TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyETDA ร่วมกับ NIA เผยผล Foresight Research ฉายภาพอนาคตดิจิทัลในทศวรรษหน้า

ETDA ร่วมกับ NIA เผยผล Foresight Research ฉายภาพอนาคตดิจิทัลในทศวรรษหน้า

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab จัดงาน ETDA Digital Foresight Symposium 2022 “Future Ready: Advancing Thailand for Digital Forward” เพื่อเปิดผล Foresight Research ที่จะมาคาดการณ์อนาคตดิจิทัลไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ผ่าน 4 ประเด็นสำคัญ คือ ธุรกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต พร้อมยกขบวนทัพผู้เชี่ยวชาญด้าน Foresight จากภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเตรียมพร้อมสู่โลกอนาคต เร่งเครื่องการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไทยขั้นสุด

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในการเปิดงานกล่าวว่า จากสถานการณ์การเติบโตทางด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็ว การที่เราจะรับมือและไปต่อได้นั้น ต้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง ถือเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญและต่างหาวิธีการต่าง ๆ มาช่วยในการเตรียมความพร้อม รวมถึง “กระบวนการมองภาพอนาคต หรือ Foresight” ที่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการสะท้อนภาพอนาคต เพื่อช่วยในการเตรียมตัวสำหรับการรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างรู้เท่าทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ได้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกด้าน เพื่อให้ประเทศมี Ecosystem ที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สู่การยกระดับชีวิตคนไทย ซึ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การจัดทำภาพอนาคตหรือ Foresight จึงได้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญซึ่งจะเข้ามามีบทบาทช่วยให้ประเทศมีการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น สอดรับกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของประเทศและกระแสโลกได้

ดังนั้น การที่ ETDA เดินหน้าศึกษาการจัดทำภาพฉายอนาคต หรือ Foresight Research ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในมิติต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ด้าน ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การส่งเสริม สนับสนุน ให้คนไทยมีความเชื่อมั่นใน
การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ เพื่อส่งผลให้มีการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นภารกิจหลักที่ ETDA เดินหน้าขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ตลอดจนกฎหมาย มาตรฐานดิจิทัล เพื่อรองรับทุกการทำธุรกรรมออนไลน์ การกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลที่สำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งในการพัฒนาทักษะ การให้คำปรึกษา เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงานในรูปแบบดิจิทัลของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างราบรื่น

ทั้งยังรวบรวมข้อมูลสำคัญทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่ทุกภาคส่วนจะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดประเด็นในเชิงนโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์ ตลอดจนกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนในปีนี้ ETDA ได้ต่อยอดสู่การมองภาพอนาคต ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Foresight ซึ่งจะช่วยให้มองภาพอนาคตในยุคดิจิทัลได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ผ่านการสะท้อนภาพอนาคตใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ธุรกรรมดิจิทัล 2) ปัญญาประดิษฐ์ 3) การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และ 4) อินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นนี้ จะเป็นกุญแจที่จะเปิดประตู่สู่การสร้างและพัฒนา Digital Ecosystem ได้ชัดเจนมากขึ้น

“Future Ready: Advancing Thailand for Digital Forward”  ไม่เพียงเพื่อนำเสนอผลการศึกษา Foresight Research แต่ยังเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Foresight จากหลากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านการลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อขับเคลื่อนงานและสนับสนุนการศึกษา การจัดทำข้อมูลด้าน Foresight ที่ครอบคลุมทุกมิติร่วมกันครั้งแรกของไทย ก่อนต่อยอดสู่ศูนย์ Digital Foresight ที่จะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการคาดการณ์อนาคตด้านดิจิทัลของไทย ที่พร้อมเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้สนใจ และสามารถนำไปใช้หรือต่อยอดในการดำเนินงานได้”

ด้าน ดร.ตฤณ ทวิธารานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากการศึกษา Foresight Research ผ่าน 4 ประเด็น ได้แก่ ธุรกรรมดิจิทัล, ปัญญาประดิษฐ์, การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต พบว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ทุกประเด็นข้างต้น จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก

โดย ธุรกรรมดิจิทัล จะกลายเป็น “New Frontier of Barter Economy” หรือ พรมแดนใหม่ของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ ที่ทุกการทำธุรกรรมจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสื่อกลาง เราสามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ทางดิจิทัล (เช่น NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นต้น) ได้อย่างอิสระ หรือการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ในโลกเสมือนที่อาจจะคู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง นำไปสู่การกำหนดกฎระเบียบหรือแนวทางใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ ยังมีภาพอนาคตที่เราต้องจับตาเฝ้าระวัง เพื่อหาแนวทางป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น คือ “Backlash of e-Madness” หรือ การทำธุรกรรมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผ่านตัวกลางหรือพื้นที่ที่ยากต่อการตรวจสอบและผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงหนักขึ้นกว่าเดิมก็ได้

ขณะที่ ปัญญาประดิษฐ์ (หรือ AI) จะเข้ามาสร้างให้เกิดสมดุลในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “Micro Intelligence for Everyone”  ที่การใช้งานจะไม่กระจุกตัวอยู่ที่หน่วยงานหรือองค์กร แต่จะขยายไปสู่ระดับบุคคลด้วย และจะเกิด AI ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละองค์กรหรือผู้ใช้งานได้มากขึ้น (Customized AI) และจะกลายมาเป็นผู้ช่วยเราได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ช่วยสื่อสารข้อมูลตามข้อเท็จจริง และช่วยในการตัดสินใจ เป็นต้น เนื่องจากในอนาคต AI จะก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ จนทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกด้าน ทำให้บทบาทของมนุษย์อาจถูกลดทอนและมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วย AI อย่างเต็มรูปแบบ จนอาจส่งผลให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้น้อยลง และในที่สุดอาจจะถูกครอบงำโดย AI ได้  หรือที่เรียกว่า “Big Brain Colonization” 

สำหรับในประเด็น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะทำให้พวกเราก้าวสู่โลกดิจิทัล มีตัวตนบนโลกเสมือน ที่เชื่อมโยงตัวตนบนโลกแห่งความเป็นจริง โดยที่ไม่มีใครสามารถสวมรอยเป็นเราได้ หรือที่เรียกว่า “All of Us Are Digitized” แต่ในขณะเดียวกัน ในโลกเสมือนทุกคนสามารถกำหนดเพศ ศาสนา ตลอดจนความเชื่อในเชิงจริยธรรมเองได้ การรับมือกับปัญหานี้ อาจต้องมีการกำหนดแนวทาง รวมถึงกฎระเบียบที่เหมาะสมและรัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อและความปลอดภัยในการมีตัวตนบนโลกดิจิทัล ลดอัตราการเกิด “Battle of My Identity” หรือตัวตน ‘อวตาร’ ที่นำไปใช้ในการก่อเหตุในโลกออนไลน์และยากต่อการติดตาม นอกจากนี้

สุดท้ายในประเด็นของอินเทอร์เน็ต ก็เป็นเรื่องที่จะช่วยส่งเสริม Digital Ecosystem ในประเทศไทย โดยในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้อย่างมีคุณภาพและครอบคลุม ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และทำให้เกิดกิจกรรมบางอย่างที่สามารถทำได้ง่ายขึ้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต เช่น การผ่าตัดทางไกลโดยใช้คนควบคุม เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้ คือ อนาคตเราอาจพบข้อมูลมหาศาลในโลกอินเทอร์เน็ตที่อาจทำให้การตรวจสอบและการคัดกรองเป็นไปได้ยาก อาจมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ การหลอกลวงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ จนอาจขยายเป็นภัยที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หรือที่เรียกว่า “Algorithmic Dystopia” เป็นต้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

depa ชวน Gen Z สร้างกลุ่มเปราะบางเข้มแข็ง ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

Celcom-Digi ได้รับการอนุมัติด้านกฎระเบียบ เดินหน้าควบรวมในมาเลเซีย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ