TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupLocoPack แพลตฟอร์ม Local Packaging ของคนไทย

LocoPack แพลตฟอร์ม Local Packaging ของคนไทย

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเร่งของโควิด-19 ระบาด ซึ่งคนส่วนใหญ่สั่งสินค้าออนไลน์เป็นหลักตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเกิดธุรกิจหน้าใหม่ของผู้เล่นรายย่อยบนออนไลน์จึงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การสร้างความต่างของสินค้าที่เหมือนกัน ด้วยการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำจากบรรจุภัณฑ์จึงเป็นส่วนสำคัญในการทำตลาดบนออนไลน์ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ระบุว่าในปี 2565ที่ผ่านมา ตลาดบรรจุภัณฑ์ไทยขยายตัวกว่า 10.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 644,000 ล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตในปี 2566นี้ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น มีมูลค่าถึง 669,000 ล้านบาท 

LocoPack แพลตฟอร์มออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ หนึ่งในสตาร์ตอัพคนไทยที่มองเห็นช่องว่างของธุรกิจนี้และมองว่าสามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทย เจ้าของแบรนด์สินค้ารายย่อยและเจ้าของโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ให้สามารถเข้าถึงโอกาสในการขยายธุรกิจ 

Test and learn กล้าที่จะเผชิญในสิ่งที่ไม่รู้

ณิชยา อนันตวงษ์ Co-Founder และ CEO LocoPack แพลตฟอร์มออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ตนเองอยู่ในวงการนี้มานาน การเป็นสตาร์ตอัพ จึงต้อง Test and learn ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ล้มและลุกให้เร็ว เพื่อจะได้ช่วยผู้ประกอบการทุกระดับ โดยตนเองจบปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีโอกาสได้ฝึกงานกับซัพพลายเออร์ชั้นนำของโลกรายหนึ่งด้านผลิตภัณฑ์ความงามและการดูแลส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้บรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย เมื่อเรียนจบได้เริ่มงานที่บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์แห่งหนึ่ง ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้บรรจุภัณฑ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ การเลือกวัสดุ และกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน

ต่อมาได้รับทุนศึกษาต่อปริญญาโทด้านออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัย Pratt Institute นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้ฝึกงานด้านการออกแบบกราฟิกและการสื่อสารให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร จึงทำให้เกิดแนวคิดหลักการดำเนินธุรกิจที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ เมื่อกลับมาประเทศไทยได้ทำงานด้าน New Business Development ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการขายและธุรกิจใหม่ 

ทั้งนี้ประสบการณ์ที่ผ่านมากว่า 15 ปี ทำให้เห็นช่องว่างทางธุรกิจที่ยังมีโอกาสระหว่างเจ้าของสินค้ากับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และต้องปกป้องความเสียหายที่จะเกิดระหว่างการขนส่งได้ แต่ช่องว่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นเจ้าของแบรนด์ใหม่ ๆ ไม่มีเงินทุนมากนักในการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์ในจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนต่อกล่องหรือถุง และการออกแบบขนาดของบรรจุภัณฑ์ การเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับสินค้านั้น ๆ กล่องมาตรฐานทั่วไปอาจไม่ตอบโจทย์ ช่องว่างนี้ส่งผลต่อโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์เช่นกัน เนื่องจากยังมีโรงงานขนาดเล็กหลายแห่งที่ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ 

แพลตฟอร์ม Local Packaging ของคนไทย

ณิชยา กล่าวต่อว่า จุดประสงค์สำคัญที่ก่อตั้ง LocoPack คือ การเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์สินค้าในไทยและโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ได้มาพบกัน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้แบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1.บริการสำหรับผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ และ 2.บริการสำหรับโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ สามารถเข้ามาเลือกขนาด รูปแบบ และวัสดุของบรรจุภัณฑ์ได้ ซึ่งระบบจะมีการถามข้อมูลสินค้า ขนาดของสินค้า จำนวนของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการสั่งผลิต ซึ่งขั้นต่ำเริ่มต้นตั้งแต่ 100 ชิ้นเท่านั้น

หลังจากนั้นระบบของแพลตฟอร์มจะประมวลผลและโชว์โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ได้เลือก ซึ่งจะมีตัวอย่างผลงานที่โรงงานเคยผลิต ราคาในการผลิต ลูกค้าสามารถเลือกได้ในราคาที่ตนเองต้องการตามที่โรงงานต่าง ๆ มีราคาเสนอไว้ตามที่ระบุจำนวนการผลิต นอกจากนี้ ลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์สินค้า สามารถเข้าใช้บริการออกแบบลวดลาย เลือกสีของบรรจุภัณฑ์ได้บนแพลตฟอร์ม ทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นจุดต่างในการทำการตลาดของแบรนด์ใหม่ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบเฉพาะคือส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าและเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าได้

ส่วนบริการของแพลตฟอร์มในส่วนลูกค้ากลุ่มโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ LoccoPack ได้เข้าไปช่วยในด้านซอฟต์แวร์การจัดการหลังบ้าน มีการแนะนำในการเข้าเชื่อต่อกับแพลตฟอร์มและวิธีการรับออเดอร์และสั่งผลิต รวมถึงการออกแบบระบบบนแพลตฟอร์มให้บรรจุภัณฑ์ที่ลูกค้าเลือกเป็นมุมมองของโครงร่างที่โรงงานผลิตสามารถนำไปใช้สั่งผลิตได้ทันที ซึ่งช่วยให้เกิดความแม่นยำของขนาดและรูปแบบที่ถูกต้องตามที่ลูกค้าต้องการ ลดปัญหาบรรจุภัณฑ์ไม่ได้ขนาดทำให้สินค้าใส่ไม่ได้ รวมถึงทำให้ลูกค้าได้รับบรรจุภัณฑ์ที่รวดเร็ว ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่สั่งผลิตแล้วจะถูกจัดส่งมาที่ LocoPack ก่อนเพื่อตรวจสอบแล้วจึงจัดส่งไปยังลูกค้าต่อไป

“LocoPack มาจาก Local Packaging ซึ่งส่วนตัวอยากสินค้าไทยได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าของแบรนด์ได้ สินค้าไทยหลากหลายแบรนด์มีเรื่องราวและมีคุณภาพ แต่กลับอยู่ในหีบห่อที่ไม่สามารถส่งขายในห้างสรรพสินค้าได้ หรือส่งขายบนออนไลน์ได้ เนื่องจากขนาดของกล่องมาตรฐานที่มีขายทั่วไปไม่รองรับ ส่งไปแล้วสินค้าเสียหาย ลูกค้าจะไม่สั่งสินค้าอีก เชื่อว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตอบโจทย์ช่องโหว่นี้ได้เป็นอย่างดี เกิดเป็น sharing economy ให้ผู้ผลิตในชุมชนท้องถิ่นสามารถรับงานไปผลิต เกิดวงจรธุรกิจเกื้อหนุนกันในชุมชน” Co-Founder และ CEO LocoPack กล่าว

เดินหน้าสร้าง Sharing Economy ทั่วประเทศ

LocoPack เริ่มต้นธุรกิจในปี 2563 แน่นอนว่าเป็นช่วงของโควิด-19 ระบาดหนัก แต่การขายสินค้าออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์จึงมีค่อนข้างมาก ซึ่งระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับปรุงบริการและแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันความต้องการบรรจุภัณฑ์โดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโต 2.1% ต่อปี และพบว่ามีผู้ใช้บริการ LocoPack เพิ่มขึ้น 50% แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 ก็ตาม เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากปรับพฤติกรรมและเกิดความคุ้นชินกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์สูงขึ้น

ทั้งนี้มีผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาดเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง เน้นเอกลักษณ์ความแตกต่างโดดเด่นสูง บริษัทได้ทำการเก้บข้อมูลลูกค้าพบว่า ส่วนใหญ่เข้ามาใช้งานบนแพลตฟอร์มเพราะประหยัดเวลา สามารถผลิตได้เท่าที่ต้องการ มีความสะดวก ได้งานรวดเร็ว และมีโปรแกรมนักออกแบบส่วนตัวช่วยในการออกแบบ แค่มีไฟล์โลโก้อย่างเดียวสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเองบนเว็บไซต์ มีโรงงานให้เปรียบเทียบราคาอัตโนมัติ ติดตามขั้นตอนงานผลิตได้ และส่งมอบงานตามกำหนด เหมือนมีทีมช่วยผลิตและควบคุมงบประมาณ วางแผนเวลาการทำงานได้ 

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่สั่งผลิตแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่ม SMEs และสินค้าชุมชน OTOP 2.กลุ่มองค์กรที่ใช้กล่องสร้างความแตกต่าง และ3.กลุ่มบุคคลที่สั่งผลิตงานพิมพ์เฉพาะวาระต่าง ๆ โดยช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง พบว่ามีจำนวนสั่งผลิตใหม่จำนวนมาก และมีเสียงตอบรับที่เรียกร้องให้ LocoPack เพิ่มรูปแบบและวัสดุที่หลากหลายมากขึ้น  

โดยในปี 2566นี้ ได้เพิ่ม P.O.P ซึ่งเป็นชั้นวางตั้งขายสินค้าตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการในการออกร้าน หรือจัดแสดงสินค้า รวมทั้งการขยายพื้นที่โรงงานผลิตเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีให้บริการบนแพลตฟอร์มมีจำนวนกว่า 30 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนในกลุ่มผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์สินค้ามีการสั่งผลิตจากทั่วประเทศ การขยายเครือขายโรงงานผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่เป้าหมายในอนาคตคือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ Software as a Service ให้กับโรงงานผลิต เพื่อยกระดับโรงงานให้สามารถสร้างบรรจุภัณฑ์ของตัวเองได้ ซึ่งมีโรงงานผลิตขนาดเล็กที่ไม่มีระบบนี้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ