TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilitySCG ชวนขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้วยแนวคิด To get there, Together

SCG ชวนขับเคลื่อนความยั่งยืน ด้วยแนวคิด To get there, Together

การเปลี่ยนผ่านของเอสซีจีจาก “ผู้ใช้” สู่การเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล” เป็นกระจกสะท้อนถึงความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามแนวทาง ESG ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการสร้างความยั่งยืนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วนในประเทศ ภายใต้แนวคิด To get there, Together” 

ดิจิทัลบนความยั่งยืน

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG) เปิดเผยกับ The Story Thailand ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกยุคใหม่ถูกพัฒนาให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในภาคธุรกิจ ภาคสังคม ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากต้องอาศัยความร่วมมือจากนักประดิษฐ์คิดค้นทั้งหลายมาร่วมพัฒนาและขยายผลให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพที่มากกว่าเดิมทั้งต่อผู้ใช้ และผู้ที่อยู่ในระบบซัพพลาย เชน ของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแต่ละประเภท 

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี (SCG)

“เทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยเอสซีจีในการบรรลุเป้าหมาย ESG (Environmental, Social, Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593 การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ไปเสริมประสิทธิภาพในภาคการผลิตหรือกระบวนการจัดการด้านซัพพลายเชน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม หรือเสาะหาโซลูชันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ลูกค้าและพันธมิตรร่วมสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน”

รุ่งโรจน์ เผยเพิ่มเติมว่า Digital Office หรือ WEDO เป็นหน่วยงานที่เอสซีจีจัดตั้งขึ้นเพื่องานด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ มีหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การสร้างการใช้งานจริง (Used Case) เกี่ยวกับโซลูชันต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีระบบสุขภาพสำหรับเชื่อมต่อโรงพยาบาลและผู้ป่วยให้เชื่อมต่อกันได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งเอสซีจีหวังว่า หน่วยงาน WEDO จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประเทศและสังคม

ปักหมุดเทคโนโลยีฉบับเอสซีจี

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลหรือนวัตกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามแนวทางธุรกิจที่เอสซีจีได้วางไว้ แนวทางแรก คือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าใน 2 มิติ ได้แก่ มิติของเทคโนโลยีต่อการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันด้านการบริการให้ลูกค้าใช้งานได้ง่าย และมิติของการพัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าและบริการของบริษัทได้โดยสะดวก

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้องค์กรสามารถผสานลักษณะการทำงานแบบกายภาพ (Physical) และดิจิทัล (Digital) เข้าด้วยกัน เช่น การพัฒนาช่องทางสื่อสารแบบออมนิ แชนแนล (Omni Channel) เพิ่มการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าแบบไร้รอยต่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แนวทางที่สอง คือ การดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านการผลิตสินค้าที่เป็นกรีน ร่วมกับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนานวัตกรรม กระบวนการผลิต การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นต้น 

ตัวอย่างเช่น “Smart Living” การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตที่ส่งเสริมเรื่อง ESG ไปในตัว เช่น การจัดการพลังงานแบบประหยัดในที่พักอาศัย (Home Energy Management) โดยการติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Roof Solutions) เพื่อผลิตกระแสไฟสำหรับใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือรถไฟฟ้าอีวี “Active Airflow System ” ระบบจัดการคุณภาพอากาศ และการกรองอากาศโดยใช้ธรรมชาติ “Active AIR Quality” ระบบกรองฝุ่นและเชื้อโรคไม่ให้เข้าบ้าน เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี หรือ “Wellness Home Hub” เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังจากบ้านเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลเพื่อลดภาระการเดินทางไปพบแพทย์ และสามารถส่งความช่วยเหลือฉุกเฉินจากโรงพยาบาลถึงบ้านได้ในทันที

“เอสซีจีเน้นพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) หมายถึง เราออกแบบ คิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นบางส่วนอาจสัก 20-30% แล้วนำไปต่อยอดการพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในภาคส่วนอื่น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาคการศึกษา หรือสตาร์ทอัพ เพื่อให้นวัตกรรมหรือโซลูชันมีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เพราะเรารู้ว่าเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ การเปิดตัวเทคโนโลยีสู่ภายนอกในครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศว่าเรามีอะไรและพร้อมเชิญชวนองค์กรอื่น ๆ มาร่วมเป็นพันธมิตรกัน (Potential Partner) ทั้งนี้ เอสซีจีมุ่งหวังในการเป็นองค์กรที่พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ยั่งยืนและสามารถแข่งขันได้”

อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวต่อว่า การเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) หรือเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ไปด้วยกัน ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจในตัวลูกค้าและตลาด จึงจะเกิดการพัฒนาธุรกิจที่เติบโตและยั่งยืนอย่างแท้จริง จากนั้นคือ การชูประเด็นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากเป็นแค่ผู้ใช้ (User Economy) มาเป็นผู้ผลิตได้ด้วยตัวเอง (Maker Economy)

อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี

ซึ่งผลงานที่ผ่านมาของ WEDO เป็นสิ่งที่ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นนักวิจัยไทย สะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า คนไทยทำได้ หลายผลงานสามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง หน้าที่ของ WEDO จึงเป็นการเชิญชวนให้มา “เชื่อและให้โอกาส” นักวิจัยไทย และ “ช่วยกัน” ลงมือทำ เพื่อพร้อมเปลี่ยนตัวเองไปเป็นผู้สร้างและนำทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพราะรายได้จากผลิตผลด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเดิมอาจไม่เพียงพอ เราต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ซอฟต์ พาวเวอร์” (Soft Power) รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ

ผลงานเชิงประจักษ์ตัวอย่างแรก เช่น  “Offline Thai NLP Engine”  ที่ถูกวิจัยและพัฒนาให้เป็นส่วนประกอบหลักของระบบสั่งการด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ ระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ เช่น สิรี (Siri) หรือ อเล็กซา (Alexa) หรืออุปกรณ์ในบ้าน เช่น ก๊อกน้ำ ก็สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อคลาวด์หรืออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา แต่เป็นการใช้งานผ่าน Offline Thai NLP Engine ที่รันบนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการใช้งานในพื้นที่อับสัญญาณสื่อสาร โดยยังคงคุณภาพการโต้ตอบได้ดีระดับเดียวกับสิรีหรืออเล็กซา ซึ่งมีการนำไปขยายผลต่อเป็น “แว่นตาคนตาบอดที่ติดตั้งกล้องขนาดเล็ก” เพื่อแจ้งทิศทางการเดินแบบออฟไลน์โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต รวมถึงต่อยอดไปสู่อุปกรณ์ไอโอทีเพื่อการใช้งานในบ้านและอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เทคโนโลยี “ทรินิตี้ ไอโอที อีโคซิสเท็ม” (Trinity IOT Ecosystem) จากแนวคิดเรื่องสมาร์ทโฮมหรือบ้านอัจฉริยะในการดูแลและควบคุมสภาพอากาศ คุณภาพชีวิตในบ้านพักอาศัย ซึ่งสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างอเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ได้ เป็นโซลูชันที่เอสซีจีทำงานร่วมกับนักพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง และเริ่มมีการติดตั้งใช้งานแล้ว รวมถึงยังมีแผนในการจับมือพาร์ทเนอร์จากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้มีอุปกรณ์ที่หลากหลายพอในการใช้งานกับโครงการที่พักอาศัยระดับต่าง ๆ

ส่วนตัวอย่างเทคโนโลยีเด่น ๆ ที่ได้จัดแสดงในงาน Techsauce Global Summit 2022 ที่ผ่านมา ชิ้นแรกเรียกว่า “โดรนอินเดอะบ็อกซ์” (Drone in The Box) เป็นการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพจากฟลอริด้าในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ และสตาร์ทอัพจากอินเดียในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งทำให้ระบบอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนสามารถปฏิบัติงานตามโปรแกรมคำสั่งที่ตั้งไว้จนจบภารกิจได้ด้วยตนเอง

เมื่อนำมาบูรณาการกับ Trinity แพลตฟอร์มไอที สามารถต่อยอดเป็นโซลูชันที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การติดเซ็นเซอร์รูปแบบต่าง ๆ บนโดรน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการทำงานหรือความปลอดภัย การสอดส่องพื้นที่ขนาดใหญ่ ปริมาณกองวัสดุเหลือใช้ ซึ่งเดิมต้องใช้กำลังคนมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้ง WEDO และเอสซีจีได้พัฒนาโซลูชันนี้เป็นบริการเสริมให้ลูกค้าโดยคิดค่าใช้จ่ายเฉพาะตัวข้อมูล และยังสามารถดูแลการปฎิบัติการของโดรนทั่วประเทศได้จากส่วนกลาง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเมืองไทย

อีกเทคโนโลยีหนึ่ง คือ “มิกซ์ เรียลลิตี้” (Mixed Reality-MR) ซึ่งใช้จุดเด่นของเทคโนโลยีวีอาร์ (VR) ในการจำลองรูปแบบการฝึกอบรม (Training Simulation) ข้อดี คือ เป็นการจำลองสถานการณ์ร่วมกับอุปกรณ์การทำงานจริงแทนการควบคุมด้วยวีอาร์คอนโทรลเลอร์ (VR Controller) เหมือนในอดีต

“การเข้าร่วมงาน Techsauce เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อเปิดตัวหน่วยงานลงทุนในรูปแบบสตาร์ทตอัพที่เรียกว่า Corporate Venture Capital (CVC) เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นการผจญภัย เพราะที่ผ่านมาเอสซีจีคือผู้ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ในปีนี้เรากลับมาเพื่อบอกว่า เราลงมือทำจริง เรามีของ และเราพร้อมแล้วที่จะเชิญชวนทุกคนตลอดจนพาร์ตเนอร์มาร่วมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมร่วมกันเพื่อประเทศ เอสซีจีมีทีมงานที่พร้อมในการพัฒนารูปแบบธุรกิจ (Business Model Development) ที่มากกว่าการซื้อมาขายไป แต่ยังรวมถึงการสร้างเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) การร่วมลงทุน (Co-Investment) หรือ การจัดรูปแบบบริการแบบ As-a-Service เรามีทีมในการบ่มเพาะและพัฒนาธุรกิจ (Business Incubation & Business Development) เพื่อช่วยระดมความคิดและพัฒนาธุรกิจบนเทคโนโลยีที่ “ใช่” ให้เร็วและยั่งยืนที่สุด” 

อภิรัตน์ กล่าวสรุปว่า การมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองทำให้เรามีศักยภาพมากพอ ทั้งการลดต้นทุนด้านเทคโนโลยี หรือต่อยอดสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่เทคโนโลยีเดิมไม่รองรับ ส่งผลให้ธุรกิจโตต่อได้รวดเร็วขึ้น

แนวคิดเรื่อง To get there, Together ของเอสซีจี คำว่า “get there” จึงเป็นสิ่งที่ต้องตอบให้ตรงโจทย์ทั้งเรื่องของเป้าประสงค์จนออกมาเป็นโซลูชันที่ใช้งานได้จริง ภายใต้เทคโนโลยีที่ช่วยองค์กรลดต้นทุนและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน ส่วน “together” คือ ความร่วมมือที่เราเปิดให้ทุกรูปแบบ อาทิ การจับมือเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ หรือ การร่วมลงทุน (JV) เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้อย่างรวดเร็ว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ