TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupนวัตกรรม ดันอุตสาหกรรมอาหารสู่ความยั่งยืน

นวัตกรรม ดันอุตสาหกรรมอาหารสู่ความยั่งยืน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันไทยจะเป็นประเทศที่ผลิตอาหารมาก แต่กลับไม่สามารถพัฒนาโปรตีนใหม่ ๆ หรือผลิตอาหารเพื่อสุขภาพคุณภาพสูง (High value-added) รวมถึงการบริหารจัดการอาหารให้ปลอดภัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงได้จัดโครงการ SPACE-F ขึ้นเพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศได้เห็นและเข้ามาลงทุนกับสตาร์ตอัพ Deep tech ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้าน 2 บริษัทอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร จึงได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการ SPACE-F เพื่อสรรหา ลงทุน และร่วมมือกับสตาร์ตอัพที่มีความสามารถ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในอนาคต

-เอ็นไอเอ เดินเกมปั้น “สตาร์ตอัพฟู้ดเทค รุ่น 2” ผ่านสเปซเอฟ รับ 9 เทรนด์อาหารโลก
-สวทช. – APSA ขยายระยะเวลาความร่วมมือด้านเมล็ดพันธุ์พืช เดินหน้าสู่ความมั่นคงทางอาหารโลก

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นวิวัฒนาการที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป แต่โควิด-19 เข้ามาช่วยให้เปลี่ยนเร็วขึ้น คนไม่ได้ต้องการแค่ของอร่อยหรือสะอาด แต่จะต้องดีต่อสุขภาพและดีกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันคนอยากรู้ว่าอาหารที่ทานมีที่มาจากไหน อาหารที่กินเข้าไปมีอะไรไม่ดีหรือไม่ คนจะเลือกเป็นห่วงสุขภาพตัวเอง ซึ่งในโลกตะวันตกนั้นเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิต เป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ยังขาดเทคโนโลยี ปัจจุบันนวัตกรรมที่เริ่มมีมากขึ้นจะเป็นเรื่อง AI หรือ Plant-based ส่วนนวัตกรรมที่ยังมีไม่มากจะเป็นด้านอาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ ค่อนไปทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้ต่างชาติเข้ามาช่วย ไทยยูเนี่ยน จึงต้องมองหาสตาร์ตอัพที่เป็น Deep tech เพราะนวัตกรรมที่เกิดในองค์กรนั้นไม่เพียงพอ และบริษัทต้องมองภาพไกล ถึงแม้ว่าการลงทุนจะค่อนข้างสูงและมีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสที่จะได้สตาร์ตอัพที่เข้ามาร่วมมือกับธุรกิจได้ ซึ่งการร่วมมือกับสตาร์ตอัพนั้นมีหลายมิติ ทั้งการลงทุน เป็นพาร์ทเนอร์ เข้าไปเป็นลูกค้า หรือช่วยกันผลิต

“ล่าสุดเราลงทุนไปกับ 4 สตาร์ตอัพทั้งทางด้านแมลง ด้าน AI ด้านการทำฟาร์มกุ้ง และอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน” ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าว

ด้าน ต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีกนวัตกรรมที่ยังไม่ค่อยมีสตาร์ตอัพทำ คือ การจัดการขยะอาหาร “Food Waste Management” เพราะปัญหาของการกำจัดของเสียจากขยะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก คนทิ้งขยะอาหารอย่างมหาศาลโดยที่ไม่รู้ตัว ตั้งแต่กระบวนการเก็บผลิตผลจนถึงการเป็นอาหารบนโต๊ะ ถ้ามีสตาร์ตอัพมาช่วยก็จะเป็นเรื่องที่ดี

“ในอนาคตเทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตั้งแต่ Food Waste จนถึง Healthy Food จะเกิดขึ้นอีกมาก อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง Personal Nutrition (โภชนาการส่วนบุคคล) ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่เมื่อคนรู้ว่ายีนของตัวเองมีสิทธิ์เป็นโรคอะไร ก็จะต้องกินอาหารที่เหมาะกับร่างกาย ซึ่งเรามองว่าในอนาคตอาจจะไปถึงจุดนั้นได้” ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวเสริม

อุตสาหกรรมอาหารต้องพึ่ง “นวัตกรรม”

ต้องใจ กล่าวว่า เมื่ออาหารยังคงอยู่กับคน เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมอาหารจะต้องเกิดการพัฒนาต่อเนื่อง สิ่งแรกที่สำคัญคือวัตถุดิบ ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศไทย เพราะผลผลิตของการเกษตรไทยยังต่ำมากถ้าเทียบกับยุโรปหรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าปลายทางจะมีเทคโนโลยีที่ดีมากแต่ถ้าต้นทางผลผลิตยังไม่มีก็น่าเป็นห่วง ซึ่งในฐานะที่ ไทยเบฟเวอเรจ เป็นบริษัทเครื่องดื่ม น้ำมีความสำคัญมาก บริษัทพยายามบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาดูคุณภาพและปริมาณของน้ำเพื่อที่จะบริหารจัดการได้ทันท่วงทีตั้งแต่ต้น เป็นบริหารความเสี่ยงและผลผลิตของวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง

อีกสิ่งที่สำคัญคือ การพัฒนาทางด้านเคมี (Chemistry) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่จะช่วยให้เข้าใจตัวอาหารมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ทั้งนี้ปัจจุบันสตาร์ตอัพยังขาดเงินทุน ขาดนักลงทุน เพราะภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยเริ่มได้ แต่ถ้าจะให้ยั่งยืน เงินทุนเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะทำให้เกิดไอเดียนวัตกรรม ที่สตาร์ตอัพสามารถสเกลได้จริงและไปต่อได้

ด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่า ประมาณปี 2035 ประชากรโลกจะมากถึง 9 พันล้านคน ถ้าจะพึ่งพาโปรตีนจากสัตว์ โดยหวังว่าจะมีฟาร์มไก่เพิ่มขึ้น หรือ ไปจับปลาในท้องทะเลมากขึ้นก็จะไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุที่ไทยยูเนี่ยนเริ่มลงทุนกับ Plant-based เพราะต้องการโปรตีนที่มาจากพืชที่มีคุณภาพดี ทำให้คนได้รับสารโปรตีนที่เพียงพอ

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพัฒนา คือ อุตสาหกรรมอาหารยังใช้คนงานเยอะมาก ไทยยูเนี่ยนใช้แรงงานประมาณ 40,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย เหมือนการอยู่ได้ด้วยประเทศเพื่อนบ้าน มันไม่ยั่งยืน บริษัทจะต้องเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหารจะต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อลดคนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ใช้คนที่มีสกิล ใช้ระบบ Automation เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

“ประเทศไทยมีรากฐานที่แข็งแรงในด้านวัตถุดิบ เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีตลาดขนาดใหญ่ 70 ล้านคน เราเป็นฐานการผลิตของอาหารในโลก แต่สิ่งที่เราขาดคือเทคโนโลยี ซึ่งจิ๊กซอว์เราใกล้จะครบแล้ว” ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวสรุป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ