TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewDEPA เสริมแกร่งท่องเที่ยวไทย ปูทางฟื้นเศรษฐกิจชาติ

DEPA เสริมแกร่งท่องเที่ยวไทย ปูทางฟื้นเศรษฐกิจชาติ

สำหรับผู้ที่ได้มีโอกาสติดตามสถานการณ์ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องจะเห็นได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสถานะที่เติบโตได้ดีสักเท่าไรนัก

ในมุมมองของ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะทรงตัว เริ่มตั้งแต่การส่งออกที่ไม่ค่อยดีเพราะความต้องการบริโภคในตลาดทั่วโลกลดลง ขณะที่ภาคการเกษตรก็ไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญหรือมีบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยสักเท่าไรนัก ส่วนที่ยังพอจะเป็นแหล่งรายได้ให้ไทยอย่างการท่องเที่ยวก็กลับมาเจออุปสรรคอย่าง โควิด-19 ทำให้ภาพรวมรายได้ของประเทศไทยหายไปมากพอสมควร แถมยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาในการดูแลประชาชนคนไทยด้วยกันที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจ ดีป้าจึงมุ่งไปที่การหาแนวทางเตรียมความพร้อม สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศ ว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ไทยก็พร้อมเปิดบ้านรับนักท่องเที่ยวได้อย่างผ่าเผยและสง่างามอีกครั้ง 

คอนเทนต์ ดันท่องเที่ยววิถีใหม่

ทั้งนี้ ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 จะเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะมีการทำการบ้าน มีการหาข้อมูลวางแผนเตรียมความพร้อมเดินทางมากขึ้น เหตุผลแรกเพื่อความปลอดภัยในเชิงสุขภาพ เหตุผลที่สองก็คือเพื่อประหยัดงบประมาณในกระเป๋า 

ดังนั้น ในช่วงระหว่างที่ยังเดินทางได้ไม่สะดวก สิ่งที่ดีป้าคิด คือ การมองหาความเป็นไปได้ในการสร้าง “สตอรี่” หรือ “คอนเทนต์” เพื่อให้อุตสาหกรรมหรือพื้นที่นั้น ๆ สามารถเข้าไปอยู่สายตาของนักท่องเที่ยว กระตุ้นให้เกิดดีมานต์หรือความต้องการ ทำให้นักท่องเที่ยววางแผนใช้จ่าย

“ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาจะมีการศึกษาข้อมูลมาก่อน เขาจะไม่เที่ยวแบบเดินไปกางแผนที่ไป เพราะมันจะมีการประหยัดมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ High-end” 

ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า สิ่งที่ดีป้าลงมือทำ คือ การมองหาสตาร์ตอัพที่จะเข้ามาช่วยทำคอนเทนต์ตรงนี้ และมองหาผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เข้าใจและมีแนวคิดในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับดีป้า แล้วนำทั้งสองฝ่ายมาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาแพลตฟอร์ม อาทิ เป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับอาหารไทย

“ดีป้าช่วยให้เกิดแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวที่จะมีการสร้างคอนเทนต์ทางด้านร้านอาหาร บอกเล่าเรื่องราวของ Authentic food คือ เป็นรสไทย อาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นสตรีทฟู้ด แหล่งท่องเที่ยว บวกกับข้อมูลที่มีอยู่แล้วตามแผนที่ต่าง ๆ อันไหนมิชลิน อันไหนไม่ใช่ แล้วสร้างสตอรีที่ทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าเวลามาท่องเที่ยว มันไม่ได้พักแค่โรงแรม แต่มาเสพสตอรี่ ทำให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายเงิน เป็นการสร้างดีมานต์และสร้างความอยากในการใช้จ่ายเงินหากการท่องเที่ยวฟื้นกลับขึ้นมา”

ขณะเดียวกัน เมื่อให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการหาผู้สร้างคอนเทนต์ ที่เรียกว่า Content Creator หรือ Story Teller ขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่มีอยู่มาบอกเล่าให้เป็นเรื่องราวที่ดึงดูดให้ผู้คนติดตาม ให้ความสนใจได้ กลายเป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่ไกด์นำเที่ยว แต่เป็นนักเล่าเรื่องเพื่อโชว์สถานที่ท่องเที่ยวหรือศิลปวัฒนธรรมไทย 

สร้าง Niche market ไม่แข่งกับรายใหญ่ 

เพราะตระหนักดีว่า “การท่องเที่ยว” คือ “Game of Money” ที่ต้องมีการแข่งขัน มีการลงทุนและมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น การให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยไปแข่งกับรายใหญ่ทุนหนาจึงเป็นเรื่องที่เกินความเป็นจริงเกินไป ดีป้าจึงคิดหาแนวทางที่บรรดารายเล็กจะก้าวต่อไปได้ นั่นคือ การใช้แพลตฟอร์มที่คิดขึ้นสร้าง Niche market ขึ้นมา ขณะที่รายใหญ่ที่มีตลาดแข็งแกร่งอยู่แล้วไปสร้างความร่วมมือเป็นพันธมิตรแทน 

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ การเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวว่าจะเลือกเที่ยวแบบไหนระหว่างพักโรงแรมหรูหรา สะดวกสบาย เสพความพรีเมี่ยม กับการพักแบบท้องถิ่นและเสพวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์หาที่ไหนไม่ได้ หรืออาจจะพักโรงแรมหรูแต่จัดทริปไปเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนก็ได้

“สิ่งเหล่านี้ ดีป้าพยายามประกาศหาใครที่จะทำงานด้วยกัน แล้วดีป้าจะช่วยสนับสนุน คนละไม้คนละมือ ถ้าคุณมีเงิน แต่คุณไม่มีเทคโนโลยี เราก็พยายามจะเอาตัวเทคโนโลยีที่มาจากสตาร์ตอัพไปปลั๊กกับตัวความคิดของนักลงทุนเหล่านั้นเพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มของคนไทย”

ทั้งนี้ ด้วยแนวคิดข้างต้น ดีป้าแง้มว่า อีกไม่เกิน 2 เดือน สังคมไทยก็น่าจะได้มีโอกาสเห็น แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวไทย ที่คนไทยลงทุนและทำ 100% ซึ่งจะช่วยให้มีการต่อยอดกับธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป 

สำหรับรายละเอียดของแพลตฟอร์มนี้ ดร.ณัฐพล บอกว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถมีทางเลือก ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว ศิลปะและอาหาร ที่หลายคนไม่เคยเห็น ไม่เคยไป ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

“จะเรียกว่า UNSEEN หรือเปล่าไม่รู้ แต่เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่บอกว่าต้องมาที่นี่ หากได้ไปเยือนในสถานที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นบอกว่า ถ้าไม่มี คุณจะพลาดในสิ่งที่คุณไม่ควรพลาดไป”

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการดีป้า ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มท่องเที่ยวนี้จะช่วยเติมเต็มและเสียบ (ปลั๊ก) กับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีอยู่ และคนที่เข้ามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นเป็นคนที่อยู่ในแวดวงดิจิทัลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางสนับสนุนธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือโรงแรม ที่ตนเองดำเนินการอยู่ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

“สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Diversify ก็คือ การกระจายธุรกิจในรูปแบบใหม่ในยุคโควิด ดีป้าช่วยแนะนำสนับสนุนส่งเสริมให้เหล่าบรรดารายเล็กรายน้อยเข้าไปปลั๊กแล้วเป็นการทำงานร่วมกัน”

สร้างกองทัพมด เสริมแกร่งความเชื่อมั่น 

นอกจากสร้างแพลตฟอร์มเตรียมความพร้อมรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มในทางบวกที่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้เพราะการมาถึงของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ดีป้ายังเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้การกลับมาใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของจีดีพี ให้สามารถกลับมาใหม่ได้อย่างเหมาะสม และกลับมาอย่างมั่นคงพร้อมความเชื่อมั่น 

“สำหรับการสร้างความมั่นใจด้านการท่องเที่ยว เราก็มีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเสริม เช่น การติดตามทำ Self-quarantine ในภูเก็ต ที่ให้ NB-IoT สตาร์ตอัพทำ Wrist band ติดตามตัวกักตัวบนเรือยอร์ชของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาโดยจับมือร่วมกับ AIS คนหนึ่งให้ IoT คนหนึ่งให้บริการสัญญาณ” 

นับเป็นการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในหลายมิติ เพราะแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวก็เกิด ความพร้อมในความเชื่อมั่นของการที่จะป้องกันไม่ใช้เชื้อเข้าสู่ประเทศ

“สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ดีป้าพยายามทำในหลาย ๆ องค์ประกอบเพื่อสนับสนุนให้การกลับมาใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของจีดีพีให้ฟื้นกลับมา” 

ทั้งนี้ ดีป้า ระบุว่า แนวทางการทำงานของดีป้า คือ การสร้างกองทัพมดเพื่อสร้างภาพให้ทั่วโลกเห็นความพร้อมและเกิดความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวของไทยในวันที่พรมแดนการเดินทางสามารถทำได้อย่างปกติอีกครั้ง เป็นการกระตุ้นที่ไม่ใช่การกระตุ้น เพราะขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติต่างอยู่ในสภาวะอึดอัดอัดอั้นที่อยากจะออกไปท่องเที่ยวอยู่แล้ว ถ้าไทยมีการแสดงคอนเทนต์ให้เห็นว่ามีของดีพร้อมรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยวและระบบสาธารณสุข ดีป้าเชื่อมั่นว่า นักท่องเที่ยวย่อมเลือกไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางลำดับต้น ๆ

นอกจากนี้ ดีป้า ก็ยังตั้งเป้าสร้างแพลตฟอร์มเล็ก ๆ ที่จะขยายบริการการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมรอบด้าน ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อมีแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลท่องเที่ยวแล้ว ให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขแล้ว ก็ต้องมีแพลตฟอร์มด้านระบบคมนาคมการเดินทางขนส่งแบบใหม่ เช่น การแชร์ริง (Sharing) ทำการเดินทางในท้องถิ่น (Local Transportation)

 “เราคงไม่บอกว่าขอเงินสัก 4 หมื่น แล้วไปกระตุ้น ๆ ให้เกิดอย่างเดียว เรามองว่า หลังบ้านคนไทยจะอยู่อย่างไร สมมติกระตุ้นปุ๊บคนบริโภคในประเทศหรือมีคนเข้ามา แล้วคนที่เป็นคนพัฒนา New Wave นี้ล่ะจะอยู่อย่างไร มันก็จะขายไม่ได้เพราะถูกแพลตฟอร์มใหญ่เข้ามายิงหมด นั่นคือ วิธีการทำงานของดีป้า เป็นสิ่งที่ดีป้าพยายามทำ”

ทั้งนี้ ดีป้า มองว่า การของบจากประเทศที่กำลังไม่มีเงินเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อีกทั้งเสียงของดีป้าก็ยังเล็กถึงขนาดพูดไปก็จะอาจจะไม่มีคนฟังก็ได้ แต่ถ้าดีป้ามีกองทัพมดที่ค่อย ๆ ทำแล้วตีฝ่าออกมา พิสูจน์ให้เห็นว่ามีแพลตฟอร์มเล็ก ๆ มีช่องทางที่จะเข้าถึง มีคนประสานเชื่อมผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านอาหาร เข้ากับแพลตฟอร์ม มีคนช่วยสร้างเรื่องราว เรียกได้ว่า เป็นการสร้างระบบเพื่อให้คนไทยสามารถดูแลกันเองได้ 

“มันคงต้องเป็นอย่างนั้นทั้งระบบในการเตรียมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเราให้เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับระบบสาธารณสุขที่เรามีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าแพลตฟอร์มของเรามีกำลังที่จะ Plug in เรื่อย ๆ กองทัพมดก็กลายเป็นพญาได้เหมือนกัน”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ