TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessถอดประสบการณ์ธุรกิจยั่งยืนจาก 5 เอสเอ็มอีไทย เจ้าของรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 19

ถอดประสบการณ์ธุรกิจยั่งยืนจาก 5 เอสเอ็มอีไทย เจ้าของรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 19

โลกในยุคผันผวนจนยากเกินคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ แม้แต่องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ยังต้องเปลี่ยนผ่านตัวเองเพื่อรับมือวิกฤติความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับ 5 ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เจ้าของรางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 19 ที่ The Story Thailand ชวนทำความรู้จัก เป็นผู้ที่สามารถก้าวข้ามความพลิกผัน (Disruption) ในทุกสถานการณ์ ด้วยแนวคิดธุรกิจที่ “มุ่งสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น และเดินหน้าสู่เส้นทางสร้างองค์กรแห่งความยั่งยืน”

GI ไวน์เขาใหญ่ สู่นิเวศเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ “กราน-มอนเต้”

บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด

“ไวน์ทุกหยดของกราน-มอนเต้มาจากองุ่นที่ปลูกเอง ในไร่ที่เราดูแลเอง และอยู่ในเขาใหญ่เท่านั้น ไวน์ของเราจึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อรับประกันแหล่งที่มา รับประกันมาตรฐานคุณภาพการผลิต” สุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ทายาทรุ่นสองของบริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด กล่าว

25 ปีที่ตั้งต้นจากวิสัยทัศน์ของ วิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้ก่อตั้ง ซึ่งมองเห็นโอกาสด้านธุรกิจไวน์ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในไทย สู่การพัฒนาไวน์ขวดแรก “สกุณาโรเซ่” โดย วิสุตา โลหิตนาวี ทายาทคนโตและไวน์เมกเกอร์หญิงคนแรกของไทย ด้วยปณิธาน “การผลิตไวน์ไทยดี ๆ ให้คนไทยได้ดื่ม” ขยายสู่อาณาจักร “กราน-มอนเต้” ที่โดดเด่นด้านการผลิตไวน์ไทยคุณภาพ ซึ่งได้เฉิดฉายในงานประชุมเอเปค 2022 สะท้อนถึงคุณภาพไวน์ไทยแก่ผู้นำระดับนานาประเทศ ทั้งยังแตกหน่อสู่การพัฒนาธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การพัฒนาธุรกิจบริการที่พักและท่องเที่ยวเพื่อสร้างงานให้คนในพื้นที่ การก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทยที่มุ่งพัฒนามาตรฐานคุณภาพของไวน์ไทย ฯลฯ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจสู่ความยั่งยืนที่เติบโตร่วมไปกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

กราน-มอนเต้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการพัฒนาระบบการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตองุ่นที่มีคุณภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีไร่องุ่นอัจฉริยะ (Smart Vineyard) ระบบตรวจติดตามสภาพภูมิอากาศ (Micro-climate Monitoring System) ในการวางแผนและบริหารความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้นในดิน และปริมาณน้ำฝน  ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการระบบการทำงานในไร่ได้ถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพการหมักและบ่มผลผลิตโดยโรงบ่ม (Winery) ของคนไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่อเค้าผันผวนรุนแรงมากขึ้นทุกปี เป็นสิ่งที่กราน-มอนเต้ตระหนัก และเลือกวางเข็มทิศธุรกิจไปสู่เส้นทาง “เกษตรยั่งยืน” ในทุกกระบวนการทำธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การพัฒนาองค์ความรู้ในการปลูกองุ่นเขตร้อนที่ต่างประเทศให้การยอมรับ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียผลผลิตไม่ว่าสภาพภูมิอากาศจะเป็นแบบใด แนวคิดการใช้ “สิ่งทดแทนตามธรรมชาติ (Natura; Substitute)” ในไร่ให้มากที่สุด อย่างการกำจัดศัตรูพืขด้วยชีววิถี โดยใช้แมลงสู้กับแมลง แนวทาง “ของเสียเป็นศูนย์” เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์หมักจากของเหลือทิ้งในโรงบ่มและกลั่นไวน์ไม่ว่าจะเป็น กิ่ง ก้าน ใบ หรือ การพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูปต่าง ๆ เช่น สุราขาวจากเปลือกองุ่น น้ำมันสกัดจากเมล็ดองุ่น กระทั่งถังบ่มที่หมดอายุใช้งานสามารถนำไปหมักเบียร์ ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นความพยายามเปลี่ยนของเหลือให้มีมูลค่า ไม่ให้ออกมาเป็นขยะได้เลย ตลอดจนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เช่น ปัญหาช้างป่าที่ลงมากินผลผลิต เพื่อให้ธุรกิจกราน-มอนเต้อยู่คู่กับสิ่งแวดล้อมได้ดีและยั่งยืน

 “หัวใจสำคัญที่สุดในการสร้างความยั่งยืนที่ได้รับถ่ายทอดมากจากคุณพ่อคุณแม่ คือ การมี Integrity ความซื่อสัตย์และยึดมั่นต่อสิ่งที่เราเป็นและเราทำ เราเลือกปลูกองุ่นและทำไวน์ฝีมือคนไทยบนพื้นที่เขาใหญ่ โดยไม่เคยหนีไปจากที่ตรงนี้เลย ดังนั้น ไวน์ทุกขวดของกราน-มอนเต้ จะเขียนว่า Wine of Thailand เพื่อบอกว่า เราเป็นใครและกำลังนำเสนอไวน์ที่บ่งบอกความเป็นไทย ความเป็นเขาใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างทั้งความเชื่อมั่นและชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยหายไป มีแต่เพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ”

ปัจจุบัน  ธุรกิจของกราน-มอนเต้เน้นการจำหน่ายไวน์ในประเทศ ผ่านการขายหน้าไร่ให้กับลูกค้าที่มาท่องเที่ยวแบบบีทูซี การเจาะตลาดบีทูบีผ่านธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจจัดเลี้ยงทั่วประเทศ รวมประมาณ 80% และส่งออกขายต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ฮ่องกง ฝรั่งเศส สวีเดน เป็นต้น ราว 20% โดยตั้งเป้าในตลอด 3-5 ปีข้างหน้า จะมีการพัฒนาสินค้าไวน์ หรือแตกไลน์สินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้กราน-มอนเต้เป็นซัพพลายเออร์ที่ดีและสามารถส่งต่อผลผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาตลาดธุรกิจไวน์ไทยให้เติบโตต่อไป

“โกไฟว์” ดิจิทัลรักษ์โลก

จากแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจครอบครัว จากระบบการทำงานด้วยเอกสารมาเป็นระบบดิจิทัลได้สำเร็จ ต่อยอดสู่การก่อตั้ง บริษัท โกไฟว์ จำกัด โดย จุติพันธุ์ มงคลสุธี กรรรมการผู้จัดการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในการก้าวข้ามเพนพอยต์จากวิกฤติการถูกดิสรัปชันด้วยเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“บริษัทโกไฟว์เองก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจสายเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว มีคนเข้ามาและมีทั้งคนอยากทำตาม เราจึงต้องกล้าเดินออกมาจากพื้นที่ปลอดภัย และไม่หลงตัวว่า ผลิตภัณพ์ของเราดีแล้ว มิเช่นนั้นอาจถูกคู่แข่งแซงและล้มหายตายจากไปในที่สุด”

โกไฟว์จึงมุ่งสร้างธุรกิจภายใต้นิยามการเป็น Technology Eco-System Provider ผู้ให้บริการระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่มุ่งพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อส่งเสริมองค์กรธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่องค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานพันคนหมื่นคนไปจนถึงองค์กรขนาดเล็กและเอสเอ็มอี ให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนการเชื่อมการทำงานของซอฟต์แวร์โกไฟว์กับระบบงานอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนา “โปรแกรมบริหารงานบุคคลและเงินเดือน โปรแกรม “Venio CRM” สำหรับการบริหารงานขายและการบริหารงานลูกค้าสัมพันธ์แบบบีทูบี โดยมีจุดเด่นที่ฟังก์ชันการทำงานในการดูแลติดตามภาพรวมการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) ไปจนจบที่การซื้อสินค้าหรือบริการ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยระบบฝึกอบรมออนไลน์ การดูแลลูกค้าผ่านไลฟ์แชต การออกแบบโมเดลการให้บริการเช่าใช้ซอฟต์แวร์แบบรายเดือนโดยคิดค่าใช้จ่ายไปตามขนาดขององค์กร ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลการบริการบนหน้าเว็บไซต์อย่างโปร่งใส อีกทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่มีบุคลากรในองค์กรไม่เกิน 20 คน และมีข้อจำกัดเรื่องบประมาณ สามารถสมัครและทดลองใช้งานได้ฟรี ถือเป็นการช่วยผลักดันธุรกิจขนาดเล็กให้พร้อมเติบโตไปด้วยกัน

 “ตั้งแต่ช่วงโควิด เราเห็นภาพความพยายามของเจ้าของธุรกิจทั้งรุ่นใหม่และรายย่อยในการมองหาเครื่องมือดิจิทัล เพราะหากยังคงการทำงานแบบแมนนวลต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในกระบวนการทำงาน โอกาสที่จะผิดพลาดมีสูง ต้นทุนค่าใช้จ่ายก็สูงโดยเฉพาะการใช้กระดาษ แต่พอมาเป็นระบบดิจิทัล ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความแม่นยำมากขึ้น ช่วยลดงานเอกสารที่เป็นกระดาษซึ่งสอดคล้องไปกับกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งข้อดีของระบบดิจิทัลยังเป็นรากฐานรองรับการขยับขยายธุรกิจต่อไปในอนาตต”

“ชู โกลบอล” รองเท้าแฟชั่นกับคุณค่าที่ยั่งยืน

 บริษัทรองเท้าเล็ก ๆ แต่มีฝันใหญ่ของ กรกนก สว่างรวมโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชู โกลบอล จำกัด ที่แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงิน แต่ไม่เคยลดละในการผลักดันรองเท้าแบรนด์ไทยให้เป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก จากจุดเริ่มต้นธุรกิจด้วยแบรนด์ “Sexy de Cute” จนรีแบรนด์เป็น “Shuberry” ในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และกลายมาเป็นแบรนด์ “SHU” ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปัจจุบัน ด้วยยอดขายที่เติบโตมากกว่า 300 ล้านบาท ในปี 2566 ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ตอบโจทย์ “Everyday Lifestyle Fashion สำหรับลูกค้าทุกกลุ่มในราคาที่จับต้องได้

จุดแข็งสำคัญของแบรนด์ คือ “ความโดดเด่นเรื่องดีไซน์และคุณภาพ” ยกตัวอย่าง SOFASHOES ที่ผลิตจากหนังวีแกน ซึ่งมีพื้นนุ่มและรองรับน้ำหนักเท้าได้ดี จนได้รับการันตีจากแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อว่า สามารถลดอาการโรครองช้ำได้ กลายเป็นรองเท้าในตำนานที่แม้ถูกดีไซน์ออกมาเพียงแบบเดียว รูปทรงเดียว แต่สามารถขายในตลาดได้ยาวนานกว่าสิบปี และสร้างรายได้กว่าครึ่งของยอดขายทั้งบริษัท ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สอนให้รู้ว่า การผลิตสินค้าออกมามาก ๆ หลายรุ่นหลากดีไซน์อาจไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจ แต่การเน้นการดีไซน์ที่โดดเด่นและการเพิ่มคุณค่าเข้าไปในตัวสินค้า น่าจะเป็นท่าที่ใช่ในการก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนยาวนาน

กลยุทธ์ “การสร้างแบรนด์” ให้เป็นที่รู้จัก โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ เหล่าคนดัง เซเลบริตี้ และดาราทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งให้ความสนใจและเลือกสวมใส่ มาเป็นพลังในการบอกต่อ การร่วมมือกับพันธมิตรแบรนด์แฟชั่นชั้นนำในการสร้างสรรค์ผลงานพิเศษ เช่น SHU X VATANIKA การสร้างแฟชั่นที่คอลแลปส์ระดับราชวงศ์ออกมาเป็น SHU GLOBAL X The Manners เป็นต้น

“ถ้าธุรกิจอยากเติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน ต้องทำความรู้จักคน 2 คนแบบเจาะลึกมาก ๆ นั่นคือ ลูกค้าและคู่แข่ง คู่แข่งของเราคือใครและมีดีอะไรที่ลูกค้าต้องการ เราต้องมีให้หมดและต้องมีให้เหนือกว่า ส่วนจุดขายของเรา คือ ต้องมีของดีที่ลูกค้าต้องการและคู่แข่งไม่มี การมีสินค้าดี บริการดี บวกความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่าง และการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและอยู่รุ่ง”

ส่วนความเห็นของการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นตามแนวทางรักษ์โลก SHU มีแนวคิดในการพัฒนารองเท้าคอลเลกชันใหม่โดยใช้วัสดุที่เป็นไบโอมากขึ้น สามารถย่อยสลายได้แต่ไม่ถึงกับเป็นกรีน เช่น หนังวีแกน อย่างไรก็ตาม กระแสรักษ์โลกในมิติด้านแฟชั่นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ต่อให้แบรนด์เลือกใช้วัสดุเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Materials) แต่การผลิตเป็นจำนวนมากเป็นการรักษ์โลกจริงหรือไม่ ทางออกที่ดีที่สุด ควรผลิตในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ล้นจนเหลือเป็นขยะ

“SHU วางตำแหน่งของแบรนด์ว่าเป็น Value Fashion ไม่ใช่แฟชั่นเกาะกระแสสั้น ๆ มาไวไปไวแบบ Fast Fashion เราพยายามสร้างสรรค์แฟชั่นของเราด้วยคุณค่าที่ทำให้ลูกค้ายึดติดและภักดีกับแบรนด์ เช่น ความนุ่มสบายในการสวมใส่ คุณภาพของสินค้าที่ทนทาน มีอายุใช้งานยาวนาน และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแต่สามารถเข้าได้กับทุกแฟชั่น ส่วนในอนาคต SHU มีแผนที่จะนำวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติมาใช้ทดแทนวัสดุในปัจจุบัน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนค้นคว้าวิจัย อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจและโลกได้มากกว่าเดิม”

“ลายวิจิตร” บันไดไม้แห่งความสำเร็จตามวิถี Zero Waste

ลายวิจิตร

ลายวิจิตร “ผู้นำด้านบันไดที่นำทุกคนสู่ความสำเร็จ” เริ่มต้นธุรกิจจากโรงงานไม้ เจี่ย เซ่ง ฮวด โดยนำไม้แปรรูปมาทำเป็นไม้ปาร์เกต์ปูพื้นรายแรกในไทย จนถูกดิสรัปด้วยวิกฤติต้มยำกุ้ง และผลิตภัณฑ์ปูพื้นที่ทำจากลามิเนตและกระเบื้องยางเข้ามาทดแทน นำมาซึ่งการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การพัฒนานวัตกรรมบันไดไม้สำเร็จรูปสำหรับทาวน์โฮมแบบวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งใช้เวลาติดตั้งหน้างานน้อยลง เช่น จาก 14 วัน เหลือเพียง 3 วัน ทำให้สามารถแก้เพนพอยต์ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเรื่องการจัดการเวลา ต้นทุน และคุณภาพ

“คุณค่าของแบรนด์ลายวิจิตร คือ การแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรม ผมจะบอกพนักงานเสมอว่า งานของเราไม่ใช่งานติดตั้งบันได แต่เรากำลังพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมเพื่อไปแก้ปัญหาลูกค้า และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานของลูกค้าประสบความสำเร็จด้วยสินค้าของเรา เป็นการลงทุนเพื่อสร้างชื่อชั้นของแบรนด์ให้โดดเด่นและแตกต่างในระยะยาว” พีระศิลป์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลายวิจิตร จำกัด กล่าว

ลายวิจิตรยังเป็นเอสเอ็มอีรายแรก ๆ ที่นำแนวคิด ESG มาใช้ในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่าง “ประเด็นสิ่งแวดล้อม (Environmental)” องค์กรได้เริ่มทำเรื่อง Zero Waste เพื่อลดขยะเหรือศูนย์ โดยการผลิตสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป สินค้าไลฟ์สไตล์จากเศษไม้เหลือใช้ 100% ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ที่ตั้งขึ้นภายใต้แบรนด์ “ลลิต บาย ลายวิจิตร “ เพื่อเจาะตลาดบีทูซี รวมถึงการออกแบบงานที่ลดความสูญเสียเวลาในการทำงาน และการเก็บงานให้น้อยลง “ประเด็นทางสังคม (Social)” โดยการสร้างวัฒนธรรมแบบ Eco Culture ผ่านการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อดึงศักยภาพของพวกเขาสู่การพัฒนาต่อยอดความสำเร็จให้กับองค์กร และ “ประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล (Governance)” โดยความท้าทายในฐานะทายาทรุ่น 3 คือ การส่งไม้ต่อไปยังทายาทรุ่น 4 ทำให้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ลายวิจิตรได้จัดทำเรื่องโครงสร้างธุรกิจและธรรมมาภิบาลครอบครัว เพื่อให้เกิดความราบรื่นและโปร่งใสในการดำเนินงาน

“การบริหารธุรกิจครอบครัวที่แตกต่างจากธุรกิจทั่วไป ตรงที่เราไมได้บริหารแค่ธุรกิจ แต่เราต้องบริหารความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย จึงต้องมีหลักในการบริหาร ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพ และมีกระบวนการจัดการที่เป็นระบบ”

“เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์” พลาสติกร้ายกลายเป็นดีด้วย Circular Economy

การเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจโรงกลุ่มรุ่นพ่อเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาเป็นการรับงานปั๊มเหล็ก และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้วยโลหะ จนมาถึงยุคที่เทรนด์การผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วยพลาสติกเป็นที่นิยมมากชึ้น ทำให้ รุ่งโรจน์  บุนฑารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด ตัดสินใจขยับขยายไลน์ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ด้วยการเปิด เอ.เบสท์ เพื่อแยกธุรกิจการรับออกแบบแม่พิมพ์ และผลิตบรรจุภัณฑ์เครืองสำอางค์แบบครบวงจร เสริมด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ลดการใช้กำลังคน และลดปริมาณการสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตอีกด้วย

“เอสเอ็มอีต้องปรับตัวเสมอ ตัวผมเองถ้าไม่ปรับเปลี่ยนธุรกิจเพิ่มเติมจากงานโลหะไปเป็นพลาสติก ธุรกิจอาจจะไปแล้วก็ได้ แต่พอวันนี้พลาสติกเริ่มกลายเป็นผู้ร้ายก็ต้องปรับตัวว่า เราจะไปต่อในอุตสาหกรรมไหน ไปทำอุตสาหกรรมแนวรักษ์โลกดีหรือไม่เพราะเทรนด์มาแล้ว อีกประการหนึ่ง คือ เราอยู่ในธุรกิจคนเดียวไม่ได้ ตัวผมเองพยายามรวมกลุ่มอุตสาหกรรม เข้าไปร่วมกับสมาคมหรือภาครัฐ อยางกรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้  ศึกษาแนวโน้ม และแลกเปลี่นแนวคิด หรือการสร้างพันธมิตรธุรกิจจะทำให้ทุกคนสามารถร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมให้ไปต่อได้”

หลักการ “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” จึงถูกผนวกเข้าไปในการดำเนินธุรกิจและระบบโรงงาน อาทิ การนำพลาสติก รวมถึงงานโลหะและแก้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เป็นความพยายามผสมผสานวัสดุทั้งหมดเข้าหากัน และต่อยอดไปสู่การพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลก โดยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นตัวขับเคลื่อน การปลูกฝังแนวคิด “ปลอดถังขยะ (Zero Bin)” เพื่อนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำจัดขยะให้เหลือศูนย์ อย่างการนำหลอดด้ายที่ไม่ใช้แล้วมาคัดแยกและบดให้ละเอียด ฉีดขึ้นรูปเป็นบาตรพระทำจากพลาสติกเหลือใช้ การนำกล่องข้าว หลอดกาแฟ แก้วน้ำพลาสติกมาแปรเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล

“เมื่อเทรนด์ของโลกคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราก็ต้องสร้างทางเลือกหรือโซลูชันที่อินเทรนด์ให้กับลูกค้า เช่น เราให้ลูกค้าเลือกที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์โดยผสมพลาสติกรีไซเคิล 20-100% หรือเลือกใช้พลาสติกชนิดเดียวไปเลยเพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เป็นตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน”

จากความโดดเด่นในการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจที่สร้างความแตกต่าง และการมุ่งพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน ทำให้บริษัททั้ง  5 ราย ได้แก่ บริษัท กราน-มอนเต้ จำกัด  บริษัท โกไฟว์ จำกัด บริษัท ชู โกลบอล จำกัด บริษัท ลายวิจิตร จำกัด และบริษัท เอ.เบสท์ อินเตอร์ โปรดักส์ จำกัด ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ประกอบการไทยที่นำพาธุรกิจฝ่าฝันวิกฤติจนประสบความสำเร็จ และได้รับรางวังเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจต่อเอสเอ็มทีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin” ครั้งที่ 19 ซึ่งมอบโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ขับเคลื่อนไทย สู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน

อาร์เอส จับมือ จุฬาฯ เปิดหลักสูตร Entertainmerce

Foresight Leader ผู้นำเก่งคาดการณ์ ผ่าทางตันยุคนิเวศวิกฤติ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ