TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupกูเกิล ยกเอเชียแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพชั้นดี ชี้ ฟินเทค-เฮลท์เทค-เอไอ มาแรง

กูเกิล ยกเอเชียแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพชั้นดี ชี้ ฟินเทค-เฮลท์เทค-เอไอ มาแรง

กูเกิล เสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่ชั้นนำของสหรัฐฯ เผยทิศทางแนวโน้มของธุรกิจสตาร์ตอัพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคแห่งนี้ถือเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพชั้นดี เนื่องจากมีพร้อมทั้งทรัพยากร เงิน กำลังคน และตัวเทคโนโลยี โดยมีนวัตกรรมทางการเงิน (Fin Tech) สุขภาพ (Health Tech) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของสตาร์ตอัพในเอเชียเติบโตได้อย่างสมบูรณ์แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ไมเคิล คิม (Michael Kim) หัวหน้าฝ่ายสตาร์ตอัพ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ของ กูเกิล กล่าวถึงผลการศึกษาเทรนด์สตาร์ตอัพ ระหว่างการเสวนาโต๊ะกลมออนไลน์เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ (22 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมาระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื่อว่า เอเชียแปซิฟิกจะเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพชั้นดีระดับโลก เป็นผลจากเทรนด์สำคัญที่กำลังเติบโต นั่นคือ

  1. การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)
  2. กระจายอำนาจ (decentralized) ของระบบการเงิน
  3.  การขยายตัวของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ
  4. การยอมรับและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ และ
  5. การแสวงหาแนวทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

ไมเคิล คิม อธิบาย สิ่งที่กูเกิลมองเห็นในเวลานี้ก็คือการที่องค์กร บริษัท และรัฐบาลในภูมิภาคต่างกระตือรือร้นที่จะร่วมมือลงทุนวิจัย พัฒนาและบูรณาการเทคโนโลยีทั้งหลายเพื่อให้การใช้งานเทคโนโลยีเอไอขยายตัวไปในวงกว้างมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของการกระจายอำนาจของระบบการเงินและการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ทำให้ฟินเทคทั้งหลาย เช่น แกร็บ, วีแชท และ อาลีเพย์ มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทค ตามความนิยมของการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ ขณะที่นวัตกรรมยังจะมีส่วนช่วยให้สตาร์ตอัพส่วนใหญ่มีโอกาสที่จะลงแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งรายใหญ่” ไมเคิล คิม กล่าว

นอกจากนี้ ในมุมมองของกูเกิล การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ หรือ เฮลท์เทค (Health Tech) ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และปัญหาจากสภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดความต้องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนนำไปสู่ความสนใจอย่างมากในการพัฒนาที่ยั่งยืนในหมู่บริษัทสตาร์ตอัพ

ไมเคิลกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่ค่อนข้างอ่อนไหวและเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ทำให้สตาร์ตอัพส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะในอาเซียน ต่างค้นหานวัตกรรม และแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

“ประชากรอาเซียนแทบจะทั้งหมดล้วนพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงทุกวัน ทำให้กูเกิลมองเห็นบรรดาสตาร์ตอัพในอาเซียนต่างเร่งขวนขวายใช้คลาวด์คอมพิวติ้ง, เอไอ และบิ๊กดาต้า เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการรับส่งข้อมูล และติดตามภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือพายุไต้ฝุ่น เพื่อให้แน่ใจว่าเราทุกคนมีเครื่องมือที่เหมาะสมต่อการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ” ไมเคิล เคม กล่าว

เอเชียแปซิฟิก แหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพ

จากการศึกษาวิจัยของกูเกิล ไมเคิล คิม เชื่อมั่นอย่างมากว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีคุณสมบัติ ทรัพยากรและขีดความสามารถในการเดินหน้าพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางสำหรับบ่มเพาะสตาร์ตอัพและธุรกิจต่อไป ภายใต้การสนับสนุนเชิงบวกจากภาครัฐช่วยผลักดันให้สตาร์ตอัพเอเชียเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

ไมเคิลยกตัวอย่างกรณีศึกษาในเกาหลีใต้ ที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ได้ก่อตั้งองค์กร เมตาเวิร์ส อลิอันซ์ (Metaverse Alliance) เพื่อมุ่งกระตุ้นการพัฒนาแพลตฟอร์ม VR และ AR โดยที่รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็ให้คำมั่นที่จะยังคงสนับสนุนสตาร์ตอัพให้ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวต่อไป 

ในส่วนของการขยายตัวเติบโตของสตาร์ตอัพในภูมิภาคเอเชียในขณะนี้ ไมเคิลมองว่าเป็นเพียงก้าวแรกของการพัฒนาสตาร์ตอัพในภูมิภาพ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเทรนด์เทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของสตาร์ตอัพเอเชียในอนาคต

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น กรณีในอินโดนีเซียและเวียดนาม ที่เดินหน้าทุ่มเงินลงทุนในระบบที่เกี่ยวข้องการ DeFi หรือ Decentralized Finance ในปี 2021 ที่ผ่านมา สามารถระดุมทุนได้เกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปี 2020 ถึง 6 เท่า หรือเฉพาะแค่สิงคโปร์ประเทศเดียว ก็มีเม็ดเงินเข้าไปลงทุนพัฒนาเครื่องมือทางการเงินแบบกระจายศูนย์กับทางสตาร์ตอัพในปีที่ 2021 ที่ผ่านมาสูงถึง 77,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เกาะไต้หวัน และอาเซียน ได้พัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ตอัพอย่างเต็มที่

“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่เรามองว่าเห็นสตาร์ตอัพจะกลายเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ โดยในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นบริษัทแบบเดิม ๆ ไม่อาจอยู่รอดได้ หรืออยู่รอดได้ยากภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และขณะนี้ เราเห็นชัดแล้วว่า สตาร์ตอัพเริ่มกลายเป็นเสาหลักเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ” ไมเคิล คิม กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น เอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอาเซียน เป็นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดต่อการเติบโตของสตาร์ตอัพ โดยได้ปัจจัยหนุนทั้งในแง่ของจำนวนประชากร แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ และปัจจัยท้าทายที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่สมบูรณ์ที่มีส่วนช่วยในการก่อร่างสร้างสตาร์ตอัพหน้าใหม่ ภายใต้โอกาสขยายธุรกิจอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ความหมายของไมเคิลคือ การที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น และผู้บริโภคเปิดใจรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดี ทำให้เมื่อมีแอปพลิเคชันหรือสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ออกสู่ตลาด จึงทำให้เกิดกระแส “ไวรัล” จนแจ้งเกิดเหล่า ยูนิคอร์น ได้ไม่ยาก ซึ่งจนถึงเดือนเมษายนปี 2021 มียูนิคอร์นเกิดขึ้นในเอเชียแปซิฟิกเกือบ 190 แห่ง เป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ ที่มีอยู่ราว 290-300 แห่ง และแซงหน้ายุโรปซึ่งมีอยู่ราว 69 แห่ง

ขณะเดียวกัน แม้เอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะอาเซียนจะมีการเติบโตอย่างน่าทึ่ง แต่ไมเคิลยังคงรู้สึกว่ายังมีอะไรให้ดูอีกมากจากภูมิภาคนี้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายที่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลและสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความจำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ช่วยให้เอเชียแปซิฟิกจะยังคงเป็นผู้นำการเติบโตในธุรกิจสตาร์ตอัพระดับภูมิภาคต่อไป

ทั้งนี้ ในฐานะผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำ กูเกิลพบว่า สิ่งที่สตาร์ตอัพในเอเชียต้องการแรงสนับสนุนมีมากกว่าเม็ดเงินลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี ดังนั้น เป้าหมายของกูเกิลคือการทำงานร่วมกับชุมชน ผู้ก่อตั้ง และรัฐบาลในพื้นที่เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศของสตาร์ตอัพทั้งหมดให้เคลื่อนไปข้างหน้า และมีโอกาสทั้งหมดที่จำเป็นในการเติบโต รวมถึงกำหนดรูปแบบเทคโนโลยี

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Google for Startups Cloud ขยายการสนับสนุนสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้น รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 100,000 เหรียญในปีแรก

“วีมูฟ แพลตฟอร์ม” สตาร์ตอัพไทย บุกตลาดขนส่ง จองรถส่งสินค้าทั่วไทย ผู้ใช้ตั้งราคาเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ