TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessไมโครซอฟท์ เปิดตัว เครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์ เอเชียแปซิฟิก

ไมโครซอฟท์ เปิดตัว เครือข่ายความปลอดภัยไซเบอร์ เอเชียแปซิฟิก

อาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นภัยที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกและเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ โดยก่อให้เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตและการทำงาน ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร อีกทั้งยังเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและลดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงประสบปัญหาจากการถูกโจมตีโดยมัลแวร์และแรนซัมแวร์ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.6 และ 1.7 เท่าตามลำดับ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก

ไม่มีองค์กรใดสามารถต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามลำพัง และนั่นคือ เหตุผลที่ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว ภาคีเครือข่ายภาครัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(Asia Pacific Public Sector Cyber Security Executive Council) เป็นครั้งแรก

โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบายจากรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงผู้นำในวงการเทคโนโลยีและแวดวงอุตสาหกรรม ภายใต้เป้าหมายในการสร้างช่องทางการสื่อสารที่แข็งแกร่งเพื่อจัดการกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดแก่ประเทศที่เข้าร่วม

ผู้กำหนดนโยบายจำนวน 15 คนที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายนี้ มาจากประเทศบรูไน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยทุกท่านจะได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จากไมโครซอฟท์

ภาคีเครือข่ายนี้นับเป็นการแสดงความมุ่งมั่นครั้งสำคัญ เพื่อจุดมุ่งหมายในการเร่งสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อความพร้อมในการตอบโต้กับเหตุการณ์การจู่โจมต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

วิสัยทัศน์ที่สำคัญที่สุดของสภาคณะผู้บริหาร คือ การขับเคลื่อนการสร้างชุมชนที่สามารถแบ่งปันข้อมูลภัยคุกคาม เทคโนโลยี และทรัพยากรต่าง ๆ ได้ในเวลาที่เหมาะสมและเปิดกว้าง โดยทางภาคีเครือข่ายจะมีการนัดประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ในแต่ละไตรมาสเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์และโซลูชั่นเพื่อรักษาความมั่นคงบนโลกไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

ระหว่างช่วงเสวนาในงาน Microsoft APAC Public Sector Summit ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์ ได้กล่าวถึงวิธีการที่ทางไมโครซอฟท์กำลังสนับสนุนหลากหลายประเทศให้ก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัล โดยเขาเผยว่าในปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้เห็นคลื่นลูกที่สองของการนำดิจิทัลเข้ามาปรับเปลี่ยนธุรกิจ และรัฐบาลในหลายประเทศก็ได้เร่งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เสริมความยืดหยุ่นให้สังคมมีความแข็งแกร่ง พร้อมปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างพื้นฐานเชิงดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยให้ภาครัฐประสบความสำเร็จ ซึ่งจะสามารถทำได้ด้วยการนำกลยุทธ์ที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลไปปรับใช้

สัตยา ได้กล่าวเน้นถึงความมุ่งมั่นของไมโครซอฟท์ต่อแผนในการเป็นกำลังสำคัญให้ทุกประเทศในภูมิภาค ผ่านทางการเปิด data center หรือศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในประเทศนิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ในการประชุมสุดยอดครั้งเดียวกันนี้ แอน จอห์นสัน รองประธานกรรมการฝ่าย Security Compliance and Identity ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดเสวนากลุ่มเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์เรื่อง ‘การสร้างอีโคซิสเต็มระดับโลกเพื่อสร้างเกราะป้องกันบนโลกไซเบอร์ที่ทนทาน’ (Building a resilient cyber defense global eco-system) 

แอน จอห์นสัน กล่าวว่าแนวโน้มพัฒนาการของอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ที่ไมโครซอฟท์สังเกตเห็นนั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเด็นที่สังคมต้องเผชิญอยู่แล้วในขณะนั้น โดยผู้ประสงค์ร้ายมักจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาเพื่อนำประเด็นนั้น ๆ มาดึงดูดความสนใจของเป้าหมาย การจะปกป้ององค์กรและรัฐบาลจึงต้องอาศัยแนวคิดแบบ zero trust มาปรับใช้

ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคีเครือข่ายภาครัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลาที่สำคัญยิ่ง ในจังหวะที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถร่วมมือกันเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ในระดับประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ยังรวมถึงองค์กรที่เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสภาคณะผู้บริหารด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 3 องค์กร ได้แก่ หน่วยงาน CyberSecurity จากประเทศมาเลเซีย หน่วยงาน National Information Society Agency จากประเทศเกาหลีใต้ และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติจากประเทศไทย

กลยุทธ์ระดับภูมิภาค เพื่อรับมือการโจมตีทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากการที่บริษัทเอกชนเป็นเจ้าของผู้ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลจึงมีภารกิจที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือกับบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อดำเนินงานตามกลยุทธ์ในการปกป้องพื้นที่บนโลกไซเบอร์และดูแลภูมิภาคให้ปลอดภัยจากอาชญากรไซเบอร์

ดาโต๊ะ ดร.อามีรุดดีน อับดุล วาฮับ เอฟเอเอสซี ประธานกรรมการบริหารของหน่วยงาน CyberSecurity จากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติที่สำคัญ และไม่ควรถูกผลักไปเป็นภาระของบุคลากรฝ่ายไอทีแต่เพียงทีมเดียว แต่ควรเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุดและเป็นหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละบุคคล ในขณะที่ยังคงพบเห็นอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับปริมาณของข้อมูลและการเชื่อมต่อบนเครือข่ายดิจิทัลที่ยังคงมีความแพร่หลายมากขึ้น

“การประสานงานกันในครั้งนี้จะช่วยสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกับผู้นำและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้เราสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับการวางแผนการดูแลความปลอดภัยและการต่อสู้กับอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์”

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของอีโคซิสเต็มด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์และบทบาทของความร่วมมือครั้งนี้ ดร.ชางฮี ยุน หัวหน้าคณะวิจัยของ AI/Future Strategy Center จาก National Information Society จากประเทศเกาหลีใต้ ได้กล่าวเสริมว่า ความรู้ความสามารถที่ถูกนำมารวมกันระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและกลยุทธ์ต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดการกับอุปสรรคด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมกับหันมาทำงานแบบเชิงรุกมากขึ้น ในเมื่อแต่ละประเทศต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

“ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่าเรามีความรู้ความสามารถที่เหนือกว่าเหล่าอาชญากร พร้อมสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นสำหรับอีโคซิสเต็มด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์อีกด้วย”

นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รักษาการรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติจากประเทศไทย กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายภาครัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์นี้ นับเป็นแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์ต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือกันผ่านภาคีเครือข่ายนี้จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ภัยคุกคามล่วงหน้าได้เร็วที่ได้สุดเท่าที่เป็นไปได้ และป้องกันไม่ให้ภัยเหล่านั้นเกิดขึ้น ก่อนที่ผลกระทบของอาชญากรรมดิจิทัลจะบานปลายจนกลายเป็น “การแพร่ระบาด” อีกชนิดหนึ่งบนโลกไซเบอร์

ระดับความร่วมมือที่ไม่เหมือนใครระหว่างคณะรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

ส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายภาครัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือการที่หน่วยงานของรัฐบาลและผู้นำของรัฐจะเข้าร่วมการประชุมพร้อมกับไมโครซอฟท์และที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยจากทั่วทั้งเครือข่ายของไมโครซอฟท์

เป้าหมายในการประชุมครั้งนี้ คือ การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เรียนรู้จากกิจกรรมฝึกอบรมของไมโครซอฟท์เพื่อให้การรับรองด้านศักยภาพความปลอดภัย การจัดเวิร์คช็อปแบบเฉพาะทาง และการทดลองที่เน้นการฝึกเชิงปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้แรงงานในแต่ละประเทศได้มีทักษะเชิงดิจิทัล พร้อมช่วยเติมเต็มความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ในทุก ๆ ประเทศที่เข้าร่วม

โดยสมาชิกของภาคีเครือข่ายภาครัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ที่เกี่ยวกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ และดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างประเทศต่าง ๆ

การดำเนินงานในครั้งนี้จะถูกพัฒนาต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC)) สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)) และการประชุมระดับโลกเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์

ภัยคุกคามและการโจมตีบนโลกไซเบอร์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในโลกที่ทุกสิ่งต่างเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ดังนั้น ความแข็งแกร่งที่เกิดจากความร่วมมือของเราในฐานะชุมชนหนึ่งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การประกาศในวันนี้เป็นเพียงก้าวแรกสู่การปกป้องชุมชนของเราในพื้นที่บนโลกไซเบอร์ และดิฉันรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศเปิดตัวภาคีเครือข่ายภาครัฐด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมกับสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งรวมถึงผู้นำคณะรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้วางระเบียบ และผู้ถือผลประโยชน์ร่วมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภารกิจร่วมกันของเราคือการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อเสริมเกราะป้องกันด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของเรา” เชอรี อึ๊ง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายภาครัฐ ไมโครซอฟท์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ