็บบันทึกระบบ หรือการเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูลที่อ่อนไหวระหว่างการประมวลผล ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ จึงไม่สามารถตรวจพบและปกป้ององค์กรได้อย่างมั่นใจจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ IoT ที่ไม่รู้จักและไม่สามารถจัดการได้

อีกทั้งความเสี่ยงดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นในระบบการทำงานจากที่บ้านอีกด้วย โดยรายงานความปลอดภัยด้าน IoT ประจำปี 2564 ของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามราว 80% ในเอเชียแปซิฟิก (รวมประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งมีอุปกรณ์ IoT เชื่อมต่อกับเครือข่ายขององค์กร รายงานว่า มีอุปกรณ์ IoT ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานธุรกิจเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายขององค์กรเพิ่มมากขึ้น โดยอุปกรณ์เหล่านี้ มีทั้งอุปกรณ์ที่บ้าน อุปกรณ์สวมใส่ทางการแพทย์ หรือแม้แต่เครื่องเล่นเกมคอนโซล 

ข้อจำกัดทางฮาร์ดแวร์ในการควบคุมความปลอดภัยในอุปกรณ์ IoT พร้อมด้วยการทำงานจากทางไกลที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญในการปกป้องความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับอุปกรณ์ IoT ทั่วทั้งภูมิภาค   

หน่วยงานกำกับดูแลและการวางแนวทาง

สำหรับการรับมือกับการเติบโตของเทคโนโลยี IoT ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หน่วยงานกำกับดูแลจึงได้จัดทำข้อกำหนดและมาตรฐานความปลอดภัยด้าน IoT สำหรับองค์กรและผู้ใช้

ประเทศไทยมีกฎหมายและการกำกับดูแลด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไอที ได้แก่

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 (2019) (พีดีพีเอ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากที่เลื่อนการใช้งานมา 2 ปี อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาด
  • พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พ.ศ. 2562 (2019) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างทันท่วงที

การปฏิบัติตามข้อบังคับในประเทศสำหรับระบบคลาวด์

การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเป็นปัจจัยที่เร่งการใช้งาน IoT ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทำให้องค์กรวางใจที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อการดำเนินงานทางธุรกิจที่สำคัญ

ขณะเดียวกันบริษัทต่างๆ ก็ยังต้องรับมือกับข้อบังคับในประเทศที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการใช้งานและการจัดการกับอุปกรณ์ IoT และข้อมูลต่างๆ นโยบายภาครัฐอาจกำหนดแนวทางการเก็บรวบรวมและเก็บรักษาข้อมูล และอาจจำกัดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน

ดังนั้น ทุกวันนี้เราจึงเห็นธุรกิจหลายแห่งที่ใช้บริการระบบคลาวด์หลากหลายรูปแบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันบริษัทระดับภูมิภาคที่พึ่งพาบริการระบบคลาวด์เพื่อให้บริการและรองรับการทำงานจากทางไกลก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปฏิบัติตามข้อบังคับของประเทศต่างๆ แทนที่จะใช้เซิร์ฟเวอร์ภายในเพื่อจัดเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่ บริษัทต่างๆ กลับใช้โซลูชันคลาวด์โฮสติงในประเทศของตนเอง เพื่อใช้ประโยชน์จากระบบคลาวด์ ขณะเดียวกันก็เป็นไปตามข้อบังคับเรื่องข้อมูลของแต่ละประเทศด้วย โซลูชันคลาวด์โฮสติงที่พัฒนาขึ้นโดยยึดหลักความปลอดภัยและการปฏิบัติตามข้อบังคับจะทำให้ธุรกิจต่างๆ บรรลุเป้าหมายในการจัดเก็บข้อมูลโดยที่ยังคงปกป้องเครือข่ายขององค์กรให้ปลอดภัย 

ธุรกิจต้องขยับตัวเชิงรุก

นอกจากการปฏิบัติตามมาตรฐานข้อบังคับ องค์กรต่างๆ ยังต้องรอบคอบในการปกป้องระบบเครือข่ายในเชิงรุกโดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นในปัจจุบัน

สิ่งจำเป็นก่อนที่จะนำมาตรการความปลอดภัยเหล่านี้ไปใช้ให้ได้ประสิทธิภาพก็คือ การทราบถึงและเข้าใจตัวตนและลักษณะของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายทั้งหมด แนวทางซีโรทรัสต์เพื่อความปลอดภัยด้าน IoT ในระดับเครือข่ายถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้องค์กรสามารถขจัดจุดบอดที่อันตรายในระบบ นั่นหมายถึง องค์กรจะต้องรับรู้ถึงอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดที่มีอยู่ ต้องดำเนินมาตรการติดตามอุปกรณ์และความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และต้องจัดทำนโยบายรักษาความปลอดภัยพร้อมด้วยมาตรการบังคับที่ใช้ป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

อีกทั้งองค์กรยังสามารถยกระดับมาตรการเชิงป้องกันให้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิง (ML) ที่ใช้ตรวจสอบอัตลักษณ์อุปกรณ์ ตรวจจับโค้ดอันตรายที่ถูกดัดแปลงได้ในเชิงรุก และสามารถป้องกันการโจมตีได้โดยอัตโนมัติ เมื่อคนร้ายใช้วิธีการที่ล้ำหน้ายิ่งขึ้น องค์กรก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้ความสามารถของ ML เพื่อคอยระวังภัยได้ตลอดเวลา  

ความปลอดภัยด้าน IoT ถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคน

ทั้งภาครัฐและเอกชันต่างมีบทบาทสำคัญในการดูแลความปลอดภัยด้าน IoT เพราะความแพร่หลายของอุปกรณ์ IoT หมายถึงจำนวนการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจะเติบโตขึ้นในทุกอุตสาหกรรม และถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะต้องปกป้องตนเองและองค์กรจากวายร้ายไซเบอร์:

  • หน่วยงานกำกับดูแลต้องจัดวางรากฐานข้อบังคับและมาตรฐานด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้าง
  • โซลูชันคลาวด์โฮสติงต้องมีระบบควบคุมความปลอดภัยในตัวเพื่อให้องค์กรบรรลุความต้องการด้านการจัดเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันก็ได้รับประโยชน์จากระบบคลาวด์อย่างเต็มที่
  • องค์กรจำเป็นต้องดำเนินมาตรการซีโรทรัสต์เชิงรุกเพื่อกำจัดจุดบอดด้านอุปกรณ์ IoT ในระบบ และใช้เทคโนโลยี ML เพื่อป้องกันการโจมตีโดยอัตโนมัติ

Content Contributor: ดร. ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและอินโดจีน – พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ