TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเทรนด์การรับประทานอาหาร ของผู้บริโภคในเอเชีย

เทรนด์การรับประทานอาหาร ของผู้บริโภคในเอเชีย

ไทยนับว่าเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องของ “อาหารอร่อย” มีร้านอาหารอร่อยเยอะมาก ๆ และเป็นประเทศแห่ง “Street Food” ด้วย แต่หลังจากเจอโควิด-19 ก็ได้รับผลกระทบหนักมาก และพฤติกรรมในยุคหลังโควิดนี้ ก็มีทิศทางว่าการรับประทานข้าวนอกบ้านอาจจะน้อยลง หากว่ายังต้องนั่งห่างกันในร้านอาหาร

ไม่เพียงประเทศไทย ที่ความนิยมการรับประทานอาหารนอกบ้าน มีทิศทางจะลดลง แต่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ก็มีทิศทางไม่ต่างกัน

การสำรวจล่าสุดของบริษัทนีลสัน ผู้ให้บริการด้านการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค เกี่ยวกับแนวโน้มการรับประทานอาหารนอกบ้านของประเทศในเอเชีย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และเวียดนาม พบว่าส่วนใหญ่แล้วบอกว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 บอกว่าคงจะต้องรับประทานอาหารที่บ้านน่าจะเป็นการดีที่สุด

โดยจีนเป็นประเทศที่มีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะรับประทานอาหารที่บ้านมากที่สุดถึงร้อยละ 86

การรับประทานอาหารที่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำอาหารเองทั้งหมด แต่มาจากการซื้ออาหารจากร้านกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือว่าสั่งออนไลน์ให้มาส่ง ซึ่งแนวโน้มรับประทานอาหารที่บ้านก็แน่นอนว่ามาจากความกังวลในเรื่องของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการรักษาระยะห่างในที่สาธารณะก็คาดว่าน่าจะคงอยู่ไปอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะค่อย ๆ กลายเป็นเคยชินไปในที่สุด

ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศจีนจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินมากที่สุด โดยการจับจ่ายซื้อวัตถุดิบ ของสด เพื่อประกอบอาหารก็เพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์หนึ่งจะซื้อวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร 2 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ซื้อผ่านทางออนไลน์ เพราะไม่ต้องไปเดินตลาดด้วยตัวเอง ทั้งยังมีแนวโน้มให้ความใส่ใจกับอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งด้วย

นอกจากนีลสันแล้ว ก็ยังมีบริษัทวิจัยอีกหลายบริษัทที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในเรื่องของอาหาร อย่างบริษัทแมคคินซีย์ ก็สำรวจผู้บริโภคในเอเชียเหมือนกัน จำนวน 5,000 ใน 7 ประเทศ ทั้งออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศไทย

ผลสำรวจพบว่าประชาชนในประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น และเห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคให้ความใส่ใจซื้ออาหารสุขภาพและอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นมากขึ้น เพราะกังวลเรื่องอาหารปนเปื้อน และยังให้ความใส่ใจกับสถานที่จำหน่ายด้วยว่า ต้องมีความสะอาดปลอดภัย

ในการสำรวจของแมคคินซีย์ พบว่าผู้บริโภคในจีนและญี่ปุ่น นั้นให้ความสำคัญมาก ๆ กับอาหารที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ ภูมิคุ้มกันมากขึ้น พร้อม ๆ กับการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน และพบว่าอาหารจำพวกของสด ไข่ไก่ นม น้ำดื่ม มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ส่วนพวกขนม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง

ในส่วนของการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในธุรกิจอาหารนั้น ก็ชัดเจนว่าผู้บริโภคหันมาจับจ่ายซื้ออาหารผ่านทางออนไลน์มากกว่าที่จะไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ขณะเดียวกันผลสำรวจพบว่าปริมาณการซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านค้านั้นมีแนวโน้มที่สูงกว่าการสั่งอาหารมาจากร้านมารับประทานเสียอีก

และที่น่าสนใจก็คือ ผลสำรวจของแมคคินซีย์ ยังตรงกับนีลสัน ที่ผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารที่ผลิตในประเทศ เป็นแบรนด์ท้องถิ่นมากขึ้น อย่างในออสเตรเลีย ผู้บริโภคถึง 80% ขณะที่ในจีน ซึ่งก่อนหน้าการระบาดของไวรัส-โควิด19 ชาวจีนชื่นชอบอาหารนำเข้าจากต่างประเทศมากๆ แต่เมื่อมีการระบาดปรากฎว่าการซื้ออาหารแบรนด์นำเข้าลดลงมาเหลือแค่ 43%

แนวโน้มของผู้บริโภคในการรับประทานอาหารทั่วเอเชียและคงจะรวมถึงทั่วโลกด้วยเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน และเป็นพฤติกรรมที่จะอยู่ตลอดไป ก็ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัว สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น บริโภคอาหารที่สดใหม่ ลดการซื้ออาหารและวัตถุดิบที่เป็นนำเข้า หรือเป็นแบรนด์ต่างประเทศ

นอกจากนี้สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ก็คงต้องมองพฤติกรรมผู้บริโภคที่รับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง ซื้ออาหารปรุงสุกใหม่ ๆ กลับมารับประทานอาหารที่บ้าน การหันมาประกอบอาหารเอง และการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งร้านค้าต้องจัดการระบบร้านค้าในรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ประเมินการสต็อกวัตถุดิบ เพื่อให้อาหารที่ไปถึงมือผู้บริโภคมีความปลอดภัย ยังคงรสชาติอร่อย และที่สำคัญคือดีต่อสุขภาพ

นี่เป็นโจทย์ที่ร้านอาหารคงต้องนำไปคิด เพื่อเดินหน้าธุรกิจอาหารหลังสถานการณ์โควิด-19

ที่มาข้อมูล:
https://www.nielsen.com/ssa/en/insights/article/2020/asian-consumers-are-rethinking-how-they-eat-post-covid-19/
https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/reimagining-food-retail-in-asia-after-covid-19

ภาพโดย ทรงกลด แซ่โง้ว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ