TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewบทบาท ก.ล.ต. ในโลกการลงทุนยุคใหม่ เมื่อ สินทรัพย์ดิจิทัล คือ Next Normal

บทบาท ก.ล.ต. ในโลกการลงทุนยุคใหม่ เมื่อ สินทรัพย์ดิจิทัล คือ Next Normal

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย(ก.ล.ต.) มีเป้าหมายทำให้เกิด Capital Market for  All ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมบทบาทของผู้กำกับดูแลตลาดทุน

เพื่อสนับสนุนให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดทุนเพื่อลงทุนได้สะดวกและง่ายขึ้น ช่วยให้ผู้ลงทุนได้รับบริการให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนการเงินอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผู้ลงทุนคนนั้นจะมีเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม 

จอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้เกิดการ Democratization ของการให้คำแนะนำในเรื่องของการวางแผนการเงิน มีการนำ Wealth Advice มาใช้ เอาเทคโนโลยีมาช่วยในการวางแผนการเงิน ทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยไม่ต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของบริการให้คำปรึกษา

เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัล คือ Next Normal ของการลงทุน ก.ล.ต. ต้องพิจารณาว่าสินทรัพย์ดิจิทัลกล่าวเป็น Investment Token ที่มีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ หรือเป็น Token ที่มีทรัพย์สินอย่างอสังหาริมทรัพย์มารองรับ เพื่อที่จะทำให้ก.ล.ต.วางสถานะตนเองในการจัดการสินทรัพย์เหล่านั้นว่าจะต้อง อำนวยความสะดวก หรือ กำกับดูแล เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุนในตลาด

“สิ่งที่เราทำ คือ อะไรที่เราเทียบเคียงได้ในฝั่งของพรบ.หลักทรัพย์ เช่น กรณีของอสังหาริมทรัพย์ที่มาเปรียบเทียบได้กับกอง Investment Trust ที่ลงทุนในอสังหาฯ เขามีการป้องกันอย่างไร ถ้าเกิดส่วนนี้ขาดตกบกพร่องไป เราก็อาจจะเอามาใส่ เช่น จัดให้มีคนเก็บรักษาทรัพย์สิน เป็นต้น เพื่อที่จะปกป้องคุ้มกันความเสี่ยงของผู้ที่จะลงทุนให้มากที่สุด ไม่เกิดการหาประโยชน์จากข้อจำกัดทางกฎหมาย (Regulatory Arbitrage) ระหว่างการออก Token กับการออกเป็นหลักทรัพย์ หรือออกเป็นกองทุน Investment Trust เป็นต้น

แนวโน้มการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า การลงทุนในโลกออนไลน์ต่อไปถ้านำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เต็มรูปแบบผู้ลงทุนจะสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้ ทุกอย่างสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย คนไม่ต้องไปหาโบรกเกอร์ ไม่ต้องไปหาแบงก์ เพื่อที่จะไปซื้อผลิตภัณฑ์การลงทุน ทุกอย่างจะเกิดขึ้นออนไลน์ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าผู้ลงทุนจะตัดสินใจลงทุนอะไร จะสามารถใช้ Crowd Sourcing เพื่อดูว่าผู้เชี่ยวชาญบอกว่าอะไร อย่างไรดี และเพราะอะไร

“นักลงทุนศึกษาข้อมูลด้วยตนเองได้ เอาข้อมูลที่ก.ล.ต.มีไปวิเคราะห์ต่อยอดได้ สามารถมาดึง มาวิเคราะห์เพื่อที่จะเกิดประโยชน์ก่อนการตัดสินใจลงทุนของตนเองได้ เรียกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถลงทุนได้ ส่วนตัวมองว่าเทคโนโลยีจะเป็น Key Enabler ให้เกิดการขยายฐานผู้ลงทุนได้เลย จากเดิมคนที่ต้องการลงทุนดูยากลำบากมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมา กลายเป็นว่าทุกคนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้หมด”

ตลาดทุนจะมีส่วนช่วยคนไทยสะสมความมั่นคงทางการเงิน (Wealth) ได้ ด้วยการทำให้เทคโนโลยีเป็นตัวการที่ทำให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังมีหน้าที่ไปทำการขันน็อต เพื่อให้การกำกับดูแลทั้งสองโลก คือ การลงทุนแบบ Traditional และแบบสินทรัพย์ดิจิทัลมีความใกล้เคียงกัน เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุน แต่ก็ไม่เข้มงวดเกินไปจนขัดขวางการเกิดนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ในตลาด 

“ตอนนี้เรามีผลิตภัณฑ์ของโลกเก่า ผสมกับโลกใหม่ ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และยังได้สินทรัพย์ที่กว้างขึ้น ต่อไปตลาดทุนจึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป เพราะมันทั้งเข้าถึงได้ง่าย และมีความหลากหลายของทรัพย์สินที่ผู้ลงทุนจะเข้ามาลงทุนได้ ต่อไปคนจะรู้จัก ก.ล.ต. รู้จักตลาดทุน รู้ว่าตลาดทุนช่วยตอบโจทย์เขาในด้านไหนได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นจากฝั่งผู้ที่อยากได้ทุน หรือผู้ในฝั่งของผู้ที่อยากลงทุน”

ตลาดทุนช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ด้วยการทำให้คนไทยมีความมั่งคั่ง มีความมั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในปีหน้า แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่งคั่งมั่นคงทางการเงินอย่างพอเพียง 

ตลาดทุนเป็นโจทย์สำคัญที่ตลาดทุนจะทำให้ประเทศชาติหรือคนไทยดีขึ้นได้อย่างไร เทคโนโลยีเป็นตัวที่จะตอบโจทย์ได้ในอนาคต

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รวดเร็วแบบเต็มสปีด เพราะวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในอนาคตจะเห็น Digital on Boarding ในโลกของการลงทุน ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเปิดบัญชีพิสูจน์ตัวตนแบบพบหน้า เทคโนโลยีจะทำให้สามารถเข้าถึงโลกของการลงทุนได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานก.ล.ต. ได้วางยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของตลาดทุนไว้เพื่อรองรับ Digital Disruption มีเป้าหมายสูงสุดของแผนยุทธศาสตร์ คือ Capital Market for All โดยแบ่งออกเป็นเรื่องใหญ่ ๆ 8 เรื่องหลัก คือ 

ยุทธศาสตร์แรก คือ Open Data/Open API การทำข้อมูลให้อยู่ในระบบที่เป็น Machine Readable ทำให้ข้อมูลสามารถถูกดึงข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอดได้ เช่น ข้อมูลกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง ผลตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็น Machine Readable เปิดให้ผู้ลงทุนหรือนักวิเคราะห์สามารถดึงข้อมูลไปใช้ได้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ Digital on Boarding ซึ่งในส่วนนี้ ก.ล.ต.กำลังเดินหน้าทำ Single Form และการพิสูจน์ยืนยันตัวตน ซึ่งจะเป็นแบบฟอร์มการเปิดบัญชีมาตรฐานสำหรับผู้ลงทุน เช่น ข้อมูล KYC ที่ผู้ลงทุนรายนี้ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน อาชีพอะไร รายได้เท่าไร มีมูลค่าทรัพย์สินเท่าไร เป็นต้ม รวมถึงข้อมูลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน เพื่อที่ว่าจะได้รับมีการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมกับ 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และ Machine Learning ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ก่อนที่จะลงทุน จากที่เมื่อก่อนจะดูที่ Fundamental แต่ว่าในโลกของเทคโนโลยีสามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ แล้วเลือกลงทุนได้ 

AI/Machine Learning ในที่นี้ คือ การที่ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการกองทุนหรือโบรกเกอร์ สามารถดึงข้อมูลการลงทุน เพื่อมาดูว่าสภาพตลาดแต่ละแบบ แต่ละ Session หรือเป็นช่วงเศรษฐกิจ Recession เศรษฐกิจบูม สไตล์การลงทุนแบบไหนที่จะตอบโจทย์ แล้วให้ผลตอบแทนส่วนเกินจากตัวชี้วัดมากที่สุด 

“การมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยทำให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ถือเป็นหน้าที่ของก.ล.ต.ในการใช้สิ่งเหล่านี้มาวิเคราะห์เพี่อช่วยผู้ลงทุน”

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ Crowd Sourcing ที่ข้อมูลวิเคราะห์ด้านการลงทุนจะเป็นระบบระเบียบ จากเดิมที่คุ้นเคยกับนักวิเคราะห์ที่เขียนบทวิเคราะห์เข้ามาว่าควรจะซื้อหุ้น ขายหุ้นอะไรเท่าไร หรือจะถือหุ้นตัวไหน ที่ราคาเท่าไรดี เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ การนำ Blockchain หรือ DLT (Distributed Ledger Technology) มาใช้เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้กับตลาดทุน ช่วยให้การตัดสินใจลงทุนทำได้เร็วขึ้น เพราะ DLT เข้ามาย่นระยะเวลากระบวนการชื้อขาย

“ทุกวันนี้เวลาซื้อหุ้นกู้ กว่าจะได้หุ้นกู้ ใช้เวลา T+14 วัน คือ หมายความว่ากว่าจะได้หุ้นกู้ที่ซื้อลงไปก็อีก 14 วัน แต่ด้วยเทคโนโลยี DLT ผู้ลงทุนามารถได้ทันทีเลย รอไม่เกิน T+1 หรือไม่เกิน 1 วันทำการ” 

หน้าที่อีกอย่างของ DLT คือ Account Aggregation ทำให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนการเงินได้ว่า ณ ตอนนี้ มี Wealth อยู่เท่าใด จะลงทุนพิ่มได้เท่าไร แล้วเพิ่มในทรัพย์สินประเภทไหน ที่จะไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่มั่นคงในระยะยาว 

ยุทธศาสตร์ที่ 6 คือ Cybersecurity ตอนนี้ทุกคนเอาเทคโนโลยีมาใช้ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ใช้ Internet of Things (IoT) ใช้ตัวสมาร์ทโฟนในการสั่งซื้อขาย สิ่งเหล่านี้ล้วนมี Cyber Threats ก.ล.ต.ต้องดูความมั่นคงปลอดภัยด้วย ซึ่งตรงนี้ทางอุตสาหกรรมก็ต้องมีมาตรฐานที่จะสามารถปกป้องธุรกรรมทางไซเบอร์ให้ได้

ยุทธศาสตร์ที่ 7 คือ การสร้างมาตรฐานการรักษาความลับ/ข้อมูลส่วนบุคล โดยเป็นมาตรฐานที่นอกจากจะยอมรับได้ในอุตสาหกรรมแล้ว อุตสาหกรรมยังสามารถที่จะปฎิบัติตามมาตรฐานได้

ยุทธศาสตร์ที่ 8 คือ Regtech VS Suptech คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบังคับใช้ให้คนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เช่น มีสัดส่วนการลงทุน 10% เทคโนโลยีก็จะเข้ามาดูไม่ให้ลงทุนเกินสัดส่วนที่กำหนด

ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. ใช้เทคโนโลยีตัวนี้ มาทำ Market Surveillance ในการติดตามตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัย เช่น ปั่นหุ้น หรือใช้ Inside Information 

“ก.ล.ต. มีบทบาทในฐานะผู้อำนวยความสะดาก (Facilitator) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ และกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้เทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ก.ล.ต.มีบทบาทในการกำกับดูแลด้วย”

ดิจิทัล เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม ที่มีด้านที่สวยงาม และด้านที่เป็นความเสี่ยง เช่น ภัยคุกคามไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือระบบที่ใช้เกิดมีข้อผิดพลาด (Flaw) หรือไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก.ล.ต.ต้องมาคำนึงถึงแล้วเข้ามากำกับเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีมีประโยชน์สูงสุดและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด จอมขวัญ กล่าวทิ้งท้าย

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ