TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessซีพีแรม มุ่งต่อยอดนวัตกรรมอาหาร ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก-รักสุขภาพ

ซีพีแรม มุ่งต่อยอดนวัตกรรมอาหาร ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก-รักสุขภาพ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางอาหารเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการหาโซลูชันเพื่อแก้โจทย์ปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน ซีพีแรม นำนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอาหาร และสร้างอาหารแห่งอนาคต อาทิ อาหารที่ทำจากพืช (Plant Based Food) ภายใต้แบรนด์ “VG for Love” รวมถึงการวิจัยเพื่อลดขยะอาหาร (Food Waste) ด้วยการนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการผลิตอาหารมาวิจัยพัฒนาต่อยอดเพื่อไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ และการวิจัยและพัฒนาแพคเกจจิ้งอาหาร

ซีพีแรม นำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหาร มาแสดงในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในไทย ที่กลับมาจัดได้อีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่เว้นว่างไป 2 ปี เพราะวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด -19

วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า ซีพีแรม วางตำแหน่งทางการตลาดให้ VG for Love เป็นอาหารแห่งอนาคต เพราะเห็นแนวโน้มที่สังคมไทยและทั่วโลกจะบริโภคอาหารที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ พร้อมกับร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ซีพีแรมจึงได้พัฒนากลุ่มสินค้าใหม่ออกมาตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย

“ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีแรมตอกย้ำขีดความสามารถด้วยกลุ่มสินค้าภายใต้ตราสินค้า “ VG for Love” อาหารสำหรับผู้บริโภคที่มีการบริโภคพืชเป็นหลัก (Plant Based Diet) ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนที่ไม่อยากทานเนื้อสัตว์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเคร่งครัด ไปจนถึงระดับประนีประนอม ที่สามารถทานนมและไข่ได้” วิเสา กล่าว

นอกจากสินค้าที่เน้นหนักในกลุ่ม plant based diet แล้ว ซีพีแรมยังได้แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมอาหารและงานวิจัยด้านอาหาร หรือ Biotech โดยศูนย์วิจัยและบริการทดสอบของบริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรอาหารที่สร้างความโดดเด่นแตกต่างให้กับซีพีแรม 

ดร.พัชนี กิตติสุบรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัย บริษัท ซีพี ฟู๊ด แล็บ จำกัด กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ทางซีพี ฟู๊ดแล็บ ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อลดขยะอาหาร (Food waste) คือ การนำวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการผลิตอาหารมาวิจัยพัฒนาต่อยอดเพื่อไปใช้ประโยชน์ต่างๆ อาทิ ก้านและลำต้นของกะเพราที่เหลือทิ้งจำนวนหลายตัน ทางซีพี ฟู๊ดแล็บ มีการศึกษาจนพบว่าลำต้นเหล่านี้มีคุณสมบัติทางยา ขณะนี้กำลังดำเนินการทดลองในแล็บ และเตรียมทดสอบทางคลีนิก ซึ่งในอนาคตน่าจะได้เห็นสเปรย์จากต้นกะเพราที่มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาการอักเสบของร่างกาย

หรือในกรณีการแปรูปโปรตีนโดยใช้เอนไซม์ ทำให้เกิดเปปไทด์ อะมิโน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ให้เกิดรสอูมามิในอาหารตามธรรมชาติ โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษา คาดว่าน่าได้ใช้งานเพื่อทดแทนกลุ่มอาหารปลอดผงชูรส อร่อยและได้สุขภาพ รวมถึงตอบโจทย์ของคนรักษ์สุขภาพที่คำนึงถึงการบริโภคโซเดียมที่เป็นอันตรายต่อไตเข้าสู่ร่างกาย 

และเทรนด์รักษ์โลกทำให้ซีพี ฟู๊ดแล็บต่อยอดไปถึงการวิจัยและพัฒนาแพคเกจจิ้งโดยนำพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้มาเพิ่มคุณสมบัติทนความเย็นแบบแช่แข็ง ขณะเดียวกันก็ทนความร้อนเพื่อเข้าไมโครเวฟได้ ช่วยลดปริมาณขยะ และคาดว่าน่าจะเป็นมีโอกาสได้ขยายการใช้งานในฐานะพลาสติกของโลกอนาคตในเชิงพาณิชย์ต่อไป 

นอกจากนี้ ซีพี ฟู๊ดแล็บ ยังมีการทำการวิจัยในกลุ่มกัญชง-กัญชา ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นไปได้ของการนำมาใช้ผลิตอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) และอาหารพร้อมทาน (Ready to eat) ในเครือซีพีต่อไป

“หัวข้องานวิจัยหลัก ๆ ของเราจะเป็นไปตามเทรนด์ของผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอาหารที่มีอยู่ในเครือซีพี ซึ่งกระแสความต้องการของผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารต่อจากนี้ก็คือ อาหารที่มีคุณประโยชน์ ส่งเสริมสุขภาพ รสชาติอร่อย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เพิ่มขยะให้กับโลก” ดร.ดัชนี กล่าว 

ซีพี ฟู๊ดแล็บ เป็นหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนา ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของซีพีแรม ซีพีแรม คือ โรงงานประกอบอาหารพร้อมรับประทาน และทำหน้าที่ในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) ในขณะที่ซีพี ฟู๊ดแล็บ เป็นห้องปฎิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) คือ ดำเนินการด้านการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมีการร่วมมือวิจัยพัฒนากับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ตัวผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปต่อยอดขยายตลาดในเชิงพาชิย์ต่อไป

งานหลักของซีพี ฟู๊ดแล็บ คือ การวิจัยที่เกี่ยวกับข้องกับนวัตกรรมหรือการเพิ่มมูลค่าของอาหารแบบเฉพาะกลุ่ม โดยที่มีการวิจัยหลัก ๆ ในขณะนี้เน้นที่กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ กลุ่มอาหารเพื่อผู้สูงวัย เพื่อคนวัยทำงาน หรือเพื่อเด็ก ตลอดจนกลุ่มอาหารเฉพาะโรค เช่น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน

ด้าน วิเศษ กล่าวเสริมว่า ซีพีแรมยังคงเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นในการพัฒนา และส่งมอบความเก่งเหล่านั้นสู่ซัพพลายเชนไปจนถึงต้นน้ำ โดยที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างที่ซีพีแรมพัฒนาขึ้นมาจนเป็นองค์ความรู้ ทางซีพีแรมได้นำไปถ่ายทอดถึงเกษตรกร ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ กะเพรา ที่ซีพีแรมรู้ว่าจะทำอย่างไรให้กะเพรามีกลิ่นหอม และปลูกอย่างไรให้กะเพราได้ผลผลิตเยอะ สามารถปลูกได้งาม เติบโตได้ดี ซึ่งซีพีแรมก็นำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ถ่ายทอดให้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรเป็นต้นน้ำที่ดี

“เรามุ่งมั่นในพันธกิจของซีพีแรมที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานและการจัดการห่วงโซ่อุปทานด้วยกลไกที่ทำให้เกิด 3S คือ ทำให้เกิดอาหารปลอดภัย (safety) เกิดความมั่นคงทางอาหาร (security) และความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่ซีพีแรมมุ่งมั่นอยู่ตลอดเวลา” วิเศษ กล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ