TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอย่าเสียเวลา "ตามล่าเลข 0" จน ศก.เจ๊ง

อย่าเสียเวลา “ตามล่าเลข 0” จน ศก.เจ๊ง

จนถึงวันนี้ข้อมูลล่าสุด วันที่ 25 มิถุนายน 2563 (ระหว่างที่นั่งปั่นต้นฉบับ) ศคบ.แถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ข่าวดี คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ หรือเป็น 0 ราย ถึง 31 วันติดต่อกัน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 รายอยู่ในสถานกักกันของรัฐ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมมีผู้เสียชีวิต 58 เท่าเดิม ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,158 รายหายป่วยแล้ว 3,038 ราย ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 62 รายเท่านั้น

แต่ยังมีหลาย ๆ คนเป็นห่วงว่าอาจจะระเบิดรอบ 2 และจะรุนแรงกว่ารอบแรก โดยเฉพาะทีมแพทย์ที่ตอกย้ำ ทุกวันว่า “การ์ดอย่าตก” จึงไม่แปลกใจมาตรการปลดล็อคที่ออกมาแต่ละเฟสจึงดูทะแม่ง ๆ ไม่ธรรมชาติ ไม่สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ทั้งที่ในความเป็นจริง เวลานี้ คนที่ติดเชื้อรุนแรงจาก โควิด-19 ส่วนใหญ่เก็บไว้ในโรงพยาบาลไม่ได้ออกไปเพ่นพ่านที่ไหน

ฉะนั้น สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงปัจจัยระบาดรอบ 2 อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ทุกวันนี้เวลาไปไหนก็เห็นคนไทยไม่น้อย “การ์ดตก” มาเป็นเดือน คนในรัฐบาล นักการเมืองเองก็การ์ดตกมาก่อนชาวบ้าน แต่กลับมาเข้มงวดกับชาวบ้านและผู้ประกอบการธุรกิจจนอยู่ในสภาพเหมือน “คนกลั้นหายใจ” ไม่รู้ว่าจะขาดอากาศหายใจเมื่อไหร่

ที่ผ่านมาที่รัฐบาลมัวแต่เสียเวลาตามหาเลข “0” คือ ต้องรอผู้ปวยเป็นศูนย์อย่างไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ในทางตรงกันข้ามได้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนักหน่วง

ล่าสุด คณะกรรมการนโบบายการเงิน “กนง” ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่ โดยประเมินว่าปี 2563 นี้ จีดีพีจะหดตัว -8.1% จากเดิมคาดหดตัว -5.3% ครั้งนี้หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 หลายเท่า ส่วนปี 2564 คาดจีดีพีจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 5% จากเดิมคาดขยายตัว 3% เพราะตัวเลขปีนี้ต่ำผิดปกติจึงไม่แปลกที่ปีหน้าจะผงกหัวขึ้นค่อนข้างแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่รัฐบาลตามหาเลข 0 นั้น ก็ต้องแลกกับความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล เฉพาะจากการท่องเที่ยวทั้งไทยเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวไทยรวมเบ็ดเสร็จราว ๆ 20% ของ GDP แปลงออกมาเป็นรายได้แต่ละเดือนที่ต้องสูญเสียไปเมื่อการท่องเที่ยวหยุด ราว ๆ 260,000 ล้านบาท ลองคิดดูว่าธุรกิจท่องเที่ยวปิดตัวมา 2-3 เดือนตั้งแต่โควิด 19 เริ่มระบาดหนัก คาดว่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านบาท

นอกจากนั้น ร้านค้า โรงแรมปิดกิจการชั่วคราวบางแห่งถอดใจเร่ขาย การท่องเที่ยวชะงัก คนตกงาน ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสี่ยง หากไม่มีใครมีความสามารถมาจ่ายหนี้เงินกู้ก็จะเกิดปัญหา “หนี้เสีย” หรือ “NPL” ตามมา ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน NPLจะพุ่งแบบก้าวกระโดด ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ขณะนี้มีลูกหนี้ที่เข้าโครงการ “พักหนี้” ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 15.11 ล้านราย ยอดหนี้ 6.68 ล้านล้านบาท

แต่ที่กังวลกันมากที่สุด เมื่อสิ้นสุดมาตรการ “พักหนี้” ที่จะเริ่มทยอยตั้งแต่กรกฎาคมนี้ ลูกหนี้จะมีความสามารถกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่ และจะมีกี่รายที่จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้เนื่อง จากตั้งแต่มีมาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชน “ขาดรายได้” และมีแรงงานจำนวนมากกลายเป็น “คนตกงาน”

ล่าสุดผลวิจัยจาก อิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทวิจัยการตลาด เผยว่า โควิด-19 ทำให้คนไทยกว่า 38% รายได้หายไปกว่า 50% และกว่า 14% ของคนไทย “ขาดรายได้โดยสิ้นเชิง” หรือมีรายได้เป็นศูนย์ โดยผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่าง ๆ

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างวิกฤติโควิดนั้น มี 2 ด้านที่ขัดกันเองในตัว ด้านหนึ่ง “มาตรการควบคุมการระบาด” ที่รัฐต้องเข้มงวดเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย ขณะเดียวกันมาตรการที่เด็ดขาดก็ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง

วันนี้ เราสอบผ่านด้านการแก้ปัญหาโควิด-19 แต่สอบตกเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็น “ฮีโร่” ในด้านสุขภาพแต่ตกม้าตายในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลต้องก้าวข้ามความกลัว เผชิญกับความจริงด้านเศรษฐกิจและวิกฤติที่รออยู่ข้างหน้า

ผู้นำที่เก่ง จะต้องการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด นั่นคือ การเดินสายกลางแบบพอดี ๆ ไม่หนักด้านใดด้านหนึ่ง ขณะที่ปัญหาโรคระบาดก็ต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวัง แต่ด้านเศรษฐกิจก็ต้องจัดการให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ไม่หยุดชะงัก

ทวี มีเงิน

ภาพ ทรงกลด แซ่โง้ว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-จับสัญญาณ “แบงก์ชาติ” วิกฤติ ศก. “หนักกว่าที่คิด”
-การเมือง “Old Normal” ซ้ำเติม “วิกฤติเศรษฐกิจ”
-พิรุธ “เสือหิว” จ้องถลุงงบฟื้นศก.4 แสนลบ. “ชงเองกินเอง”
-เงินล่องหน … กับ New Normal
-“ระเบิดเวลา” เศรษฐกิจ น่ากลัวกว่าไวรัสโควิด-19

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ