TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistส่อง Agri-Food Tech Expo Asia (AFTEA) นวัตกรรมอาหารเพื่อความมั่นคงของสิงคโปร์

ส่อง Agri-Food Tech Expo Asia (AFTEA) นวัตกรรมอาหารเพื่อความมั่นคงของสิงคโปร์

สิงคโปร์ประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่ต้องนำเข้าอาหารถึง 90% จึงต้องเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา วันนี้ได้จัดงาน Agri-Food Tech Expo Asia (AFTEA) ขึ้นเพื่อเป็นเวทีระดับนานาชาติในการรวบรวมนวัตกรรมและผู้คนที่สนใจด้านเทคโนโลยีอาหารและการเกษตรเข้าด้วยกัน งานนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ต.ค. 65 ที่ Sands Expo and Convention Centre

ก่อนอื่นเลยผมต้องบอกว่าเรื่องความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก ผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาโลกร้อน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทุกอย่างนำไปสู่การสั่นคลอนของ food supply chain ทั่วโลก พวกเราคนไทยที่กินดี อยู่ดี เลยอาจจะไม่ได้มีความตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ที่กำลังคืบคลานเข้ามา แต่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป

สภาพดินเสื่อมโทรมลง ฝนไม่ได้ตกต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี เราเหมือนกบที่กำลังถูกต้มอยู่ในหม้ออย่างช้า ๆ ถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิม ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ อีกไม่นานพวกเราคงมีปัญหาอาหารราคาแพง หรือต้องนำเข้าอาหารเช่นกัน ว่าแล้วผมเลยถือโอกาสขอไปดูงาน AFTEA หน่อยครับ ว่าทั้งโลกใบนี้ใครกำลังทำอะไรกันอยู่บ้าง

งานจัดขึ้นสามวัน มีทั้งส่วนที่เป็นบูธจัดแสดงและส่วนที่เป็นสัมมนา ในโซนของบูธก็มีการนำเสนอโดยหลาย ๆ ประเทศ เท่าที่ผมเดินดูก็แน่นอนสิงคโปร์ประเทศเจ้าภาพมีมาทั้งส่วนสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชน มีโซนประเทศต่าง ๆ อิสราเอล ฝรั่งเศส UK เยอรมัน แคนนาดา อินโดนิเซีย และก็มีโซนสำหรับ StartUp มี accelerator

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างบางบูธที่ผมสนใจมาเล่าให้ฟังนะครับ อย่างเช่น บูธของ Republic Polytechnic หรือ RP เป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นภาคปฏิบัติ ในงานเลยยกงานวิจัยที่กำลังทำมานำเสนอ และส่วนที่ผมว่าเขาเฉียบมากคือมีช่วงสัมมนาในหัวข้อ Sustainable Urban Agriculture Forum ที่เป็น highlight นึงของงานเป็นการประกาศศักดาโดยการทำ MoU ความร่วมมือกับบริษัทเอกชนและมี Ministry of Trade and Industry ของภาครัฐมาเป็นสักขีพยาน ช่วงนี้ผมนั่งฟังอย่างตั้งใจอยู่สามชั่วโมงและได้ทำความเข้าใจตามเนื้อหาที่บรรยายได้ความว่า

ความมั่นคงทางด้านอาหารมีหลายระดับ ถ้าระดับประเทศคือการพูดถึงเรื่องสมดุลระหว่างการผลิตกับการนำเข้าส่งออก แต่ถ้าระดับชุมชนมันคือการซื้อการขนส่งเข้ามาในพื้นที่กับการมีแหล่งเพาะปลูกเอง ส่วนระดับครัวเรือนคือการปลูกผักเลี้ยงไก่กินเองในบ้าน หรือถ้าเหลือก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน

ซึ่งในบริบทของ urban agri production หรือการเกษตรในเมืองแล้ว เราสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็น open air ที่ปลูกในดิน, การปลูกในโรงเรือนที่เรียกว่า green house, การทำ indoor vertical farm ปลูกผักในร่มแบบแนวตั้ง, หรือจะเป็น rooftop farm ปลูกบนดาดฟ้า ทุกอย่างสามารถตอบโจทย์ได้ตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่นั้น ๆ โดยศาสตร์จารย์ Teng ผู้บรรยายบอกว่าเรื่องนี้เขาให้ความสำคัญกับ EES มากกว่า ESG ที่กำลังเป็นที่สนใจ

EES มาจาก Environmentally-friendly ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การลดการใช้ยาฆ่าแมลง Economically viable ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจคือเหมาะสมกับชีวิตของเกษตรกร คุ้มค่าที่จะทำ และ Socially just หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคม ณ จุดจุดนั้น ทำขึ้นมาแล้วเป็นที่ยอมรับไหม

ซึ่งโดยบริบทของสิงคโปร์การทำ urban agriculture คือ การสร้างสมดุลระหว่าง 2 รูปแบบ
1) Open Environment Agriculture (OEA) อย่างสวนบนดาดฟ้า สวนในแหล่งชุมชน
2) Controlled Environment Agriculture (CEA) เช่น indoor agriculture, vertical agriculture, precision agriculture
และมันไม่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจเลยที่จะให้เมืองปลูกเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ 100% ยังไงก็ต้องพึ่งพาการขนส่งจากการปลูกนอกเมืองอยู่ดี

แต่อย่างไรก็ตามความท้าทายของ urban agriculture ก็ยังมีอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ภาพลักษณ์ของคนทำเกษตร ต้นทุนที่สูงกว่า ความหลากหลายของพืชพันธุ์หรือสัตว์ที่ดูแลได้น้อยกว่า และยังมีเรื่องนโยบายการสนับสนุน และกฎข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งก็มีคำถามที่น่าสนใจว่าแล้วเทคโนโลยีสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือยกระดับความสามารถในการทำเกษตรได้เมืองได้มากน้อยแค่ไหน

ในปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร ได้แก่
1) Digital Technology ที่ทำให้เราเห็นข้อมูลทุกอย่าง บริหารจัดการการทำงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2) Bio Technology ที่ช่วยยกระดับคุณค่าทางอาหารของพืชและสัตว์ที่เราดูแล
3) Novel Environment คือการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ
4) Novel Food การพัฒนาอาหารรูปแบบใหม่ โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากพืช การเพาะเลี้ยงเซลล์ ฯลฯ
5) Waste Valorization การบริหารจัดการของเสีย การดูแลเรื่องของ input การทำให้เป็น circular economy ให้ทุกอย่างหมุนเวียนใช้ในระบบ
6) Product Integrity และ Fraud Prevention การตรวจสอบและป้องกันอาหารปลอม การตรวจสอบย้อนกลับ
7) Supply Chain Logistics, Infrastructure และ Risk Management การบริหารจัดการความเสี่ยง โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดทั้ง Supply Chain

ถัดมาอีกไฮไลท์สำคัญคือการเปิดตัวมาตรฐาน 3 ตัว ด้านการเกษตร Good Agriculture Pratice (GAP) สำหรับฟาร์มผัก, ฟาร์มปลา, และฟาร์มไข่ ทั้งไก่และนกกระทา โดยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดในประเทศว่าฟาร์มที่ได้รับการรับรองจะให้ผลผลิตที่น่าเชื่อถือ สด สะอาด มั่นใจได้

นอกจากนี้ ยังพูดถึงเรื่องความปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเอง มันคือความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สามารถสืบย้อนกลับได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พอตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐพูดจบ ก็นำตัวอย่างเกษตรกรทั้ง 3 ด้านมาเล่าให้ฟัง

คนแรก Allan Lim จาก ComCorp Pte.Ltd. ท่านเป็น urban farmer ที่ดูสุขุมคนนึง ท่านเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่ตัวเองทำเรื่องธรรมดามาก แค่ปลูกผักที่คนกินทุกวัน ไม่ได้ปลูกหลากหลาย ไม่ได้ปลูกเคล มันคือชีวิตจริงที่ต้องการวินัยในการทำงานสูง มีการจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์ม มีการ print batch แปะถุงเพื่อให้สามารถ trace back ได้ ฟาร์มของท่านเป็นแบบ hybrid อยู่บนดาดฟ้า มีโครงสร้างคลุมกันแดดกันฝน และก็มีการใช้แสงเทียมจาก LED ในบางครั้ง ไม่ได้เปิดตลอดเพราะมันแพง สิ่งที่ท่านเน้นย้ำคือไม่ใช่ pest control แต่เป็น crop protection ป้องกันก่อนจะเกิดปัญหา สุดท้ายไม่มีอะไรมากกว่าผักสด สะอาด ปลอดภัย กินแล้วสบายใจ คนกิน happy คนปลูกก็ happy

คนที่สอง Mallcom Ong จาก The Fish Farmer Pte.Ltd. ท่านเป็นวิศวกรที่ผันตัวมาเป็นคนเลี้ยงปลา และแน่นอนแนวคิดการทำงานต้องไม่ธรรมดา มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามา เอา AI มานับปลา เอา solar มาใช้ วัสดุต่าง ๆ เน้น recycle ได้ สุดท้ายเข้าใจตลาด และไม่ต้องทำเอง partner คนอื่นเปลี่ยน form ให้เข้าถึงง่าย กินง่าย ขายใน super ญี่ปุ่นที่วัยรุ่นชอบ ไม่แค่บอกว่าปลาเราดี แต่โชว์ให้เห็นด้วย standard ที่มี และที่สำคัญมีความสุขกับชีวิตการเป็นคนเลี้ยงปลา

คนสุดท้าย Yeap Soon Ming จาก Chew’s Agriculture Pte.Ltd. เป็นตัวแทนบริษัทใหญ่ในตำแหน่ง QA Lead ก็มานำเสนอความยิ่งใหญ่ของฟาร์มที่สามารถผลิตไข่ได้มากกว่าวันละ 8 แสนฟอง ดำเนินงานมาแล้วกว่า 3 ทศวรรษ มีนวัตกรรมไข่หลายรูปแบบ เช่น ไข่ที่ใส่ lactobacilus, วิตตามิน E, โอเมก้า 6 ฯลฯ การทำงานเพื่อให้ได้รับมาตรฐานต้องมองหลายด้านทั้งเรื่องการปรับปรุง productivity การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และที่สำคัญต้องยังคงแข่งขันได้ ก็ต้องจูงใจคนในฟาร์มทุกระดับให้เชื่อและลุยไปด้วยกัน

เล่ามาถึงจุดนี้ ผมว่าสิงคโปร์เค้ามีความชาญฉลาดมากที่ออกนโยบาย 30 by 30 ให้ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งไปสู่การผลิตอาหารเองในประเทศให้ได้คุณค่าทางอาหาร 30% ภายในปี 2030 มันพูดง่าย เข้าใจง่าย จากนั้นแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปทำหน้าที่ของตัวเอง สถาบันการศึกษาวิจัยก็มีผลงานออกมา มี class สอนให้คนสนใจ StarUp ก็สร้างเป็น product หรือ service ไปลองตลาดนำเสนอนวัตกรรมสู่ภาคประชาชน ธุรกิจใหญ่หรือ Corporate ก็รับลูกต่อขยายผลกับงานที่ scale ได้ มี SG enterprise, SG innovate, SG food agency และอีกหลายหน่วยงานสนับสนุน เป็นการเดินไปพร้อมกันเป็นองคาพยพ โดยเปิดรับทุกคน ทุกชนชาติ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่คนสิงคโปร์ แค่ขอให้ช่วยกันพัฒนาเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง จึงเอื้อให้เปิดกว้างทางการลงทุน เพราะมันไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่มันเป็นทางรอดเดียวที่จะพาทั้งสังคมเศรษฐกิจของสิงคโปร์ให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ แล้วเดี๋ยวเรามาดูกันครับว่าอีก 8 ปีข้างหน้าเค้าจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ไหม

ปล. ผมอยากเห็นภาพแบบนี้ในเมืองไทยจัง เราเป็นประเทศที่เอื้อต่อการทำการเกษตรได้หลากหลายรูปแบบ แต่การทำแบบเดิม ๆ แล้วคาดหวังผลผลิตที่ดีขึ้น อาจจะไม่เกิดขึ้น หากเพียงแต่ถ้าเราเปิดใจ เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์ใหม่ ๆ อย่าเชื่อเพียงเพราะคนอื่นเค้าบอกต่อกันมา เชื่อในวิทยาศาสตร์ และลงมือทำ เป็นกำลังใจให้เกษตรกรไทยทุกคน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ