TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistนับถอยหลัง “ตุลาฯ มหาวิกฤติ”

นับถอยหลัง “ตุลาฯ มหาวิกฤติ”

จนถึงวันนี้อาจจะพูดได้ว่าประเทศไทยรอดจากวิกฤติ “โควิด-19” ค่อนข้างจะแน่นอน แต่หลังจากนี้เราจะต้องเผชิญกับมหาวิกฤติเศรษฐกิจอาจจะหนักหน่วงรุนแรงกว่าอย่างที่หลาย ๆ คนเคยออกมาเตือนว่าจะเท่ากับวิกฤติเศรษฐกิจปี 1930 โดยจะแสดงอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ไตรมาสสาม หรือ “เดือนตุลาคม” ปีนี้เป็นต้นไป และจะหนักสุดในปีหน้า

สะท้อนจากความกังวลของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ที่ ส่งสัญญาณเตือนให้ “รับมือพายุใหญ่ทางเศรษฐกิจ” โดยปกติมักจะให้ความหวัง และไม่กี่วันมานี้ ก็เสนอให้แก้วิกฤติเศรษฐกิจด้วยการ “ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่” เหมือนสิงคโปร์ ล่าสุดก็เล่าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฟังว่า ได้ไปพบปะกับภาคเอกชนกลุ่มต่าง ๆ ได้รับรู้ว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก ไม่ว่าจะส่งออก ท่องเที่ยว และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง

ขณะที่รายงานจากธนาคารโลกล่าสุด คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงร้อยละ 5 มาตรการควบคุมโรคระบาดส่งกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากการที่ห่วงโซ่อุปทานและการส่งออกทั่วโลกอ่อนตัวลง ส่วนการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของจีดีพีก็หยุดชะงัก มาตรการจำกัดการเดินทางภายในประเทศได้ส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะค้าปลีกและบริการ โดยยอดการขายสินค้าคงทนลดลงเกือบร้อยละ 12

หากไล่เรียงสถานการณ์เศรษฐกิจจากหลาย ๆ สำนักล้วนแต่ “มีข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี” ไม่ว่าจะเป็นจีดีพีทั้งไทยและต่างประเทศล้วนให้ติดลบตั้งแต่ติดลบร้อยละ 5 ไปจนถึงติดลบร้อยละ 8

ส่วน “การส่งออก” เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ติดลบ” ถึงร้อยละ 22.5 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี “การนำเข้าติดลบ” ร้อยละ 34.41 สะท้อนว่ากำลังการผลิตในประเทศแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย นั่นเท่ากับส่งสัญญาณว่าจะต้องมีการปลดคน ลดคนงานซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมา สอดคล้องกับรายงานกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่ามีโรงงานปิดไปแล้วไม่น้อยกว่า 4,000 โรง

แต่ที่น่ากลัว คือ ระเบิดลูกใหญ่ที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรง “ระดับระเบิดปรมณู นั่นคือ “นโยบายพักชำระหนี้ 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งมีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือ 16.3 ล้านราย ยอดหนี้รวม 6.8 ล้านล้านบาทหรือราว ๆ 1 ใน 3 ของยอดหนี้รวมในระบบธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

ปัญหาใหญ่ตามมา คือ เมื่อสิ้นสุดโครงการนี้ราว ๆ เดือนกันยายนน่าเป็นห่วงว่าในเดือนตุลาคม จะมีลูกหนี้กลับมาเป็นปกติได้สักเท่าไหร่

หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดถึงขั้นลูกหนี้ไม่กลับมาชำระหนี้สัก 50% ก็แปลว่าจะมีหนี้เสียไม่น้อยกว่า 3.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล นี่แหละคือ ระเบิดปรมณูที่มีอานุภาพทำลายล้างถึงขั้นสถาบันการเงินบางแห่งอาจสั่นคลอนได้

ที่สำคัญ ต้องจับตาดูวิกฤติที่เกิดจากนโยบายรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนเดือนละ 5,000 บาทกว่า 15 ล้านคน ซึ่งครบกำหนดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะต้องดูว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะดูแลคนจนเหล่านี้อย่างไร และจะมีเม็ดเงินจากไหนที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่าง ขณะที่ธุรกิจทั้งประเทศก็ยังไม่ฟื้น งานก็ยังไม่มีทำ เงินที่ได้รับเยียวยาก็หมด

มิหนำซ้ำเดือนกรกฎาคม เกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะได้รับเงินเดือนสุดท้าย รวมทั้งกลุ่มคนเปราะบางอีก 6.7 ล้านคน ประกอบด้วย เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 1,000 บาท 3 เดือน ก็จะได้รับเงินเป็นเดือนสุดท้ายเช่นกัน คนจน 29 ล้านคนนี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร จากปัญหาเศรษฐกิจก็จะแปรเป็นปัญหาสังคมต่อไป

ประกอบกับราว ๆ เดือนกันยายนหลังจากพรบ.งบประมาณผ่านสภาฯ แล้ว คงจะถึงคิวปรับครม. คนที่หลุดหรือคนที่ลุ้นแต่ไม่สมหวังก็คงต้องตีรวน ด้านกลุ่มนักศึกษาที่กำลังท้าทาย พรก.ฉุกเฉินก็น่าจะเข้มข้นขึ้นและขยายวงเรื่อย ๆ

ปัญหาทุกอย่างจะตะลุมบอนชนิดฝุ่นตลบจะมาบรรจบในเดือนตุลาคม จนอาจจะกลายเป็น “ตุลามหาวิกฤติ” ซึ่งชาวบ้านอย่างเราต้องเตรียมรับมือให้ดี

ทวี มีเงิน

ภาพ ทรงกลด แซ่โง้ว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-“เศรษฐกิจเวียดนาม” … จะแซงไทยจริงหรือ
-อย่าเสียเวลา “ตามล่าเลข 0” จน ศก.เจ๊ง
-จับสัญญาณ “แบงก์ชาติ” วิกฤติ ศก. “หนักกว่าที่คิด”
-การเมือง “Old Normal” ซ้ำเติม “วิกฤติเศรษฐกิจ”
-พิรุธ “เสือหิว” จ้องถลุงงบฟื้นศก.4 แสนลบ. “ชงเองกินเอง”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ