TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewZtrus ตั้งเป้า “บริษัทเทคโนโลยี” คนไทย ไปไกลในตลาดโลก

Ztrus ตั้งเป้า “บริษัทเทคโนโลยี” คนไทย ไปไกลในตลาดโลก

Ztrus แพลตฟอร์มการแปลงไฟล์ภาพเอกสาร ให้เป็นไฟล์ข้อความโดยอัตโนมัติ (OCR) ตั้งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถอ่านได้หลายภาษา เพื่อขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และเพื่อพิสูจน์ว่าประเทศไทยก็มีเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้

-LINE MAN Wongnai ประกาศขึ้นเบอร์หนึ่ง Food [Delivery] Platform ในไทย
-พันทิปดอทคอม ยืนหนึ่งโซเชียลเน็ตเวิร์กไทย ท่ามกลางแพลตฟอร์มต่างชาติ

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO & Co-Founder, Ztrus กล่าวกับ The Story Thailand ว่า Ztrus เริ่มต้นธุรกิจจากการตั้งคำถามว่าถ้าบริษัทมีเอกสารทางบัญชีและอยากจะนำข้อมูลนี้ไปเข้าระบบบัญชีเพื่อลดต้นทุนจะทำอย่างไรได้บ้าง มีเทคโนโลยีอะไรมาช่วยได้บ้าง

“ผมมีเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ Thai OCR ขณะเดียวกันผมจบสาย AI และ Computer Vision เพื่อนจึงลาออกมาจากเนคเทค มาทำบริษัท Ztrus ด้วยกัน และได้ทดสอบเทคโนโลยีนี้มาแล้วกว่า 3 ปี”

Ztrus จดทะเบียนเมื่อต้นปี 2019 และพัฒนาเทคโนโลยีการแปลงไฟล์ภาพเอกสาร ให้เป็นไฟล์ข้อความโดยอัตโนมัติ หรือ OCR (Optical character recognition) มาเรื่อย ๆ แต่ปัญหา คือ การทำ OCR อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะไม่ได้ต้องการนำเอกสารมาแปลงเป็นข้อความทั้งหมด แต่ต้องการเลือกข้อมูลที่จำเป็นและใส่เข้าไปในระบบตามที่ต้องการ หรือเรียกว่า Information Extraction ทำให้เอกสารจำนวนมากที่เป็นกระดาษหรือภาพถ่ายถูกเก็บไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้งานต่อไปได้

เอกสารในธุรกิจมีหลากหลายมากที่เป็นกระดาษ แต่ที่ Ztrus สนใจ คือ เอกสารที่มาจากบริษัทที่ต่างกัน เช่น การรับใบเสร็จมาจากลูกค้าหลาย ๆ ราย มีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ข้อมูลสำคัญที่ต้องการ คือ ชื่อผู้ซื้อ-ผู้ขาย ที่อยู่ เลขกำกับภาษี โดยใช้ระบบดึงข้อมูลจากภาพออกมาเหมือนกับการจ้างคนมาคีย์เอกสาร ซึ่งเทคโนโลยีสามารถครอบคลุมเอกสารได้หลายรูปแบบ

“ระบบของเรามีแกนหลักที่เรียนรู้จากฐานข้อมูลในต่างประเทศมาแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนตัวเอกสารต่าง ๆ เรามีเอกสารอยู่ประมาณ 100,000 ชิ้น ที่ให้เรียนรู้โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ข้อมูลที่ใช้มีสถิติที่พอใช้งานได้ แต่ความท้าทายคือ มีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาให้เราลองทำในภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่เคยเห็น Invoice ของต่างประเทศ เพราะฉะนั้นตรรกะหรือค่าสถิติอาจจะต้องมีผิดเพี้ยนไปบ้าง”

ตั้งเป้าพัฒนาภาษาอื่น ก่อนรุกตลาดเพื่อนบ้าน

ตลาด OCR มีมูลค่ารวมในประเทศไทยประมาณ 31.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 พันล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกอยู่ที่ 5.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 13.5% ต่อปี และยังคาดว่าตลาดนี้จะเติบโตไปได้อีก 10 ปี

“เนื่องจาก 70% ของเทคโนโลยีเราไม่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย เราเพียงแค่เปลี่ยนโมดูลข้อมูลชุดใหม่ก็สามารถขยายไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งโอกาสในต่างประเทศมีค่อนข้างมาก”

ส่วนภาษาไทยถือว่าเป็นจุดแข็งที่ Ztrus ทำได้ดีกว่าเจ้าอื่นในตลาด แต่ขณะเดียวกันบริษัทจะต่างชาติก็สามารถเข้ามาทำตลาดในไทยได้เช่นกัน

ดร.พณชิต กล่าวต่อว่า เป้าหมายต่อไปหลังจากทำภาษาอังกฤษได้แล้ว สิ่งที่บริษัทต้องการพิสูจน์ คือ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย ก็สามารถทำงานได้ สามารถสลับระหว่าง 2 ภาษาได้ เช่น ในใบเสร็จอาจจะมีภาษาอังกฤษแทรกเข้ามา 1 คำ ซึ่งระบบในต่างประเทศจะมีปัญหา

หลังจากพัฒนาภาษาอังกฤษ ก็จะไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงบริษัทระดับโลกที่อยู่ในไทย ก็มีขอให้อ่านทั้งภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่น

“ในตลาด OCR เราอาจจะไม่ใช่เจ้าแรก เราโตมาพร้อมกับหลาย ๆ สตาร์ตอัพในแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งปีนี้ค่อนข้างฮอตในระดับโลก แต่ในเมืองไทยและภาคพื้นอาเซียนยังไม่เห็น”

การนำ OCR ไปใช้ จะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 50% ของค่าแรงที่ใช้ ทำงานได้รวดเร็วกว่าประมาณ 85% แต่ถ้าถามว่าเทคโนโลยีมีความผิดพลาดไหมก็ต้องบอกว่ามีเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ความผิดพลาดของระบบมันเหมือนกันหมด ซ้ำกันหมด เวลาแก้จะแก้แค่ครั้งเดียว แต่ความผิดพลาดของมนุษย์จะเกิดขึ้นแบบสุ่ม ที่ไม่รู้ว่าคนจะทำผิดเรื่องไหนในแต่ละวัน และที่สำคัญ คือ เมื่อบริษัทขยายการที่จะเทรนคนให้ทำงานเหมือนกันเป็นเรื่องยาก แต่การให้โรบอททำงานเหมือนกันเป็นเรื่องง่ายกว่า

ช่วงโควิดที่ผ่านมามีกระทบกับธุรกิจบ้าง เพราะแต่ละบริษัทเริ่มคุมค่าใช้จ่าย แต่โอกาสที่น่าสนใจคือเมื่อบริษัทเหล่านี้วางแผนการใช้เงิน สิ่งที่ลูกค้าสนใจคือการปรับการทำงานให้ลดต้นทุน และเป็นดิจิทัลมากขึ้น เพราะฉะนั้นความต้องการในตลาดจะยังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลายธุรกิจพยายามที่จะทำ Digital Transformation โดยเลือกใช้ระบบ Robot Process Automation (RPA) แต่สุดท้ายหัวใจสำคัญที่ทำให้ RPA ทำงานไม่ได้ทั้งระบบคือเอกสารส่วนใหญ่ยังเป็นกระดาษ แต่การอ่านเอกสารจากกระดาษเข้าไปในระบบ OCR เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเลือกข้อมูลที่จำเป็นใส่เข้าไปเพื่อให้ RPA ทำงานต่อ เพราะฉะนั้นการทำ Digital Transformation ของระบบในบริษัท นอกจากจะต้องดู RPA แล้ว Information Extraction ด้วย Cognitive OCR ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ข้อต่อพวกนี้เชื่อมต่อถึงกัน

“เป้าหมายของ Ztrus คือ การหาผู้ให้บริการโซลูชันให้แต่ละธุรกิจเพื่อพิสูจน์การทำงาน เราอยากจะเป็น Technology Provider หมายความว่า เรามองหา Software House, System Integrator หรือบริษัทที่พัฒนาโซลูชันให้ราชการหรือบริษัทขนาดใหญ่ มาเรียกใช้เทคโนโลยีของเรา”

ตั้งเป้าสร้างคุณค่าด้วยเทคโนโลยี ไม่มองยูนิคอร์น

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Ztrus ได้รับเงินลงทุนจาก NVest Venture ในรอบ Pre-Serie A เพื่อนำมาใช้สร้างเทคโนโลยีให้รองรับความหลากหลายของธุรกิจ และวางโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมเพื่อที่จะแปลเป็นภาษาอื่นได้รวดเร็วและง่ายขึ้น

“เมื่อเราสามารถทำภาษาไทยและรองรับหลายธุรกิจได้ ก็จะสเกลไปต่างประเทศได้ ถึงเป้าหมายเราไม่ได้คิดว่าจะเป็นยูนิคอร์น แต่ต้องไปพิสูจน์ว่าเรามีเทคโนโลยีที่ดีสามารถสร้างคุณค่าและสร้างผลกระทบให้กับสังคมและสร้างรายได้ให้บริษัทอยู่ได้”

Ztrus มีทีมงานทั้งหมด 25 คน มี Developer ที่เขียนโปรแกรม 4 คน อีก 10 คนเป็น AI Researcher ส่วนอีก 11 คนจะเป็นทีม Business Development และทีม Sales ที่ไปทำความเข้าใจกับลูกค้าแก้ปัญหาให้กับลูกค้า

“เราโฟกัสด้าน AI Researcher ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีค่อนข้างน้อยในประเทศไทย เราเตรียมเข้าไปร่วมมือกับบางมหาวิทยาลัย ที่จะรับนักศึกษาฝึกงานในสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์โดยเฉพาะเพื่อนำมาฝึกงานกับเรา”

ขณะที่เทคโนโลยี OCR ตามแผนถ้าไม่มีโควิด-19 อาจจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีก่อนที่รอบจะตก แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีถูกเร่งให้เร็วขึ้น มีความต้องการเข้ามาเร็วขึ้นเท่าตัว ซึ่งทำให้โอกาสที่เทคโนโลยีนี้จะล้าหลังภายในประมาณ 5-7 ปี

Ztrus มอง S-Curve ตัวที่ 2 ที่จะต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไว้ เพราะเทคโนโลยียังมีทางออกตราบเท่าที่มนุษย์ยังต้องใช้สายตาในการมองเห็น ถ้าสามารถถอด Logic พวกนี้ออกมาได้น่าจะพัฒนาระดับของการสื่อสารต่าง ๆ ไปได้อีก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ