TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลด "Hate speech"

ใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลด “Hate speech”

ถึงเวลาหรือยัง …ในการสร้างสังคมใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลด “Hate speech”

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าบนแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล มีเดีย ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว จนมาถึงต้นสัปดาห์ ความแรงก็ยังวิ่งต่อ กับการที่แบรนด์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น ยูนิลีเวอร์ เวอริซอน โคคา โคล่า ประกาศงดการโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยังคงขยายวงกว้างต่อเนื่องไปยังแบรนด์อื่น ๆ นับรวมเป็นร้อยกว่าแบรนด์แล้วในตอนนี้

ฮอนด้า เดอะนอร์ธเฟซ และสตาร์บัคส์ กระโดดร่วมวงด้วยเช่นเดียวกัน และสำหรับสตาร์บัคส์ ต้องเรียกว่าเป็น 1 ใน 6 เจ้าใหญ่ที่ทุ่มงบในงบโฆษณาในในเฟซบุ๊ก สำหรับระยะเวลาการงดการโฆษณาขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ กรอบเวลาก็อยู่ในช่วง 1-6 เดือน หรือ ถึงสิ้นปีนี้

ต้นเหตุก็มาจากแบรนด์เหล่านี้ ต้องการที่จะประท้วง ที่เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ ยังไม่สามารถที่จะควบคุมการโพสต์ “Hate speech” หรือข้อความสร้างความเกลียดชังได้

ข้อความเหล่านี้จุดชนวนความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งการส่งต่อ การตอบโต้ โดยเริ่มจากโครงการ “Stop Hate for Profit” ที่ The Anti-Defamation League , The NAACP และอีกหลายองค์กร เป็นแกนนำในการจัดโครงการนี้ขึ้นมา ชื่อของโครงการนี้แปลว่า หยุดทำเงินจากความเกลียดชัง เพราะมีโฆษณาหรือซื้อแอด เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย เชื้อชาติ ศาสนา ความไม่ยุติธรรมอะไรทำนองนี้ ซึ่งเนื้อหาแบบนี้ปลุกกระแสของการเกลียดชังในโซเชียลมีเดียได้รวดเร็ว

กระแส Hate speech ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุความรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อชายชาวผิวสีถูกตำรวจผิวขาวทำร้ายจนเสียชีวิต จนเกิดการประท้วงใหญ่โตในสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนว่าการเหยียดผิวในสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องก็ไม่เคยที่จะเบาบางลง

ซึ่งกลุ่มก้อนแกนนำที่ผุดโครงการนี้ มองว่าเฟซบุ๊ก มีส่วนช่วยให้การโหมกระพือข้อความเกลียดชังรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ใช้งานใช้เฟซบุ๊กปลุกระดมกระแสความเกลียดชัง แถมยังรับรอง “Breitbart” ว่าเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือ ทั้ง ๆ ที่ชัดเจนว่าเป็นสื่อที่เอนเอียงเข้าข้างคนขาว

เหตุการณ์นี้แน่นอนว่ากระทบหุ้นของเฟซบุ๊ก ที่ปักหัวลงทันที จากเทรนด์ขาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งจะไปแตะระดับสูงสุดได้เพียงแค่สัปดาห์เดียว โดยไปยืนที่ 242.24 USD

สภาพของทวิตเตอร์ก็ไม่ต่างจากเฟซบุ๊กที่ราคาหุ้นลดลงเช่นเดียวกัน และคาดว่าราคาหุ้นของเฟซบุ๊กก็คงยังคงเทลาดลงไป จนกว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจว่าสามารถที่จะควบคุมการโพสต์ข้อความ Hate speech ได้ และแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบรายได้ของครึ่งปีหลังแบบไม่ทันเตรียมใจ

รายได้เฟซบุ๊ก 99% ของ นั้นมาจากโฆษณา ปีแล้วเฟซบุ๊กทำรายได้ไปเกือบ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับการขายโฆษณา จากธุรกิจประมาณ 8 ล้านธุรกิจ

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ไม่มีทางอื่น ต้องรีบหามาตรการแบบทันควัน คือการจะแบนโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย การลี้ภัย เชื้อชาติ การกีดกันทางเพศ รวมถึงโฆษณาที่ระบุว่าคนกลุ่มนี้เป็นภัยคุกคามด้วย รวมถึงจะขึ้นทำเตือนผู้ใช้เฟซบุ๊กระวังการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แม้จะเป็นเชิงของข่าวแต่ไปกระทบประเด็นละเอียดอ่อนเหล่านี้

สำหรับ YouTube ต้องบอกว่าไม่ตกเป็นเป้าหมายจากแบรนด์ใหญ่ ๆ เพราะได้เปลี่ยนวิธีการจัดการกับอัลกอริทึมลดในการมองเห็นวิดีโอที่มีความสุ่มเสี่ยงในการให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง และประกาศที่จะถอดวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับนีโอนาซี และกลุ่มขวาจัดของคนผิวขาว ออกไปจากแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ประเด็นเรื่องของ Hate speech ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหามาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือ สื่อเก่าอย่างทีวี วิทยุ หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์ ก็ยังเคยมีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้น หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ก็มีประเด็นของการใช้ Hate speech ในสื่อเหล่านี้ไม่แตกต่างกัน

แต่สำหรับสื่อออนไลน์ การโพสต์ข้อความโดยไม่ได้ฉุกคิดให้รอบคอบ เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพิจารณาและกลับมามองภาพรวมของสังคมด้วยเช่นเดียวกัน มีข้อมูลที่น่าตกใจว่าอัตราความรุนแรง ความแตกแยก ที่เกิดมาจาก Hate speech ผ่านทางโซเชียลมีเดียทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น

เกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกนั้นอยู่บนเฟซบุ๊ก และด้วยอัลกอริทึ่มของเฟซบุ๊กในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในเชิงธุรกิจ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มที่ต้องการสร้างความเกลียดชังเช่นเดียวกัน

ถึงตรงนี้คงจะเห็นว่าความรุนแรงของ Hate speech ในเฟซบุ๊กนั้นมีพลังทำลายล้างสูง เพราะนอกจากกระจายได้เร็วแล้ว ยังควานหาคนที่มีความคิดเช่นเดียวกันได้เร็วไม่แพ้กัน…

การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม Hate speech หลัก ๆ แล้ว ต้องมาจากเจ้าของแพลตฟอร์มในการหามาตรการระวัง ขณะที่ในการควบคุมเชิงกฎหมาย รัฐบาลเองก็ต้องมีมาตรการและบังคับใช้อย่างจริงจัง

สำหรับตัวอย่างมาตรการและกฎหมายประเทศที่ออกมาตรการควบคุมเชิงกฎหมาย เพื่อป้องกันการใช้ Hate speech สร้างความแตกแยกในสื่อสังคมออนไลน์ อย่าง EU นอกจากควบคุม Hate speech ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความแตกแยกแล้ว ยังควบคุมข้อความในการพาดพิงชาวมุสลิมที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศ และข้อความในเชิงก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยหาตรวจพบข้อความเหล่านี้ก็จะลบภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนที่อินเดีย หากมีข้อความ Hate speech รัฐบาลมีสิทธิ์สั่งให้เจ้าของแพลตฟอร์มลบภายใน 24 ชั่วโมง

จากประเด็นนี้ ก็มีคำถามที่ตามมาว่าจะทำอย่างไรกับ “การแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ” แต่ความสุ่มเสี่ยงในเชิงสร้างความเกลียดชัง และ “การควบคุมการแสดงความคิด” ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป เพราะไม่ว่าหนักไปทางใดทางหนึ่ง ก็จุดชนวนความขัดแย้งได้ทั้งสองทาง

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะจริงจังและเพิ่มความเข้มข้นในการสร้างสังคมใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดความรุนแรงและความแตกแยกของสังคม… เริ่มจากตัวเรา และคนรอบข้าง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ