TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness“กราน-มอนเต้” GI ไวน์เขาใหญ่ ยืนหนึ่งไวน์ไทยในวิถียั่งยืน

“กราน-มอนเต้” GI ไวน์เขาใหญ่ ยืนหนึ่งไวน์ไทยในวิถียั่งยืน

จากความหลงใหลในเสน่ห์แห่งไวน์ของครอบครัวโลหิตนาวี สู่หมุดหมายแรกของการเริ่มต้นปลูกองุ่น และประกอบธุรกิจไวน์บนพื้นที่เขาใหญ่เมื่อปี 2542 ตลอด 25 ปี บนเส้นทางสร้างชื่อไวน์ไทย “กราน-มอนเต้” (GRANMONTE) แบรนด์ท้องถิ่นจากแหล่งผลิตคุณภาพที่เฉพาะเจาะจงจนสามารถขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การันตีมาตรฐานระดับสากลจากการเป็นไวน์หนึ่งเดียวของงานประชุมเอเปค 2022 ในการรับรองผู้นำประเทศระดับโลก ตลอดจนเป็นต้นกำเนิดการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานสำหรับการปลูกองุ่นเขตร้อน ต่อยอดไปอีกหลากหลายธุรกิจ เพื่อสร้างเสริมระบบนิเวศที่ยั่งยืนเติบโตร่วมไปกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

จากแพสชันส่วนตัว สู่การพัฒนาธุรกิจไวน์ไทย

“ความที่ครอบครัวเราชื่นชอบไวน์ พอมาเจอที่ ๆ เขาใหญ่ จึงตัดสินใจเริ่มต้นไร่องุ่นไวน์ ทำธุรกิจไวน์กันตั้งแต่ปี 2542  ส่วนชื่อกราน-มอนเต้ เป็นภาษาอิตาเลียน คุณมาลินี ภริยาท่านอาจารย์ศิลป์ พีระศรี รุ่นพี่ที่คุณพ่อคุณแม่นับถือเป็นผู้ตั้งให้ ซึ่งมีความหมายตรงตัวถึงคำว่า เขาใหญ่ หรือ Great Mountain ในภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้ากับเป้าหมายธุรกิจที่เราอยากเป็น คือ สร้างชื่อไวน์ไทยจากเขาใหญ่ให้ดังไกลสู่ระดับอินเตอร์”

สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด ย้อนความถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจเมื่อ 25 ปีที่แล้วว่า ตอนนั้นธุรกิจไวน์ในตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยกลับไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ผู้เล่นในตลาดไทยแทบไม่มีหรือมีน้อยมาก และเป็นการทำไวน์โดยไม่ได้มีฐานความรู้มากนัก จึงเป็นช่องว่างทางการตลาดที่มองเห็นโอกาสเติบโต ประกอบกับความมุ่งมั่นที่จะผลิตไวน์ไทยดี ๆ ให้คนไทยได้ดื่ม ทำให้กราน-มอนเต้ทุ่มเทในการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐาน และการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สามารถขยายพื้นที่การเพาะปลูกองุ่นบนที่ดินของตัวเองได้ราว 100 ไร่ รวมถึงเพิ่มแปลงเพาะปลูกต้นองุ่นออกไปอีก 200 ไร่ ในรูปแบบของการบริหารจัดการร่วมกับเจ้าของที่ดิน ภายหลังจากได้รับผลผลิตองุ่น จะให้ค่าตอบแทนในรูปแบบที่ตกลงกัน อย่างการจ่ายเป็นค่าเช่าที่ดิน หรือแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เช่น การนำผลผลิตมาแลกไวน์กลับไป

“ที่ผ่านมามันเป็น Happy Problem ตรงที่ไวน์ขายหมดเร็วเกิน เราจึงขยายแปลงปลูกและเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบอุปสงค์ตลาด อย่างภาพรวม ณ ปัจจุบัน เราสามารถผลิตได้ราว 120,000 ขวดต่อปี โดยผลผลิตส่วนใหญ่ยังมาจากไร่หลักของเรา ส่วนอีก 200 ไร่ เราทยอยทำเป็นระยะไป ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นมาได้ 6-7 ปี หากปลูกได้เต็มศักยภาพทั้ง 300 ไร่ คาดว่า จะผลิตไวน์ได้ 300,000 ขวด ใน 3-4 ปีข้างหน้า แต่ทุกอย่างยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องดินฟ้าอากาศที่อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตแตกต่างกันไป ความพร้อมของทีมงาน ความพร้อมของสภาพเศรษฐกิจ และธุรกิจของเราด้วย”

GranMonte Vineyard and Winery

แม้แก่นของการดำเนินธุรกิจ คือ การทำไร่องุ่นและทำไวน์องุ่นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก แต่กราน-มอนเต้ยังแตกหน่อธุรกิจออกไปเป็นธุรกิจการท่องเที่ยว อาทิ การทัวร์ไร่องุ่นและโรงบ่ม เพื่อให้คนที่แม้ไม่เคยดื่มไวน์มาก่อนได้เข้าใจขั้นตอนการปลูกองุ่นไปจนถึงกระบวนการผลิตไวน์ ได้เรียนรู้วิธีทดสอบรสชาติไวน์แบบมืออาชีพ และเข้าใจศิลปะการจับคู่อาหารให้เหมาะกับไวน์แต่ละชนิด การประกอบธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ ร้านค้าจำหน่ายและชิมไวน์ซึ่งตั้งบริเวณหน้าไร่ ธุรกิจบริการเฉพาะที่พักและอาหารเช้าสไตล์บีแอนด์บี (Bed and Breakfast)

สุวิสุทธิ์ กล่าวว่า หน้าไร่ถือว่าเป็นจุดขายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดบีทูซี ทั้งจากนักท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำงานในไทย หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้วันลาพักผ่อนในไทย ขณะเดียวกัน กำลังขยายช่องทางบีทูบีมากขึ้น โดยการตั้งทีมขายและจัดจำหน่ายเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าโรงแรม ร้านอาหารในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ รวมถึงความร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายในไทย หรือ Third Party มุ่งเจาะตลาดที่เข้าถึงเองได้ยาก เพื่อให้ไวน์กราน-มอนเต้ครอบคลุมตลาดทั่วประเทศได้มากขึ้น

“ธุรกิจไวน์เป็นธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น กลุ่มที่ดื่มไวน์ทั่ว ๆ ไป กลุ่มที่ชื่นชอบไวน์เป็นพิเศษ และเราเริ่มเห็นแนวโน้มกลุ่มลูกค้าคนไทยที่เติบโตขึ้นทุกปี กลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวในไทยที่สนใจอยากเที่ยวไทย รับประทานอาหารไทย และพร้อมเปิดใจดื่มไวน์ไทย ก็จะเป็นกลุ่มที่สำคัญด้านการตลาดเช่นกัน หากเปรียบเทียบช่วงก่อนโควิด สัดส่วนยอดขายโดยรวมจะอยู่ที่คนไทย 60% ต่างชาติ 40% แม้สัดส่วนตัวเลขหลังโควิดยังไม่ชัดเจนเท่าในอดีต แต่ก็เริ่มเห็นทิศทางที่ปรับตัวได้ใกล้เคียงของเดิมมากขึ้น”

สร้างศาสตร์การผลิตไวน์เขตร้อนแถวหน้าของโลก

สุวิสุทธิ์ เล่าว่า แม่ กับพี่สาว (วิสุตา โลหิตนาวี) ใฝ่ฝันอยากเป็นนักพฤกษศาสตร์ พอมาทำธุรกิจนี้เลยผันตัวไปเป็นนักพฤกษศาสตร์ที่เจาะจงมาก โดยพี่สาวเลือกไปศึกษาต่อปริญญาตรีด้านการปลูกองุ่นและทำไวน์ที่ออสเตรเลีย จนมีดีกรีเป็นไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของประเทศไทย และ “สกุณาโรเซ่” คือ ไวน์ขวดแรกที่เป็นผลผลิตจากไร่กราน-มอนเต้ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม คุณค่าของธุรกิจข้อหนึ่งที่กราน-มอนเต้ให้ความสำคัญมาก ๆ คือ “การเรียนรู้” เพราะเป็นการยากที่จะผลิตไวน์ให้มีเสน่ห์หรือรสชาติเหมือนกับที่ออสเตรเลียหรือยุโรป จึงต้องประยุกต์องค์ความรู้ ปรับเปลี่ยนแนวทาง และทดลองอะไรใหม่อยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญประการแรก คือ การพัฒนา “องค์ความรู้พื้นฐาน หรือ Foundational Knowledge” เพื่อให้ได้ผลผลิต รสชาติ และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากออสเตรเลีย ยุโรป หรือที่ไหน ๆ ในโลก โดยเฉพาะการสร้างฐานความรู้ขึ้นใหม่ นั่นคือ “การพัฒนาศาสตร์การปลูกองุ่นในเขตร้อน (Tropical Viticulture)” และ “การทำไวน์จากเขตร้อน (Tropical Wine)” โดยได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้พัฒนาฐานความรู้ด้านไวน์เขตร้อนแถวหน้าของโลก ทั้งยังร่วมมือกับหลาย ๆ ประเทศ เช่น บราซิล เม็กซิโก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงเทคนิคเกี่ยวกับไวน์เขตร้อนที่เกิดขึ้นใหม่นี้

“โลกของไวน์แต่เดิมเป็นการแบ่งตามประวัติศาสตร์การเมืองยุคล่าอาณานิคม Old World หมายถึง ไวน์จากโซนยุโรป และ New World คือ ไวน์จากทางออสเตรเลียหรือแถบอเมริกาใต้ แต่การเกิดขึ้นของไวน์ทางเขตร้อนเป็นการมองตามหลักภูมิศาสตร์ เรียกว่า ไวน์บนเส้นรุ้งใหม่ (New Latitude Wines) หมายถึง การปลูกองุ่นในละติจูดที่คนสมัยก่อนคิดว่า ไม่สามารถปลูกองุ่นได้ โดยส่วนใหญ่ก็คือ ประเทศในเขตร้อน หรือประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แล้วประเทศในแนวเส้นละติจูดใหม่ก็มีอยู่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย และเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำได้”

GranMonte Vineyard and Winery

หลักใหญ่ใจความ คือ การควบคุมปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการออกผลผลิตขององุ่น เช่น อุณหภูมิในตอนกลางวันและกลางคืนต้องต่างกัน อากาศต้องแห้งในช่วงที่องุ่นออกลูกเป็นพวงอยู่บนต้น เป็นต้น เทคนิคที่คิดค้นได้ “การตัดแต่งกิ่งแบบตัดสั้นและตัดยาว” การตัดสั้นเป็นการบังคับไม่ให้ต้นองุ่นออกผลผลิตใด ๆ นอกจากการแตกกิ่งก้านใบเท่านั้น ซึ่งจะเริ่มหลังการเก็บองุ่นจบรอบในช่วงกลางปีราวเดือนพฤษภาคมเพื่อพักต้น พอถึงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนจึงเริ่มตัดแต่งกิ่งยาวเพื่อให้ออกดอกและพัฒนาเป็นผลองุ่น ซึ่งตรงกับช่วงหน้าหนาวของเขาใหญ่ อากาศแห้ง อุณหภูมิต่ำ และไม่มีฝนรบกวน เมื่อผลเริ่มสุกในช่วงเดือนมกราคม-ต้นกุมภาพันธ์ จะเป็นฤดูเก็บผลผลิตซึ่งกินเวลายาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตที่ออกในปีนั้น แต่โดยเฉลี่ยจะเสร็จสิ้นประมาณกลางมีนาคม เป็นอันจบวงจรการเพาะปลูกและเก็บผลผลิตองุ่นใน 1 ปี

“เนื่องจากการเพาะปลูกองุ่น การตัดและตกแต่งกิ่งทำในพื้นที่กลางแจ้ง ไม่ใช่โรงเรือน ฉะนั้น องค์ความรู้พื้นฐานที่สร้างขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงเวลาที่ต้องการ จึงต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำมาก ๆ ชนิดที่ตอนตัดแต่งกิ่งเดือนตุลาคม เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า องุ่นจะสุกเมื่อไหร่ ส่วนเมื่อเข้าสู่กระบวนการทำไวน์ในโรงบ่ม อันนั้นเป็นเรื่องศิลป์การทำไวน์ให้ได้รสชาติที่ต้องการ”

แม้ในความเป็นจริง ประเทศในโซนร้อนสามารถออกผลผลิตองุ่นได้ถึงปีละ 2 ครั้ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่ได้หนาวหรือเย็นจัดเกินไปเช่นในยุโรป จนเป็นเหตุให้องุ่นจำศีล แต่หากทำให้องุ่นออกผลผลิต 2 รอบ รอบที่ 2 จะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ส่งผลต่อคุณภาพขององุ่นที่เมื่อน้ำมาก รสชาติจะเจือจาง และเกิดโรคภัยที่มากับความชื้น พวงองุ่นมีคุณภาพไม่ดีเพราะตัวต้นต้องทำงานหนัก อีกทั้งเมื่อไม่รู้ว่า ต้นองุ่นที่ปลูกในไทยจะมีอายุยืนยาวกี่ร้อยปี ขณะที่องุ่นที่ปลูกในยุโรปบางสายพันธุ์อยู่ได้เป็นร้อยปีพันปี ดังนั้น การปลูกและเก็บผลปีละ 1 ครั้ง จึงเป็นวงจรที่เหมาะสมที่สุด เพื่อทะนุถนอมลำต้นให้ออกผลไปได้นาน ๆ

พัฒนาบุคลากร ต่อยอดด้วยเทคโนโลยี ชูมิติความยั่งยืน

ประการที่สองต่อมา คือ  “การพัฒนาบุคลากร” ทั้งการสร้างทีมไร่ที่มีอยู่ราว 40 คน ให้เป็นเกษตรกรที่มีความชำนาญด้านการปลูกองุ่นโดยเฉพาะ การสร้างทีมไวน์ในโรงบ่มที่มีอยู่ราว 8 คน ให้พร้อมในการผลิตไวน์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการพัฒนาประสบการณ์ควบคู่กันไป รวมถึงการรับมือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  เช่น ภัยธรรมชาติที่เราควบคุมไม่ได้  

ประการที่สาม การพัฒนา “เทคโนโลยี” สำหรับเทคโนโลยีหลักที่ใช้ในงานไร่ คือ ระบบ “Micro Climate Monitoring System” เป็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการติดตั้งสถานีฐานเพื่อวัดสภาพอากาศทั่วทั้งไร่เฉพาะในพื้นที่ของกราน-มอนเต้เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศของประเทศไทย โดยระบบจะเชื่อมต่อกับดาวเทียมในการตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศ ฝน การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ในการวัดกระแสลม ความชื้นของดิน ระบบเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งใกล้ต้นองุ่นไว้คอยตรวจเช็คสุขภาพว่า ถึงเวลาต้องให้น้ำตอนนี้ หรือรอจนถึงช่วงเวลาที่ฝนตกได้ การรับทราบสภาพโดยรวมของไร่ ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น น้ำที่มีอยู่จำกัดจึงไม่ควรรดน้ำพร่ำเพรื่อ ขณะที่ในโรงบ่มจะเน้นเทคโนโลยีในการแปรรูปผลผลิต การคัดเลือกถังบ่มให้ได้ไวน์ที่มีรสชาติต่าง ๆ กันไป

“ถึงสภาพภูมิอากาศจะมีความแปรปรวนมากขึ้น แต่โดยเทคโนโลยีที่มีถือว่า เอาอยู่ ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติม ส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของการซ่อมบำรุงระบบที่มีให้ใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป คือ ทักษะในการเข้าใจข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์ และการบริหารจัดการด้านอื่น ๆ ให้มากขึ้น

สุดท้าย คือ “การสร้างองค์กรในวิถียั่งยืน” โดยเฉพาะประเด็น “การจัดการขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) เปลี่ยนของเหลือใช้ให้มีมูลค่า ซึ่งมีการปฏิบัติต่อเนื่องมานานแล้ว อาทิ การทำปุ๋ยอินทรีย์หมักจากของเหลือทิ้งในโรงบ่มไม่ว่าจะเป็น กิ่ง ก้าน ใบ การลดการใช้พลาสติก ลดการใช้สิ่งของแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งในงานไร่และโรงบ่ม การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้แมลงต่อสู้กับแมลงตามหลักชีววิถี การพัฒนาสินค้าแปรรูป เช่น การทำสุราขาวจากเปลือกองุ่น น้ำมันสกัดจากเมล็ดองุ่น การนำถังบ่มที่หมดอายุไปหมักเบียร์ หรือทำเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม การดูแลสังคม และชุมชน

นำเทรนด์ตลาดไวน์เขตร้อน บ่งบอกอัตลักษณ์ไทย

ถึงวันนี้ กราน-มอนเต้ไม่ต่างจากโรงเรียน ทุก ๆ ปี จะมีชาวต่างชาติ อาทิ กลุ่มประเทศทางยุโรป โปรตุเกส ฝรั่งเศส แอฟริกาใต้ หรือบราซิล มาเรียนรู้เรื่องศาสตร์การปลูกองุ่นและทำไวน์ในเขตร้อน เพื่อรับมือกับโลกร้อน ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และด้วยสภาพภูมิอากาศที่ร้อนมากขึ้นนี่เอง ทำให้เทรนด์การทำไวน์เขตร้อนมีโอกาสเติบโตขึ้นมาได้ แม้ยังเป็นตลาดเกิดใหม่แบบ Nitch Market แต่เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีคนสนใจมากขึ้น อีกทั้งประเทศที่มองว่าตัวเองเป็นเมืองหนาว สามารถปลูกองุ่นและทำไวน์ได้ดี แต่ในความเป็นจริงคือโลกจะไม่หนาวแล้ว เมื่อประเทศในเขตร้อนสามารถปลูกองุ่นและทำไวน์ได้ จึงอยากมาเรียนรู้ว่า ธุรกิจไวน์จะรับมือกับความร้อนของโลกใบนี้ได้อย่างไร

“ไวน์เขตร้อนของไทยเป็นแบบ Fruit Forward ที่เน้นผลไม้นำหน้า เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลูกผลไม้ได้ดีที่สุดในโลก เนื่องจากแดดดี ฝนดี มีความอุดมสมบูรณ์ และถึงแม้จะปลูกด้วยสายพันธุ์เดียวกันแต่เมื่ออยู่ในภูมิภาคต่างกัน เช่น ในไทยกับฝรั่งเศสก็มีเสน่ห์และรสชาติต่างกัน ทำให้กราน-มอนเต้มียอดสั่งซื้อไวน์จากลูกค้าประเทศต้นตำรับอย่างฝรั่งเศสที่ชื่นชอบเสน่ห์และรสชาติเฉพาะจากไทย”

 อย่างไรก็ตาม กราน-มอนเต้เลือกส่งออกไวน์ไปต่างประเทศไม่เกิน 20% ของผลผลิตทั้งหมด ด้วยความตั้งใจที่ต้องการให้เป็นไวน์ที่บริโภคอยู่ในตลาดไทย มีความพิเศษ และเป็นเอกลักษณ์อย่างไทย อีกทั้งการชูความเป็นแบรนด์ท้องถิ่นในฐานะผู้เล่นหนึ่งในตลาดไวน์ ยังช่วยสร้างความหลากหลาย และเปิดกว้างมากกว่าการบริโภคแค่ไวน์จากต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย

GranMonte-Vineyard

สุวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เคยมีงานวิจัยชี้ว่า ปริมาณการบริโภคไวน์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยมีตัวเลขการเติบโตล่าสุดระหว่างปีอยู่ที่ 8% สะท้อนให้เห็นว่า ทัศนคติของคนไทยในการบริโภคไวน์เปิดกว้างมากขึ้น หรืออย่างน้อยอุปสงค์เรื่องไวน์ไทยในตลาดเพิ่มขึ้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบรายได้ที่ผ่านมาของกราน-มอนเต้อยู่ที่ราว 200 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขายไวน์ประมาณ 50% และจากธุรกิจบริการอื่น ๆ 50% ยิ่งในช่วงโควิดและหลังโควิดที่ยอดจำหน่ายไวน์ก้าวกระโดดมาก ๆ และเป็นการเติบโตมากกว่าเปอร์เซนต์ที่คาดการณ์ แสดงว่า กราน-มอนเต้มีพื้นที่ในตลาดไวน์มากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนตลาดเชิงรุกต่อไป ทั้งตลาดบีทูซีจากการขายไวน์หน้าไร่ และตลาดบีทูบีในการผลักดันยอดขายจำนวนมาก ๆ รวมถึงพยายามกระจายสมดุลของยอดขายจากสองตลาดให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเติบโตโดยรวมไว้อย่างต่ำ 20%

ล่าสุด ได้ร่วมมือกับจิม ทอมป์สัน นำเสนอไวน์กราน-มอนเต้ในบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างสวยงามด้วยผ้าไหมไทย เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) เทรนด์เรื่อง Fine Dining ที่มาแรงมาก ๆ และจิม ทอมป์สันได้ต่อยอดธุรกิจเข้าสู่วงการนี้เช่นกัน

“ตัวเราเองก็อยากตามรอยจิม ทอมป์สัน เรามองเขาเป็นเหมือน National Icon กลายเป็นของคู่ชาติเมื่อพูดถึงวงการธุรกิจผ้าไหมไทย เราก็อยากให้กราน-มอตเต้เป็นไวน์ที่อยู่คู่ประเทศไทย และการที่เขาเลือกเราเพราะเห็นแล้วว่า มีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งในวงการไวน์ไทยที่เป็นของไทยแท้ ๆ เรามีชื่อเสียงที่สุดแล้ว”

นอกจากนี้ กราน-มอนเต้ยังเปิดตลาดเชิงรุกในกลุ่ม Private Label เพื่อรับผลิตไวน์ที่เป็นตราสินค้าเฉพาะของธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งเน้นการนำเสนอและการออกแบบที่งดงาม อย่างเครือโรงแรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่น อนันตราในเครือไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป โรงแรมซิกเซ้นส์ ยาวน้อย เป็นต้น

“เราเป็นพวกบ้าพลัง ชอบการทดลอง” คุณสุวิสุทธิ์บอกอย่างนั้น เพราะเมื่อไทยไม่มีพันธุ์องุ่นไวน์พื้นเมือง จึงต้องพึ่ง 2 สายพันธุ์หลัก ๆ  คือ  ซีราส (Shiraz) ในการทำไวน์แดง และ โซวิญง บลองก์  (Sauvignon Blanc) ในการทำไวน์ขาว เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศของไทยได้ดีที่สุด ให้ผลผลิตเยอะ และทนทานต่อโรคภัย แต่กราน-มอนเต้ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ยังคงทำแปลงทดลององุ่นอีกกว่า 40 สายพันธุ์ และประสบความสำเร็จทั้งการปลูกองุ่นสายพันธุ์มีค่าและปลูกยาก เช่น คาร์เบอร์เน่ต์ ซาวิญง (Cabernet Sauvignon) หรือองุ่นสายพันธุ์หายาก เช่น ดูรีฟ (Durif) อีกทั้ง “ประเทศไทยเป็นเหมือนดินแดนใหม่ที่ไม่มีข้อจำกัดว่า อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ จึงสามารถทดลองไปได้เรื่อย ๆ” จนปัจจุบัน กราน-มอนเต้สามารถขยายการปลูกองุ่นสายพันธุ์หลักได้ถึง 11 สายพันธุ์ สามารถผลิตไวน์อย่างเป็นทางการได้ถึง 28 เลเบล

“เราวางตัวเองในตลาดว่า เป็นไวน์ทำในไทย จากองุ่นที่ปลูกในไทย หากแยกตามประเภทของไวน์แบบนี้ คู่แข่งในตลาดแทบไม่มี ส่วนเรื่องราคาเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงแต่ก็ไม่ใช่สมรภูมิหลักในการแข่งขันของเรา เพราะราคาเริ่มต้นที่แข่งขันกันในระดับไวน์ที่ผลิตจากองุ่นจริง  ๆ และเสียภาษีถูกต้อง คือ 700-800 บาท แต่ที่เราผลิตขายมากสุด คือ ไวน์พรีเมียมระดับกลางที่ราคา 900-1000 บาท ส่วนระดับซูเปอร์พรีเมียมที่ราคา 2,000-4,000 บาท เป็นการผลิตเพื่อเสริมให้มีผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของตลาดบางกลุ่มมากขึ้น”

ความสำเร็จที่ตั้งมั่นบนความสุจริต

“หัวใจสำคัญของธุรกิจกราน-มอนเต้ คือ ความสุจริต (Integrity)”  เป็นสิ่งที่พ่อ (วิสุทธิ์ โลหิตนาวี) และแม่ (สกุณา โลหิตนาวี) ได้ปลูกฝังให้มีความซื่อตรงต่อคำพูด การกระทำ และการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสปราศจากข้อกังขาทั้งกับตนเอง ผู้บริโภค สังคม และประเทศ

เพราะกรานต์-มอนเต้ประกาศตัวชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำธุรกิจ โดยเลือกปลูกองุ่นและทำไวน์ฝีมือคนไทยในไร่ที่ดูแลเอง บนพื้นที่เขาใหญ่เท่านั้น จนกระทั่งไวน์ได้ขึ้นทะเบียน GI เพื่อรับประกันแหล่งที่มา ชื่อเสียง และมาตรฐานคุณภาพการผลิต รวมถึงกำลังเดินหน้าขึ้นทะเบียนมาตรฐานเพิ่มเติมกับทางสหภาพยุโรป การทำธุรกิจที่มีที่มาที่ไปของผลผลิตและผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน การเสียภาษีที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายในฐานะพลเมืองที่ดี ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลเลือกไวน์กราน-มอนเต้สำหรับรับรองผู้นำประเทศในงานประชุมเอเปค 2022  

การได้รับรางวัลเกียรติยศ “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 19 จากธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเอสเอ็มทีไทยที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

ถอดประสบการณ์ธุรกิจยั่งยืนจาก 5 เอสเอ็มอีไทย เจ้าของรางวัล BAI PO BUSINESS AWARDS BY SASIN ครั้งที่ 19

สุวิสุทธิ์ กล่าวปิดท้ายถึงธุรกิจที่ทำอยู่ในทุกวันนี้สำหรับครอบครัวโลหิตนาวีถือว่า มีความสุขมาก และยังคงมีความตั้งใจในการพัฒนาไวน์ที่มีคุณภาพและหลากหลายยิ่งขึ้น การพัฒนาไวน์เลเบล (Label) รวมถึงไวน์เบลนด์ (Blend) ใหม่ ๆ ออกมามากขึ้น อยากให้เขาใหญ่เป็นแหล่งผลิตไวน์ที่ได้มาตรฐานโลก และไวน์จากประเทศไทยจะต้องเป็นหนึ่งบนชั้นวางสินค้าไวน์ชั้นนำที่คนไทยและทั่วโลกนิยมบริโภคกัน

“ฉลากไวน์ทุกขวดของกราน-มอนเต้ จะพิมพ์คำว่า Wine of Thailand เพื่อแสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่า เราเป็นใคร เรากำลังมุ่งมั่นพัฒนาไวน์ที่บ่งบอกความเป็นไทย ความเป็นเขาใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์ และด้วยชื่อเสียงที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องการให้ไทยเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในแผนที่เดินทางของนักท่องเที่ยวด้านไวน์จากทั่วโลก และเมื่อไหร่ที่เดินทางมาถึงเมืองไทย ต้องมาที่กราน-มอนเต้”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ไม่มีคำว่า ‘สาย’ ต่อการเริ่มต้น เพียง ‘เริ่มก่อน กำไรกว่า’ ทั้งการดูแลสุขภาพหรือการออม แม้ย่างใกล้วัยเกษียณ

ชายสี่ ปี 66 กำไรโตกว่า 100% ลุยพลิกโฉมแบรนด์ครั้งใหญ่ ตั้งเป้าสู่ สตรีทฟู้ดมหาชน

ทรู ชวนเที่ยวใต้แล “เกาะลับ สัญญาณล้ำ” เมืองสุราษฎร์ฯ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ